วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

PTTGC กำไรพุ่งสวนมรสุมธุรกิจ รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556

PTTGC กำไรพุ่งสวนมรสุมธุรกิจ

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

ผลประกอบการไตรมาสที่สามของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ยังไม่ประกาศออกมาเป็นทางการ แต่จากการ คอมปานี วิสิท ของกลุ่มนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง ปรากฏว่า พลิกความคาดหมายอย่างมากมาย เพราะนักวิเคราะห์ต่างพากันประเมินว่า กำไรในช่วงไตรมาสที่สามของบริษัทจะพุ่งขึ้นอย่างโดดเด่น แม้ว่าจะเผชิญกับมรสุมทางธุรกิจที่สร้างความเสียหายอย่างมากทั้งต่อภาพลักษณ์ และต่อตัวเลขทางการเงินที่แท้จริง
                นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/56 ของ PTTGC จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,170 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 120% จากงวดไตรมาส 2/56 ที่มีกำไรสุทธิเพียงแค่ 4,171 ล้านบาท
                กำไรที่โดดเด่นดังกล่าว เกิดจากปัจจัยหลักมาจากสต๊อกน้ำมัน หรือ stock gain ประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ธุรกิจโรงกลั่นพลิกกลับมามีกำไรจากสต๊อกน้ำมันดิบ และกำไรจากสต๊อกวัตถุดิบปิโตรเคมีอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมเป็นกำไรจากสต๊อกทั้งหมดประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรนอกเหนือจากผลประกอบการปกติ
                กำไรที่พุ่งขึ้นนี้ ได้มีการหักกลบการบันทึกค่าใช้จ่ายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในช่วงไตรมาส 3/56 ทั้งจำนวนประมาณ 1,085 ล้านบาท (35 ล้านเหรียญสหรัฐ) และคาดใช้เวลาเคลมเงินประกันประมาณ 1 ปี  และความเสียหายจากกรณีฟ้าผ่าโรงแยกก๊าซที่ 5 แล้ว
                รายละเอียดของโครงสร้างรายได้ของ PTTGC ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีต้นน้ำและกลางน้ำรายใหญ่สุดของไทย ในไตรมาสที่ 3 ประกอบด้วย ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ในส่วนของโพลิเมอร์ เช่น HDPE และ LLDPE มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงถึง 108% ประกอบกับราคา HDPE จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,489 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 3.2% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 10.9% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน หลังจากปริมาณความต้องการจากจีนที่แข็งแกร่ง โดยการผลิตโพลิเมอร์นั้นมีอัตราการทำกำไรให้ PTTGC สูงที่สุดและไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงแยกก๊าซ 5 ของ PTT มากนัก
                สำหรับธุรกิจโรงกลั่น มีค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เล็กน้อย จากส่วนต่างของน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนต่างของน้ำมันดีเซลทรงตัว
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี สายอะโรเมติกส์จะมีผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง หลังจากส่วนต่างพาราไซลีนในไตรมาส 3/56 จะอยู่ที่ 532 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง 2.6% จากงวดไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงปีก่อน และส่วนต่างของเบนซีนในไตรมาส 3/56 อยู่ที่ 329 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง 21% จากไตรมาส 2/56 และเพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยสาเหตุที่ส่วนต่างลดลงเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ Condensate ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น
                การเพิ่มขึ้นของกำไรดังกล่าว ได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และพ่วงด้วยการที่ราคา LDPE ในไตรมาส 3 และ 4 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในเดือนตุลาคมนี้ ราคาของ LDPE มาอยู่ที่ 1,670 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับเฉลี่ย 1,369 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคา HDPE และ LLDPE จะยังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 1,450-1,550 เหรียญสหรัฐต่อตันไปจนถึงสิ้นไตรมาส อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก
ผลของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและความได้เปรียบของราคาน้ำมัน ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินตรงกันว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ของ PTTGC  จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3  โดยได้รับผลดีจากการเปิดดำเนินงานของโรงแยกก๊าซ 5 ของ PTT ที่ถูกฟ้าผ่า ก่อนกำหนดในช่วงต้นเดือนต.ค. 2556 และการเปิดดำเนินงานของโรงงาน LDPE ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
รวมความแล้วตลอดทั้งปี PTTGC คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานงวดปี 2556 กำไรสุทธิอยู่ที่ 34,638 ล้านบาท สูงกว่าปี 2555 ที่ได้กำไรสุทธิ 34,001 ล้านบาท ทำให้นักวิเคราะห์ คงคำแนะนา “ซื้อ” กำหนดราคาเป้าหมายปี 2557 ไว้ที่ระดับ 103 บาท
การคาดเดาในทางบวกของนักวิเคราะห์ เป็นสิ่งที่ทำให้ฝันร้ายในช่วงไตรมาสสาม จาก 2 เหตุการณ์สำคัญที่ร้ายแรงของบริษัทคือ กรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วในอ่าวไทย และกรณีฟ้าผ่าโรงแยกก๊าซของกลุ่ม PTT ซึ่งเป็นแห่ลงป้อนวัตถุดิบสำคัญให้กับ PTTGC พ้นจากความกังวลไปได้ แม้ว่าทั้งสองกรณีจะทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างสูงทีเดียว
