วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เยนร่วงเทียบดอลลาร์ เกือบต่ำสุดในรอบ 8 ปี

เยนร่วงเทียบดอลลาร์ เกือบต่ำสุดในรอบ 8 ปี

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคมา 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/5) ที่ระดับ 33.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ โดยวันนี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศได้ชี้ว่าฐานะอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ Baal และมีแนวโน้มมีเสถียรภาพนั้น ถือว่าเหมาะสมเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมากของรัฐบาล รวมทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของไทยให้อยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้นายประสาน ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของไทยถือว่าอยู่ในภาวะฟื้นตัวระดับต่ำที่ 0.3% โดย ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับภาคการส่งออกของไทยและติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังคงมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าต่อได้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและยังคงเข้าถือครองสกุลเงินสหรัฐ เนื่องจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสในการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐได้ชี้ให้เห็นว่ามีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐว่าสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 2% และอัตราการว่างงานมีโอกาสต่ำกว่า 5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทจึงมีกรอบการเคลื่อนไหวค่อนข้างกว้างระหว่าง 33.72-33.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.0908/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/5) ที่ระดับ 1.0900/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่นายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีซได้กล่าวชี้แจงภายหลังการประชุมกับกระทรวงการคลังว่า กรีซเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลงในเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สินที่เกิดขึ้น และให้คำสัญญาว่าข้าราชการทั้งหมดจะได้รับเงินบำนาญและเงินเดือนแน่นอน ส่งผลให้นักลงทุนมีมุมมองบวกต่อกรีซเพิ่มขึ้นและคาดการณ์ว่ากรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือนมิถุนายนนี้ได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวระหว่าง 1.0888-1.0949 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0938/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 123.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/5) ที่ระดับ 123.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าเกือบแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐและคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเทขายสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยลง แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันค่าเงินเยนได้ปรับตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ภายหลังจากการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนเมษายนที่ปรับตัวขึ้น 5% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรก หลังจากปรับตัวลดลง 3 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 123.47-124.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 123.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐ (28/5), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอังกฤษ, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ข้อมูลการว่างงาน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การผลิตคภาคอุตสาหกรรม การผลิตรถยนต์ และการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่น, ประมาณการครั้งที่ 2 จีดีพีของสหรัฐประจำไตรมาส 1/2558 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกของสหรัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจารอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (29/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +3.4/3.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.5/7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ 


วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

'วรภัค' เคลียร์ปมหนี้เอ็นพีแอลแบงก์บวมฉึ่ง ไม่เคยปล่อยกู้นักการเมือง

'วรภัค' เคลียร์ปมหนี้เอ็นพีแอลแบงก์บวมฉึ่ง ไม่เคยปล่อยกู้นักการเมือง

“วรภัค ธันยาวงษ์” เคลียร์ปัญหาคาใจ หนี้เอ็นพีแอลแบงก์กรุงไทย 4 เดือน แรก เพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อบ้านกลุ่มระดับกลาง–ล่าง เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจ หมดกำลังผ่อนค่างวด ยันไม่เคยปล่อยสินเชื่อให้นักการเมือง ส่วนที่สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ช่วง 2 ปี ไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล พร้อมเดินหน้าอีก 3 ปี ดันแบงก์กรุงไทยขึ้นเบอร์ 1 กำไร 6 หมื่นล้านบาท
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคารในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.58) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลรวมของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวม 1.9 ล้านล้านบาท สำหรับเอ็นพีแอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก แบ่งเป็นเอ็นพีแอลที่มาจากสินเชื่อรายย่อย 11,000 ล้านบาท และกว่า 80% เป็นเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่เอ็นพีแอลอีก 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ เอ็นพีแอลรายย่อย และเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้น ธนาคารทุกแห่งประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากในช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ ยอดปล่อยสินเชื่อบ้านของแต่ละธนาคารเติบโตมากกว่า 100% ทำให้มีพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจประสบปัญหาชะลอตัว โดยปี 2557 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.6% ส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ของสินเชื่อรายย่อย
ขณะเดียวกัน เอ็นพีแอลรายย่อยในส่วนของธนาคารกรุงไทยที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เกิดจากการบริหารความเสี่ยง ตะแกรงพิจารณาสินเชื่อไม่เข้มเหมือนกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ทำให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ถูกปฏิเสธจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคารจะเป็นระดับกลางถึงล่าง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาลูกค้ากลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบก่อนลูกค้าระดับบน
“ตลอดเวลาที่เข้ามาบริหารธนาคารกรุงไทย ไม่เคยปล่อยสินเชื่อให้กับนักการเมือง สินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัญหาการเงิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหฟาร์ม บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เป็นสินเชื่อเดิมก่อนเข้ามาทำงาน และไม่มีการรับรีไฟแนนซ์จากที่อื่นมาเพิ่มเติม มีแต่เพียงเข้าไปช่วยแก้ไขหนี้”
นายวรภัคกล่าวอีกว่า จากการติดตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลแล้ว พบว่า ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเริ่มมีอัตราเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัว แต่เรื่องหนี้เอ็นพีแอลยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายให้สาขาทั่วประเทศ ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าสินเชื่อบ้าน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้มากกว่าปีที่แล้วที่ได้สำรองหนี้ 11,000 ล้านบาท โดยปีนี้จะมีการตั้งสำรองเดือนละ 700 ล้านบาท พร้อมทั้งจะมีการตั้งสำรองพิเศษอีกด้วย ส่วนอัตราการทำกำไรของธนาคารในปีนี้ ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับระบบธนาคารพาณิชย์ หลังในช่วงไตรมาสแรก ธนาคารกรุงไทยมีกำไรสุทธิ 8,154 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่เข้ามาบริหารธนาคารกรุงไทย ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ จากโครงการ KTB Transformation เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ชัดเจน ได้มีการปรับขบวนการทำงานครั้งใหญ่ กำหนดแผน 3 ระยะ คือ 1.ปี 2557-2558 สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง เปลี่ยนกระบวนการความคุมความเสี่ยงด้านสินเชื่อ รวมศูนย์อนุมัติสินเชื่อ หรือโลน แฟคตอริง ขณะที่สาขาจะเป็นจุดขายและบริการ และเน้นบริการที่รวดเร็ว และมีคุณภาพ
สำหรับในส่วนของพนักงานได้เปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน ทุกงานมีเจ้าภาพที่รับผิดชอบ มีตัวชี้วัดการประเมินผลงานของพนักงานมีความชัดเจน โปร่งใส ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาการร้องเรียนของพนักงานในเรื่องของการประเมินผลงานมีน้อยมาก ขณะที่แผนระยะที่ 2 ระหว่างปี 2559-2561ต้องการให้ธนาคารกรุงไทย ขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศ ในด้านขนาดและผลกำไร และระยะที่ 3 ปี 2562-2564 เป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดสำหรับการทำงาน
นายวรภัคชี้แจงกรณีที่ดึงคนนอกเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารว่า ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่เป็นบุคคลภายนอกจะเป็นผู้บริหารที่อยู่ในระดับท็อปของตลาด อัตราเงินเดือนที่ว่าจ้างเท่ากับที่ทำงานเดิมหรือต่ำกว่า ขบวนการสรรหาที่ชัดเจนตรวจสอบได้ และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทย เมื่อว่างลงหรือมีตำแหน่งใหม่ ได้ให้ความสำคัญคนในองค์กรเป็นอันดับแรก หากไม่มีคนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการจึงจะสรรหาจากบุคคลภายนอก
อย่างไรก็ตาม บุคคลภายนอกที่เข้ามาเป็นผู้บริหาร และยอมรับผลตอบแทนที่เท่าเดิมหรือน้อยลง เนื่องจากมองว่า ธุรกิจธนาคารกรุงไทยยังเติบโตได้อีกมาก เห็นได้จากปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อเป็นอันดับ 1 สิ้นปี 57 มียอดสินเชื่อที่ 1.9 ล้านล้านบาท สูงกว่าธนาคารกรุงเทพ ที่มียอดสินเชื่อ 1.78 ล้านล้านบาท
ขณะที่ความสามารถในการทำกำไร ธนาคารกรุงไทยอยู่อันดับ 4 มีกำไรสุทธิ 33,000 ล้านบาท อันดับ 1 ธนาคารไทย-พาณิชย์กำไรสุทธิ 54,000 ล้านบาท รองลงมาธนาคารกสิกรไทย 50,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ 36,000 ล้านบาท
“ภายในปี 2560 ได้ตั้งเป้าหมายที่ใช้ภายในองค์กรว่า ธนาคารจะสามารถทำไรได้สูงถึง 60,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไข ไม่เพิ่มทุนจดทะเบียน ไม่เพิ่มบุคคลกร และพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน”
นายวรภัคกล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้ามาบริหารงานกรุงไทย เป็นนักการเงินมืออาชีพ ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง เพียงแต่ต้องการเข้ามารับใช้ชาติ ต้องการผลักดันให้ธนาคารกรุงไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ที่ผ่านมา ยอมรับว่าเข้ามารับตำแหน่งในช่วงของพรรคเพื่อไทย แต่จริงๆแล้วรู้จักทั้งพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ โดยในช่วงที่นายกรณ์ จาติกวณิช ลาออกจากกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม ก็ชวนเข้าไปรับตำแหน่งแทน.

