วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

JAS ซื้อหุ้นคืนอีก 5 ล้านหุ้น


JAS ซื้อหุ้นคืนอีก 5 ล้านหุ้น

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557 เวลา 17:28:59 น. 
ผู้เข้าชม : 2812 คน 

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการซื้อหุ้นคืนผ่านตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ (30 ก.ค. 57) โดยจำนวนหุ้นที่ซื้อคืน 5 ล้านหุ้น ราคาที่ซื้อต่อหุ้นหรือราคาสูงสุด 7.40 บาท/หุ้น ราคาต่ำสุด 7.35 บาท/หุ้น มูลค่ารวม 36.95 ล้านบาท
ทั้งนี้ จำนวนรวมของหุ้นที่ซื้อคืนในโครงการจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 21.70 หุ้น เป็นจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว 0.30% มูลค่ารวมที่ซื้อคืน 175.62 ล้านบาท

AQ เทกโอเวอร์ทางประตูหลังอย่างสมยอม

AQ เทกโอเวอร์ทางประตูหลังอย่างสมยอม

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 628 คน 

อีกครั้งหนึ่งที่เกิดการเทกโอเวอร์กิจการในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เก่าแก่ที่เปลี่ยนชื่อเดิม จากบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC มาเป็น บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ในปัจจุบัน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง
ข้อที่น่าสนใจสำหรับการเทกโอเวอร์กิจการครั้งนี้ 3 ประการคือ
  1. เป็นการเทกโอเวอร์ในลักษณะเข้าประตูหลัง หรือ back-door listing โดยสองผู้ถือหุ้นหลักรายใหม่ หลังจากการเพิ่มทุนหลายระลอกใน 2 ปีที่ผ่านมา
  2. เป็นการเทกโอเวอร์อย่างสมยอมโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมโดยผ่านคณะกรรมการบริษัท เป็นการยินยอมจากภายใน ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมที่ผูกขาดอำนาจบริหารบริษัทในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมานั้น น่าจะเป็นนอมินี หรือพันธมิตร “ตัวเปิด” ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่สุดที่เข้ามาใหม่
  3. เป็นการเทกโอเวอร์กิจการอย่างแนบเนียนโดยไม่ต้องมีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์กับผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด ประหยัดต้นทุนในการดำเนินการฮุบกิจการอย่างชาญฉลาด
วิศวกรรมการเงินที่เกิดขึ้น และยังอยู่ในช่วงดำเนินการ ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นอกเหนือจากการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นไปมาอย่างซับซ้อนในหลายปีมานี้แล้ว  อนาคตทางธุรกิจของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ AQ จะกลับฟื้นคืนสู่ความรุ่งโรจน์แบบในอดีตได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากเกมราคาหุ้นที่ดำเนินมา ได้อย่างไร
คำถามนี้ ต้องการเวลาในการพิสูจน์อีกยาวนานด้วยผลประกอบการที่แท้จริงของบริษัทนานหลายไตรมาสพอสมควรเลยทีเดียว 
ปูมหลังการเปลี่ยนแปลงจาก KMC มาสู่ AQ ย้อนรอยไปในปี 2555 เมื่อกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้ทยอยถอนตัวอย่างเงียบเชียบไปจากบทบาทการเป็นผู้ถือหุ้น และการมีอำนาจบริหารเหนือกิจการ หลังจากที่มีปัญหาไม่สามารถผลักดันบริษัทให้มีฐานะการเงินที่โดดเด่นแบบในอดีตได้อีกต่อไป โดยเปิดทางให้กลุ่มทุนใหม่ ที่มีลักษณะพันธมิตรเข้ามาบริหารกิจการนับแต่กลางปี 2555 เป็นต้นมา  โดยมี “ตัวเปิด” คนสำคัญคืออดีตผู้บริหารของบริษัท นายวิรัตน์ เอี้ยวอักษร ทำหน้าที่ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า จากนี้ไป จะไม่มีคราบไคลของกฤษดาธานนท์อีกต่อไป เริ่มต้นยุคใหม่
โครงสร้างของผู้ถือหุ้น KMC ยุคหลังการถอนตัวของกฤษดาธานนท์ คือ การกระจายการถือหุ้นดังที่ปรากฏในบัญชีผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท วันปิดสมุดทะเบียนอย่างมาก โดยในต้นปี 2556 มีผู้ถือหุ้นเกิน 5% เพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ในต้นปี 2557 ไม่มีผู้ถือหุ้นใดถือหุ้นเกินกว่า 3 ประการดังกล่าวเลย กลายเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 100% หรือ บริษัทไร้เจ้าภาพ โดยปริยาย
โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เปราะบางเช่นนี้ เหมาะสำหรับการเข้าเทกโอเวอร์อย่างง่ายดาย (ดังเช่นเคยเกิดขึ้นกับกรณีของนอมินีเสี่ยเจริญเข้านำร่องซื้อกิจการในหลายบริษัท ก่อนโอนมาเข้าเครือของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจในภายหลัง และกรณีของ TTA เมื่อกลุ่มมหากิจศิริเข้าเทกฯไปเมื่อต้นปี 2556 มาให้เห็นเป็นตัวอย่างนำร่องแล้ว)
ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจสำหรับการที่จะมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตัวจริงเสียงจริงครั้งใหม่จะปรากฏตัวขึ้น เมื่อมีการเทกโอเวอร์ทางประตูหลัง ครั้งล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2557 นี่เอง โดยไม่ต้องคำนึงว่า กลุ่มพันธมิตรผู้ถือหุ้นเดิมนั้นเป็นนอมินีของใครหรือไม่
(รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 2556 เทียบกับ มีนาคม 2557) 

KMC ยุคหลังกฤษดาธานนท์ มีความพยายามที่ทำให้ดูเหมือนกับว่า ต้องการให้เป็นบริษัทธรรมาภิบาลที่แท้จริง เริ่มตั้งแต่กระบวนการหลายอย่าง นับแต่ การสร้างภาพ “ปลอดการเมือง” ของ KMC ที่ปฏิเสธคำฟ้องร้องต่อศาล เกี่ยวกับกรณี สินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด เพื่อปล่อยกู้ซื้อที่ดินของโกลเด้นแลนด์ ของตระกูลกฤษดาธานนท์ โดยบริษัทได้ออกหนังสือชี้แจงว่า มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหากระทำในฐานะส่วนตัวทั้งสิ้น มิได้กระทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของบริษัทแต่อย่างใด
ถัดจากนั้น KMC ยุคใหม่ก็ ทำการจัดตลาดใหม่ด้วยการรีแบรนด์สินค้าในกลุ่ม เป็น 3 แบรนด์ในสินค้าอสังหาริมทรัพย์ของ KMC ประกอบด้วยระดับที่แตกต่างกันเพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม (แบรนด์เดอะเฟิร์ส บ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท แบรนด์เดอะไพร์ด บ้านราคาระดับ 3-5 ล้านบาท และ แบรนด์ เดอะคริส เป็นคอนโดมิเนียมราคา 2-2.5 ล้านบาท)  เป็นการเริ่มต้นใหม่อย่างช้าๆ โดยยุทธศาสตร์ที่หวังจะเริ่มทยอยเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบเป้าหมายหลักคือหวังล้างขาดทุนสะสมที่มีกว่า 1 พันล้านบาทอันเป็นมรดกจากของเดิม ให้หมดภายในปี 2559 และ มียอดขายแตะระดับ 5,000 ล้านบาทต่อปี
ประเด็นปัญหาคือ การสร้างรายได้ใหม่ภายใต้แผนการตลาดที่แตกต่างจากเดิมนั้น จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องดำเนินการหาที่ดินแปลงใหม่มาพัฒนามากขึ้น เพราะบริษัทมีแลนด์แบงก์เก่าในมือไม่มากนัก ยกเว้นที่ดินย่านรังสิต จำนวนกว่า 70 ไร่ ซึ่ง KMC มีแผนที่จะพัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวระดับราคา 3-5 ล้านบาท ทำให้บริษัทต้องการระดมทุนใหม่ตามความจำเป็นเพื่อฟื้นกิจการกลับมาให้ได้
ข้ออ้างดังกล่าว ทำให้เราได้เห็นการเพิ่มทุนหลายครั้งของ KMC นับแต่เดือนกุมภาพันธ์  2555 เป็นต้นมาถึง 5 ครั้ง

รายละเอียดการเพิ่มทุน 4 ครั้งของ KMC และ AQ 2555-2557
วันเวลาเพิ่มทุน
จำนวนหุ้นเพิ่มทุน
ราคา(บาท)
หมายเหตุ
29 กุมภาพันธ์ 2555
2,021,396,860 (10  เท่าของจำนวนหุ้นเดิม)
0.40
ให้ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดอัตรา 1 เดิม ต่อ 10 ใหม่
20 กรกฎาคม 2555
2,000,000,000
0.32 (เฉลี่ย)
ขายแบบเฉพาะเจาะจง
21 ธันวาคม 2555
5,254,436,064
0.53
1) เพิ่มราคาพาร์หุ้นจาก 10 บาท เป็น 20 บาทต่อหุ้น
2) ขายทั้งสองแบบ คือ 2,140 ล้านหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม อีก 3,500 ล้านหุ้นขายเฉพาะเจาะจง และ เพิ่มทุน 380.143 ล้านหุ้นรองรับวอร์แรนต์ที่แจกฟรี
3 วางแผนลดพาร์เหลือ 0.50 บาท เพื่อลดขาดทุนสะสม
4)ขายไม่หมด ได้แค่ 800 ล้านหุ้น ต้องมาลดทุน และเพิ่มทุนใหม่เพื่อขายแบบเฉพาะเจาะจงในปี 2557
24 เมษายน 2557
3,500,000,000
0.342
ขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กับ 2 บุคคล
19 มิถุนายน 2557
2,038,658,520
0.32
ให้ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด เงื่อนไข 7 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นใหม่

