วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธปท.ทุ่ม5พันล้านดอลล์ การเงินการคลัง วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556

ธปท.ทุ่ม5พันล้านดอลล์

การเงินการคลัง วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

คลัง-แบงก์ชาติเห็นชอบดึงทุนสำรองประเทศ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไปลงทุนตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่ง  ขณะที่อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติหนุนสุดตัว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เห็นชอบที่จะนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และซื้อพันธบัตรในลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  2 ล้านล้านบาทที่ให้ผลตอบแทนสูง  โดยไม่จำเป็นต้องตั้งเป็น "กองทุนความมั่งคั่ง” หรือ  New Opportunity Fund
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ทันที โดยอาศัยอำนาจตามขอบเขตของกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 18 ต.ค. 56 อยู่ที่ 172.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 11 ต.ค. 56 ที่ 171.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การนำเงินทุนบางส่วนมาลงทุนจึงไม่กระทบต่อฐานะทุนสำรองของประเทศแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ  ธปท. ได้หารือกับผู้ว่าการธปท.แล้วมีความเห็นตรงกัน เพื่อนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาลงทุนบางส่วน โดยแนวคิดจัดตั้งกองทุนดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานกรรมการแบงก์ชาติ
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง "กองทุนความมั่งคั่ง”   ตามการวิจัยของกระทรวงการคลังเมื่อปี 2554 ระบุเพื่อเหตุผล 2 กรณี คือ 1.เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการนำสินทรัพย์ของภาครัฐไปลงทุน เนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนประกอบสำคัญของเงินทุนสำรอง มีแนวโน้มด้อยค่าลงอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงควรคิดหาทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่เพื่อผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
2.เพื่อพัฒนาศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย โดยการลงทุนผ่านกองทุน แทนการพึ่งรายได้จากเฉพาะภาคส่งออกเท่านั้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศสามารถขยายได้อย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและสามารถอยู่รอดในเวทีการแข่งขันในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น