หวั่นคลังขายหุ้นบริษัทเอน. เอาเงินมาใช้หนี้

AOT,BCP,MCOT,PDI,PTT พาเหรดติดลบ หวั่นคลังจะขายนำเงินไปใช้หนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2558 14:51:37 น.
หุ้น AOT,BCP,MCOT,PDI และ PTT ราคาอ่อนตัวลง โดยเมื่อเวลา 14.42 น.หุ้น AOT อยู่ที่ 303 บาท ลดลง 3 บาท (-0.98%)มูลค่าซื้อขาย 291.32 ล้านบาท
หุ้น BCP อยู่ที่ 33.75 บาท ลดลง 0.25 บาท(-0.74%)มูลค่าซื้อขาย 48.42 ล้านบาท
หุ้น MCOT อยู่ที่ 12.70 บาท ลดลง 0.10 บาท(-0.78%)มูลค่าซื้อขาย 2.20 ล้านบาท
หุ้น PDI อยู่ที่ 17.50 บาท ลดลง 0.20 บาท(-1.13%)มูลค่าซื้อขาย 3.72 ล้านบาท
หุ้น PTT อยู่ที่ 363.00 บาท ลดลง 2.00 บาท(-0.55%)มูลค่าซื้อขาย 1,017.82 ล้านบาท
บ่ายนี้นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมายพิเศษ เพื่อล้างหนี้ วงเงินกว่า 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5.2 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็นหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.), หนี้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และหนี้กองทุนประกันสังคม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการออกกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวนี้ ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยจะเน้นอายุ 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี, 10 ปี และ 12 ปี ซึ่งแผนบริหารหนี้ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมภายในระยะเวลา 20 ปี
รัฐบาลยังเตรียมจะพิจารณาขายหุ้นในกิจการของเอกชนที่รัฐถือหุ้นอยู่ และมองว่าไม่เป็นประโยชน์หรือบริหารจัดการยาก โดยจะขายหุ้นออกไป เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้นไว้ ซึ่งคาดว่าจะได้เงินในส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในการบริหารจัดการหนี้ในระยะต่อไป

หุ้นที่คลังถือ          สัดส่วน(%)        ข้อมูลจากตลท.ล่าสุด
MCOT               68.80            12 มี.ค.58
THAI               51.03            10 มี.ค.58
PTT                51.11             9 มี.ค.58
AOT                70.00            19 ธ.ค.57
PDI                13.81             8 พ.ค.58
MFC                16.67            30 เม.ย.58
NEP                20.45            17 มี.ค.58
TMB                25.98            24 เม.ย.58
BCP                 9.98             9 มี.ค.58
THL                 1.98             9 ต.ค.56  (แขวนป้าย SP)

อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ท้าทายGLOW ผลิตไฟฟ้า

นพดล ปิ่นสุภา
'แกนนำธุรกิจไฟฟ้ากลุ่มปตท.' เมื่อหน้าที่นี้ถูกยกให้อยู่ภายใต้การดูแลของ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ 
ไม่บ่อยครั้งนักที่ 'ผู้บริหารครอบครอบปตท.' จะเปิดพื้นที่ส่วนตัว เพื่อบอกเล่าแผนธุรกิจในนอนาคตแบบ 'เอ็กซ์คลูซีฟ' นานกว่าสองชั่วโมง.. 
ห้องทำงานเรียบง่าย บนชั้น 14 ตึกบี อาคารเอ็นโก ย่านวิภาวดี ของลูกหม้อปตท. 'ต่ายนพดล ปิ่นสุภา' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC หุ้นไอพีโอน้องใหม่ราคา 27 บาท ที่เปิดซื้อขายวันนี้ (18 พ.ค.) เป็นวันแรก ถูกเปิดต้อนรับทีมงาน 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' เป็นฉบับแรก 
บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนม.ค.2556 เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท.
ปัจจุบัน GPSC ถือหุ้นใหญ่ โดย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC บมจ.ปตท.หรือ PTT บมจ.ไทยออยล์ หรือTOP บริษัท ไทยออยล์ พาวเวอร์ จำกัด หรือ TP คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 22.73% -22.58%- 20.79% -8.91% ตามลำดับ (ตัวเลขภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ) 
บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,851 เมกะวัตต์ ไอน้ำประมาณ 1,512 ตันต่อชั่วโมง,น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 1 แห่ง ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และจากโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น และหน่วยผลิตไอน้ำ ภายใต้ชื่อ โรงผลิตสาธารณูปการ 3 แห่ง จังหวัดระยอง
'ผู้บริหารวัย 51 ปี' ส่งยิ้มทักทายอย่างเป็นกันเอง พร้อมแจกแจงความกังวลใจที่นักลงทุนมีต่อหุ้น GPSC เป็นเรื่องแรกก่อนเจาะลึกแผนธุรกิจว่า นักลงทุนหลายรายอาจคิดว่า หลังหุ้น GPSC เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแล้ว ราคาจะไม่ค่อยขยับไปไหนเหมือนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายๆบริษัทที่ราคาย่ำอยู่ที่เดิม หลังผลประกอบการในแต่ละปีไม่ได้ขยายตัวอย่างหวือหวา เพราะวิถีของบริษัทผลิตไฟฟ้ามักทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
ส่วนตัวขอชี้แจ้งว่า ธุรกิจของ GPSC จะมีความแตกต่างจากเจ้าอื่น ตรงที่ธุรกิจมีโอกาสเติบโตรวดเร็ว เนื่องจากเราอยู่ภายใต้การดูแลของบมจ.ปตท.หรือ PTT ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ฉะนั้นเมื่อหุ้นใหญ่ไปทำงานที่ไหนมักพาเราไปด้วย ฉะนั้นโอกาสที่บริษัทจะมีโครงการใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะจับมือกับพันธมิตร เทคโอเวอร์กิจการ หรือดำเนินการเอง ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก
นอกจากนั้นในแง่ของกลุ่มลูกค้า ที่ผ่านมาเราไม่ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.กฟภ.และกฟน.เท่านั้น แต่ยังจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าของเรามีหลากหลายประเภท เช่น กลุ่มปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างความสมดุลในกับสัดส่วนรายได้
'จากนี้ธุรกิจในเครือปตท.จะหันมาซื้อไฟฟ้าจาก GPSC แตกต่างจากในอดีตที่ต่างคนต่างดำเนินการเรื่องซื้อไฟฟ้า' 
'5 ปีชิงผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับ 3' 
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เล่าแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) ว่า วันนี้ GPSC ถือเป็นผู้นำด้านไฟฟ้าอันดับ 4 หากพิจารณาจากจำนวนเมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าในและนอกประเทศ 1,504 เมกะวัตต์ คิดเป็น 81.2% และ 347 เมกะวัตต์ คิดเป็น 18.8 % ตามลำดับ
ฉะนั้น 'เป้าหมายแรก' หลัง GPSC เข้าตลาดหุ้น คือ ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อโดดขึ้นไปนั่งเก้าอี้ 'ผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับ 3' แทนที่ บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์
ส่วน 'เป้าหมายใหญ่ต่อไป' ซึ่งบริษัทอาจใช้เวลาสักระยะในการเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ๆ เพื่อก้าวสู่ 'อันดับหนึ่ง' แทนที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าฝั่งละประมาณ 5,000 เมกะวัตต์
'ความฝันนี้ไม่รู้จะเกิดขึ้นช่วงไหน แต่เราจะตั้งใจทำให้ได้' 
ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจมากกว่า 50% ที่เหลือเป็นรายได้จากเงินปันผล อนาคตเราจะมีรายได้จากการเข้าไปลงทุนมากขึ้น เรื่องนี้ถือเป็น 'ข้อดี' อีกหนึ่งข้อของเรา โดยในปีนี้จะรับเงินปันผลจากหลากหลายบริษัท อาทิเช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ,บริษัท ไทย โซลาร์ รีนิวเอเบิล ,บริษัท สยาม โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด และบริษท ราชบุรีพาวเวอร์ จำกัด ซึ่ง GPSC มีสัดส่วนการลงทุนที่ 100%- 40%- 40% -25% -15% ตามลำดับ
ถามว่า GPSC จะเดินทางสู่เป้าหมายแรกด้วยวิธีใด?
'นพดล' ตอบคำถามนี้ว่า ก่อนปี 2562 บริษัทจะต้องมีกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับตอนนี้ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,851 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพียง 1,315 เมกะวัตต์ ซึ่งอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยจะทยอยเดินเครื่องผลิตในปีนี้ประมาณ 50 เมกะวัตต์ และจะผลิตเต็มกำลังในปี 2562
สำหรับกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้า 1 พันเมกะวัตต์ จะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าประเภทใดบ้างนั้น 'เอ็มดีใหญ่' บอกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภท โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ หรือแม้กระทั่งพลังงานถ่านหิน และโคเจนเนอเรชั่น เป็นต้น
ตามแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งใจจะใช้เงินลงทุน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้า 1 พันเมกะวัตต์ ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท และลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่เหลืออีก 500 เมกะวัตต์ ประมาณ 6,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 18,000 ล้านบาท 
แม้จะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่นักลงทุนไม่ต้องกังวล เพราะเราได้เตรียมความพร้อมเรื่องเงินลงทุนไว้หมดแล้ว โดยเงินส่วนใหญ่จะมาจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอ และกู้เงินแบงก์ ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E หากไม่ร่วมบริษัทในเครือจะอยู่ระดับต่ำเพียง 0.50 เท่า
เขา ไม่รอช้ารีบแจกแจงแผนลงทุนทั้งในและนอกประเทศว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรที่เตรียมจะจับมือกันทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล หรือไบโอแมส (Biomass) กำลังการผลิตประมาณ 8-9 เมกะวัตต์ต่อโรงงาน มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์
ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา หากผลออกมาในลักษณะ 'ดำเนินการแล้วคุ้มค่า' เราอาจจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยการให้พันธมิตรถือหุ้นมากกว่า GPSC เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของวัตถุดิบ ฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเร็วๆนี้ อาจได้ข้อสรุป
ถามว่า ทำไมพันธมิตรรายนี้มาชวน GPSC ทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เขาตอบว่า 'จุดเด่น' ของเราอยู่ตรงที่เป็นองค์กรที่มีเครดิตและฐานะการเงินที่ดี ฉะนั้นเมื่อไปยื่นขอกู้เงินจากสถาบันการเงินย่อมได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ ที่สำคัญยังสามารถขอกู้เงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ 70% ของมูลค่าโครงการ
เมื่อเป็นเช่นนั้นต้นทุนทางการเงินของโครงการก็จะต่ำมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี ทั้งนี้พันธมิตรรายดังกล่าว ไม่ใช่มือใหม่ในวงการ ก่อนหน้านี้เขาได้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลมาแล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิตประมาณ 8-9 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
'ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ลดลง และความเสี่ยงต่างๆที่ไม่เท่ากันในแต่ละโครงการควรอยู่ระดับ 12-15% ถามว่า โอกาสจะเห็นตัวเลขมากกว่านี้มีหรือไม่ ตอบตรงนี้เลยว่า มีแน่นอน หากสามารถควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้อยู่ระดับที่เหมาะสมได้'
'พร้อมผุดพลังงานถ่านหินในพม่าและอินโดนีเซีย'
'บอสใหญ่' เล่าต่อว่า เมื่อเดือนต.ค.2557 บริษัทได้เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับรัฐบาลประเทศพม่า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเทศพม่า กำลังการผลิตประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่า และพันธมิตรอีก 5 ราย โดยพันธมิตรหนึ่งในนั้น คือ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EGATi
ในช่วงกลางปีนี้อาจสรุปผลการศึกษาได้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ถ้าผลการศึกษาออกมาดี ก็จะนำไปสู่การเซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลง หรือ MOA และจะดำเนินการขายไฟฟ้ากลับเข้ามาในเมืองไทยต่อไป ทั้งนี้ GPSC ถือหุ้นในโครงการดังกล่าวประมาณ 40% ถือเป็นลีดของโครงการ 
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้บริษัทได้ส่งแผนศึกษาความเป็นไปได้ให้กับรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ เขตอิรวดี ประเทศพม่า กำลังการผลิตประมาณ 500 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 6-7 แสนเหรียญต่อเมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้บริษัทได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่าและเอกชนสัญชาติไทย ล่าสุดกำลังรอรัฐบาลพม่าพิจารณา
นอกจากนั้นบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตประมาณ 200-300 เมกะวัตต์ ร่วมกับเหล่าพันธมิตรเมืองไทยและอินโดนีเซีย มูลค่าลงทุนยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง แต่น่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ ตอนนี้บอกได้เพียงว่า จะใช้เวลาก่อสร้างโครงการประมาณ 3-4 ปี ซึ่งระยะเวลาจะนานกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซที่ดำเนินการ 2 ปีครึ่ง
'ลุยพลังงานแสงอาทิตย์เต็มตัว' 
'ลูกหม้อปตท.' เล่าว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นอีกโปรเจคที่น่าสนใจ ก่อนหน้านี้เราได้จับมือกับพันธมิตร เพื่อดำเนินโครงการโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ.5 ปี โดยจะต่อสัญญาอัตโนมัติทุก 5 ปี สิ้นสุดรอบแรกปี 2561-2562
ล่าสุดเราได้เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 85.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการถือหุ้นผ่านบริษัท Ichinoseki Solar Power-1GK ในสัดส่วน 99% เบื้องต้นเรามีแผนจะยื่นขออนุญาตขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560
บริษัทเชื่อว่ากำลังการผลิตในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่หยุดอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ โอกาสที่จะมีกำลังการผลิตแตะระดับ 100 เมกะวัตต์ ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งมูลค่าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังานแสงอาทิตย์จะอยู่ระดับ 3 ล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์
ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการลงทุนในเมืองไทย เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ได้ราบเรียบเหมือนบ้านเรา ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ระดับ 40 เยนต่อหน่วย ถือว่าเป็นการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่าพลังงานอื่นๆที่อยู่ระดับ 30 เยนต่อหน่วย
ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่อีกรอบ และจัดการโครงการที่ค้างท่อแล้วเสร็จ เราก็พร้อมจะเข้าไปร่วมประมูล เพราะบริษัทต้องการพัฒนาไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงในเมืองไทยเป็นหลัก แต่ที่เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นก่อน เนื่องจากโอกาสเปิด ที่สำคัญเขาเป็นผู้นำเทคโนโลยี ฉะนั้นเราสามารถเรียนรู้แล้วนำกลับมาใช้ต่อยอดในโครงการภายในประเทศต่อไป
ปัจจุบันเรามองการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองไทยและญี่ปุ่น ส่วนพลังงานถ่านหินตอนนี้คงหนีไม่พ้นพม่าและอินโดนีเซีย GPSC มีความพร้อมในทุกมิติ เราสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ทุกขนาด เริ่มตั้งแต่โรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP กำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ไล่ไปจนถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 700 เมกะวัตต์ ฉะนั้นเราพร้อมขยายตัวออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแบบไปคนเดียวหรือจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ
'ขยายพลังงานน้ำในสปป.ลาว' 
เขา บอกว่า สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 โครงการ ในประเทศสปป.ลาว โดยโครงการแรก GPSC ได้ลงทุนผ่านบริษัทในเครือชื่อ “นที ซินเนอร์ยี่” หรือ NSC ซึ่ง NSC ได้เข้าไปถือหุ้น 25% ใน XPCL ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว เพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-river) ขนาดประมาณ 1,285 เมกะวัตต์
ส่วนโครงการที่สองลงทุนผ่านบริษัท ไฟฟ้าน้าลิก 1 จำกัด หรือ NL1PC ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว เพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าน้าลิก 1 ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้นขนาดประมาณ 65 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า พลังงานน้ำยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในสปป.ลาว แต่ในเมืองไทยคงเกิดขึ้นยาก ฉะนั้นเราคงเดินหน้าทำพลังงานน้ำในสปป.ลาวต่อไป
ส่วนธุรกิจน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท จัดการและพัฒนาน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW เพื่อศึกษาโครงการพัฒนาน้ำ โดยนำน้ำเสียมาบำบัดให้มีคุณภาพเป็นน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม หากโครงการประสบความสำเร็จก็จะกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อื่นต่อไป ล่าสุดบริษัทมีแผนจะไปทำโครงการดังกล่าวในพัทย
'อนาคตอาจเห็นเราแตกไลน์ไปสู่ 'อุตสาหกรรมน้ำกินน้ำใช้' ในเมืองไทย และประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้ สปป.ลาว มีน้ำดิบเยอะมาก ต่อไปเมืองเขาต้องเติบโต ฉะนั้นการบริหารน้ำให้เพียงพอย่อมสำคัญ' 