ในกระบวนการเพิ่มทุน ช่วงเวลาที่ถือเป็นจุดผกผันสำคัญคือ การเพิ่มทุนปลายปี 2555 ที่มีมติปรับราคาพาร์ของหุ้นจาก 10 บาทเป็น 20 บาทแต่กลับเสนอขายหุ้นในราคาเฉลี่ยเพียงแค่ 0.53 บาท ซึ่งเท่ากับส่วนต่ำมูลค่าหุ้นหลังการเพิ่มทุนจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ประหลาดพอสมควร และที่สำคัญ การเพิ่มทุนดังกล่าว แม้จะใช้เวลานานตลอดปี 2556 ก็ขายหุ้นไม่หมด ได้ขายไปเพียง 800 ล้านหุ้นเท่านั้น และที่สำคัญ ผู้ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนไป ล้วนขาดทุนกันทั้งสิ้น เพราะราคาหุ้นได้ถดถอยลงมา เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก แถมยังลดลงเสียด้วยซ้ำ
ส่วนในกลางปี 2556 ผู้บริหารของ KMC ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญคือ ได้ลงทุนเข้าซื้อกิจการ 476.48 ล้านบาท ซื้อหุ้น 85% ของบริษัท อควาเรียส เอสเตท จำกัด โดยเงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินที่ได้จากเงินเพิ่มทุนและเงินสดของกิจการ ซึ่งผลลัพธ์กลับกลายเป็นการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ถึงขั้นที่มีการปรับเปลี่ยนชื่อของบริษัทเสียใหม่อย่างสิ้นเชิง เป็นชื่อ AQ ที่คล้ายคลึงกับชื่อของบริษัทที่ตกเป็นเป้าซื้อกิจการ
มิหนำซ้ำ ยังเปิดทางให้ผู้บริหารเดิมของบริษัทที่ถูกซื้อเข้ามาใต้ร่มธงของตนเอง นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ (ซึ่งต่อมามีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้น AQ ด้วย) กลายเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดของบริษัท โดยเป็นถึง ประธานกรรมการ ต่อมาเป็นประธานกรรมการบริหารด้วย ในขณะที่นายวิรัตน์ เอี้ยวอักษร เริ่มลดบทบาทตัวเองลงไปอยู่หลังฉาก  แม้จะยังนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการต่อไปจนถึงปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่แปลกพิสดารยิ่งนัก
เมื่อแผนการเพิ่มทุนไม่บรรลุเป้าหมายกลายสภาพเป็นแค่ วิมานในอากาศ ฐานะการเงินของบริษัท ก็ไม่สามารถทำตามที่กำหนดล่วงหน้าเอาไว้ได้ จึงได้เห็นผลประกอบการที่ไม่สวยงามนักของ AQ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี ที่มีกำไรสุทธิต่ำมาก

(ตารางผลประกอบการย้อนหลัง AQ)

เพื่อพลิกสถานการณ์เรื่องทุนดำเนินงานในอนาคตให้ลุล่วง ในเดือนเมษายนจึงมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อมีมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยการขออนุมัติให้ผู้บริหารเจรจาขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงระลอกใหม่ให้กับกลุ่มพันธมิตรจำนวน 3.5 พันล้านหุ้นในราคา 0.342 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกลงอย่างมาก แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก
นั่นคือที่มาของดีลซื้อขายกิจการที่กลายเป็นการเทกโอเวอร์กิจการแบบเข้าประตูหลัง เมื่อกลุ่มพันธมิตรรายใหม่ คือ  นายนิรันดร์ เหตระกูล จำนวน 1 พันล้านหุ้น และ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จำนวน 2.5 พันล้านหุ้น ซึ่งหากรวมกันทั้งสองคน จะมีจำนวนการถือครองหุ้นที่ระดับ 32% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียน แต่เนื่องจากมีการแบ่งส่วนทำให้แต่ละคนถือหุ้นไม่เกิน 25% และไม่มีเหตุอ้างได้ว่าเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน ดังนั้น จึงไม่เข้าเกณฑ์ในการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์
สัดส่วนของพันธมิตรใหม่ทั้งสองนี้ ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เต็มตัว แม้ว่าในระยะแรกจะไม่แสดงตัวเป็นผู้ที่ต้องการมีบทบาทในการบริหารเต็มที่ โดยพลตำรวจเอกสมยศให้สัมภาษณ์ว่า โดยส่วนตัวก็เล็งเห็นถึงโอกาส และมีความมั่นใจว่าธุรกิจ น่าจะเติบโตในทิศทางที่ดี และการเข้ามาลงทุนในหุ้น AQ ครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนระยะยาว พร้อมกันนี้ มองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต  ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กลุ่มอสังหาฯ น่าจะได้รับประโยชน์  ซึ่งเหตุผลที่เป็นสูตรสำเร็จอย่างง่ายๆ ดังกล่าว ไม่น่าจะมีนักลงทุนที่ไหนเชื่อ
สัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งสองคนที่เข้ามานี้ จะมีการเปลี่ยนไปในทางลดลงไปได้ในอนาคต หลังจากที่ มีมติอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ให้มีการเพิ่มทุนอีก 2,038.658 ล้านหุ้น เพื่อขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 7 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาแค่ 0.32 บาท ซึ่งยังมีคำถามว่า จะมีคนซื้อมากแค่ไหน
ในกรณีที่มีคนซื้อหุ้นเพิ่มทุนรอบสุดท้ายนี้ทั้งหมด จะทำให้โอกาสของการเทกโอเวอร์ทางประตูหลังของกลุ่มนายนิรันดร์ และพลตำรวจเอกสมยศลดน้อยลงเพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นลดลง แต่หากไม่มีคนในใจซื้อหุ้นเพิ่มทุน โอกาสที่คนทั้งสองจะส่งตัวแทนมายึดอำนาจการบริหารใน AQ ก็เป็นไปได้สูง
ความเป็นไปได้ของการเทกโอเวอร์ทางประตูหลังแบบสมยอม จึงเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน และเลี่ยงไม่พ้น

หุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นก่อนรู้ผลประชุมเฟด ต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557

หุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นก่อนรู้ผลประชุมเฟด

ต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 6 คน 

ซีเอ็นบีซี - ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ และมีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองของสหรัฐในเวลาต่อมา  นักวิเคราะห์ชี้หากจีดีพีสหรัฐโตในอัตราที่สูงกว่าประมาณการของทางการ ก็จะมีการพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวอลล์สตรีท

                สำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสสองของสหรัฐจะโต 3% ในขณะที่มีการมองกันว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดการซื้อสินทรัพย์ประจำเดือนลงอีกประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
                อีแวน ลูคัส นักกลยุทธ์ตลาดของบริษัทไอจี ตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการเอฟโอเอ็มซีของเฟดจับตาตัวเลขจีดีพีอย่างจริงจัง และหากตัวเลขจีดีพีโตในอัตราที่สูงกว่าประมาณการของทางการ ก็จะมีการพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวอลล์สตรีท
                ความวิตกเกี่ยวกับอาร์เจนตินาก็เป็นปัจจัยสำคัญในตลาดเช่นกัน  รัฐบาลอาร์เจนตินาและศาลแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อเริ่มเจรจากับเจ้าหนี้ในวันพุธ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ทันเวลา
                ในขณะเดียวกัน  ยุโรปและสหรัฐประกาศมาตรการลงโทษใหม่ต่อรัสเซียเมื่อวันอังคารเพื่อพยายามกดดันรัฐบาลมอสโกให้ดำเนินการมากขึ้น เพื่อยุติกิจกรรมของกลุ่มกบฏในยูเครน ข่าวนี้ส่งผลให้หุ้นสหรัฐปรับตัวลงจนทำให้ดัชนีดาวโจนส์ลงไปยืนในระดับต่ำกว่า 17,000 จุด
                ดัชนีนิกเกอิ ปรับตัวขึ้น 0.2%  โดยพุ่งสูงสุดในรอบหกเดือนอีกครั้งเป็นวันที่สามติดต่อกัน แม้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยก่อนตลาดเปิดจะสร้างความผิดหวัง ซึ่งอัตราผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลง 3.3% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้มากและถือเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบสองเดือน
                ตลาดญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากข่าวผลกำไรบริษัทมาก  บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ดีดตัว 3% หลังจากประกาศว่ากำไรจากการดำเนินงานในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนเพิ่มขึ้น 7.1% ต่อปี แต่เจแปน แอร์ไลน์ ปรับตัวลง 3.5% หลังจากที่กำไรลดลง 19% ต่อปี  ส่วนสกายมาร์ก แอร์ไลน์ ปรับตัวลง 13% หลังจากที่แอร์บัสยกเลิกข้อตกลงที่จะขายเครื่องบินเอ 380 จำนวนหกลำ และแมคโดนัลด์ส์ เจแปน  ปรับตัวลงเกือบ 13% หลังจากบริษัทยกเลิกประมาณการกำไรเนื่องจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเนื้อวัวในจีนซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท เซี่ยงไฮ้ หูซี
                หุ้นจีนปิดทั้งบวกและลบ โดยตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ปิดในแดนลบหลังจากที่พุ่งขึ้นมา 6 วันติดต่อกัน  บริษัทอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มที่ปรับตัวลงมากสุด  ส่วนดัชนีฮั่งเส็งฮ่องกง ปรับตัวขึ้น 0.4% ปิดสูงสุดในรอบ 7 เดือนอีกครั้ง
                ตลาดออสเตรเลียก็ปรับตัวขึ้น 0.6%   ดัชนี S&P ASX 200 พุ่งทำนิวไฮในรอบ 6 ปีเป็นวันที่สองติดกัน ขณะที่ดัชนีคอสปิ ปรับตัวขึ้น 1% หุ้นเกาหลีใต้พุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นวันที่สองติดต่อกัน และได้ดีดตัวเป็นเดือนที่สี่หลังจากที่ผลผลิตของโรงงานในเดือนมิถุนายนใกล้สูงสุดในรอบห้าปี 
                ในบรรดาหุ้นเกาหลีใต้ที่ดีดตัวมากสุดคือ ฮุนได มอเตอร์ โดยปรับตัวขึ้น 3% ในทางตรงข้าม หุ้นฮุนได เฮวี่ ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือรายใหญ่สุดของโลก ปรับตัวลง 9.5% หลังจากที่รายงานว่าขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,000 ล้านดอลลาร์ 
                หุ้นยุโรปสวนกระแสหุ้นเอเชีย  ดัชนีเอฟทีเอสยูโรเฟิร์ส 300 ปรับตัวลงในช่วงเช้า หลังจากที่ดีดตัวถึง 0.3% เมื่อวันอังคาร 
                นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า ข้อมูลที่เป็นบวกเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น ข่าวที่ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งเป็น 90.9 ในเดือนกรกฎาคม อาจชักจูงให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับการใช้ภาษาเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตเมื่อมีการแถลงนโยบายเงินในวันพฤหัสบดี      
               

SCCกำไร8พันล้าน ปันผลครึ่งปี5.50บ. ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557

SCCกำไร8พันล้าน
ปันผลครึ่งปี5.50บ.

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 28 คน 

วันนี้ SCC ประกาศงบไตรมาส 2/57 โบรกเกอร์ประเมินตัวเลขกำไรสุทธิ 8,000 ล้านบาท ส่งผลงวดครึ่งปีแรกกำไรแตะ 16,000 ล้านบาท พร้อมลุ้นเงินปันผล 5.50 บาท ส่วนราคาหุ้นอ่อนตัวเป็นโอกาส “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 500 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  SCC มีกำหนดประกาศงบไตรมาส 2/57 วันนี้ (30 ก.ค.) โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ตัวเลขกำไรงวดไตรมาส 2/57 จะอยู่ที่ระดับ 8,100 ล้านบาท ปรับลดลง 3% เมื่อเทียบงวดไตรมาสแรก และลดลง 18% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยมีธุรกิจกระดาษเท่านั้นที่เติบโตดีจากการส่งออกและการปรับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มมากขึ้น ส่วนธุรกิจปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างยังอ่อนตัวลงทั้งแบบเทียบรายไตรมาสและเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ 2 ใน 3 ของธุรกิจหลักจะซบเซา แต่ทางบริษัทยังได้เงินปันผลจากเงินลงทุนโตโยต้า ซึ่งปกติจะจ่ายในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ทำให้มีส่วนช่วยให้กำไรไม่อ่อนลงมากเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/57 ที่ผ่านมา
สำหรับการก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง ยังไม่มีโครงการภาครัฐใหม่เข้ามาได้ทัน ดังนั้น ภาพรวมดีมานด์ปูนซีเมนต์ทั้งปีนี้จะออกมาทรงตัว โดยคาดธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะลดลงในปี 2557 ขณะที่สเปรดปิโตรเคมียังไม่ดีอย่างที่หวังไว้ ขณะที่ธุรกิจกระดาษจะเติบโตได้ดีจากการมุ่งส่งออก แต่สัดส่วนกำไรธุรกิจนี้ยังไม่มากนัก ส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2557 คาดมีกำไรสุทธิ 3.2 หมื่นล้านบาท ปรับลดลง 10% จากงวดปี 2556
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/57 ที่ผ่านมา ทาง SCC มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นจำนวน 8,380 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/56 ทางบริษัทมีกำไรสุทธิรวม 9,923 ล้านบาท และภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2556 ทางบริษัทมีกำไรสุทธิ 36,522 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ กล่าวอีกว่า ถึงแม้กำไรงวดปี 2557 น่าผิดหวัง แต่โมเมนตัมจะกลับมาปี 2558 อีกทั้งมองหุ้น SCC เป็นผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC โดยการลงทุนของบริษัทที่ผ่านมาในภูมิภาค เริ่มสร้างผลบวกตั้งแต่ปีหน้า จึงคงคำแนะนำ “ทยอยซื้อ” กำหนดราคาพื้นฐานปรับใหม่ 480 บาท
โดยแนวโน้มปี 2558 เชื่อว่าภาคก่อสร้างน่าจะกลับมาคึกคักจากการจัดตั้งรัฐบาลได้ ช่วงครึ่งหลังปี 2557 จึงน่าจะทำให้เห็นนโยบายลงทุนภาครัฐมากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยจะมีโครงการใหม่เปิดประมูลออกมาได้ ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากที่ขึ้นจะหนุนให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ดีมานด์ปูนซีเมนต์ปีหน้าจะกลับมาเติบโต 3-5%
ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ไอร่า จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เบื้องต้นประเมินภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/57 จะมีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาส 1/57 เกือบทุกธุรกิจหลัก คาดว่าจะมีรายได้จากการขาย 115,000-118,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 8,000-8,500 ล้านบาท
ดังนั้นกำไรไตรมาส 2/57 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก แต่จะลดลงประมาณ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งภายใต้ประมาณการเงินปันผลจากบริษัทที่เข้าลงทุน เช่น TOYOTA เป็นต้น คาดจะไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท ส่วนภาพรวมงวดครึ่งปีแรกคาดว่ามีรายได้จากการขาย 237,491 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 16,926 ล้านบาท ปรับลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน
นอกจากนี้ได้ประเมินการจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งแรกปี 2557 ที่ประมาณ 5-5.50 บาทต่อหุ้น และประเมินภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2557 จะมีกำไรสุทธิ 37,869 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน กำหนดคำแนะนำ “ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว” สำหรับการลงทุนระยะยาวให้ราคาเป้าหมาย 500 บาท
ทั้งนี้จากการสำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SCC ล่าสุดช่วงวานนี้ (29 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 458 บาท ปรับลดลง 2 บาท หรือคิดเป็น 0.43% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 406 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หาก SCC จ่ายปันผลงวดครึ่งปีแรก 5.50 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นดิวิเดนด์ยีลด์ประมาณ 1.2% และมีอัพไซด์ 9.1% เมื่อเทียบราคาเป้าหมาย 500 บาท

BLANDพลิกลิ้นซื้อหุ้นคืน อนุมัติแก้ข้อบังคับบริษัท ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557

