วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หุ้นอสังหาฯได้เฮ! วรพลย้ำREITฉลุย สรรพากรติดแค่‘เทคนิค’ - ใช้ระดมทุนปี 2557 ได้

หุ้นอสังหาฯได้เฮ!
วรพลย้ำREITฉลุย
สรรพากรติดแค่‘เทคนิค’ - ใช้ระดมทุนปี 2557 ได้

ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 11 คน 

วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. ยืนยัน ไม่มีปัญหาเรื่องภาษีกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT สรรพากรติดแค่ปัญหาฐานะที่จะลงพิกัดในทางระเบียบการจัดเก็บภาษีเท่านั้นเอง รอให้อธิบดีคนใหม่เซ็นอย่างเดียวก็จบแล้ว ได้ใช้ต้นปี 2557 แน่นอน ชี้ข้อดี 5 ประการสำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของอาคารทั่วประเทศ
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ปมประเด็นปัญหาเรื่องของการที่สรรพากรยังไม่ได้อนุมัติในเรื่องการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของกอง REIT ในเรื่องการโอนขายหน่วยลงทุน และเงินได้จากการปันผลที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดทางการสื่อความของสื่อเท่านั้นเอง เพราะโดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่ เป็นแค่ทางเทคนิคเท่านั้นที่ทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งที่ในหลักการแล้ว ทางกรมสรรพากรเองก็เห็นชอบในหลักการเรียบร้อยแล้ว
นายวรพล ระบุว่า รากเดิมที่มาของการตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์(กอง 1) ในปี 2541 นั้น มีเป้าหมายเพียงแค่การพยายามหาทางให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของโครงการที่ประสบความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ จึงอนุมัติให้เอาโครงการที่มีปัญหาเป็นหนี้ NPL หรือ NPA เข้ามาขายเข้ากองทุน โดยช่วยเหลือให้สิทธิพิเศษทางภาษี แต่ต่อมา การช่วยเหลือดังกล่าว ถูกผ่อนปรนมากเกินไปจนกระทั่งมีการนำเอาที่ดินและโครงการที่ไม่มีปัญหาเป็น NPL หรือ NPA เข้ามาขายเข้ากองทุนด้วย จนกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งผิดหลักเจตนารมณ์เดิม และผิดหลักการเรื่องกฎหมายภาษี
ผลของการทบทวนโดยก.ล.ต. เห็นว่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ตามแบบเดิมนั้น ไม่สอดคล้องกับกติกาสากล ทำให้เวลาที่จะขายกองทุนให้กับต่างชาติ ไม่มีความน่าสนใจ เพราะขาดมาตรฐานที่เข้าใจทั่วไป ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะ ในขณะที่เจ้าของโครงการและผู้ถือหน่วยก็มีอภิสิทธิ์ทางภาษีอย่างไม่สมควร
นายวรพล กล่าวว่า รูปแบบของทรัสต์ซึ่งจะนำมาใช้กับ REIT นั้น เป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีในหลักกฎหมายภาษีของไทยมาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาหลายด้าน และเกิดความล่าช้า แต่ทาง ก.ล.ต. ก็ได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นหลายประการที่ดีกว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์รูปแบบเดิม
จุดเด่นของ REIT อยู่ที่ ด้านแรก มีลักษณะที่เข้าใจโดยทั่วไป ทำให้สามารถขายหุ้นให้กับต่างชาติได้ง่ายกว่า ช่วยให้ระดมทุนเข้ามาได้เพิ่มขึ้น ด้านที่สอง ทรัสต์ สามารถกู้เงินเพื่อขยายกองให้ใหญ่ขึ้นได้เอง ซึ่งกองทุนอสังหาริมทรัพย์แบบเดิมไม่สามารถกระทำได้ ด้านที่สาม สามารถที่จะนำเงินของกองทุนบางส่วนกันเอาไว้ลงทุนในโครงการซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้างได้เลย ไม่ต้องรอให้โครงการแล้วเสร็จเสียก่อน ตามรูปแบบเดิม ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการลงทุน
ด้านที่สี่ อยู่ที่ REIT สามารถนำเงินที่ทรัสต์บริหารอยู่ไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนสูงได้ ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์  หรือผู้ลงทุนในหน่วยลงทุน สามารถได้รับประโยชน์จากการลงทุนในต่างประเทศได้หากโอกาสเปิดให้
ส่วนข้อดีประการสุดท้ายคือ ไม่ผิดหลักการของการเก็บภาษี ที่ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษีเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งในข้อดีทำให้รัฐได้รับประโยชน์จากภาษีมากขึ้น ในขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเสียภาษีก็ย่อมรู้ดีแล้วว่า มีต้นทุนภาษีที่ชัดเจน ไม่ใช่มีอภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบการก็ยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรค
นายวรพล ระบุว่า ส่วนหนึ่งของความล่าช้าในการประกาศเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มของ REIT นั้น เกิดจากการที่กรมสรรพากรมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีจากคนเก่าเป็นคนใหม่ ในช่วงโยกย้ายข้าราชการประจำปี ทำให้ในช่วงเวลาถ่ายโอนงาน จำต้องเลื่อนการประกาศใช้ออกไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งเรื่องนี้ ก.ล.ต.ได้รับคำชี้แจงว่า ไม่มีปัญหา สามารถเสร็จทันตามกำหนด เพราะเรื่องเทคนิคที่ทำให้ล่าช้ามีเรื่องเดียวเท่านั้น คือ ตำแหน่งพิกัดที่ระบุเกี่ยวกับฐานะนิติบุคคลของทรัสต์ที่จะทำหน้าที่ บริหาร REIT ว่าเป็นอะไรกันแน่ เพื่อให้การโอนขายหน่วยลงทุน และเงินได้จากการปันผลมีความชัดเจน  ซึ่งเมื่อหารือกันแล้ว ก็คาดว่า อีกไม่นานจะมีการประกาศเรื่องนี้ออมกาโดยกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้บริษัทเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ หรือ เจ้าของอาคาร สามารถจัดตั้งกองทุนเพื่อหาประโยชน์จากค่าเช่าหรืออื่นๆ ได้
นายวรพล ระบุว่า ที่เกิดเป็นข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของนายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ไปว่า เกณฑ์พิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งกรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาอาจจะเสร็จไม่ทัน เป็นประเด็นของการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและเข้าใจผิด ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จะส่งผลกระทบต่อการยื่นขอจัดตั้งกองทุน REIT แต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ หากเป็นข้อเท็จจริงตามที่เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุ ก็จะทำให้ กองทุน REIT หลายกองที่ทำการยื่นขอจัดตั้งกับ ก.ล.ต. ได้รับข่าวดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรณีของบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND  ซึ่งได้มอบให้ บริษัท อาร์เอ็มไอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ อิมแพ็ค ที่เป็นบริษัทลูกของ BLAND เป็นผู้ยื่นเรื่องขอจัดตั้ง  และก.ล.ต.ก็ได้เข้าตรวจสอบทรัพย์สินไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น