                                                'รายได้' ขยับปีละ 17% 
'นพดล ปิ่นสุภา' นายใหญ่ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ บอกว่า หลังโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ เชื่อว่า ก่อนปี 2562 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมีหน้าตาเปลี่ยนไป โดยรายได้จากไฟฟ้าจะอยู่ระดับ 60% ไอน้ำ 12% พลังงานแสงอาทิตย์และไบโอแมส 12% ถ่านหิน 12% ที่เหลือจะกระจายไปในส่วนอื่นๆ เช่น พลังงานลม และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น
'กำไรขั้นต้นของพลังงานแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะยืนในระดับตัวเลข 2 หลัก' 
สำหรับในแง่ของรายได้รวม ภายหลังบริษัทมีกำลังการผลิตเทียบเท่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ รายได้ในแต่ละปีจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 17% โดยการเติบโตจะมาจากในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% ซึ่งรายได้จากพลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็น 10% ของรายได้รวมทั้งหมด 
โดยในช่วง 3 ปีก่อน (2555-2557) บริษัทมีรายได้หลักมาจากไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม สัดส่วน 66.25% -27.81% -1.17% ตามลำดับ ปัจจุบันเรายังมีรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากประเทศสปป.ลาว
ผู้บริหาร ย้ำว่า สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ โครงการผลิตสาธารณูปการ 4 ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุนประมาณ 3,670 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ และพลังงานไอน้ำ กำลังการผลิต 70 ตันต่อชั่วโมง โดยเราจะจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเอเซียและบริเวณใกล้เคียงโครงการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 และจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2560
นอกจากนั้นบริษัทยังมีโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง มูลค่าโครงการ 1,285 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 8 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของกฟภ.ในปี 2560 ล่าสุดอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกฟภ.
ทั้งนี้หากโครงการนำร่องดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดี บริษัทก็พร้อมจะเข้าไปทำโครงการดังกล่าวในเขตพื้นที่อื่นต่อไป ปัจจุบันมีหลายจังหวัดติดต่อให้เราเข้าไปสร้างโครงการแล้ว อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ หลังรัฐบาลมีนโยบายต้องการลดขยะในสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่มีความแข็งแรงในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองนำร่องไปก่อน ซึ่งเราคือ ผู้ได้รับคัดเลือกจากภาครัฐ
อย่างไรก็ดี “ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า” ของ GPSC ที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์มีด้วยกันหลายหลายประการ เช่น 1.บริษัทพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตจากปตท.เพียงรายเดียว.2 ผลประกอบการของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ
3. บริษัทกำหนดราคาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม อ้างอิงจากราคาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของบริษัท เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนของบริษัทมีลักษณะแตกต่างออกไปจากโครงสร้างต้นทุนของกฟภ 4. ลูกค้ารายใหญ่และสาคัญที่สุดของบริษัท คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่
5. โรงไฟฟ้าศรีราชา ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ โดยให้สิทธิแก่ กฟผ. ในการเปลี่ยนแปลงปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากบริษัทได้ ฉะนั้นหากกฟผ.สั่งลดปริมาณหรือไม่รับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท อาจส่งผลกระทบต่อผลการดาเนินงาน ซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2557 ส่งผลให้รายได้รวมในปี 2557 ลดลง 9.92% เป็นต้น
'การออกไปเติบโตนอกบ้าน ถือเป็น 'จุดเด่น' ข้อหนึ่งของเรา เมื่อเทียบกับบริษัทพลังงานอื่นๆ ที่อาจมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการชนะการประมูลโรงไฟฟ้าเพียงเดียว แต่เรามีช่องทางการหารายได้หลากหลาย ทั้งจากลูกค้าในนิคมอุตสหกรรม ,บริษัทครอบครัวปตท.และลูกค้าต่างประเทศ' ลูกหม้อที่ทำงานในเครือปตท.มากว่า 26 ปี ปิดท้ายบทสนทนา

BMCLลั่นปี58กำไร อานิสงส์ควบBECL การันตีมีจ่ายปันผล

BMCLลั่นปี58กำไร
อานิสงส์ควบBECL
การันตีมีจ่ายปันผล

2015-05-21

"BMCL" การันตีปีนี้มีกำไร แถมจ่ายปันผลครั้งแรกนับแต่ตั้งบริษัทมา จากอานิสงส์ควบรวม BECL “สมบัติ” ลั่นหลังเปิดบริการสายสีม่วงตั้งแต่ปี 2559 จะไม่มีวันขาดทุน พร้อมจ่ายปันผลตลอดชีพ ส่วนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อคาดเซ็นก.ค.นี้

