วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทุนไทยปรับโหมดรับโจทย์สุดโต่ง ถูกมหาอำนาจศก.ปั่นหัว


ทุนไทยปรับโหมดรับโจทย์สุดโต่ง ถูกมหาอำนาจศก.ปั่นหัว
Delicious
TwitterLinkedInFacebookBufferMail
+TAG

ความแปรปรวนของศก.ที่เกิดรุนแรงและถี่ขึ้น โดยมีมหาอำนาจศก.โลกเป็นผู้เล่นหลัก"ทุนไทย"ถึงเวลาปรับโหมด"รับมือ" พลวัตที่เป็น"ภัยคุกคาม" -"โอกาส"


มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกกำลัง ปั่นหัวทุนไทย !!!

ความแปรปรวนของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากน้ำมือของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็น ตัวชูโรงสำคัญที่กำลัง "ปั่นหัว" เศรษฐกิจไทย ลึกลงไปถึง "ทุนไทย" ให้ออกอาการมึนตึ่บ

เพียงแค่ประเทศเหล่านี้ "แสดงท่าที" ต่อการดำเนินมาตรการต่างๆหวังพ้นบ่วงเศรษฐกิจซบ ก็กลายเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ ที่มีผลต่อ "เงินทุนเคลื่อนย้าย" (Capital Flows) ทั่วโลก

อลหม่าน ราวผีเสื้อขยับปีก (The Butterfly Effect)


"8 มีนาคม" ดัชนีหุ้นไทยทุบสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี ดัชนีอยู่ที่ 1,571.28 จุด บวก 10.30 จุด หรือ 0.66% มูลค่าการซื้อขาย 6,498.77 ล้านบาท ตามตลาดต่างประเทศ ที่ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และญี่ปุ่นที่ออกมาดีเกินคาด (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

"17 เมษายน" ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี นับจาก 2 ก.ค.2540 ปิดตลาดระดับ 28.80/82 บาทต่อดอลลาร์ เหตุนักลงทุนถล่มขายดอลลาร์-ตื่นราคาทองร่วง ภาวะบาทแข็งต่อเนื่องในช่วงนั้นทำให้ "ผู้ส่งออก" ร้องหนักว่าได้รับผลกระทบจากมูลค่าส่งออกที่หดหาย ผสมโรงกับภาวะเงินทุนไหลเข้ามหาศาล กดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์เมื่อ 29 พ.ค.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.5% ผลพวงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังชะลอตัว กดให้ค่าเงินเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักแข็งค่า

"20 มิถุนายน" (ผ่านไปเพียงเดือนเศษ หลังกนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า เปิดตลาดในวันดังกล่าวที่ระดับ 31.00/03 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันวันที่ 19 มิถุนายน ที่ระดับ 30.67/69 บาท/ดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE) ภายในสิ้นปีนี้ และจะสิ้นสุดโครงการประมาณกลางปีหน้า หากเศรษฐกิจแสดงสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ผู้ส่งออกไทยหยุดร้อง รัฐบาลไทยอึ้ง !!

ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย ปรับโหมดจากไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย เป็นภาวะเงินไหลออก เพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน โดยพบว่าเฉพาะเดือนมิถุนายนเดือนเดียว นักลงทุนต่างประเทศมียอดขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ราว 46,314 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดหุ้นราว 55,492 ล้านบาท รวมยอดการขายสุทธิในทั้ง 2 ตลาด อยู่ที่ประมาณ 101,806 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 3,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กดให้บางช่วงเวลาตลาดหลักทรัพย์ไทยถูกนักลงทุนต่างชาติเทขาย "มากที่สุด" ในภูมิภาค หลังก่อนหน้านี้ทุบสถิติการซื้อขายสูงสุด

การไหลออกของเงินทุน ยังส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนในพันธบัตร (ยีลด์บอนด์) ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคเอกชน และการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

