วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกมประมูล‘TMB’พลิก แบงก์มิซูโฮถูกบีบถอย ‘บล.ภัทร’ปรับพื้นฐานเพิ่มเป็น 3.00 บาท ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556

เกมประมูล‘TMB’พลิก
แบงก์มิซูโฮถูกบีบถอย
‘บล.ภัทร’ปรับพื้นฐานเพิ่มเป็น 3.00 บาท

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 10 คน 

จับตา มิซูโฮฯ ญี่ปุ่น อาจถูกสั่งหยุดทำธุรกรรมขนาดใหญ่ในต่างประเทศชั่วคราว หลังมีส่วนพัวพันการการปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มยากูซ่า ด้านแบงก์จากจีน และมาเลย์ จ้องเสียบซื้อหุ้น TMB แทนทันที ส่วน “บล.ภัทร”โผล่เชียร์ซื้อหุ้น TMB มองพื้นฐานดีขึ้นมาก อัพราคาเป็น 3 บาท ยังไม่รวมค่าพรีเมียมควบรวมกิจการ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่
มีรายงานข่าวจากประเทศญี่ปุ่นว่า กลุ่มผู้บริหารและกรรมการของ “มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการลาออก พร้อมถูกสั่งลงโทษ หลังมีการนำธนาคารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มยากูซ่า ด้วยการปล่อยเงินกู้เป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ
รายงานระบุอีกว่า นายทากาชิ สึกาโมโตะ เป็นประธานแบงก์มิซูโฮ ซึ่งเป็นบริษัทลูก มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ลาออก แต่ยังคงเป็นกรรมการในมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อยู่ ทว่า เขาถูกสั่งให้ทำงานได้โดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลากว่า 6 เดือน พร้อมกับกรรมการอีกจำนวน 2 คน
ส่วนนายยาสุฮิโร ซาโตะ ประธานและซีอีโอของมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป  ยังคงทำงานต่อไป และไม่ได้ลาออก
นักวิเคราะห์ในญี่ปุ่น ระบุว่า หน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจการเงินของญี่ปุ่น กำลังพิจารณาให้กลุ่มมิซูโฮหยุดทำธุรกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ทางการเงินในญี่ปุ่นระบุว่า มิซูโฮ กำลังสนใจซื้อหุ้นในธนาคารปาน อินโดนีเซีย รวมถึงแบงก์ทีเอ็มบี ในประเทศไทย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ MUFG ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ตกลงในเดือนก.ค.ว่า จะเข้าซื้อหุ้น 75% ใน ธ.กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 5 ของไทยในวงเงิน 5.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ในเดือนพ.ค. SMFG (ซูมิโตโม ไฟแนนเชียลกรุ๊ป) ตกลงที่จะเข้าซื้อหุ้น 40% ในธนาคาร BTPN ของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัททีพีจี แคปิตัล
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่ากลุ่มมิซูโฮฯจะเข้าซื้อหุ้นใน TMB นั้น อาจจะเผชิญกับปัญหาดังกล่าว แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีของแบงก์ไอซีบีซีจากจีน และธนาคารของมาเลย์อีก 2 แห่งที่สนใจซื้อ TMB เช่นกัน
มีรายงานด้วยว่า ผู้บริหารระดับสูงของไอเอ็นจีได้บอกกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งว่า “เขา(ไอเอ็นจี) ต้องการขายหุ้นให้ได้ราคาดีที่สุด”
ส่วนวานนี้ (28 ต.ค.) บล.ภัทรได้ออกบทวิเคราะห์ ด้วยการระบุว่า พวกเขาได้ปรับเป้าหมายราคาหุ้น TMB ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากราคา 2.60 บาท เพิ่มเป็น 3.00 บาท
ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าพรีเมียม หาก TMB ต้องรวมกิจการ และหากเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่
บล.ภัทร มองว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net interest margin) ของ TMB มีการขยายตัว 18bps จากไตรมาส 2 และ 23bps จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจาก 2.77% ในไตรมาส 2/56 และจาก 2.77% ในไตรมาส 3/55 สู่ระดับ 2.95% และตัวเลขดังกล่าวขึ้นมาใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่อื่นๆ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จาก 4.8% ในไตรมาส 2/56 ลงมาเหลือ 4.6% ในไตรมาส 3/56
ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการตั้งสำรองพิเศษในไตรมาส 2/56 ที่ 1 พันล้านบาทหรือ 105 bps ต่อสินเชื่อรวม ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 132% ในไตรมาส 2 มาเป็น 139% ในไตรมาส 3/56
บล.ภัทร ระบุอีกว่า คาดการณ์ว่า TMB จะมีกำไรสุทธิในปีนี้ 5,700 ล้านบาท (9 เดือนแรกกำไรสุทธิ 3,800 ล้านบาท) และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,629 ล้านบาทในปี 2557 และ 10,652 ในปี 2558 พี/อี ในสิ้นปีนี้จะลดลงมาเหลือ 21.8 เท่า 14.4 เท่าในปีหน้า และ 11.7 เท่าในปี 2558 ส่วนตัวเลข Return on Equity จะเพิ่มเป็น 4.7%, 7.2% และ 9.0% ตามลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น