นายสมบัติ  กิจจาลักษณ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท  รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL  เปิดเผยว่า  หลังจากการควบรวมกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL แล้วเสร็จพร้อมเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ผลประกอบการปี 2558 ของ BMCL จะมีกำไร และสามารถปันผลได้ทันที 
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลประกอบการแยกรายบริษัทแล้วปีนี้ BMCL จะขาดทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด BMCL มีผู้โดยสารเกือบ 3 แสนคนต่อวัน และทั้งปีจะเติบโตประมาณ 7-8% ขณะปี 2557 ที่ผ่านมา BECL มีกำไร 2,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน ดังนั้นเมื่อรวมกับผลประกอบการ BMCL ที่ขาดทุนแล้วก็ยังทำให้มีกำไรได้
ขณะเดียวกันเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในปี 2559 จะหนุนให้ BMCL มีกำไรยิ่งขึ้น เนื่องจาก BMCL จะมีรายได้เพิ่มจากการรับจ้างวิ่งบริการสายสีม่วงปีละ 1,700 ล้านบาท มีผู้โดยสารใช้บริการจากสายสีม่วงเข้าสู่สายสีน้ำเงินปัจจุบัน (สายเฉลิมรัชมงคล) ในปีแรกอีกประมาณ 50,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าผู้โดยสารรวม 2 สายทางจะเติบโตจากปี 2557 อีก 20% รายได้โต 25% เนื่องจากผู้โดยสารใช้บริการยาวขึ้น ขณะเดียวกันประเมินว่าจะมีรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 10-20% ด้วย
“ปี 2558 นี้ เราจะสามารถจ่ายปันผลได้เป็นครั้งแรกในชีวิต และจากนี้ไปก็สามารถจ่ายปันผลได้ตลอดชีวิต โดยปี 2558 เราได้แรงหนุนจากการควบรวมกับ BECL ทำให้เรามีกำไร แต่ปี 2559 เป็นต้นไป เราจะไม่ใช่ภาระ BECL อีกแล้ว แต่จะเป็นตัวช่วยให้มีกำไร เพราะทันทีที่สายสีม่วงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเราจะไม่มีทางขาดทุนอีกเลย” นายสมบัติ   กล่าว
นายสมบัติ  กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแบบเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบยังเป็นกำหนดเดิมคือ 12 สิงหาคม 2559 โดยปลายเดือนกันยายน 2558 รถไฟฟ้า 3 ขบวนแรก จากทั้งหมด 21 ขบวนจะเดินทางมาถึงประเทศไทย และเริ่มวิ่งทดสอบแบบแยกระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558 วิ่งทดสอบแบบรวมระบบตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2559 วิ่งทดสอบเสมือนจริงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเปิดให้บริการเร็วขึ้นกว่าเดือนสิงหาคม 2559 หากการทดสอบทุกขั้นตอนไม่มีข้อผิดพลาดเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ระบุว่า จะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้เร็วขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นเดือนมีนาคม 2559 โดยปรับกำหนดการทำงานใหม่หลังจากรับมอบรถในเดือนกันยายน 2558 ก็จะเริ่มทดสอบเสมือนจริง คือ วิ่งบริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นเวลา 4 เดือน จากคือทดสอบ 6 เดือน
พล.อ.อ.ประจิน  เปิดเผยถึงความคืบหน้างานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแคว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงนามเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตามาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่มีนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง  รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีมติให้เจรจากับ BMCL เพื่อรับงานเดินรถสายทางนี้ โดยดำเนินการตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 และให้เจรจาโดยใช้วิธีจ้างงานแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) ประเภทNet Cost Concession  คือ รัฐบาล เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนจะได้รับสิทธิในการรับสัมปทาน เก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลปัจจุบัน
สำหรับขั้นตอนจากนี้กระทรวงคมนาคมจะนำส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.เคยมีมติให้ว่าจ้างแบบ  PPP ประเภท Gross Cost  คือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า เดินรถ แล้วรัฐจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่  เช่นเดียวกับสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ จึงต้องมาพิจารณาด้วยว่าจะว่าจ้าง BMCL ในรูปแบบใด ก่อนดำเนินการเจรจา และคาดว่าจะสามารถลงนามกับ BMCL ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ขณะที่สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2561ถึงต้นปี 2562
พล.อ.อ.ประจิน  กล่าวเพิ่มเติมถึง  แผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด (ระยอง) ระยะทาง 194 กิโลเมตร วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 81,136.20 ล้านบาทว่า จะสามารถสรุปรายละเอียดและเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้  จากนั้นจะเปิดให้เอกชนไทยเข้าร่วมประมูล  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
ขณะเดียวกันในวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับญี่ปุ่น  ในการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) 2 เส้นทาง คือ 1.กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทาง 180 กม. กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 255 กม. และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 139 กม. 2.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 680 กม. และพร้อมดำเนินการศึกษาให้ 1 เส้นทาง คือ ตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม.  โดยคาดว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเริ่มทำการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาส 2/2559

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

GPSCกำไรปีนี้2พันล. จ่อปันผลระหว่างกาล :โบรกฯเชียร์ซื้อเป้า 33 บาท ยีลด์สูงเกิน 3%

GPSCกำไรปีนี้2พันล.
จ่อปันผลระหว่างกาล
:โบรกฯเชียร์ซื้อเป้า 33 บาท ยีลด์สูงเกิน 3%

2015-05-19 

"GPSC" เหมาะถือลงทุนระยะยาว ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต ผู้บริหารลั่นกำไรปีนี้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เล็งพิจารณาจ่ายปันผลระหว่างกาลไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ โบรกฯเชียร์ซื้อ คาดปันผลยีลด์ปีละ 3.5-4.5% เป้าราคา 33 บาท

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT  และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า สำหรับราคาหุ้นในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) ที่เปิดต่ำกว่าราคาไอพีโอ เนื่องด้วยปัจจัยภายนอกโดยตลาดทุนไม่ดี แต่หุ้นมีความโดดเด่น โดยเป็นหุ้นที่น่าลงทุนในระยะยาว จากการดำเนินธุรกิจและมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ซึ่งจากการที่ GPSC อยู่ในกลุ่มปตท.จึงเป็นหุ้นพื้นฐานที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกัน GPSC มีสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะมีโครงการที่จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ด้านสัดส่วนการลงทุนประมาณ 30% เป็นการลงทุนต่างประเทศ และ 20% เป็นการลงทุนด้านพลังงานทดแทน จึงเป็นหุ้นอนาคตที่มีรายได้สม่ำเสมอ
ดังนั้น ปีนี้คาดว่าผลการดำเนินงานจะไม่ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 1/58 ออกมาดี ส่วนในไตรมาส 2/58 เนื่องจากภาวะอากาศที่ร้อน ความต้องการใช้ไฟฟ้าน่าจะสูงมาก ก็น่าจะส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกมีผลการดำเนินงานที่ดี และมีการจ่ายปันผลได้ โดยตามนโยบายเงินปันผลที่ไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปีนี้ บริษัทน่าจะมีกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยน่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท หลังจากที่ไตรมาส 1/58 มีกำไรเติบโต 531 ล้านบาท เติบโตกว่า 400% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยขณะนี้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ คาดว่าสิ้นปีจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2562 ซึ่งเน้นการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า ลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยขณะนี้มีเจรจาอยู่ประมาณ 2 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ โครงการในอนาคตของบริษัทประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จ.ระยอง รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งในประเทศ และภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เมียนมาร์ (พม่า), สปป.ลาว, กัมพูชา และอินโดนีเซีย
“ขณะนี้บริษัทได้มีการเข้าไปลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นประมาณ 100 เมกะวัตต์ รวมถึงยังเตรียมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศพม่ามูลค่าโครงการหลายแสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าวหลายราย อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะสามารถสรุปความคืบหน้าของโครงการในพม่าได้เร็วๆ นี้”
สำหรับราคาหุ้นที่เปิดต่ำกว่าราคาไอพีโอเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุน ซึ่งในระยะยาวราคาหุ้นน่าจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงตามแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในอนาคต ซึ่งสะท้อนจากไตรมาส 1/58 และโครงการต่างๆ จะทยอยแล้วเสร็จ ประกอบกับการจ่ายปันผลในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ โดยจะพิจารณาการจ่ายปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (18 พ.ค. 58)  GPSC เปิดตลาดที่ 26.25 บาท ระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 27.25 บาท ก่อนปิดตลาดที่  26 บาท ลดลง 1 บาท หรือปรับลดลง 3.70% จากราคาไอพีโอที่ 27 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 3,538 ล้านบาท 
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2558 บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 1,974 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.3%  เมื่อเทียบกับปีก่อน รับรู้กำไรจากโครงการ IRPCCP–I  และในปี 2559 เริ่มรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้านวนคร (NNEG) จะทำให้มีกำไรสุทธิ 2,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปี 2560 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 2,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5%  เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเริ่มรับรู้กำไรจากโครงการ IRPCCP–II, NL1PC และ BIC2 ที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2560 นอกจากนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) จะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2562 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 3,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน  
อย่างไรก็ตาม ได้ประเมินมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 33 บาท โดยแต่ละโครงการตามประเภทและขนาดของโรงไฟฟ้าทั้งหมด 10 โครงการ (ขนาดกำลังการผลิต 1,851 เมกะวัตต์) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วจะได้มูลค่าเหมาะสมตามปัจจุบันพื้นฐาน 33 บาทต่อหุ้น และยังให้อัตราผลตอบแทนของเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยปีละ 3.5-4.5% นอกจากนี้ยังไม่รวมอัพไซด์ (Upside) จากมูลค่าโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้เซ็น MOU ทั้งในพม่าและระยองและอื่นๆ อีก 600-1,000 เมกะวัตต์

:PTT ลั่น Q2 พลิกสต๊อกเกน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คาดว่า ในไตรมาส 2/58 บริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรจากการสำรองน้ำมัน หากราคาน้ำมันดิบยังอยู่เหนือระดับ 60 เหรียญต่อบารเรลล์  ส่วนแผนการนำบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจโรงกลั่นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะมีการยื่นไฟลิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง และเข้าซื้อขายได้ทันภายในปีนี้ 
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแผนเพื่อแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและกลุ่มธุรกิจ non-oil อย่างธุรกิจร้านสะดวกซื้อออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/58 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องจากยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่า ปตท.มีกำไรระดับ 20,000 ล้านบาท มาจากธุรกิจการขายน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งที่จริงแล้วกำไรส่วนใหญ่มาจากบริษัทย่อยต่างๆ ที่ทำธุรกิจน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