ล่าสุด (17 ก.ค.) เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุจะยังคงมาตรการ QE ต่อไป โดยจะเริ่มลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ในตลาดภายในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณฟื้นตัว แม้จะยังเปิดทางเลือก สำหรับการเปลี่ยนแปลงแผนดังกล่าวไว้ หากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยดีดตัว อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ในตลาดพันธบัตรอเมริกาในระยะ 10 ปี ปรับตัวลดลงจาก 2.7-2.8% ลงเหลือ 2.5% นับเป็นกระแสที่ดีต่อภาวะเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดเกิดใหม่ (Emering Country)

แต่ที่แน่ๆ จากความแปรปรวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจไทย ปรับเป้าลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ล่าสุดแบงก์ชาติปรับเป้าจีดีพีไทยลงจาก 5.1 % เหลือ 4.2%

ภาพที่ฉายให้เห็น คือ "ภัยคุกคาม" เศรษฐกิจที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ด้วยความถี่ที่เร็ว รุนแรง สุดโต่งกว่าเดิม แค่ห้วงครึ่งปี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้ถึงเพียงนี้ !!!

แล้ว "ทุนไทย" จะรับมืออย่างไร ?


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) และหัวหน้าหลักสูตรปริญญาเอก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนวิเคราะห์ไว้ในหนังสือ "โลกเปลี่ยน ไทยปรับ” หลุดกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว เนื้อหาระบุถึงความเคลื่อนตัวของวิกฤติรอบด้านที่เป็นทั้งภัยคุกคาม และโอกาสที่โลกยุคใหม่ต้องเผชิญ เป็นพลวัตโลก (Global Dynamics) ที่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกใหม่ที่แตกต่างจากศตวรรษที่ 20 อย่างสิ้นเชิง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างสุดโต่ง ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น "เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง"

โจทย์ใหม่ที่ซ้อนกันไปหลายสมการ


โลกใหม่ที่ว่าเป็นโลกที่เข้าสู่โหมดความขัดแย้งรุนแรง บ่อยและถี่ จนเป็นปกติ (New Normal) โครงสร้างของปัญหาซับซ้อน ยากที่จะคาดเดาสภาพการณ์ชัด

อาทิ การไหลบ่า ไปๆมาๆของเงินทุนเคลื่อนย้ายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เป็นได้ทั้งโอกาสสร้างความมั่งคั่ง และภัยคุกคาม ที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีค่าเงิน ในเวลาเดียวกัน

ศตวรรษที่ 20 เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปิดประเทศ และปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต หากใครเปิดประเทศก็จะได้รับโอกาสความมั่งคั่ง กลับกันโจทย์ในศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำซาก การเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ไปจนถึงภาคสังคม ประชาชน ที่เริ่มลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิการเข้าถึงโอกาส ไปพร้อมกันกับโอกาสที่มาพร้อมกับการไหลบ่าของเงินทุนเคลื่อนย้าย

ดร.สุวิทย์ วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นผลมาความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันใน 3 ปัจจัย คือ พลวัตที่1. เกิดการย้ายขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จากยุคสหรัฐ (America Century) มาสู่ยุคแห่งเอเชีย (Asia Century) เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่เป็นตัวชูโรงเศรษฐกิจ ประกอบด้วย จีน อินเดีย และอาเซียน หรือเรียกว่า United States of Asia แทนที่จะเป็น United States of America เหมือนก่อน โดยมี "อาเซียน" อยู่ตรงกลางของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นเขตเศรษฐกิจโลกเก่าที่ยังไม่มีทีท่าจะลดบทบาทจากแผนที่เศรษฐกิจโลก ไม่ยินยอมให้ขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่แย่งชิงความมั่งคั่งไปโดยง่าย จึงดึงดูดความสนใจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นโดยเร็ว

จะเห็นได้จากมาตรการ QE ที่สหรัฐใช้ซึ่งเริ่มเห็นผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดกระแสชักเย่อเงินกลับไปฝั่งสหรัฐ และยุโรป จนทำให้ตลาดหุ้นไทยซบ ร่วงไปตามเงินไหลออกอย่างรวดเร็ว