BLANDพลิกลิ้นซื้อหุ้นคืน
อนุมัติแก้ข้อบังคับบริษัท

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 11 คน 

ที่ประชุมผู้ถือหุ้น BLAND อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของบริษัทเกี่ยวกับการขอซื้อหุ้นคืน ไม่เกิน 10% เป็นอำนาจของกรรมการ ส่วนกองทุน REIT คาดเริ่มเปิดจองได้ในช่วงเดือนก.ย.นี้
วานนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น BLAND ในวานนี้ (30 ก.ค.) มีมติให้อำนาจคณะกรรมการบริษัทมีสิทธิในการพิจารณาโครงการซื้อหุ้นคืน โดยอาจทำเพื่อบริหารทางการเงิน โดยหลักเกณฑ์และวิธีการจะเป็นไปตามกฎหมายบริษัทมหาชน และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้บังคับอยู่ การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่กรณีที่บริษัทซื้อหุ้นคืนในจำนวนไม่เกินกว่า 10% ของทุนเรียกชำระแล้วให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริษัท
ทั้งนี้ ในช่วงเย็น BLAND ได้รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยวาระดังกล่าวอยู่ในวาระที่ 8 ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับของบริษัทข้อ 3 และข้อ 9
แหล่งข่าวจาก BLAND เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้สำรวจความพร้อมสำหรับโครงการซื้อหุ้นคืนเตรียมไว้แล้ว พบว่าสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.กำหนดไว้ เนื่องจากบริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราวกว่า 3 พันล้านบาท และกำไรสะสมกว่า 2 พันล้านบาท รวมทั้งไม่มีหนี้ระยะยาว ดังนั้น ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้จึงได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อเปิดทางให้อำนาจคณะกรรมการสามารถดำเนินโครงการได้ แต่ขณะนี้ยังขอศึกษาข้อกฎหมายและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ให้ดีเสียก่อนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่
นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BLAND เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถเปิดการจองกอง REIT ได้ในช่วงเดือนก.ย. 57 หลังจากผ่านการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อย่างรอบคอบจาก ก.ล.ต.อย่างครบถ้วน ซึ่งมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงอย่างมากที่จะเปิดจองกอง REIT ได้ทันตามแผนที่วางไว้
"แผนการเปิดจองกอง REIT Impact Growth เราคาดว่าจะเปิดจองได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นกองแรกของประเทศ เพราะตอนนี้ทาง ก.ล.ต.ก็ไฟเขียวมาแล้ว ก็เหลือรอดูตลาดฯจะว่ากันอย่างไร แต่ตอนนี้มันก็ใกล้ความจริงเข้ามามากขึ้นทุกทีแล้ว คิดว่าทุกอย่างคงเป็นไปตามแผนแน่นอน" นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท (IMPACT Growth Real Estate Investment Trust) มูลค่าไม่เกินกว่า 20,000 ล้านบาท บริษัทจะขายอิมแพ็ค 4 ให้เป็นสินทรัพย์ของกองทรัสต์ ซึ่งเป็นส่วนที่ตั้งอยู่ในเขตโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้แก่ ศูนย์จัดการแสดงอิมแพ็ค อารีน่า (IMPACT Arena), ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติรวมถึงสถานที่สำหรับจัดงานในร่ม (IMPACT Exhibition Center) ที่มีจำนวน 8 อาคาร และห้องประชุม 6 ห้อง, ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม (IMPACT Forum) มีจำนวน 2 อาคาร และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (IMPACT Challenger) มีจำนวน 3 อาคาร ห้องบอลรูม 1 ห้อง และห้องประชุม 16 ห้อง
BLAND จะเข้าไปถือกองทรัสต์ดังกล่าวในสัดส่วน 50% และจะนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายสินทรัพย์ไปลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริม ทรัพย์ ซึ่งจะทำให้รายได้ในเชิงพาณิชย์ของ BLAND มีการขยายตัวและช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตในระยะยาว

THCOMลั่นรายได้โต18% ยิงไทยคม7ปลายส.ค.นี้ ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557

THCOMลั่นรายได้โต18%
ยิงไทยคม7ปลายส.ค.นี้

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

THCOM ลั่นรายได้ปีนี้โต 18% จากปีก่อน หลังบุ๊ครายได้ไทยคม 6 เต็มปี รับรู้ส่วนแบ่งรายได้ซีเนอร์โทน จ่อยิงไทยคม 7 ส.ค.นี้ พร้อมออกบอนด์ 3-4 พันล้านบาท ลดต้นทุนการเงิน เล็งหาดาวเทียมชั่วคราวก่อนยิงไทยคม 8 รองรับดีมานด์ลูกค้า

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 18% จากปี 2556 ที่มีรายได้อยู่ที่ 8,286.13 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการรับรู้รายได้ของดาวเทียมไทยคม 6 เข้ามาเต็มปี
โดยปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 6 มียอดขายช่องสัญญาณล่วงหน้าแล้ว 68% แบ่งเป็นลูกค้าในประเทศแถบเอเชีย 64% และกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา 4% และที่เหลืออีก 32% บริษัทจะขายช่องสัญญาณให้กับกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทยังรับรู้ส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ในสัญญา Synertone ของจีน รวมทั้งรับรู้รายได้ไอพีสตาร์ในออสเตรเลีย และมาเลเซียด้วย โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้รายได้ยังคงเติบโตดี
ส่วนความคืบหน้าดาวเทียมไทยคม 7 บริษัทมีกำหนดยิงขึ้นสู่วงโคจรที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ ซึ่งใช้ในการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย โดยปัจจุบันบริษัทสามารถขายช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม 7 ล่วงหน้าไปแล้ว 50% ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้จะสามารถขายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาทในช่วงเดือนก.ย.นี้ จากวงเงินที่บริษัทได้ขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปตั้งแต่ประมาณช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา จำนวน 7,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ที่เตรียมจะออกดังกล่าวเพื่อนำเงินเป็นก้อนจำนวนประมาณเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปชำระให้กับบริษัท Asia Satellite Telecommunications ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในดาวเทียมไทยคม 7 มูลค่าการลงทุนประมาณ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทลดต้นทุนทางการเงินได้ โดยดอกเบี้ยจะลดลงเหลือเพียง 5-6% จากเดิมที่บริษัทแบ่งจ่ายเป็นรายปีเป็นระยะเวลา 15 ปี มีดอกเบี้ยอยู่ที่ 10%
สำหรับดาวเทียมไทยคม 8 ได้รับการออกแบบให้มีช่องสัญญาณแบบเคยูแบนด์รวมทั้งสิ้น 24 ช่องสัญญาณ ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียใต้ และแอฟริกา ใช้ในอุตสาหกรรมบรอดคาสต์ โดยบริษัทมีกำหนดยิงขึ้นสู่วงโคจรในช่วงต้นปี 2559 ที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับดาวเทียมไทยคม 5 และดาวเทียมไทยคม 6 มูลค่าการลงทุนประมาณ 178.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,791 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในขณะนี้บริษัทพยายามหาเช่าดาวเทียมชั่วคราวก่อนที่จะยิงดาวเทียมไทยคม 8 ในช่วงต้นปี 2559 เนื่องจากมีความต้องการของลูกค้ารองรับอยู่แล้ว ดังนั้นแม้มีต้นทุนที่ต้องเช่าดาวเทียมชั่วคราวเพิ่ม แต่จากดีมานด์ลูกค้าที่มี ทำให้มีเงินเข้ามา ซึ่งสามารถชดเชยต้นทุนในการเช่าดาวเทียมชั่วคราวได้
ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 9 มีช่องสัญญาณแบบเคยูแบนด์ และซีแบนด์ ซึ่งอยู่ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก เป็นตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่รัฐบาลไทยให้รักษาวงโคจรเอาไว้ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันได้เจรจาเรียบร้อยไปแล้ว 3 ประเทศ เหลือจีนเพียงประเทศเดียว ซึ่งก็มีแนวโน้มคลี่คลายได้
“เราเคลียร์ไปแล้ว 3 ประเทศ เหลือจีนประเทศเดียว ซึ่งที่ติดที่จีน เพราะโดยปกติไม่อยากให้มีดาวเทียมมาอยู่ข้างๆ มองว่าจะไปแย่งตลาดเขา แต่ก็ดูมีแนวโน้มคลี่คลาย” นางศุภจี กล่าว


TH/SLC ทางใครทางมัน และโจทย์ของ วิชัย ทองแตง รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557