Japan

ญี่ปุ่น

2015-05-19 12:00:00
ผู้เข้าชม : 1

ลูบคมตลาดทุน: ธนะชัย ณ นคร
ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์พาสื่อมวลชนไปประเทศญี่ปุ่นมาครับ
การเดินทางในครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงมากันเกือบครบ
นำโดยคุณญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร SCB
และที่ขาดไม่ได้คือคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์
มาเจอคุณกรรณิการอบนี้ (หลังหมดวาระ) เหมือนจะสวยและใสขึ้น ซึ่งจะต่างจากสองคนแรกที่เหมือนจะมีรอยหยักย่นบนใบหน้าเพิ่มขึ้น
รายละเอียดเกี่ยวกับของธนาคารมีอยู่ในเนื้อข่าวหน้า 1 แล้วครับ
เห็นว่าจะมีการปรับโครงสร้างด้านรายได้กันใหม่และอื่นๆ และน่าจะมีการแถลงข่าวอีกรอบในเร็วๆ นี้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถือว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะมีนัยสำคัญอย่างมาก
และเป็นการสื่อว่า พวกเขาไม่ได้ทำธุรกิจแบบตั้งรับ
ทว่า พร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
วกกลับมาที่ญี่ปุ่นกันดีกว่า
จุดหมายปลายทางที่ไทยพาณิชย์พาไป คือ โตเกียว แต่บินไปลงที่สนามบินนาริตะ (NRT)
สนามบินแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน เพื่อรองรับสนามบินฮะเนะดะ (HND) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว เป็นสนามบินเก่าแก่ของโตเกียวที่เปิดใช้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หรือราวๆ ปี 1930
เมื่อมีสนามบินนาริตะ ตัวของฮะเนดะก็จะเอาไว้รองรับสายการบินในประเทศเท่านั้น
แต่ไปๆ มาๆ สนามบินนาริตะแออัดมากขึ้น
ทางญี่ปุ่นเขาก็เลยให้ฮาเนดะ มาช่วยรองรับสายการบินต่างประเทศอีกครั้ง
ดูไปแล้ว ปัญหาเรื่องสนามบินของบ้านเรา ก็น่าจะคล้ายๆ กับของบ้านเขานั่นแหละ เพราะหากส่วนต่อขยายสุวรรณภูมิยังไปไม่ถึงไหนเข้าใจว่าก็คงต้องลากดอนเมืองมาช่วยกอบกู้จราจรการบินเพิ่ม
การไปญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นรอบ 2 ปีพอดี ที่เดินทางไปอีกครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือ เที่ยวบินนี้เป็นเครื่องบินแบบ A380-800 หากจำไม่ผิดน่าจะจุผู้โดยสารได้กว่า 500 คน
ผมลองมองไปรอบๆ เครื่องบิน (ผู้โดยสารเต็มลำ) ส่วนใหญ่เป็นคนไทยครับ เป็นคนไทยจริงๆ มากันเป็นกรุ๊ปทัวร์ก็มี ครอบครัวก็มี เป็นคู่ๆ ก็มีเช่นกัน
มีตัวเลขการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นครับ
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นมากสุดคือ จีน รองลงมาคือ เกาหลี, ไต้หวัน และประเทศไทยของเราอยู่อันดับ 4
ส่วนตัวผมว่า เราน่าจะมีอันดับขยับบ้างแล้วนะในตอนนี้
เพราะเมื่อเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น Fujisan ก็จะพบคนไทยอีกเช่นกัน หรือที่ Meiji Shrine ศาลเจ้าชื่อดังของชาวโตเกียวก็พบคนไทยค่อนข้างมาก น่าจะสูสีกับคนจีนเลย
หรือย่านการค้า ช้อปปิ้งต่างๆ ก็พบคนไทยอีก
ขณะที่ป้ายของร้านค้าต่างๆ เพื่อแจ้งเตือน หรืออื่นๆ ก็จะมีภาษาไทยกำกับไว้เกือบทุกร้าน
ภาวการณ์เช่นนี้ค่อนข้างต่างจากปีที่ผมเคยเดินทางไปก่อนหน้านี้
เวลาไปแล้วพบคนไทยก็จะดีใจ แต่รอบนี้ รู้สึกเฉยๆ หรืออย่างมากส่งยิ้มให้กัน เพราะพบคนไทยได้เกือบทุกๆ ที่ที่เดินทางไปครับ
ซึ่งนี่ก็เป็นผลจากที่ญี่ปุ่นเขายกเลิกวีซ่าให้สำหรับนักท่องเที่ยวไทย
การเดินทางระหว่างเมืองของญี่ปุ่นด้วยรถยนต์ยังคงสะดวกสบาย เพราะส่วนใหญ่เป็นทางมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างเมือง มีจุดพักที่เป็นระเบียบเรียบร้อยห้องน้ำยังคงสะอาด
ของไทยเองนั้นที่มีแผนจะก่อสร้างในหลายเส้นทาง เข้าใจว่าน่าจะไปดูๆ งานกันมาบ้างแล้ว
โรงงานกำจัดขยะที่ญี่ปุ่นก็ถือว่าขึ้นชื่อมากเรื่องความทันสมัย
ข่าวว่า มีหน่วยงานราชการของไทยมาดูงานบ่อยครั้ง ของ กทม.ก็เคยมาดู และชมโน่น ชมนี่ กลับไปต้องสร้างแน่ๆ แต่ผ่านมา 2-3 ปีแล้ว ยังไม่ได้ผุดขึ้นสักโรงงาน
แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะยังคงมีปัญหาบ้าง
แต่ค่าครองชีพก็ยังคงสูง
ผมไปนั่งดื่มเบียร์ข้างทางแบบบ้านๆ กับเพื่อนผู้สื่อข่าว 6 คน กินเบียร์ไปเฉลี่ยคนละ 2 แก้ว และมีตับย่าง+ไก่ย่าง เสียบไม้ (เหมือนของไทยนี่แหละ) สั่งมา 5 ไม้ เรียกเก็บเงินเบ็ดเสร็จราว 10,500 เยน หรือราวๆ 3,000 บาทไทย
นี่ถือว่าถูกแล้วนะครับ
สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะขนม ยังคงมี Packaging สวยงาม ชวนเสียเงินซื้อซะจริงๆ
ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และแฟมิลี่ มาร์ท เห็นได้โดยทั่วไปเช่นเดียวกับไทย
แต่ก็ยังเห็นร้านค้าที่ยกระดับมาจากร้านขายของชำได้โดยทั่วไปเช่นกัน มีคนญี่ปุ่นเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ราคาสินค้าไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก
คนญี่ปุ่นจะทำงานค่อนข้างเครียด ทำให้มีสถิติในการฆ่าตัวตายค่อนข้างสูงอยู่
ฟังแล้ว รู้สึกว่าการมีความสุขแบบพอเพียงก็ดีเหมือนกัน
มันทำให้เราไม่ต้อง High Profits มาก

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัตรกรุงไทยกำไรโต62%

บัตรกรุงไทยกำไรโต62%

2015-05-15 12:00:00
ผู้เข้าชม : 1

:ยอดรูดปรื๊ดผ่านบัตรสูงสุดในกลุ่ม

“ระเฑียร” โชว์ฝีมือดันกำไร เคทีซีโตกว่า 62% ฐานสมาชิกรวม 2.5 ล้านบัญชี เติบโต 11% แบ่งเป็น บัตรเครดิต 1.8 ล้านบัตร ขยายตัว 13%  สินเชื่อบุคคล 702,081 บัญชี  ขยายตัว 8% ขณะที่ 3 เดือนแรกของปีนี้ปริมาณจ่ายผ่านบัตรสูงสุดในกลุ่ม