เหตุการณ์ท่อน้ำมันรั่ว เกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เมื่อท่อส่งน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว กลางทะเลของ PTTGC ห่างจากฝั่งท่าประมาณ 10 ไมล์ทะเล เกิดอุบัติเหตุรั่ว ทำให้น้ำมันดิบไหลทะลักออกสู่ทะเล ประมาณ 50-70 ตัน แพร่กระจายบนผิวน้ำเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะชายทะเลเกาะเสม็ด (ด้านอ่าวพร้าว) จังหวัดระยอง จนเกิดผลกระทบทันทีกับชาวบ้าน และกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว 
เหตุร้ายดังกล่าว กลายเป็นข่าวใหญ่แพร่กระจายไปทั่ว และกลายเป็นที่จับจ้องของบรรดานักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่สำคัญสื่อบางรายประเมินว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจมีผลกระทบทำให้บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจสะเทือนฐานะทางการเงินของบริษัทได้ ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ทำให้เอ็นจีโอบางกลุ่ม ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องต่างๆ ทันที เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับเครือปตท.มาหลายกรณีแล้ว
โดยข้อเท็จจริงแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่เหตุการณ์ร้ายแรงสุด จากจำนวน 10 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งร้ายแรงสุด คือเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันเตาชนหินฉลาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อ 15 มกราคม พ.ศ.2545 ที่เป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่สุดเพราะมีปริมาณน้ำมันเตากว่า 243 ตัน และไม่ใช่อยู่ในเครือ ปตท. แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤติน้ำมันดิบรั่วทางทะเลครั้งใหญ่สุดประมาณ 50 ตัน แต่ที่เป็นข่าวใหญ่และโด่งดังเพราะเป็นบริษัทเครือปตท.นั่นเอง 
หลังจากเหตุร้ายเกิดขึ้น ทางบริษัทและกลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น คือ เร่งทำการขจัดคราบน้ำมันและส่งทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้าตรวจ พร้อมชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเต็มที่ ในขณะที่ในระยะยาวได้เตรียมแผนฟื้นฟู ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ ในการจัดทำแผนงานฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล
                 มีการประเมินความเสียหายจากกรณีดังกล่าวว่า อาจจะสูงถึงประมาณ 2,400 ล้านบาท ในขณะที่ PTTGC ได้ทำประกันภัยความเสียหายไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นมูลค่าประมาณ 1,550 ล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์ในขณะนั้นประเมินว่า อาจจะทำให้เป้าหมายกำไรปี 2556 ที่ตั้งเอาไว้เติบโต 10% พลาดไปได้มาก
                ไม่เพียงเท่านั้น อีก 1 เดือนต่อมา ในเช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ได้เกิดฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก และมีอุบัติเหตุฟ้าผ่าที่อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนจากไอเสียเครื่องยนต์ (Wastcovery Unit, WHRU) ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  ("PTT") ซึ่งเป็นหน่วยผลิตวัตถุดิบก๊าซธรรมชาติให้กับโรงโอเลฟินส์ I4-2 ของ PTTGC (กำลังการผลิตโอเลฟินส์  450 พันตันต่อปี)   ส่งผลให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถเดินเครื่องได้
จากการประเมินเบื้องต้นของ ปตท. คาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 3-5 เดือน  ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายจากการที่ต้องหยุดชะงักการผลิตบางส่วนไปถึงสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน เดือนละประมาณ 400 ล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทมีประกันคุ้มครองความเสียหายของทรัพย์สินและธุรกิจหยุดชะงัก (Property Damage and Business Interruption Insurance Policy) ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีที่บริษัทฯได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุของผู้จำหน่ายวัตถุดิบ  (Suppliers' Extension) ซึ่งบริษัทฯ และบริษัทประกันภัยอยู่ ได้ทำการประเมินมูลค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีฟ้าผ่านั้น ผู้บริหารของ PTTGC ได้กำหนดแนวทางในการลดผลกระทบจากการหยุดโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ในเบื้องต้น ทั้งการจัดสรรก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ และ/หรือการจัดหาวัตถุดิบก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม และจัดสรรปริมาณก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซอีเทนระหว่างโรงโอเลฟินส์ของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์สูงสุด และจัดสรรผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ของบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯสามารถดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                ผลของการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เหตุร้ายทั้งสองกรณีผ่านไปได้อย่างดี โดยกรณีน้ำมันรั่ว ได้รับการขจัดปัดเป่าจนอ่าวไทยกลับมาสะอาดดังเดิม และในกรณีฟ้าผ่า ก็ปรากฏว่า สามารถทำให้โรงแยกก๊าซได้รับการซ่อมแซมกลับมาดำเนินการตามปกติในต้นไตรมาสที่สี่ ซึ่งเป็นผลดีในยามที่ตลาดปิโตรเคมีกำลังเป็นจังหวะขาขึ้นพอดี

(ตารางผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลัง)


การทำกำไรเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้เป้าหมายทำกำไรของ PTTGC ทำได้เท่ากับ และอาจจะดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ถ้าเป็นไปได้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนอย่างยิ่ง เพราะสะท้อนความแข็งแกร่งในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิผล สมกับเป็นบริษัทที่บริหารด้วยมืออาชีพเต็มรูป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น