TH/SLC ทางใครทางมัน และโจทย์ของ วิชัย ทองแตง

รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

การประกาศแยกทางกันของความร่วมมือฉันหุ้นส่วนธุรกิจระหว่างบริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TH กับบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้ประกอบกาธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์  (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ในสัปดาห์นี้  มีเหตุผลที่ตรงกันข้ามกับตอนที่ประกาศเข้าเป็นหุ้นส่วนกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งชวนให้เกิดความสงสัยไม่น้อยว่า มีอะไรในกอไผ่มากน้อยเพียงใด
ประเด็นเรื่องความคลุมเครือของการแยกทางกันของ TH กับ SLC ในกรณีของสปริงนิวส์ทีวีนั้น แม้ผู้บริหารทั้งสองฝั่งจะออกมาให้เหตุผลสวยหรูเพียงใด ก็ไม่สามารถปิดบังได้มิดว่า มีความคลุมเครือที่ชวนให้กังขาไม่น้อย เช่นเดียวกันกับความคลุมเครือในตอนที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เลยทีเดียว
หากนับเนื่องจากระยะเวลาที่ TH เข้าร่วมถือหุ้นในสปริงนิวส์ทีวี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ปีนี้ จนถึงเวลาที่ประกาศแยกทางกัน ก็กินเวลาเพียงแค่ 5 เดือนเศษเท่านั้น เรียกได้ว่า ก้นหม้อไม่ทันจะไหม้เสียด้วยซ้ำ และหากเทียบกับกรณีของชีวิตสมรสอันแตกหักอื้อฉาวของ “เอ๋-เจนนี่” ที่กำลังโด่งดังในพื้นที่สื่อยามนี้ด้วยแล้ว ถือว่า ใช้เวลาแสนสั้นกว่ากันอย่างมาก
ถือเป็นการส้องเสพทางธุรกิจที่สอดคล้องกับภาษิตในวรรณคดีเก่าแก่ที่ว่า  “รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม”  เลยทีเดียว
มองย้อนกลับไปนับแต่การประกาศของ TH  เข้าร่วมถือหุ้นในสปริงนิวส์ทีวี จะพบเห็นความคลุมเครือในเป้าหมายมาตั้งแต่ต้น เพราะดังที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจทีวีของสปริงนิวส์ ที่ได้ลงทุนทำมายาวนานหลายปีนั้น มีตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง ตั้งแต่ทีวีดาวเทียม และจะต้องลงทุนใหม่อีกจำนวนหลายพันล้านในอนาคตข้างหน้า โดยช่วงเวลาของการคืนกำไรจะกินเวลานานหลายปี การเข้าร่วมลงทุนจึงต้องมีการศึกษามาอย่างดีและรอบคอบ
คำถามดังกล่าวถูกหยิบยกมาตั้งแต่ต้นเพราะว่า TH กำลังมุ่งเข้าสู่ธุรกิจที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และมีเดิมพันสูงยิ่งนักอย่างสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับความพร้อมสำหรับบริษัทฯ
ข้อสังเกตของการเข้าร่วมหุ้นทางธุรกิจครั้งนั้นอยู่ที่ มติของคณะกรรมการ TH มีส่วนโยงใยเข้าส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนสำคัญที่ชื่อนายวิชัย ทองแตง เป็น 1 ในรายชื่อบุคคลวงจำกัด จำนวน 8 รายที่ได้สิทธิซื้อหุ้นที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) ของ TH ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 (ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างใหญ่หลวงทีเดียว แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงกลุ่มตระกูลกยาวัฒนกิจจะยังครองเสียงข้างมากร่วมกันต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง) อย่างลึกซึ้ง
นายวิชัยนั้น ถูกคนจำนวนมากเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังโครงการทีวีดิจิตอลของสปริงนิวส์ทีวี โดยทางอ้อมโดยเฉพาะในกรณีของ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  SLC ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับช่องทางของธุรกิจของกลุ่ม CTH ที่นายวิชัยเป็นผู้ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
คำถามจากนักลงทุนค่อนข้างมากจึงออกมาในทำนองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่นายวิชัยจะใช้  TH เป็นเครื่องมือสำหรับการระดมทุนในอนาคตรองรับการขยายกิจการของธุรกิจสื่อที่ตนเองถือหุ้นร่วมอยู่อย่าง บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH ที่มีแผนการลงทุนรุกในธุรกิจเคเบิลทีวีมูลค่ามากกว่า  20,000 ล้านบาท ผ่านทางสปิรงนิวส์ทีวี แต่คำตอบก็ยังคงล่อยลอยในสายลมจนถึงปัจจุบัน
ในครั้งนั้น คณะกรรมการของ TH ได้ระบุในเอกสารเป็นทางการของบริษัทฯว่า การเข้าร่วมทุนในสปิรงนิวส์ฯโดยจะเข้าถือหุ้นจำนวนรวม 25,000,000 หุ้น เท่ากับร้อยละ 25 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 10.00 บาท  คิดเป็นมูลค่าของรายการรวม 250 ล้านบาทเป็นไปด้วยเหตุผลรอบคอบแล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่ดี มีผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีโอกาสในการขยายงานหรือพัฒนาการทางธุรกิจต่อเนื่องออกไปได้อีกหลากหลาย
ข้ออ้างที่เปิดเผยออกมาระบุว่า “การเข้าทํารายการดังกล่าวเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทฯ เป็นแผนธุรกิจที่ดี และมีอนาคตรวมทั้งยังมีการรับประกันการจ่ายเงินลงทุนคืนจากบริษัทแม่ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai และกำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มทุน จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน หรือการชำระคืนเงินลงทุนของบริษัทฯตามเงื่อนไขได้”
เหตุผลอันสวยหรูดังกล่าว หากพิเคราะห์ลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า มีเงื่อนไขให้น่ากังขาเช่นกันว่า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ซ่อนเร้นของทั้งสองบริษัทนั้น เกิดขึ้นจากเป้าหมายอำพรางอะไรบางอย่าง 
TH  เป็นบริษัทที่กำลังมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ภายหลังจากการเพิ่มทุน เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ทดแทนธุรกิจเก่าคือสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนที่นับวันจะไร้อนาคต (แม้ว่าจะยังมีกำไรบ้างเล็กน้อยอยู่ก็ตาม) หลังจากการเพิ่มทุนมาแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมานานนับปี กับสปริงนิวส์ฯที่มีอนาคตแต่ขาดแคลนเงินทุนในการสนับสนุนให้ในช่วงเวลาอันยากลำบากของการวางรากฐานระยะแรก การตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนธุรกิจเพื่อเติมเต็ม “ชิ้นส่วนที่หายไป” ของแต่ละฝั่ง ถือว่ามีเหตุมีผล แต่เงื่อนไขที่เข้าร่วมทุน มีลักษณะ “แทงกั๊ก” อย่างน่าประหลาด
เงื่อนไขของการเพิ่มทุนของ TH ที่แจ้งกับสาธารณะนั้น มี 5 ข้อหลัก ดังนี้
-                             สปริงนิวส์ทีวี จะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ (หมวดหมู่ช่องรายการข่าวสารและสาระ) ("ใบอนุญาต") ภายหลังจากการชำระค่าใบอนุญาตงวดที่หนึ่งแล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ทาง กสทช.กำหนด
-                             สปริงนิวส์ทีวี จะต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วจากปัจจุบัน 5 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 30 กันยายน 2557
-                             สปริงนิวส์ทีวี จะต้องให้สิทธิแก่บริษัท (First Right to Refusal) ในการเข้าซื้อหุ้นในสปริงนิวส์ทีวีได้จนถึงร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียนใดๆ ในราคาที่ตราไว้ (Par Value) ภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี  นับแต่วันที่บริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนสำเร็จ
-                              ในกรณีที่สปริงนิวส์ทีวี ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
บริษัทสามารถยกเลิกสัญญาจะเข้าร่วมลงทุน และเรียกเงินลงทุนทั้งหมดคืน พร้อมค่าเสียโอกาสร้อยละ 12 ต่อปี จากทางสปริงนิวส์ (โดยที่ SLC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสปริงนิวส์ฯ จะเป็นผู้รับประกันการชำระคืนเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวข้างต้น)
  • การได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล
  • การเพิ่มทุนของสปริงนิวส์
  • การรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นสุทธิ (Shareholders' Equity) ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วในปี 2557
-                             การดำเนินการของบริษัทฯ สปริงนิวส์ทีวีจะต้องจัดการให้ TH ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของสปริงนิวส์ทีวี จำนวนไม่น้อยกว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ (ปัจจุบันคือ 1 คน) และมีตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในรายการที่เกี่ยวกับต่างประเทศ หรือจัดสรรเวลาให้แก่บริษัทฯในการทำรายการ โดยจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม และเป็นมาตรฐานของทางสปริงนิวส์ทีวี
หากพิจารณาเงื่อนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่าง TH กับ สปริงนิวส์ทีวี  เป็นข้อตกลงที่ทางฝ่ายหลังเสียเปรียบเต็มประตู เพราะเป็นสัญญาที่มีข้อผูกมัดฝ่ายเดียว โดยที่ TH ไม่ได้ถูกกำหนดเงื่อนไข และไม่ต้องชดเชยค่าเสียหายหากมีการยกเลิกข้อตกลงแต่อย่างใด
ข้อตกลงเช่นนี้ มีเงื่อนงำเสมือนหนึ่งสปริงนิวส์กู้ยืมเงินจาก TH (โดยพฤตินัย) มาใช้ชั่วคราวเพื่อเพิ่มทุนเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยมีอัตราดอกเบี้ยชดเชยในกรณีของการยกเลิกข้อตกลง โดย SLC เป็นผู้ที่จ่ายต้นทุนเงินยืม (โดยพฤตินัย) ดังกล่าว 
ข้อตกลงทางการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่มีลักษณะอำพรางเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับ TH ที่จะถอนตัวออกมาอย่างง่ายดาย
เหตุผลของ TH ในการถอนตัวจากการร่วมทุน จึงเบาบางเสมือนเด็กอมมือว่า  “บริษัทกำลังจะได้ข้อสรุปในโครงการลงทุนที่สามารถได้รับผลตอบแทนทันทีในประเภทสื่ออื่น ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ ต้องการระดมเงินสด เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ซึ่งธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างแน่นอน แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร”   และว่าจากการหารือกับทางสปริงนิวส์ฯ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าการขอยกเลิกการลงทุนจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อทางสปริงนิวส์ฯอย่างแน่นอน
ทางด้านผู้บริหารของ SLC นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า จะคืนเงินลงทุนให้กับ TH ได้ทันที โดยการยกเลิกสัญญาการเข้าร่วมลงทุน ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสปริงนิวส์ทีวี และ SLC ก็ยังมีเงินสดคงเหลือเพียงพอที่จะดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ต่อไป  แต่ยังคงถือว่า TH ยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี โดยในขณะนี้สปริงนิวส์ทีวียังไม่มีความ จำเป็นในการหา Strategic Partner ใหม่แต่อย่างใด เพราะผลการดำเนินงานของ สปริงนิวส์ทีวีดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมียอดโฆษณาเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลาไพร์มไทม์ 
นอกจากนั้น   SLC ยังคงมีหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ที่ยังไม่ได้จัดสรรอีก 850 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปกับนักลงทุนเป้าหมายในเร็วๆ นี้
ความคลุมเครือของการแยกทางกันระหว่างTH กับสปริงนิวส์ทีวี (ซึ่งก็คือ SLC) จึงมีคำถามตามมาว่า จากนี้ไป TH ที่ผ่านการเพิ่มทุนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ทุนใหม่ดังกล่าว จะบ่ายหน้าไปหาธุรกิจแห่งอนาคตได้อย่างไร และ SLC จะหาพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่เพื่อขายหุ้น PP ระดมทุนต่อไปเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสปริงนิวส์ทีวีอย่างไร เรียกได้ว่า ทางใครก็ทางมัน หรือ The way we were.
คำถามที่สำคัญ และยังไม่ได้มีใครตั้งยามนี้ก็คือ นายวิชัย ทองแตงในฐานะหุ้นส่วนของ TH จะตัดสินใจอย่างไรกับการลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ชัดเจนในโมเดลธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจสื่อทีวีเคเบิล  ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล
อย่างหลังสุดนี้ คงต้องให้นายวิชัย ทองแตงคนเดียวเท่านั้น จะให้คำตอบได้

