วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตลกฝืดภารตะ คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 01 พฤศจิกายน 2556

ตลกฝืดภารตะ

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 01 พฤศจิกายน 2556 
ผู้เข้าชม : 0 คน 

               ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางของอินเดีย ได้ออกคำประกาศมาตรการทางการเงิน 2 อย่าง ไล่เลี่ยกัน อย่างแรกเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่อย่างหลังขอร้องให้คนอินเดียโดยเฉพาะธุรกิจทำพวงมาลัย ใช้ธนบัตรมาเป็นส่วนหนึ่งของพวงมาลัย เพื่อใช้คล้องคอที่กลายเป็นแฟชั่นหลักของสังคมอินเดียที่นับวันจะลุกลามใหญ่โต
                การขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 2 เดือนรวด หลังจากขึ้นมาแล้วเดือนก่อนหน้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดของอินเดียอยู่ที่ 7.75% ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียว แต่เป็นความจำเป็นเพื่อขจัดปัญหาเงินเฟ้อที่ล่าสุดยกระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่อัตรา 6.46%
                มาตรการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่เรื่องแปลก หากดูจากปูมหลังของผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย รคุราม ราชัน อดีตผู้ริหารของไอเอ็มเอฟ และอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์การเงินสำนักชิคาโก ซึ่งมีชื่อลือเลื่องว่าเป็นพวก “สายเหยี่ยว” ในด้านโยบายการเงินคือ คุมเงินเฟ้อเป็นหลัก
                เป็นเรื่องปกติของคนที่ถือคัมภีร์สำนักการเงินหรือ monetary theory จะต้องทำเช่นนั้น แต่คำประกาศหลังสุดนั้น น่าหัวเราะที่สาวกของเจ้าสำนักนโยบายการเงินจะใส่ใจกับรายละเอียดที่ไม่เป็นเรื่องเช่นนี้ แต่ข้อเท็จจริงก็อาจจะไม่ชวนหัวเท่าใดนัก
                 ดูจากรูปประกอบ จะเห็นได้ชัดว่า แฟชั่นใช้ธนบัตรของร้านขายพวงมาลัยในอินเดียนั้น ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะธนบัตรในมุมมองของคนเดินถนนและสามัญชนทั่วไปในอินเดียนั้น เป็นมากกว่าสื่อกลางหรือสัญลักษณ์ของเงินตราในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการธรรมดา เพราะว่าได้ยกระดับขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ ที่มีไว้เชิดหน้าชูตา ของผู้ให้ และผู้รับ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เครื่องมือแสดงฐานะทางสังคมของผู้คน
                 ความเฟื่องฟูของแฟชั่นดังกล่าว ดูเหมือนจะขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง และถือว่า มีส่วนทำให้ธนบัตรได้รับความเสียหายเพราะถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
                ที่ร้ายไปกว่านั้น มันทำให้ทางการต้องพิมพ์ธนบัตรมากขึ้น เพราะธนบัตรหรือเงินกระดาษที่ถูกใช้เพื่อการนี้ จะเสียหายมากกว่าปกติ
                ธนาคารกลางอินเดียระบุว่า ธนบัตรที่เสียหายจากการนำไปใช้ผิดประเภทเช่นนี้ ทำให้เงินทองที่ถูกใช้ในท้องตลาด กลายเป็นเงินที่ดูเก่าและไร้ค่าเกินจำเป็น ซึ่งทำให้แผนกพิมพ์ธนบัตรมีปัญหากับการวางแผนในการพิมพ์อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ
                เหตุผลของธนาคารกลางอินเดียนั้น ว่าไปแล้วฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าใดนัก เพราะว่า โดยสาระแล้ว การใช้ธนบัตรเป็นพวงมาลัย น่าจะช่วยเสริมภาพลักษณ์มากกว่าทำให้เสื่อมค่าลงไป เนื่องจากคนสามัญชนยังคงเห็นว่าธนบัตรเป็นสิ่งที่ยังมีมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางจิตวิทยาสังคม (อย่างน้อยใบหน้าของมหาตมะ คานธีบนธนบัตรก็ยังเป็นขวัญและศรัทธาให้คนในสังคมได้พอประมาณ) แต่ธนาคารกลางอินเดียน่าจะมุ่งไปแก้ปัญหาที่ยังคุกคามเศรษฐกิจของอินเดียอยู่คือ ทำอย่างไรค่าเงินรูปีจะหยุดยั้งการร่วงดิ่งเหวอย่างที่เกิดขึ้นหลายเดือนมานี้ กับการควบคุมปริมาณเงินในท้องตลาดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อโดยผ่านนโยบายการเงิน
                การออกมาพูดเรื่องเอาธนบัตรไปทำพวงมาลัย จึงน่าจะเป็นตลกฝืดของธนาคารกลางอินเดียที่หมดปัญญาจะรับมือกับเรื่องใหญ่ๆ จึงหาเรื่องเบี่ยงเบนมาพูดเรื่องหยุมหยิมไม่เป็นท่าอย่างที่เห็นกันอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น