วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

JAS แผลเก่าที่ตามมาหลอกหลอน รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 01 พฤศจิกายน 2556

JAS แผลเก่าที่ตามมาหลอกหลอน

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 01 พฤศจิกายน 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

ในปี 2546 บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS และบริษัทลูกคือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล โอเวอร์ซีส์ จำกัด ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทำให้บริษัทฯและบริษัทย่อยต้องเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546 และวันที่ 30 กันยายน 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯและบริษัทย่อย ตามลำดับ
การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการของ JAS ครั้งนั้นได้แต่งตั้งให้บริษัท แจ้งวัฒนะ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
หลังจากดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู ซึ่งมีขั้นตอนอย่างง่ายๆ ดังแผนภูมิ ก็มีการยื่นเรื่องขอศาลเพื่อออกจากแผน
.........................
ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ลำดับขึ้น
รายละเอียด
ผู้มีอำนาจในการร้องขอฟื้นฟูกิจการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
ลูกหนี้  เจ้าหนี้  หรือหน่วยงานของรัฐ
ผู้ร้องบรรยายต่อศาลให้แจ้งชัดถึงความเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ รายชื่อ ที่อยู่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ทั้งหมด
ผู้ร้องแสดงเหตุผลอันสมควรและช่องทางที่จะร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ รายชื่อผู้ทำแผน คุณสมบัติของผู้ทำแผน และหนังสือยินยอมของผู้ทำแผน
ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว
(หากศาลไม่รับคำร้อง คำร้องก็ตกไป )
ลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2583 มาตรา 90/12 ทันที ไม่ต้องถูกบังคับให้ชำระหนี้ ถูกบังคับจำนองทรัพย์สิน ถูกฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน รวมถึงผู้ค้ำประกันด้วย และก็ห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สิน รวมทั้งก่อให้เกิดภาระแก่ทรัพย์สินของตน

ศาลทำการไต่สวน
หากศาลไต่สวนแล้วเห็นควรให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีอยู่ 2 กรณี คือ 1.สั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ไม่ตั้งผู้ทำแผน 2.สั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน
ผู้ทำแผนดำเนินการทำแผนฟื้นฟูกิจการ
เมื่อผู้ทำแผนดำเนินการทำแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จแล้ว ต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ทุกคน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน และลงมติเห็นชอบ
การฟื้นฟูกิจการสำเร็จตามแผน
ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินจะกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม
               
ก่อนที่จะมีการออกจากแผนในเดือนกันยายนนั้น JAS มีการแตกบริษัทลูก จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ หรือ JTS เพื่อระดมทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นจำนวน 175 ล้านหุ้น เพื่อลดสัดส่วนหุ้นที่ JAS ถืออยู่ในสัดส่วน 76.19% และกองทุน Knight Thai Technology Fund ซึ่งถือในสัดส่วน 23.8%
การที่ JTS สามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกำหนดเอาไว้ในวันที่ 18 กันยายน 2549 จะส่งผลดีกับ JAS เนื่องจากมีมูลค่าแฝงจากการถือหุ้นอยู่ใน JTS หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57%
คำตัดสินของศาลล้มละลายกลางมีขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2549 โดยที่ศาลมีคำสั่งให้บริษัทยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่บริษัทดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการบริษัทกลับมามีอำนาจบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ขณะที่ผู้ถือหุ้นทุกรายกลับมามีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
                 ก่อนหน้าที่จะมีการนัดอ่านคำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าว มีกลุ่มเจ้าหนี้บางราย ซึ่งระบุว่าเป็นกองทุนหุ้น (กองทุนรวมตราสารทุน) ซึ่งมีมูลหนี้ไม่ถึง 10% ของมูลหนี้ทั้งหมด ที่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้รายย่อย ทำการยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางแล้ว ต่อศาลฎีกา เพราะเห็นว่าได้รับการชำระหนี้ด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่น
การปรับโครงสร้างหนี้ ที่ศาลล้มละลายกลางซึ่ง JAS จัดทำขึ้นนั้น จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท โดยเจ้าหนี้ 59% เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู แต่เจ้าหนี้กลุ่มน้อยคัดค้านเพราะไม่พอใจการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ ที่แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ประกอบด้วยเจ้าหนี้มีประกัน 3 กลุ่ม และเจ้าหนี้ไม่มีประกัน 5 กลุ่ม ซึ่งแผนนี้จะช่วยลดภาระหนี้ได้ 70.59% และแปลงหนี้เป็นทุนบางส่วนทำให้มูลหนี้ลดลงเหลือ 3.675 พันล้านบาท
แผนภูมิของการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ 8 กลุ่ม
เจ้าหนี้มีประกัน 3 กลุ่ม
เจ้าหนี้มีประกันที่จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 15%