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) เคทีซีมีปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัวในอัตราเร่งที่ 11% สูงกว่าอัตราเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 8% โดยมีรายได้รวม 3,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2557 ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิเท่ากับ 28.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 27.3% ส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 574 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% คุณภาพพอร์ตลูกหนี้เติบโตดีต่อเนื่อง สามารถรักษาระดับ NPL ลูกหนี้รวมให้เท่ากับสิ้นปี 2557
“ไตรมาสที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยังคงเติบโตดี แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ในช่วง 9 เดือนข้างหน้า บริษัทยังมีความเชื่อมั่นว่า แนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะขยับตัว จากมาตรการที่ภาครัฐและเอกชนได้ช่วยกันขับเคลื่อน" นายระเฑียร กล่าว
บริษัทมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 52,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทอยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิ คิดเป็น 93% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเมื่อหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้วเท่ากับ 48,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ฐานสมาชิกรวม 2.5 ล้านบัญชี เติบโต 11% แบ่งเป็น บัตรเครดิต 1,846,787 บัตร (ขยายตัว 13%) ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 33,373 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 702,081 บัญชี (ขยายตัว 8%) ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซี แคช สุทธิ 15,042 ล้านบาท
ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมอยู่ที่ 2.4% โดย NPL บัตรเครดิตลดเหลือ 1.6% จาก 2.2% และ NPL สินเชื่อบุคคลเหลือเพียง 1.1% จาก 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่หนี้สูญได้รับคืนในไตรมาสแรกมีมูลค่าเท่ากับ 479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาสแรกของปี 58 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือทั้งสิ้น 24,960 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 6,930 ล้านบาท อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 5.62 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
นายระเฑียร กล่าวอีกว่า ในปี 58 บริษัทตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้และกำไรเติบโตประมาณ 10-15% โดยมีแผนต่อเนื่องในการขยายธุรกิจไปต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มสัดส่วนฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลในต่างจังหวัดให้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เน้นกิจกรรมการตลาดในทุกหมวด เพื่อมุ่งหมายให้เคทีซีเป็นบัตรหลักในการใช้จ่าย สร้างรายได้เพิ่มผ่านกิจกรรมการตลาดผลิตภัณฑ์และบริการเสริม
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเน้นการควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยได้จัดจ้าง บริษัทภายนอกในงานติดตามหนี้และเรียกเก็บหนี้แทนบริษัทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อปรับการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามแนวทางปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ และตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยบริษัทภายนอกจะต้องดำเนินการติดตามและเรียกเก็บหนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ชาร์ปขาดทุนมากกว่าคาด

ชาร์ปขาดทุนมากกว่าคาด

2015-05-15 12:00:00
ผู้เข้าชม : 9

:ธนาคารให้กู้อีก1,700ล้าน

รอยเตอร์ - ชาร์ปรอดตายอีกครั้ง  ได้รับเงินกู้จากธนาคาร 1,700 ล้านดอลลาร์  นับเป็นการช่วยเหลือครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สองในรอบสามปี หลังจากที่ธุรกิจดิสเพลย์สมาร์ทโฟนเจอการแข่งขันเรื่องราคาอย่างรุนแรงจากคู่แข่งในเอเชีย โดยบริษัทขาดทุนสุทธิมากกว่าที่คาดไว้เป็น 222,350 ล้านเยนในปีการเงินที่ผ่านมา

ชาร์ป แถลงว่า มิซูโฮ แบงก์ และแบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จะอัดฉีดเงินรวมกัน 200,000 ล้านเยนโดยจะมีการแลกหนี้กับหุ้น  ในขณะเดียวกัน กองทุนฟื้นฟูกิจการบริษัท หรือ เจแปน อินดัสเทรียล โซลูชั่น ก็จะช่วยเหลืออีก 25,000 ล้านเยน
การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะซื้อเวลาได้แต่ไม่น่าจะบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับความอยู่รอดในระยาวของธุรกิจดิสเพลย์ได้ อย่างไรก็ดี ชาร์ปจะปรับโครงสร้างเพิ่มอีกซึ่งจะรวมถึงการลดกำลังแรงงานทั่วโลกลง 10% โดยรวมถึงตำแหน่งงานในญี่ปุ่นประมาณ 3,500 ตำแหน่ง
สำหรับผลประกอบการในช่วงปีการเงินที่ผ่านมา ชาร์ปขาดทุนสุทธิ 222,350 ล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดทุนเป็นปีที่สามในรอบ 4 ปี  ก่อนหน้าที่บริษัทจะแถลงผลประกอบการ  มีการคาดการณ์ว่า ชาร์ปจะขาดทุนแค่ 200,000  ล้านเยน หรือ 1,680 ล้านดอลลาร์
หนังสือพิมพ์นิกเกอิ รายงานก่อนหน้านี้ว่า บริษัทน่าจะลดตำแหน่งงานมากถึง 6,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 10% ของกำลังแรงงานทั่วโลก ส่วนเอ็นเอชเคได้รายงานว่า ชาร์ปอาจจะขายอาคารสำนักงานใหญ่และยอมรับความช่วยเหลือจากธนาคาร 200,000 ล้านเยน
มูลค่าตลาดของชาร์ปลดลงมากกว่าหนึ่งในสามเมื่อวันจันทร์ หลังจากที่มีรายงานก่อนหน้าว่าบริษัทกำลังมีแผนที่จะลดทุนและขายหุ้นบุริมสิทธิ ข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกเพราะกลัวว่าจะทำให้หุ้นที่ถืออยู่มีมูลค่าลดลง
ชาร์ปก็เหมือนกับคู่แข่งอย่างโซนี่และพานาโซนิค  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะขาดทุนส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าธุรกิจโทรทัศน์ขาดทุนอย่างนักเนื่องจากต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าในเกาหลีใต้และไต้หวัน
มานา นากาโซราน หัวหน้านักวิเคราะห์สินเชื่อของบีเอ็นพี ปาริบาส กล่าวว่า มาตรการที่ได้มีการรายงานเป็นการซื้อเวลาให้กับบริษัทได้ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าชาร์ปจะยังคงอยู่ได้ในช่วง 5 ปีนี้
ชาร์ปขาดทุนสะสมเกือบ 920,000 ล้านเยน (7,680 ล้านดอลลาร์) ในช่วงสามปีที่ผ่านมาเนื่องจากยอดขายต่ำและมีการแข่งขันอย่างรุนแรง นอกจากนี้บริษัทยังมีหนี้สะสมเป็นจำนวนมาก โดยในรายงานประจำปีของปีก่อนหน้า บริษัทมีหนี้เกือบ 2 ล้านล้านเยน
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างงบดุลจะไม่ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของชาร์ป ซึ่งธุรกิจหลักไม่สามารถทำกำไรได้  ธุรกิจผลิตจอแอลซีดีซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังคงได้รับแรงกดดันจากคู่แข่งในญี่ปุ่นและจีน
นากาโซราน กล่าวว่า ชาร์ปจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์ที่สามารถปฏิบัติได้ด้วยการหาธุรกิจที่สามารถทำกำไรก่อนแล้วจากนั้นจึงดึงธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมดที่ไม่สามารถทำกำไรออกไป

