วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เมย์แบงก์ชนKEXIM ลุยศึกชิงหุ้นทีเอ็มบี จับตาใช้ประมูลเช่นเดียวกับ ‘สคิบ’

เมย์แบงก์ชนKEXIM
ลุยศึกชิงหุ้นทีเอ็มบี
จับตาใช้ประมูลเช่นเดียวกับ ‘สคิบ’

ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 11 คน 


“แบงก์ทีเอ็มบี” ธนาคารพาณิชย์แห่งสุดท้ายที่ต่างชาติจ้องซื้อ คาดเปิดศึกแย่งชิงหุ้นฝุ่นตลบ ล่าสุดยืนยันแล้วทั้ง “เมย์แบงก์” จากมาเลเซีย และ Korea Exim Bank หรือ KEXIM จากเกาหลีใต้ เจรจากับไอเอ็นจี กรุ๊ป เพื่อขอซื้อหุ้น 31% จับตาอาจใช้วิธีการประมูล ส่งผลราคาซื้อขายอาจมากกว่า 2 เท่าของมูลค่าบัญชี ด้านคลังลุ้นให้ถึง 3.80 บาท ตามราคาต้นทุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงิน 2 แห่ง ได้แก่ เมย์แบงก์ จากประเทศมาเลเซีย และ Korea Exim Bank หรือ KEXIM จากประเทศเกาหลีใต้ ที่อยู่ระหว่างเจรจากับไอเอ็นจีกรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์ทหารไทย หรือ TMB  31% หลังจากซีอีโอเมย์แบงก์ บินเจรจากับผู้บริหารไอเอ็นจีกรุ๊ป ที่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้
“ตอนนี้มีผู้สนใจหุ้นทหารไทยหลายราย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเปิดประมูลราคาเหมือนกรณีแบงก์นครหลวงไทย” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าว
โดยเมย์แบงก์ จากประเทศมาเลเซีย มีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นแบงก์อันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ Korea Exim Bank หรือ KEXIM จากประเทศเกาหลีใต้ ต้องการเข้ามาขยายกิจการในภูมิภาคนี้ เพื่อรองรับการลงทุนจากภาคธุรกิจของเกาหลี ซึ่งล่าสุดบริษัท K Water จากประเทศเกาหลีใต้ ชนะประมูลงานบริหารจัดการน้ำกว่าแสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หุ้น TMB ที่คลังถืออยู่ 26.1%  นั้น คงต้องรอดูราคาที่ไอเอ็นจีจะขายได้เสียก่อน หากถึงต้นทุนที่ 3.86 บาทต่อหุ้น ก็พร้อมที่จะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ด้วย หลังจากที่ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ หรือ BTMU ประกาศทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นแบงก์กรุงศรีอยุธยา
ด้านฟิทช์ เรทติ้งส์ มองว่าธนาคารไทยอีกแห่งหนึ่งที่กำลังเป็นเป้าหมายของการซื้อกิจการ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย  (TMB) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของประเทศ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคารไอเอ็นจี และกระทรวงการคลัง  ซึ่งกำลังพิจารณาขายหุ้นในธนาคาร
โดยมีรายงานข่าวว่ามีธนาคารในเอเชียแสดงความสนใจ หากมีการซื้อกิจการจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองรายดังกล่าว จะส่งผลให้ TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ (อย่างน้อยเกิน 50%) เป็นต่างประเทศอีกรายหนึ่ง  ธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชียแปซิฟิก กำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบธนาคารไทย
ทั้งนี้ หากการซื้อหุ้นดังกล่าวสำเร็จลุล่วง จะส่งผลให้สัดส่วนของธนาคารต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 26% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย จากเดิมที่ 18% และจะส่งผลให้ BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ด้านผู้บริหารธนาคารทหารไทย หรือ TMB  คงเป้าสินเชื่อปี 56 เติบโตมากกว่า 10% แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะเติบโตเพียง 1-2% ขณะที่คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิทั้งปีนี้น่าจะเข้าใกล้ 3% หลังจากในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ประมาณ 2.9% และธนาคารตั้งเป้ารักษาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สิ้นปีนี้ต่ำกว่า 3.5% จากขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 4%
ก่อนหน้านี้ “รอยเตอร์” รายงานว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ เตรียมขายหุ้นมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ที่ถือครองอยู่ 31% ใน TMB พร้อมให้จับตาหลังการเลือกตั้งในมาเลเซีย (เมื่อ 5 พ.ค.) เนื่องจากต้องการให้ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และมาลายัน แบงกิ้ง หรือเมย์แบงก์ ซึ่งเป็น 2 แบงก์ยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียเข้าร่วมประมูลด้วย
รายงานข่าวระบุว่า ปกติการซื้อขายหุ้นในธนาคารพาณิชย์ของไทย ราคาจะเฉลี่ยไม่เกิน 1.6-1.7 เท่าของมูลค่าตามบัญชี หรือบุ๊คแวลู เช่น CIMB ซื้อไทยธนาคารที่ราคาเฉลี่ย 1.7 เท่าของบุ๊ค หรือธนชาตซื้อสคิบ ที่ประมาณ 1.6-1.7 เท่าของบุ๊ค
ล่าสุด กลุ่มมิตซูเข้าซื้อหุ้น BAY โดยคิดราคาถึง 1.9 เท่าของบุ๊คแวลู
“ทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งสุดท้ายที่ต่างชาติมองว่า เมื่อเข้ามาซื้อแล้วจะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะมีสาขาอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ เป็นแบงก์ขนาดกลาง ส่วนธนาคารพาณิชย์ของไทยที่เหลืออยู่นั้น จะมีขนาดเล็กเกินไป และต้องใช้เวลา รวมถึงเงินลงทุนอีกจำนวนมาก เพื่อขยายตลาดและสร้างแบรนด์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าราคาซื้อทีเอ็มบีในครั้งนี้จะมากกว่า 2 เท่าของบุ๊ค โดยบุ๊คของทีเอ็มบีอยู่ที่ 1.36 บาท” แหล่งข่าว กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น