รายแรก เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินบางรายการของบริษัทในทางจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ยินยอมปลดหนี้เงินต้น (Haircut) 82% และดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด ส่วนหนี้เงินต้นที่เหลือ 18% จะชำระในปีที่ 10 อัตราดอกเบี้ย MLR-2

เจ้าหนี้กลุ่ม 2 เจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 15% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด รายที่ 2 ได้แก่ เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินบางรายการของบริษัทในทางจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ได้รับชำระหนี้ภายใต้โครงการชำระคืนหนี้โดยผ่อนชำระภายใน 9 ปี ดอกเบี้ยในอัตรา MLR

เจ้าหนี้กลุ่ม 3 เจ้าหนี้มีประกันอื่น โดยเจ้าหนี้กลุ่มนี้มีหนี้น้อยกว่า 15% ของมูลหนี้ทั้งหมด โดยมีจำนวนหนี้รวมประมาณ 47.79% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วน การแปลงหนี้เงินต้นเป็นหนี้ของนิติบุคคลเฉพาะกิจ และให้นิติบุคคลเฉพาะกิจออกตราสารของนิติบุคคลเฉพาะกิจให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้รับการแปลงหนี้ใหม่ และดำเนินการให้มีการโอนหุ้นของนิติบุคคลเฉพาะกิจให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้รับการแปลงหนี้ใหม่ตามสัดส่วน
เจ้าหนี้ไม่มีประกัน 5 กลุ่ม
เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้อง มูลหนี้ประมาณ 9.40% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
เจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับชำระหนี้ภายใต้โครงการชำระหนี้คืนหลังสุด

เจ้าหนี้ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการขนาดใหญ่ที่ยังดำเนินการอยู่ มูลหนี้ประมาณ 0.71% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
จะได้รับชำระหนี้ทั้งจำนวนตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิม

เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีเงื่อนไข มูลหนี้รวมประมาณ 6.72% หากเงื่อนไขของสัญญาหรือข้อตกลงเดิมดังกล่าวสำเร็จบริบูรณ์
มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากบริษัทตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิมทั้งหมดครบถ้วนโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ

เจ้าหนี้การค้าที่ยังไม่ผิดนัด มูลหนี้ประมาณ 0.59% เป็นหนี้ที่ยังมิได้ตกอยู่ภายใต้การผิดนัด
จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมด

เจ้าหนี้ค่าที่ปรึกษา ค่าวิชาชีพ หรือค่าธรรมเนียม มูลหนี้ประมาณ 0.23%
ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย

นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูฯ ระบุให้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยแบ่งเป็นการออกหุ้นสามัญ 30 ล้านหุ้น เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปรับซื้อหนี้คืนตามโครงการรับซื้อคืนหนี้แบบมีส่วนลด หุ้นบุริมสิทธิไม่เกิน 20 ล้านหุ้น เพื่อใช้ในโครงการแปลงหนี้เป็นหุ้นบุริมสิทธิโดยสมัครใจ หุ้นสามัญใหม่ 18 ล้านหุ้น เพื่อใช้ในโครงการบังคับแปลงหนี้บางส่วนเป็นทุน   
                หลังจากออกจากแผนได้แล้ว หุ้นของ JAS กลับมาทำการซื้อขายในตลาดได้อีกครั้ง โดยวันแรกของการซื้อขาย ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายนนั้น ราคาหุ้นของ JAS มีราคาปิดแค่เพียง 0.58 บาทเท่านั้น แต่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีอนาคตที่ดีขึ้น เพราะทำให้มีอิสระในการดำเนินงาน และบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างสะดวกคล่องตัวมากยิ่งขึ้น  รวมทั้งขณะนั้น  JAS มีแผนการขยายการลงทุน 4 โครงการในธุรกิจด้านไอที และโทรคมนาคมใหม่ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการอินเตอร์ไอเอสพีและองค์กรที่ต้องการใช้การสื่อสารข้อมูลในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก โดยมีปัจจัยลบปัจจัยเดียว ซึ่งควรระวังคือการที่เจ้าหนี้ของ JAS จำนวนน้อยบางรายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา คัดค้านการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ซึ่งต้องรอคำตัดสินว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร
 หลังจากการออกจากแผนผ่านไป 7 ปี ฐานะทางการเงินของ JAS พิสูจน์ให้เห็นว่ากลับมาแข็งแกร่งต่อเนื่องอย่างแท้จริง โดยมีผลกำไรต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นบริษัททางด้านโทรคมนาคมบริษัทเดียวที่มีธุรกิจหลักคือ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ไร้สาย ภายใต้แบรนด์เนม 3BB  ซึ่งใช้กลยุทธ์พันธมิตรธุรกิจ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มจากอันดับ 3 ในธุรกิจ มาเป็นธุรกิจที่ใกล้เคียงกับเจ้าตลาดหลักเดิมคือ ทีโอที และ TRUE มีผลทำให้ราคาหุ้นของ JAS มีความโดดเด่นอย่างมาก เพราะมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
(ดูตารางประกอบงบการเงินย้อนหลัง 5 ปี)