THCOM วางเป้ารายได้ปีนี้โต 7%

THCOM วางเป้ารายได้ปีนี้โต 7%

2015-05-15 12:00:00
ผู้เข้าชม : 2

นายวุฒิ อัศวเสริมเจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการเงิน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/58 รายได้จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/58 ที่มีรายได้อยู่ที่ 3,191 ล้านบาท เนื่องจากบริษัททยอยรับรู้รายได้ของดาวเทียมไทยคม 7 เพิ่มขึ้น หลังจากยอดจองของดาวเทียมไทยคม 7 เต็ม 100% แล้ว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 7 มีอัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณอยู่ที่ 50% คาดว่าอัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณจะเต็ม 100% ภายในไตรมาส 3/58 จากนั้นใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน ในการย้ายลูกค้าเข้ามา ส่งผลให้ในไตรมาส 4/58 จะเป็นไตรมาสที่พีคที่สุดในปีนี้ จากการรับรู้รายได้ดาวเทียมไทยคม 7 ที่มีอัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณเต็ม 100%    
ดังนั้น ในปี 2558 บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตรายได้ไว้ที่ 5-7% จากปี 2557 ที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 10,376 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรสุทธิในปีนี้คาดว่าจะรักษาให้อยู่ในระดับ 18% เนื่องจากบริษัทจ่ายส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมไทยคม 7 ลดลงเหลือ 5.25% เนื่องจากอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต รวมถึงการควบคุมต้นทุน   
ส่วนดาวเทียมไทยคม 6 ขณะนี้อัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณอยู่ที่ประมาณ 67% ส่วนที่เหลือจะเป็นในส่วนของลูกค้าในแอฟริกา ภายในสิ้นปีนี้จะมีอัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณอยู่ที่ 75% และภายใน 3 ปี หลังจากยิงดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร หรือปี 2560 อัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณจะเต็ม 100% ด้านดาวเทียมไอพีสตาร์ ปัจจุบันมีอัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณอยู่ที่ 57% โดยขณะนี้บริษัทโฟกัสไปที่ตลาดในอินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย 
ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 8 คาดว่า จะยิงขึ้นสู่วงโคจรในช่วงกลางปี 2559 ครอบคลุมตลาดในไทย และเอเชีย ประมาณ 50% ของทั้งดวง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าอยู่ในเรื่องของขนาด คาปาซิตี้ และราคา รวมถึงจากการดูรายชื่อลูกค้าแล้วมีความต้องการเกิน 50% ที่รองรับตลาดนี้ ส่วนที่เหลืออีก 50% ครอบคลุมตลาดแอฟริกา และอินเดีย ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าอัตราการเช่าใช้ช่องสัญญาณจะเต็ม 100% ภายใน 3 ปี ดังนั้นมั่นใจว่าจะขายช่องสัญญาณได้มากกว่า 50% ก่อนยิงขึ้นสู่วงจร
อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อให้จะให้บริการดาวเทียมเพิ่มอีก 3 ดวง โดยจะเป็นดาวเทียมแบบทั่วไป จำนวน 2 ดวง และเป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ จำนวน 1 ดวง ซึ่งคาดว่าจะมีชัดเจนภายในปลายปีนี้ สำหรับดาวเทียมแบบทั่วไป 2 ดวงนั้น 1 ใน 2 ดวงนี้จะอยู่ในตำแหน่ง วงโคจร 50.5  องศาตะวันออก
ด้านนางสาวนัฐิยา  พัวพงศกร ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  ADVANC เปิดเผยว่า บริษัทคงเป้าหมายจากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) ในปีนี้เติบโต 3-4% โดยในไตรมาส 1/58 มีรายได้จากการบริการไม่รวม IC เติบโต 4.6% จากไตรมาส 1/57 และคงเป้าหมายรายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือเติบโต 10%
โดยในไตรมาส 1/58 รายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือเติบโตถึง 47% จากไตรมาส 1/57 เป็นผลจากบริษัทมียอดขาย AIS LAVA อยู่ที่ 1.4 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สนับสนุนให้ลูกค้าใช้งานมือถือ 3G ตั้งเป้าหมายอัตราส่วนผู้ใช้มือถือ 3G อยู่ที่ 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 58% 

ดีมานด์ทองคำไตรมาสหนึ่งลดลง

ดีมานด์ทองคำไตรมาสหนึ่งลดลง

2015-05-15 

:เศรษฐกิจโตลดลง-ตลาดหุ้นดีดตัว

ซีเอ็นบีซี -  ดีมานด์ทองคำยังคงลดลงในช่วงไตรมาสหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจโตลดลง ราคาทองในรูปสกุลเงินท้องถิ่นสูงขึ้น และตลาดหุ้นดีดตัว โดยดีมานด์ทองคำทั้งหมดในช่วงไตรมาสหนึ่งอยู่ที่ 1,079 ตัน  ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 

สภาทองคำโลก (ดับเบิลยูจีซี) เปิดเผยรายงานแนวโน้มดีมานด์ทองคำประจำไตรมาสหนึ่งเมื่อวานนี้ โดยในช่วงไตรมาสหนึ่งมีดีมานด์ทองคำทั้งหมด 1,079 ตัน  ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าดีมานด์รายไตรมาสโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,114 ตัน
แม้ว่าจะเริ่มต้นปีด้วยความผันผวน แต่ราคาทองคำปิดไตรมาสหนึ่งที่เริ่มต้น  โดยอยู่ที่ประมาณ 1,183 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ขณะที่ทองคำในตลาดสปอตมีการซื้อขายครั้งสุดท้ายที่ 1,112 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ในช่วงไตรมาสหนึ่ง ตลาดหุ้นในเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้บริโภคทองคำมากสุดในโลก ดีดตัวขึ้น 6% จึงทำให้เสน่ห์ของทองคำลดลง      รายงานของสภาทองคำโลกระบุว่า การดีดตัวของตลาดหุ้นภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อดีมานด์ทองคำในจีน เนื่องจากดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ดีดตัวประมาณ 15% ในช่วงไตรมาสหนึ่ง
ดีมานด์จิวเวลรี่จากผู้บริโภคจีนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสุดของดีมานด์ทั้งหมด ลดลง 10% เหลือ 213 ตันในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งลดลงมากกว่าดีมานด์ทั่วโลก โดยดีมานด์จิวเวลรี่ทั่วโลกลดลง 3% เหลือ 601 ตันในช่วงไตรมาสหนึ่ง
ในขณะที่ผู้ซื้อชาวจีนลดการซื้อจิวเวลรี่ แต่จีนยังคงเป็นแหล่งดีมานด์ทองคำสำคัญสุดของโลก  ส่วนในอินเดีย ดีมานด์จิวเวลรี่อยู่ที่ 151 ตัน เพิ่มขึ้น 22% หลังจากที่ซบเซาผิดปกติในช่วงไตรมาสหนึ่งของปีก่อนหน้า
สภาทองคำโลกระบุว่า  มีหลายปัจจัยในช่วงไตรมาสหนึ่งของปีที่แล้วที่ทำให้การซื้อจิวเวลรี่ในอินเดียลดลง โดยอินเดียควบคุมการนำเข้าทองคำอย่างเต็มที่  การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่แน่นอน และมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์และเงินสดเสรี อย่างเช่นทองคำเป็นการชั่วคราว
สภาทองคำโลกยังกล่าวว่า ภาวการณ์ด้านดีมานด์ในช่วงไตรมาสล่าสุดยังไม่สร้างแรงหนุน  แต่แนวโน้มในอินเดียแข็งแกร่งเนื่องจากมีการปรับการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นและดีมานด์ในช่วงเทศกาล อัคชายา ตรีติยาเพิ่มขึ้น โดยร้านค้าปลีกรายงานว่ายอดขายทองคำโตขึ้นกว่าปีที่แล้วประมาณ 10-15% 
อย่างไรก็ดี สภาทองคำโลกเตือนว่า พายุลูกเห็บและฝนที่ผิดฤดูกาลซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายๆส่วนของอินเดียเมื่อปลายเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน อาจจะบั่นทอนองค์ประกอบของดีมานด์ในชนบท
ในขณะที่ดีมานด์ทองคำจากจีนและอินเดียมีแนวโน้มจะผันผวนเพราะปัจจัยภายในประเทศ แต่ทั้งสองประเทศยังคงเป็นสองตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับทองคำ โดยดีมานด์ของสองประเทศนี้มีสัดส่วนรวมกัน 54% ของดีมานด์จากผู้บริโภคทั่วโลกในช่วงไตรมาสหนึ่ง
ส่วนดีมานด์จากการลงทุนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญอีกตัวหนึ่งต่อตลาดทองคำโลก  ฟื้นตัวขึ้นพอประมาณ โดยเพิ่มขึ้น 4% เป็น 279 ตันในช่วงไตรมาสหนึ่ง
จากข้อมูลของสภาทองคำโลก กองทุนอีทีเอฟทองคำมีทองคำสุทธิ  26 ตัน โดยกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปี 2555 เนื่องจากนักลงทุนตะวันตกเข้าลงทุนในโลหะมีค่า  ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายแห่งยังคงเพิ่มการถือครองทองคำ โดยซื้อทองคำในช่วงไตรมาสหนึ่ง 119 ตัน  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงหนึ่งปีก่อน
สภาทองคำโลกกล่าวว่า 17ไตรมาสติดต่อกันแล้วที่ธนาคารกลางได้เป็นผู้ซื้อสุทธิทองคำเนื่องจากได้หาทางกระจายทุนสำรองออกจากดอลลาร์สหรัฐ