วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

KTB ตั้งสำรองพิเศษ “ถมไม่เต็ม” รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556

KTB ตั้งสำรองพิเศษ “ถมไม่เต็ม”

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 75 คน 


ผลประกอบการของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในไตรมาสที่สาม ของปีนี้ เคยได้รับการคาดหมายว่าจะเพิ่มมากเป็นพิเศษ นักวิเคราะห์จากสำนักโบรกเกอร์หลายค่ายต่างพากันประโคมรายงานออกมาค่อนข้างจะตรงกันว่า ไตรมาสที่สามนี้จะมีกำไรเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เพราะไม่มีการตั้งสำรองพิเศษแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริง ก็จะพบว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
KTB ยังคงทำกำไรต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้อีกไตรมาสหนึ่งตามปกติ เพราะยังปรากฏตัวเลขของการตั้งสำรองพิเศษ ด้วยเหตุผลว่า เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต คำถามก็คือว่า อนาคตของใคร และความเสี่ยงเช่นว่านั้นจริงหรือไม่
ข้อเท็จจริงจากปี 2555 ในยุคที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรงค์ ดำรงตำแหน่งจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนั้น มีข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้มีการตั้งสำรองพิเศษมากถึง 9,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับการปล่อยสินเชื่อในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่ว่าในปี 2556 จะไม่ต้องตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นอีก
ไม่เพียงเท่านั้น ยังปรากฏอีกว่า ในเดือนสิงหาคม 2555 KTB โดยคณะกรรมการมีมติให้ทำการเพิ่มทุนของธนาคารครั้งใหญ่อีก ประมาณ 25% จากจำนวนทุนจดทะเบียนเดิม โดยอนุมัติเพิ่มทุนออกหุ้นสามัญจำนวน 2,796,312,250 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.15 บาท จัดสรรจำนวนไม่เกิน 2,796,312,250 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 12.60 บาท
ข้ออ้างในการเพิ่มทุนดังกล่าวคือ ลดแรงกดดันในเรื่องความหมิ่นเหม่ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ตามกฎของบาเซิล 3 ที่ปัจจุบัน KTB มีเพียงแค่ 7.92% ต่ำกว่ามาตรฐาน 8% และต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่มีอยู่ที่ 11% ขึ้นไป และยังลดแรงกดดันให้ผู้บริหารคนใหม่ที่จะเข้ารับงานต่อในเดือนพฤศจิกายนได้ทำงานต่อเนื่อง ไม่ต้องห่วงกังวลกับการเพิ่มทุนที่จะกระทบต่อการดำเนินงาน 
ไม่เพียงเท่านั้น ปลายไตรมาสที่สี่ของปี 2555 มีตัวเลขบันทึกการตั้งสำรองพิเศษของ KTB ที่สูงกว่า 7.5 พันล้านบาท เทียบกับระดับปกติที่ 1.5 พันล้านบาท/ไตรมาส และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ระดับ 3.0 พันล้านบาท จนกระทั่งมีการเข้าใจในหมู่นักวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ไม่มีการตั้งสำรองพิเศษมากมายอีกแล้ว
การเพิ่มทุนที่เพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมากกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท และตั้งสำรองพิเศษในครั้งนั้น ทำให้ฐานเงินกองทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็มีผลให้ราคาหุ้นไดลูทลงไปพอสมควร แต่นักลงทุนก็ได้รับความเชื่อมั่นว่า การเป็นธนาคารที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนจำนวนมากของรัฐบาลในอนาคต จะช่วยให้สามารถทำกำไรในปีต่อมาได้โดยไม่ต้องพะวงกับการตั้งสำรองพิเศษ เนื่องจากฐานเงินกองทุนมีค่อนข้างสูง แต่แล้วความเชื่อมั่นดังกล่าวก็พังทลายลง เมื่อกรรมการผู้จัดการคนใหม่ นายวรภัค ธันยาวงษ์ เข้ามารับตำแหน่งในปลายปี 2555
ในช่วงปลายปี 2555 นั้น ผลประกอบการโดยรวมของ KTB ถือว่าค่อนข้างดี เพราะมีกำไรสุทธิ  2.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ทำได้ 1.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38.40% จากปีก่อนหน้า โดยมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 1.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.18% ประกอบกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้กันสำรองหนี้สูญในไตรมาส 4/55 อีก 9 พันล้านบาท นอกจากสำรองหนี้สูญตามปกติจำนวน 500 ล้านบาทต่อเดือน
หลังจากตัวเลขผลประกอบการออกมา นักวิเคราะห์พากันประเมินว่า KTB กำลังจะย่างเข้าสู่มิติใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่ยกระดับความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างเต็มที่ นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่าราคาเป้าหมายของปี 2556 นี้จะต้องสูงกว่า 25 บาทแน่นอน เพราะการตั้งสำรองในปี 2555 ทั้งสำรองปกติ และสำรองพิเศษเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะเป็นผลดีระยะยาว ทำให้ปีนี้หมดภาระสำรองเพิ่ม และคาดว่ากำไรสุทธิ KTB ปี 2556 จะ เติบโตสูงถึง 46% จากสินเชื่องานภาครัฐ
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB ก็ได้แถลงในวันเข้ารับตำแหน่งวันแรกว่า  ธนาคารคาดว่าสินเชื่อในปี 2556 จะเติบโตได้เป็น 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยจะขยายตัวประมาณ 4-5% ซึ่งธนาคารจะเน้นการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น
ครั้นถึงเวลาเข้าจริง ผลประกอบการไตรมาส 1 ไตรมาสสองและสาม ติดต่อกันทุกไตรมาส ก็ปรากฏว่า KTB ยังมีตัวเลขตั้งสำรองพิเศษไม่เคยหยุดยั้ง พร้อมกับคำอธิบายเดิมๆ ว่า จะเป็นผลดีในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น