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กองทุนแฟรงคลิน เทมเพิลตัน พบผู้บริหารบีแลนด์ ขอซื้อหุ้น 5-10% แบบบิ๊กล็อต หลังขาใหญ่มาเก็บก่อนหน้านี้ มองเป็นหุ้น Bullish ส่วนวันที่ 30 ก.ค.นี้ขอมติผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นคืน 2 พันล้านหุ้น ราคาไม่เกิน 3 บาท ปรับบุ๊คใหม่เป็น 3.3 บาทตามราคาที่ดินใหม่

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ‘โมเบียส’ขอซื้อBLAND
เสี่ยช้างเก็บหุ้นคืน3บ.

ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2557
ผู้เข้าชม : 10 คน
กองทุนแฟรงคลิน เทมเพิลตัน พบผู้บริหารบีแลนด์ ขอซื้อหุ้น 5-10% แบบบิ๊กล็อต หลังขาใหญ่มาเก็บก่อนหน้านี้ มองเป็นหุ้น Bullish ส่วนวันที่ 30 ก.ค.นี้ขอมติผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นคืน 2 พันล้านหุ้น ราคาไม่เกิน 3 บาท ปรับบุ๊คใหม่เป็น 3.3 บาทตามราคาที่ดินใหม่



แหล่งข่าวจากตลาดทุน เผยว่า ผู้บริหารกองทุนแฟรงคลิน เทมเพิลตัน ของนายมาร์ค โมเบียส ได้เข้าพบกับผู้บริหารของบมจ.บางกอกแลนด์ หรือ BLAND เพื่อขอซื้อหุ้นในสัดส่วนประมาณ 5-10% ของหุ้นทั้งหมด โดยจะเป็นการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (BIG LOT) ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้นายมาร์ค โมเบียส ผู้จัดการกองทุนแฟรงคลิน เทมเพิลตัน ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มองว่า BLAND เป็นหุ้น Bullish มีอนาคตที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจอาคารจัดแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่กำลังจะออก กองทรัสต์ IMPACT Growth Real Estate Investment Trust มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท และยังมีแผนนำรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามาในโครงการ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาเก็บหุ้นบีแลนด์ ได้แก่ นายวัชระ แก้วสว่าง (เสี่ยป๋อง) เข้ามาถือหุ้นจำนวน 220 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1.07% นายวิชัย วชิรพงศ์ (เสี่ยยักษ์) เข้ามาถือหุ้นจำนวน 142 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.69% และนายอานนท์ชัย วีระประวัติ (เสี่ยกู๊ด) นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นจำนวน 120 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.58%

แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้น BLAND ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ จะมีการเสนอซื้อหุ้นคืนสัดส่วน 10% หรือประมาณ 2,000 ล้านหุ้น วงเงิน 5,000 ล้านบาท ในระดับราคาไม่เกิน 3.0 บาทต่อหุ้น และปรับราคามูลค่าทางบัญชีเป็น 3.3 บาท (ปรับมูลค่าที่ดินเพิ่ม) จากปัจจุบัน 2.32 บาท

สำหรับผลประกอบการของบีแลนด์ในงวดสิ้นเดือนมิถุนายน คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 7-8 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากผลการดำเนินงานและอีกส่วนหนึ่งเป็นการบันทึกกำไรจากการนำส่วนเงินสำรองหนี้หุ้นกู้ที่หมดอายุความไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ BLAND มีมติให้บริษัทลูก อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ (ถือหุ้น 100%) ขายศูนย์การแสดงและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ให้แก่กองทรัสต์ IMPACT Growth Real Estate Investment Trust มูลค่าไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท และมีมติให้อิมแพ็คฯซื้อหน่วยของทรัสต์ในสัดส่วนไม่เกิน 50% หรือไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงเข้าบริหารกองทรัสต์เมื่อจัดตั้งเสร็จสิ้น คาดว่าจะขายสินทรัพย์ให้แก่กองทรัสต์ภายในปี 2557

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า กระแสเงินสดที่ BLAND จะได้รับจากการขาย Impact ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท BLAND มีแผนจะนำไปพัฒนาโครงการอสังหาฯในอนาคต อาทิ Impact เฟส 2, โรงแรม, บ้านและคอนโดฯ ฯลฯ รวมถึงมีแผนซื้อหุ้น BLAND ในตลาดคืนด้วย ทั้งนี้ ณ สิ้นงวดปี 2557 (มี.ค. 57) BLAND มีสินทรัพย์จำนวนมากทั้งที่ดินรอการพัฒนากว่า 1.8 พันไร่ ซึ่งบริษัทสามารถนำมาพัฒนาโครงการอสังหาฯเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต รวมถึงเงินสดในมือกว่า 4.4 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่า Interest Bearing Debt ที่ 3.2 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีโครงสร้างการเงินเป็น Net Cash

posted from Bloggeroid

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

"MC" คาดงบไตรมาส 2/57 โชว์กำไรสุทธิ 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน พร้อมลุ้นปันผลครึ่งปีแรก หุ้นละ 0.39 บาท

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: MCปันผลครึ่งปี39สต.
คาดQ2กำไรโต13%

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2557
ผู้เข้าชม : 4 คน
"MC" คาดงบไตรมาส 2/57 โชว์กำไรสุทธิ 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน พร้อมลุ้นปันผลครึ่งปีแรก หุ้นละ 0.39 บาท มั่นใจครึ่งปีหลังรุ่งรับกำลังซื้อฟื้นตัว โบรกฯแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 19.20 บาทต่อหุ้น


บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC ในไตรมาส 2/57 น่าจะมีกำไรต่ำสุดของปีที่ 187.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 164 ล้านบาท เนื่องจากสาขาที่เพิ่มขึ้นและรายได้จาก ไทม์ เดคโด (Time Deco) ด้านการหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากโลว์ซีซั่น (Low season)

ทั้งนี้ ในระยะสั้นคงมุมมองเชิงบวกในระยะยาวต่อแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังฟื้นตัวชัดเจน จากกำลังซื้อในต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการจ่ายเงินโครงการจำนำข้าวและเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น (High Season) นอกจากนี้การควบรวมกิจการเป็นอีกอัพไซด์ (Upside) ที่ยังไม่รวมในประมาณการ คงคำแนะนำซื้อเก็งกำไร ที่ราคาเป้าหมาย 19.20 บาท

สำหรับ MC เป็นอีกหุ้นประเภทปันผลเด่น จึงคาดเงินปันผลสำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 เท่ากับ 0.39 บาท และปีนี้ที่ 0.90 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทน 4.8% อย่างไรก็ตามราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสะท้อนการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศรวมถึงประเด็นการ M&A ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2557

นอกจากนี้ MC ยังขยายสาขาไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/57 ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 18 สาขา (พม่า 16, ลาว 1 และเวียดนาม 1) ขณะเดียวกัน MC อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อนำสินค้าเข้าไปขายในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส3/57 รวมถึงประเด็นการควบรวมกิจการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ยังเป็นอีกหนึ่งอัพไซด์ต่อประมาณการ

บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด ระบุว่า MC ในไตรมาส 2/57 น่าจะมีกำไรสุทธิ 175 เพิ่มขึ้น 7% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิที่ 164 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนหน้ายังไม่มีรายได้จากกิจการ Time Deco เข้ามา (ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 13% ของรายได้ทั้งหมด) ขณะเดียวกันกำไรสุทธิในไตรมาส 2/57 ก็ลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ 207 ล้านบาท เนื่องจาก MC จำเป็นต้องขายสินค้าในระดับ value-for-money เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ต้นทุนสินค้าต่อยอดขายมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 46% จากเดิม 42% ในไตรมาส 2/56

รวมถึงการขยายสาขาใหม่ 28 แห่งในไตรมาสนี้ (รวมครึ่งปีแรกคิดเป็น 54% ของเป้าหมายทั้งปี) รวมทั้งการลงทุนเพื่อแตกไลน์สินค้าแบรนด์ใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายที่สูงขึ้นราว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม MC ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่จะเติบโตได้อีก โดยเฉพาะการเติบโตแบบ Inorganic growth ที่ช่วยต่อยอดรายได้จากธุรกิจเดิม บวกกับการรุกตลาดต่างประเทศอย่างหนัก ซึ่งคาดรายได้จากต่างประเทศจะเติบโตเฉลี่ยช่วง 4 ปีข้างหน้าเท่ากับ 19% นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดเหลือในมือเหลืออยู่ราว 1,800 ล้านบาทที่พร้อมจะขยายธุรกิจในอนาคต จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 20 บาท