สัดส่วนทางการเงินที่สะท้อนให้เห็นการใช้ทรัพยากรของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วน ROA และ ROE ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ล้างขาดทุนสะสมได้หมดแล้ว ทำให้ล่าสุด ค่า ROA มากถึง 15.03% และ ROE มากถึง 25.28% ซึ่งถือว่าดีกว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน
หุ้นของ JAS ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหุ้นยอดนิยมสำหรับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากในตลาดหุ้น (โดยเฉพาะตกเป็นเครื่องมือของบรรดานักเล่นหุ้นที่เรียกว่า “ขาชอร์ต” กันอย่างต่อเนื่อง) ทำให้ราคาหุ้นในระยะหลังมีแนวโน้มซึมเซา มีการเปลี่ยนแปลงราคาค่อนข้างน้อย แม้วอลุ่มซื้อขายจะยังโดดเด่น
ล่าสุด JAS เปิดเกมรุกในธุรกิจด้วยการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงความเร็ว 1Gbps ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber To The Home) ที่มีความเร็วเพิ่มจากเดิม 100 เท่า เพื่อสนองตอบเครือข่ายสื่อสารของภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะเปิดช่องให้โอกาสในการทำกำไรก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งจะช่วยดันกำไร 3 ปี จากนี้ไปโตปีละ 29% โดยผู้บริหารของ JAS ประเมินว่าสมาชิกบรอดแบนด์ในปีนี้ จะอยู่ที่ 1.5 ล้านราย และในปี 2557 จะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านราย และในปี 2558 เป็น 1.9 ล้านราย พร้อมกับยื่นเรื่องต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทุนอินฟราฯ มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
 กองทุนดังกล่าว คาดว่าจะให้ผลตอบแทนปีแรกที่ 6% หรือ 4.2 พันล้านบาท จากอัตราค่าเช่ารายปีขั้นต่ำ และจะมีส่วนเพิ่มขึ้นให้อีกในอนาคต ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของ JAS ในอนาคต จากการอนุมัติของที่ประชุม JAS จะเข้าไปถือสัดส่วน 1 ใน 3 ของกองทุนดังกล่าว โดยที่มีความต้องการส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าใจธุรกิจของบริษัทดี
หลังจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ จะทำให้เกิดกำไรพิเศษขึ้นกับ JAS ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทหลังถูกหักภาษี โดย JAS จะบันทึกกำไรพิเศษนี้บางส่วนหลังกระบวนการ จากการที่มาตรฐานทางบัญชีอนุญาตให้กระทำ โดยส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เป็นระยะเวลา 7 ปี หรือ 20 ปี
                ความรุ่งเรืองทางธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตนั้น ดูเหมือนจะเรืองรองยิ่งนัก แต่แล้วอดีตที่เป็นบาดแผลก็กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง เมื่อมีข่าวออกมาระบุว่า ศาลฎีกาปฏิเสธการออกจากแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นการย้อนรอยอดีต
                เรื่องนี้ นายพิชญ์ โพธารามิก ซีอีโอ และกรรมการผู้จัดการ JAS เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 บริษัทฯได้รับทราบคำพิพากษาของศาลฎีกาเกี่ยวกับการไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ (แผนฟื้นฟูกิจการ) และให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางที่ให้ความเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546
หลังจากรับทราบคำสั่งศาลแล้ว บริษัทฯส่งเรื่องไปให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ คือ บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด (ที่ปรึกษากฎหมาย) พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับผลกระทบของคำพิพากษาฎีกาที่จะเกิดขึ้น
 ปรากฏผลในวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ปรึกษากฎหมายจัดส่งความเห็นกฎหมายให้ หลังจากได้ใช้เวลาทำการศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าวรอบด้าน เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหลายครั้ง โดยมีข้อสรุปว่า คำพิพากษาของศาลฎีกามีผลทำให้แผนฟื้นฟูกิจการตลอดจนคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้และบริษัทฯ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อบริษัทฯในฐานะลูกหนี้จะกลับไปเป็นเช่นเดิม ดังที่เป็นอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ คือ วันที่ 17 กันยายน 2545 แต่โดยที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไปแล้วในรูปแบบต่างๆ กัน ตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการ เช่น ชำระด้วยเงิน ชำระด้วยการโอนหุ้น หรือทรัพย์สินอื่นๆ และชำระด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนไปค่อนข้างมากแล้ว และทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ที่ปรึกษากฎหมายมีความเห็นว่าเจ้าหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะสามารถเรียกร้องให้บริษัทฯชำระหนี้เพิ่มเติมให้แก่ตนได้ รวมจำนวนไม่เกิน 1,343 ล้านบาท
เงื่อนไขของการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ที่ปรึกษากฎหมายให้ความเห็นว่า บริษัทฯ จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดหรือไม่และเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับว่ามีเจ้าหนี้มาแสดงตนและแสดงสิทธิของตนจนบริษัทฯเชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้ตามจำนวนที่กล่าวอ้างแล้วหรือไม่เท่านั้น ซึ่งหากยังมีข้อโต้แย้งไม่เห็นพ้องต้องกันไม่ว่าในประเด็นใดๆ ก็เป็นกรณีที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเพื่อหาข้อยุติกันในศาลแพ่งต่อไป
หากเป็นไปตามความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าว คำสั่งศาลดังกล่าว จะมีผลบังคับต่อ JAS เมื่อมีเจ้าหนี้มาแสดงตนและพิสูจน์ได้เท่านั้น หากไม่ตรงกับเงื่อนไขดังกล่าว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายแต่อย่างใด
                ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เห็นชัดเจนว่า มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทไม่มากนัก  เพราะการจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ตามคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดนั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น
                อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเจ้าหนี้มาแสดงตนและแสดงสิทธิของตน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 คดีความดังกล่าวก็จะหมดอายุความลง 
            แผลเก่าของ JAS ที่ตามมาหลอกหลอน จึงไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก เมื่อเทียบกับฐานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันและอนาคตอันไกล แต่จะกระทบต่อการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 7 หมื่นล้านหรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทายคำตอบไม่น้อยทีเดียว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น