วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชาตินิยมเทคโนโลยี คอลัมน์ วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2556

ชาตินิยมเทคโนโลยี

คอลัมน์ วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

             อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการเฟดฯ อยู่ในอังกฤษ และออกทีวีให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ BBC ที่นั่นในหลายประเด็น แต่ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอยู่ที่เรื่องของจีน
             กรีนสแปน ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ อันเป็นอาชีพดั้งเดิมของเขา ก่อนที่จะมาเป็นประธานเฟดฯ  บอกว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะถดถอยลงไปเรื่อยๆ เว้นแต่ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นที่จะพลิกสถานการณ์ได้
             กรีนสแปนให้อรรถาธิบายว่า เหตุผลที่นำมาใช้อธิบายอยู่ที่ว่า จีนเองยังไม่สามารถผลิตความรู้ทางเทคโนโลยีของตนเองได้มากเพียงพอ ดังนั้น การพัฒนาที่ผ่านมา จึงทำได้เพียงแค่การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกเป็นหลัก
            เขาอ้างข้อมูลจากการสำรวจของรอยเตอร์ส ว่า ในบรรดา 100 บริษัทชั้นนำของโลกทางด้านเทคโนโลยีนั้น ปรากฏว่า มีบริษัทอเมริกันมากถึง 40% และไม่มีบริษัทจีนเลยแม้แต่รายเดียว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกพิสดารพอสมควรว่า ประเทศที่มีผลิตภาพสูงที่สุดในโลกยามนี้คือจีน กลับมาใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาน้อยมาก ต้องพึ่งพาจากภายนอกเป็นหลักโดยผ่านกระบวนการ่วมทุน หรือซื้อกิจการ
            ภายใต้ข้ออ้างดังกล่าว กรีนสแปนชี้ว่า ภายในอีกไม่นาน จีนจะพบว่าขีดจำกัดทางเทคโนโลยีของตนเอง จะทำให้อัตราการเติบโตที่กำลังเดินหน้าในอัตราเร่งถดถอยลงไป
            กรีนสแปนไปไกลถึงขนาดสรุปว่า การที่จีนไม่สามารถพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีนั้น เป็นเพราะการเมืองแบบพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น คืออุปสรรคสำคัญ เพราะการเมืองแบบที่ว่า ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะ “ว่าตามนาย”  หรือ “พลอยพยัก” มากกว่าในสังคมเสรีนิยม ที่คนได้รับศักยภาพในการคิดนอกกรอบมากกว่า
            ข้อสรุปของกรีนสแปนดังกล่าว ไม่ผิดเสียทั้งหมด แต่ก็ไม่ถูกเช่นกัน เพราะเป็นการสรุปแบบ “เหมารวม” ที่เกิดขึ้นมาช้านานแล้วในชาติที่เป็นมหาอำนาจของโลกในลักษณะ “หลงตนเอง” ว่าเลิศทางปัญญาเหนือใคร  ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า การพุ่งขึ้นของอารยธรรมใหม่ของโลกทั้งหลายแหล่ และความเสื่อมของอารยธรรมเก่าแก่นั้น ไม่ได้เกิดจากการเป็น “เจ้าของ”เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เกิดจากองค์ประกอบมากหลาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากกว่า
            คำว่าเทคโนโลยี ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งของ หรือวัตถุ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ แต่รวมถึงองค์ความรู้ในการจัดการและใช้ประโยชน์จากสรรพสิ่ง เป็นความรู้ที่สามารถถ่ายทอดกันไปมา และกลายเป็นสากลได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะยึดติดกับเจ้าของหรือผู้ให้กำเนิดตลอดไป แม้ว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะเปิดช่องเอาไว้
            ในสมัยกรีกโบราณ เทคโนโลยีเดินเรือทางทะเลทำให้พวกกรีกเป็นพ่อค้าที่สำคัญและเก่งในการรบทางเรืออย่างมาก แต่พวกเขาก็ไม่สามารถต้านทานกองทัพเดินด้วยเท้าที่เกรียงไกรของอเล็กซานเดอร์ได้
           ในขณะที่กองทัพโรมัน เกือบครองยุโรปได้ทั้งหมดเพราะเทคโนโลยีการจัดการกองทหารประจำการที่ไม่มีชาติพันธุ์อื่นใดทัดเทียมได้ในอดีต แต่อาณาจักรของโรมันก็ไม่ได้ยั่งยืน และต้องพ่ายแพ้แก่พวกวิสิก็อธที่ถูกถือเป็นคนป่าเถื่อนจากเยอรมัน
           ชนเผ่าในเอเชียกลาง และชนเผ่านี้แหละที่คิดค้นการผสมพันธุ์ม้า การขี่ม้า และใช้ประโยชน์สารพัดจากม้า โดยเฉพาะในกองทหารม้าเคลื่อนที่เร็ว แต่มีเพียงเผ่าพันธุ์มองโกลเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์กองทัพม้าครองโลกได้เกินครึ่ง ซึ่งก็อยู่ไม่ได้ยาวนานเช่นกัน
            เช่นกัน บริษัทอเมริกันใน Top100  ที่กรีนสแปนกล่าวอ้าง เหตุใดจึงไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจอเมริกันพ้นจากหายนะเมื่อหลายปีก่อน หรือฟื้นตัวกลับคืนมาสู่ความรุ่งโรจน์ได้ มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศน้อยกว่าไทยซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยี เฮงซวย” ระดับปลายแถวของโลกด้วยซ้ำ
            ข้อสรุปของกรีนสแปน ละเลยข้อเท็จจริงว่า ความมั่งคั่งทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน หรือในแต่ละอารยธรรมนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่เกิดจากการบริหารจัดการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเทคโนโลยีนั้นต่างหาก
           ชาตินิยมทางเทคโนโลยีไม่มีอยู่จริง นอกจากจินตนาการขึ้นเอง
            กรณีของไอบีเอ็มก็เช่นเดียวกัน หลังจากความสำเร็จในการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศยาวนานหลายปี ก็ถึงแก่การล่มสลาย ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะค้นพบสัจจะว่า การบริหารเทคโนโลยีสำคัญกว่าการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเสียเอง
            กรณีของโกดักแห่งสหรัฐฯที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกล้องดิจิตอลมากที่สุดในโลก กลับกลายเป็นบริษัทล้มละลาย ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพราะว่าล้มเหลวในการบริหารสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิทธิบัตรที่ถือเอาไว้เปล่าๆ โดยไม่สามารถแปลงเป็นทุนได้กลับคืนมาได้
            กรณีเหล่านี้ ชวนให้สงสัยเหลือเกินว่าอดีตประธานเฟดฯที่เคยยิ่งใหญ่และครองโลกได้นานหลายปี จะได้ให้คำปรึกษาผิดๆ และจิตสำนึกคร่ำครึกับลูกค้า จนเจ๊งไปแล้วกี่รายกันแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น