ก่อนหน้านี้ นางปรารถนา มงคลกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร MC กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/57 ยังมีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และน่าจะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาส 1/57 ที่มียอดขายเติบโต 27% ขณะที่ทั้งปีบริษัทยังคงเป้ายอดขายเติบโตประมาณ 25% จากปีก่อน แม้จะคาดว่าอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 23-24% ลดลงจากปีก่อนที่ 25% เนื่องจากบริษัทเข้าซื้อกิจการไทม์ เดคโดเข้ามา ซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำกว่าแม็คกรุ๊ป ทำให้อัตรากำไรสุทธิรวมลดลงก็ตาม

สำหรับปีนี้ไทม์ เดคโค จะมีการขยายประมาณ 12 สาขา จากเดิมมี 13 สาขา ก็จะส่งผลให้ปีนี้มีจำนวนสาขารวม 25 สาขา และแม้ปกติไทม์ เดคโคจะมีมาร์จิ้นประมาณ 10% ซึ่งหลังจากที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 51% คาดว่าใน 2 ปี บริษัทจะทำให้ไทม์ เดคโคมีมาร์จิ้นเพิ่มเป็น 15% ได้ และปีนี้ยังมีแผนจะขยายสาขาของบริษัทเพิ่มประมาณ 100-110 สาขา โดยจะทยอยเปิดไตรมาสละ 30 สาขา ซึ่งภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีสาขารวมทั้งสิ้น 794 ล้านบาท จากสิ้นปี 2556 มี 684 สาขา

posted from Bloggeroid

นักลงทุนผิดหวัง “คสช.” เลื่อนถกโครงสร้างพื้นฐาน กระหน่ำขายกลุ่มอสังหาฯ รับเหมา แบงก์ ดัชนีปิดตลาดลบ 17.74

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ดัชนีร่วงปิดลบ17.74จุด
เลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2557
ผู้เข้าชม : 11 คน
นักลงทุนผิดหวัง “คสช.” เลื่อนถกโครงสร้างพื้นฐาน กระหน่ำขายกลุ่มอสังหาฯ รับเหมา แบงก์ ดัชนีปิดตลาดลบ 17.74 จุด มาที่ 1,520.81 จุด ปลัดคมนาคมยัน 29 ก.ค.มีหารือแน่นอน ด้าน สศค.แนะปั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด่วน เล็งลดเป้าจีดีพี โบรกฯ-กองทุนมองฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้า



วานนี้ (22 ก.ค.) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปิดลบ 17.74 จุด มาที่ 1,520.81 จุด ต่ำสุดนับจาก 1,518.01 จุด เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยดัชนีสูงสุดวันนี้ อยู่ที่ 1,545.29 จุด ดัชนีต่ำสุดอยู่ที่ 1,516.93 จุด โดยมีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นที่ 68,572.72 ล้านบาท แต่นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิ 1,716.36 ล้านบาท

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้บริหารสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ และกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า

ตลาดมีความคาดหวังกันมาก เรื่องที่คสช.จะพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงบ่าย แต่พอเลื่อน คนก็ไปมองถึงว่าจะยกเลิกหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ เป็นแค่การเลื่อน และจะไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า

“ยังคงมองในแง่บวก เพราะหากพิจารณาเสร็จและเริ่มดำเนินโครงการ ก็จะส่งผลบวกต่อหุ้นรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างมาก”

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชุดใหญ่ วานนี้ (22 ก.ค.) ยังไม่ได้พิจารณาแผนการจัดทำยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลาดำเนินการปี 2558-2565 ของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการหารือสาระสุดท้ายเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านพลังงานใช้เวลานานมาก จึงไม่สามารถพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกบรรจุไว้เป็นวาระอื่นๆ ได้ทัน

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช.ได้แจ้งแก่กระทรวงคมนาคมว่าในการประชุม คสช.ชุดใหญ่ครั้งถัดไปวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวแน่นอน โดยจะบรรจุเตรียมไว้ในวาระพิจารณาแทนวาระอื่นๆเช่นครั้งนี้

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค.จะประกาศตัวเลขประมาณการจีดีพีในสัปดาห์หน้า โดยจะปรับลดตัวเลขจีดีพีลงจากเดิม ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะโตไม่ถึง 2.6% หลังจากพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ตัวเลขการท่องเที่ยวยังคงลดลง รวมทั้งตัวเลขการส่งออกของประเทศ

“ปีนี้จีดีพีคงโตไม่ได้ตามเป้าที่คาดไว้ที่ 2.6% หลังจากพบว่าตัวเลขการท่องเที่ยว และส่งออกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนก็ยังไม่ชัดเจน”

สำหรับการปรับลดประมาณการจีดีพีครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรับลดต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีปรับลดจาก 4% มาเหลือ 2.6% (ช่วงระหว่าง 2.1-3.1%) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้สศค.เห็นว่าจำเป็นต้องเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว หลังจากชะลอแผนการลงทุนมานาน รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออกของประเทศ

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายตัวได้ในระดับ 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 1.5-2.5% เนื่องจากประเมินว่าครึ่งปีหลังการส่งออกจะฟื้นขึ้นมาเติบโตในระดับสูงถึง 6-7% ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวได้ราว 3-5%

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างน้อย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัว 2.6% ต่อปี ซึ่งไทยจะทำอย่างไรให้จีดีพีของไทยโต 5-6% ได้ ดังนั้น ต้องส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน และเป็นศูนย์กลางประเทศที่ซื้อมาขายไป

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด หรือ KSAM กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องจากนี้ไปอีก 1 เดือนข้างหน้า และการที่มีเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวไหลเข้ามาเช่นนี้ ถือเป็นผลบวกทำให้ดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะที่ระดับ 1,600 จุด และการเพิ่มขึ้นของดัชนีดังกล่าวก็จส่งผลให้มีการปรับฐานเกิดขึ้น โดยเชื่อว่าการปรับฐานดังกล่าวมีไม่มากไม่เกิน 3-5% หรือประมาณ 40-50 จุด ซึ่งอยู่ในระดับที่รับได้ และหากมีการปรับฐานมากสุดก็ไม่เกิน 8% หรือประมาณ 100 จุด ดัชนีปรับฐานลงมาก็ไม่น่าเกินที่ระดับ 1,500 จุด

"หุ้นไทยช่วงนี้มีแนวโน้มดี ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. หลังจากมีโรดแมปกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้น ในส่วนของกำไรธุรกิจบจ. ปีนี้มีโอกาสแตะที่ 5-8% และเชื่อว่ากำไรบจ.จะเติบโตสูงเกิน 10% ในปีหน้าและเติบโตต่อเนื่องไปในอีกหลายปี เพราะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเน้นสร้างสาธารณูปโภคเป็นหลักทำให้ธุรกิจบจ.หลายแหล่งได้รับประโยชน์ยาว 3-5ปี" นายประภาส กล่าว

สำหรับแผนการลงทุน มองว่า ยังมีหลักทรัพย์หลายกลุ่มที่น่าสนใจและเหมาะกับการลงทุน อย่างหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพราะหุ้นกลุ่มนี้มีหลายตัวที่ราคาได้ปรับลงมามากเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ เพราะอนาคตหุ้นกลุ่มนี้เติบโตในระยาว 3-5 ปีมีมาก

หุ้นกลุ่มสื่อสารเป็นหุ้นอีกกลุ่มที่เหมาะแก่การลงทุนค่อนข้างมาก แม้ว่าการปะมูล 4G จะถูกเลื่อนการประมูลในปีหน้าก็ตาม แต่การเกิด 4G ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ด้านราคาหุ้นเองในบางตัวมีการปรับตัวลงมามากทำให้เหมาะแก่การลงทุน ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารก็เป็นหุ้นอีกกลุ่มที่น่าลงทุนค่อนข้างมาก เพราะกลุ่มธนาคารได้อานิสงส์จากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของบลจ.กรุงศรี ยังคงเน้นเรื่องผลตอบแทนในระดับสูงเป็นหลัก และสอดคล้องกับสถานการณ์เป็นหลัก ส่วนหลักทรัพย์บริษัทเน้นหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร และกลุ่มสื่อสาร

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด กล่าวว่า หลักทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนช่วงนี้ ยังคงเป็นหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น QH ราคาเป้าหมาย 5 บาท PS ราคาเป้าหมาย 37 บาท และ HMPRO ราคาเป้าหมาย 12.7 บาท MINT ราคาเป้าหมาย 32 บาท และ ERAWAN ราคาเป้าหมาย 5.50 บาท

