วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

UACกำไรQ3พุ่ง32ล้าน รับขายสินค้ามาร์จิ้นสูง ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556

UACกำไรQ3พุ่ง32ล้าน
รับขายสินค้ามาร์จิ้นสูง

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

"UAC" ลุ้นไตรมาส 3 กำไรสุทธิพุ่ง 32 ล้านบาท รับอัตรากำไรขั้นต้นสู่ระดับ 20% เน้นขายสินค้ามาร์จิ้นสูงช่วยหนุน ฟากโบรกฯคาดรายได้ปี 2556 จ่อแตะ 1,000 ล้านบาท ดันกำไรทะลัก 135 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า สำหรับผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3/56 ของบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UAC จะมีแนวโน้มทำกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาส 2/56 ที่มีกำไรสุทธิ 26 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอีก 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 30 ล้านบาท
สำหรับในไตรมาส 3/56 UAC จะมีอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 20% มากกว่าไตรมาส 2/56 ที่อยู่ 18% หลังจากมีการส่งมอบผลิตภัณฑ์มาร์จิ้นสูง โดยแม้รายได้จะทรงตัวเมื่อเทียบแบบรายไตรมาส แต่เมื่อรวมกับส่วนแบ่งกำไรจากโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม (BBF) ประมาณ15 ล้านบาท จะส่งผลให้ไตรมาส 3/56 มีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/56 ทาง UAC จะรับรู้รายได้จากโครงการ CBG จังหวัดเชียงใหม่เต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก พร้อมกับเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการ PPP ดังนั้นผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะยังมีแนวโน้มสดใสได้ต่อเนื่องไปจนถึงงวดไตรมาสที่ 1 ปีหน้า โดยประเมินรายได้ทั้งปี 2556 จะทำได้ 1,006 ล้านบาท สูงกว่างวดปี 2555 ที่มีรายได้ 812 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิทั้งปี 135 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 117 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมกิจการล่าสุด ทำให้เห็นภาพความมุ่งมั่นลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหลายรูปแบบทั้ง Solar rooftop, Bio mass และ Bio gas ทำให้ UAC จะยังคงเกาะติดไปกับช่วงขาขึ้นของพลังงานทดแทนต่อไป อย่างไรก็ตามราคาหุ้นได้สะท้อนไปที่อัพไซด์จากโครงการ CBG และ PPP หมดแล้ว
ดังนั้น การเข้าเก็งกำไรผลประกอบการ จึงแนะนำให้ “TRADING BUY” เมื่อราคาปรับตัวลงมาต่ำกว่าราคาเหมาะสมที่ 8.50 บาท ส่วนในเชิงความเสี่ยงหากโครงการ CBG ที่เหลือไม่เป็นไปตามแผน มูลค่าเหมาะสมจะปรับเหลือ 5.90 บาท ขณะที่แผนการปรับขึ้นราคาก๊าซของภาครัฐ และการลงทุนใหม่จะถือเป็นอัพไซด์
โดยความคืบหน้าโครงการ CBG อีก 21 แห่ง ทางผู้บริหารเผยว่าโครงการ CBG ที่เหลืออยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดจะเสร็จทั้งหมดภายในปี 2557 และรับรู้รายได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2558 โดย UAC จะมุ่งเน้นใช้หญ้าเนเปียร์เป็นวัตถุดิบหลักตามแนวทางสนับสนุนของภาครัฐ
นอกจากนี้ UAC ยังสามารถนำแก๊สที่ได้ขายให้กับภาคการขนส่ง-อุตสาหกรรม (6 ตัน/วัน/ โครงการ) หรือผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย (1 MW/ โครงการ) ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งโครงการ แนวสายส่ง แนวท่อแก๊ส และทิศทางของราคารับซื้อแก๊ส หรือ ไฟฟ้า โดยผู้บริหารมองว่า การขายแก๊สจะมีอัพไซด์มากกว่าการขายไฟฟ้าด้วยระบบ FIT ที่ 4.5 บาท/หน่วย หลังนโยบายลอยตัวแก๊สเริ่มต้น
ขณะที่โครงการพลังงานทดแทนอื่นๆ อย่างโรงไฟฟ้า Bio mass ขนาด 9.9 MW (จอยท์เวนเจอร์ระหว่าง UAC, AGE, QTC และบริษัทนอกตลาด) ยังอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตก่อนจะหาผู้รับเหมา ขณะที่โครงการโซลาร์รูฟขนาด 1.3 MW ที่ได้รับการตอบรับจากกฟน. ได้อยู่ในระหว่างเตรียมลงนามสัญญา ก่อนเริ่มจัดหาเงินทุนราว 80 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้นว่า กำไรจากโครงการนี้คิดเป็นราว 4% ของประมาณการกำไรปี 2557 หรือบวก 8 สตางค์บนฐานหุ้น 554 ล้านหุ้นปัจจุบัน
ด้านนายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ UAC กล่าวในช่วงที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทได้เตรียมปรับเพิ่มเป้ารายได้ในปีนี้ เนื่องจากในปัจจุบันสามารถทำรายได้ใกล้เคียงกับเป้าที่คาดจะเติบโตขึ้น 20-30% จากปี 2555 เนื่องจากธุรกิจของบริษัทมีรายได้สูงขึ้น รวมถึงเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสุทธิสูง
: สั่ง PTT สรุปพื้นที่สร้าง LNG เฟส 3
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแผนการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ ว่า ได้มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เร่งสรุปหาพื้นที่ในการก่อสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในระยะที่ 3 ซึ่งจะมีกำลังการรับ-จ่ายแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านตัน เมื่อรวมกับระยะที่ 1 จำนวน 5 ล้านตัน และระยะที่ 2 อีก 5 ล้านตัน จะทำให้มีกำลังการรับ-จ่ายก๊าซรวม 15 ล้านตันในช่วงอนาคต อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงทำให้ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้
ส่วนกรณีเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันตามกฎหมายของภาคเอกชนจากเดิม 5% เป็น 6% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ทางสมาคมโรงกลั่นน้ำมันได้ยืนยันถึงความพร้อมในการดำเนินการ และมีการประสานให้มีการตั้งคณะทำงานในการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย เพื่อให้ระยะเวลาการสำรองน้ำมันจากเดิม 35 วัน เป็น 90 วัน สำหรับค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนจะมีเพียงค่าสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่การเตรียมคลังน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น