วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ติดกับ หรือ โอกาสใหม่ คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556

ติดกับ หรือ โอกาสใหม่

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 1171 คน 


สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ของจีน มีฐานที่เซี่ยงไฮ้ชื่อ Fosun International Ltd. ได้ตกลงซื้ออาคารสำนักงาน Chase Manhattan Plaza สูง 60 ชั้นที่ตั้งอยู่ในย่านแมนฮัตตันตอนใต้ (ใกล้กับตลาดวอลล์สตรีท จากธนาคาร JPMorgan Chase & Co. ในราคาประมาณ 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการจ่ายเงินจากบริษัทจีนที่มากสุดในโครงการอสังหาริมทรัพย์อเมริกัน เท่าที่มีการบันทึกสถิติเอาไว้
บริษัทจีนดังกล่าว รายงานข้อมูลนี้ในตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดนั้น โดยระบุว่า อาคารดังกล่าวซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1961 มีพื้นที่ใช้สอย 2.2 ล้านตารางฟุต หรือ 2.04 แสนตารางเมตร
ปีก่อนหน้านี้ บริษัทจากเอเชียซึ่งประกอบด้วย สถาบันการเงินของทางการฮ่องกง และ GIC ของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ร่วมกันลงขันซื้ออาคารสำนักงาน 101 California St ที่เมืองซาน ฟรานซิสโก ในมูลค่าสูงถึง 910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสถิตินักลงทุนจากเอเชียที่ใหญ่มาก
กระแสการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯโดยนักลงทุนจีน เริ่มเป็นที่ผิดสังเกตของวงการในปีนี้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในนิวยอร์ก ซึ่งจากสถิติที่มีการรวบรวมได้ มีการซื้ออาคารไปแล้วมากถึง 1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วในช่วง 10 เดือนแรก
เหตุผลที่นำมาอธิบายถึงแรงจูงใจในการไหลบ่าของทุนอสังหาริมทรัพย์จากจีน ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ
1) ทุนส่วนเกินจากจีนที่ยังล้นเกิน ต้องการแสวงหาแหล่งลงทุนในต่างประเทศ
2) โอกาสที่จะทำกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนจากนี้ไปจะยากลำบากมากขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลที่พยายามสกัดการพุ่งขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์จนเข้าข่ายฟองสบู่ ด้วยมาตรการจำกัดสินเชื่อ และอื่นๆ จนกระทั่งกำไรของธุรกิจถดถอยลง หลังจากผ่านยุคทองยาวนานหลายปีติดต่อกัน
3) ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯจะฟื้นตัวเร็วกว่าเมืองอื่นๆ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเริ่มต้นในเมืองใหญ่หลักก่อนแล้วค่อยกระจายตัวออกไปในเมืองอื่นๆ จากสัญญาณที่ชัดเจนว่าน่าจะพ้นจากจุดต่ำสุดของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว
อาคารดังกล่าว เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารเชส แมนฮัตตัน ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเคยได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯจากธุรกิจน้ำมันในอดีต และเคยเป็นเจ้าของอาคาร ร็อคกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ บนถนนหมายเลข 5 กลางเมืองนิวยอร์ก (ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมือไปมาหลายเจ้าของจนล่าสุดตกอยู่ในกำมือของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของนิวยอร์ก Tishman Speyer ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารไครสเลอร์ด้วย) แต่ปัจจุบันธนาคารดังกล่าวถูกควบรวมเข้ากับธนาคารเจพี มอร์แกน หลังวิกฤตซับไพรม์ไปแล้ว และธนาคารใหม่ ต้องการจะย้ายสำนักงานออกไปจากที่เดิม เพื่อลดต้นทุน และถูกข้อกำหนดที่ต้องขายกิจการออกจากมือตามกฎเหล็กของบาเซิล 3 ที่ห้ามธนาคารถือกิจการอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
คำอธิบายของโบรกเกอร์อสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์ก กลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งว่า บริษัทจีนนั้น รู้ดีว่า อาคารดังกล่าว ซึ่งติดอยู่ตรงกันข้ามฝั่งถนนของอาคารเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์เก่าที่ถูกถล่มจากอัล-กออิดะห์ เมื่อ 12 ปีก่อน และกำลังจะแล้วเสร็จโครงการก่อสร้างใหม่ในชื่อ Brookfield Place ซึ่งจะกลับมามีราคาสูงหลังจากเปิดขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน เพราะจะกลายเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่ในย่านแมนฮัตตันตอนใต้
การซื้อกิจการของ Fosun ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปีก่อนนี้ บริษัทนี้ก็เคยทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการรีสอร์ทเพื่อการท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกของฝรั่งเศส  Club Med
คำถามตามมาก็คือ ชะตากรรมของบริษัทจีนเช่นนี้ จะย่ำรอยเดิมของบริษัทญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมัน หรือ ตะวันออกกลางที่เคยโหมกระแสเข้าซื้อกิจการอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาแล้วก็ประสบกับการขาดทุนอย่างหนัก จนต้องขายสินทรัพย์ทิ้งเปลี่ยนมือกันหลายทอด
ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างต้นแบบที่เด่นชัดที่สุด ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงพลาซ่า ที่บังคับให้ญี่ปุ่นต้องเพิ่มค่าเงินเยนให้เป็นธรรมชาติเพื่อลดการได้เปรียบดุลการค้ามากมายลงไป ทำให้ทุนญี่ปุ่นจำต้องหนีย้ายออกไปซื้อสินทรัพย์ในสหรัฐฯ โดยมุ่งสู่อสังหาริมทรัพย์ทั่วสหรัฐฯ ด้วยวงเงินรวม 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯพุ่งขึ้นไม่มีหยุด ก่อนที่จะกลายเป็นฟองสบู่แตก พร้อมกับฟองสบู่แตกในญี่ปุ่นด้วย
ส่วนกรณีของจีน อาจจะต่างออกไป เพราะเข้าไปซื้อเมื่อธุรกิจนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาไม่นาน และยังไม่มีราคาแพงมากนัก ที่สำคัญไม่ใช่ทุนหนีตาย แต่เป็นทุนแสวงหาโอกาส  
ที่ร้ายไปกว่านั้น คนอเมริกันจำนวนมาก ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นตระหนกหากทรัพย์สินที่มีอยู่ในการครอบครองของเศรษฐีเก่าทั้งหลาย ต้องตกอยู่ในมือต่างชาติ เพราะเคยปรากฏมาแล้วบ่อยครั้งในรอบ 30 ปีมานี้ จนกระทั่งชาชิน และมีมุมมองใหม่ว่า ก็ดีเพราะเศรษฐกิจอเมริกันกำลังต้องการเงินสดอัดฉีดใหม่เพื่อกระตุ้นให้กลับคืนมาเร็วกว่าปล่อยตามยถากรรม
ไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ว่า การลงทุนของธุรกิจจีนในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯยามนี้ จะเป็นการซ้ำรอยติดกับดักแบบญี่ปุ่นหรือชาติอื่นๆ ก่อนหน้า หรือว่าจะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ที่เหนือกว่าเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น