นอกจากนี้ ในส่วนของหุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลทั้งในส่วนของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มสื่อสาร โดยยีลด์เฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ทั้งนี้ นักลงทุนควรเลือกลงทุนเป็นรายตัวเป็นหลัก สำหรับดัชนีหุ้นไทยช่วงนี้ คาดว่าอยู่ระหว่าง 1,500 จุด บวกลบ แนวรับอยู่ที่ 1,514 -1,504 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,530-1,539 จุด

posted from Bloggeroid

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ดอยช์แบงก์ปรับเป้าTMB ราคาพุ่งชน3.50บาท *ราศีจับถูกเทกโอเวอร์ ต่างชาติจ้องควบกิจการ

ดอยช์แบงก์ปรับเป้าTMB
ราคาพุ่งชน3.50บาท
*ราศีจับถูกเทกโอเวอร์ ต่างชาติจ้องควบกิจการ

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

ดอยช์แบงก์-โบรกฯปรับเป้าราคาแบงก์ทหารไทยใหม่ 3.50 บาท เก็งผลประกอบการปี 57-58 โตกว่า 27-38.2%  และมีโอกาสถูกเทกโอเวอร์สูง ด้วยมูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับพรีเมียม  หลังมาลายันแบงกิ้งต้องการนำไปควบกิจการแข่งกับ CIMB

ราคาหุ้น TMB ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง วานนี้ปิด 2.90 บาท วอลุ่มเข้ามาหนาแน่น หลังจากประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2  ด้านนักวิเคราะห์หลายแห่งได้ทยอยปรับเป้าหมายราคา TMB ใหม่ โดยอยู่ระหว่าง 3.5-2.80 บาท หลังจากผลประกอบการไตรมาสที่สองออกมาดี เพิ่มขึ้นกว่า 900 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้โบรกเกอร์ปรับประมาณการกำไรของ TMB เพิ่มขึ้น 27-38.2%  และยังมองว่า TMB มีโอกาสถูกเทกโอเวอร์สูง
ล่าสุดที่ปรึกษาทางการเงินต่างเสนอความเห็นให้มาลายันแบงกิ้ง (เมย์แบงก์) ควบรวมกิจการกับธนาคารแห่งอื่นๆ ซึ่งมองเป้าหมายในต่างประเทศด้วย อาทิ ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่เคยแสดงความสนใจมาก่อน เพื่อนำไปแข่งขันกับ CIMB
ดอยช์แบงก์ปรับมูลค่าเหมาะสม TMB เป็น 3.5 บาท เชื่อมั่นว่า ROE จะเพิ่มเป็น 16% ใน 2559F โดยปรับประมาณการผลประกอบการปี 2557-2559F เพิ่มขึ้น 24% จาก LLR ส่วนเกิน และการผลักดันมาตรการสินเชื่อ SME จากรัฐบาลจะทำให้ต้นทุนเงินทุนลดน้อยลง และการสร้างการเติบโตรายได้ที่ดีจากธุรกิจ SME ซึ่งมีอัตรากำไรสูง นอกจากนี้ ถ้าเป้าหมาย ROE ระยะกลางของธนาคารอยู่ที่ 16% เป็นไปตามคาด มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะลดสัดส่วนการถือลงทั้ง ING และกระทรวงการคลัง ถ้ามูลค่าหุ้นอยู่ในระดับสูง
ขณะที่ ROE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 16% ในปี 2559F มาจากต้นทุนเงินทุนที่ดีขึ้นและการเติบโตของ SME ที่แข็งแกร่ง จากการประชุมนักวิเคราะห์ของ TMB ได้เพิ่มความเชื่อมั่นของเราว่าธนาคารสามารถทำให้ ROE เป็นไปตามเป้าได้ที่ 14% ภายใน 2557F และ 16% ภายใน 2559F ทาง CEO ได้กล่าวว่า จากตั้งสำรอง LLR ส่วนเกินระหว่างปี  2555-2556 จะทำให้ธนาคารสามารถบวกกลับ LLR จากที่ NPL ที่ธนาคารตั้งเป้าว่าจะขายใน  2H57-2559
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดสมมติฐานต้นทุนทางการเงินปี 2557-59F มาอยู่ที่ 60bps จาก 90bps ได้เพิ่มการเติบโตรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยสุทธิเป็น 13% จาก 10% เนื่องจาก TMB ได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลทหารที่ผลักดันมาตรการสินเชื่อ SME ในกลางเดือนสิงหาคม (สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50%) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น
ส่วนการเก็งกำไรสำหรับ TMB เนื่องจากโอกาสในการเป็นเป้าหมาย takeover อาจกลับมาใน 4Q57 โดยคาดว่า รัฐบาลทหารจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่น่าจะอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร จะสามารถสร้างเสถียรภาพและความยืดหยุ่นสำหรับ ING และกระทรวงการคลัง สำหรับการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง นอกจากนี้  ROE ของ TMB ที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง ดังนั้น ING และกระทรวงการคลังอาจจะขายหุ้น TMB ด้วยมูลค่าหุ้นที่อยู่ระดับพรีเมียม
ทั้งนี้ได้ปรับมูลค่าเหมาะสมมาอยู่ที่  3.5 บาท (จาก 2.5 บาท) แนะนำ “ซื้อ”  มาจากการเฉลี่ย P/BV ที่ 2.1x สำหรับ 2557-2558F (จาก 1.6x), COE ที่ 11.2%, ROE ที่ 15% (จาก 13.2%) และการเติบโตระยะยาวที่ 7.7% ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1) ค่าธรรมเนียม cross-selling ที่ชะลอตัว  2) การที่อัตราเงินเฟ้อ/ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพ SME และสำรอง LLR ที่เร็วว่าคาด และ 3) การสิ้นสุดของมาตรการสินเชื่อโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ(ประเทศไทย) ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2557-2558 ของ TMB ขึ้น 27.6-38.2% เพื่อสะท้อนถึงผลประกอบการที่แข็งแกร่งในครึ่งแรก และแนวโน้มที่ดูสดใสตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ได้ปรับคำแนะนำจาก ขาย เป็น ซื้อ และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2558 เพราะเชื่อว่าตลาดมองข้ามเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปีนี้ไปแล้ว และซื้อขาย TMB บนความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปีหน้าและปีต่อๆ ไป
ทั้งนี้ผู้บริหารได้พยายามปรับปรุงธนาคารในทุกๆ ด้าน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ อย่างเช่น การลดสัดส่วน NPL และการเพิ่ม ROE ทั้งนี้ ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่แตกต่างของ TMB ที่มักจะชนะใจลูกค้าเสมอ TMB ค่อยๆ โดดเด่นขึ้น และสามารถขยายฐานลูกค้าเป้าหมายออกไปได้เรื่อยๆ
สำหรับปัญหา NPL สูงถือเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของ TMB แต่ด้วยการบริหารจัดการ NPL อย่างมีประสิทธิภาพของ TMB สัดส่วน NPL จึงลดลงจาก 12.1% ในไตรมาสที่ 1/53 เหลือ 3.4% ในไตรมาสที่ 2/57 ทั้งจากขาย NPL และการปรับโครงสร้างหนี้ เราเชื่อว่าธนาคารจะเดินหน้าลด NPL ต่อไปจนถึงเป้า 3.0% ในสิ้นปีนี้ และลงต่อมาถึงระดับเทียบเท่าอุตสาหกรรมในที่สุด
ด้วยกลยุทธ์การบริหารที่ได้วางไว้ในหลายๆ ด้าน TMB ตั้งเป้า ROE ปีนี้เอาไว้ที่ 14% ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้ กลยุทธ์การใช้เงินฝากเป็นตัวนำช่วยให้ธนาคารสามารถดึงเงินฝากจากทั้งลูกค้ารายย่อยและ SME ได้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง และรายได้ non-NII เพิ่มขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์แบบ cross-selling ในขณะที่มีการนำนโยบายการควบคุมต้นทุนมาใช้ควบคู่กันอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ นโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังก็น่าจะช่วยให้งบดุลแข็งแกร่งขึ้น และต้นทุนการปล่อยสินเชื่อลดลงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้ ROE เพิ่มขึ้น และขยายโอกาสในการเติบโตของ TMB ในอนาคต
ทั้งนี้จากความสามารถของผู้บริหาร และผลงานที่โดดเด่นในการปรับปรุง และสร้างความเข้มแข็งให้งบดุลและความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง เราจึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2557-2558 และปรับเพิ่มระดับ P/BV ที่เหมาะสม โดยอิงจากอัตรา ROE ที่สูงขึ้น พร้อมกันนี้ได้ปรับคำแนะนำจาก ขาย เป็น ซื้อ และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2558 ที่ 3.20 บาท อิงจาก 1.8x ของ P/BV ปี 2558 เราเชื่อว่าหุ้น TMB จะยังคงมีการซื้อขายในระดับราคาที่สูงต่อไป ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อ และความคาดหวังของตลาดถึงผลประกอบการที่จะดีขึ้นในอนาคต
ด้านบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ปรับประมาณการกำไรขึ้นจากรายการเกิดขึ้นครั้งเดียว การปรับโครงสร้างที่ TMB ทำมาหลายปีเริ่มส่งผลดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผลตอบแทนจากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ย และต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง รวมไปถึง NPL ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปรับไปใช้ราคาพื้นฐานปี 2558 ที่ 2.80 บาท แนะนำ "ทยอยซื้อ"