ยังไม่นับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น ที่ปล่อยเงินเข้าระบบหวังให้เยนอ่อนค่า แถมยังรุกเข้ามาซื้อกิจการของอาเซียน อย่างธนาคารโตเกียว - มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ธนาคารอันดับ 1 จากแดนอาทิตย์อุทัย กับดีลซื้อหุ้นในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และความสนใจเข้าร่วมทุนโครงการยักษ์อย่างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในพม่า

จะเห็นสัญญาณของการรุกมาของเงินทุน เข้ามาจากหลากหลายทิศทางมากขึ้น

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ประเทศไทย และ"ทุนไทย" ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ หากเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนระยะยาว ก็จะมีเงินทุนน้ำดีไหลเข้ามาอยู่กับไทย

นอกจากนี้ โครงสร้างอุตสาหกรรมภายในก็ต้องพร้อม มีมาตรฐานคัดกรองเฉพาะเงินลงทุนระยะยาว เน้นไปการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ขยับจากระบบ “เศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า” (Value Added) เป็น “เศรษฐกิจสร้างมูลค่า” (Value Creation)

สำหรับพลวัตที่ 2 ที่ไทยต้องรับมือให้ทัน นั่นคือ การเกิดความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันอยู่ในที ระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก ไทยต้องวาง "ตำแหน่งทางการเมืองในเวทีโลก" ให้ดี รู้จักใช้ไพ่ในมือให้เกิดประโยชน์จากความขัดแย้งของแต่ละขั้วอำนาจ

อาทิ จีนเป็นคู่ปรับกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ปรับกับเกาหลี จากประวัติศาสตร์ในอดีต จีนยังเป็นคู่ปรับกับบางประเทศในอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์

ในเวทีโลกถือว่าไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ เพราะอยู่ตรงกลางของกลุ่มประเทศที่ขัดแย้งกัน จึงควรใช้บทบาทความสัมพันธ์กับทุกประเทศให้เกิดประโยชน์ สามารถเล่นไพ่ได้หลายใบ เพราะไทยไม่มีขั้วความขัดแย้งกับประเทศเหล่านี้

ฉะนั้น จึงควรใช้จุดนี้สร้าง "ชุดแห่งโอกาส" ให้ไทยเดินนโยบายอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของมหาอำนาจ และเลือกดำเนินยุทธศาสตร์ที่มุ่งสนองประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ในชาติเป็นหลัก

"เราเล่นไพ่ได้หลายใบ มีความได้เปรียบ จากความขัดแย้งของกลุ่มย่อมๆ ในหลายวง เราอยู่ตรงกลาง ไม่ได้ไม่ขัดแย้งเรื่องดินแดนกับประเทศเหล่านี้ ในเวทีอาเซียน บวก 3 (เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน) ผสานอาเซียนกับสหรัฐฯ ถ่วงดุลอำนาจจีน"

พลวัตตัวสุดท้ายคือ ความเปลี่ยนแปลงจากขั้วอำนาจรัฐไปสู่ประชาชน เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีและการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสาร ผลักให้ประชาชนเริ่มมีพลังมากขึ้น

“การมีเทคโนโลยีส่วนตัวอย่าง อินเทอร์เน็ต ทวิตเตอร์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลกันมากขึ้น ทำให้เกิดการรวมตัวเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง ทั้งด้านประชาธิปไตยและในมุมผู้บริโภค ทำให้พลังประชาชนระดับรากหญ้าเริ่มมีความสำคัญขึ้น มีการทำตลาดเพื่อผู้บริโภค เช่นการเกิดขึ้นของ กรามีนแบงก์ ในบังคลาเทศ เป็นธนาคารที่ทำตลาดเพื่อรากหญ้า ให้ลืมตาอ้าปากได้ เกิดภาคเศรษฐกิจภาคประชาชนแท้จริง"

เมื่อระดับพลเมืองเริ่มมีความสำคัญ ความเป็นปัจเจกบุคคลตามมา มีหลายกลุ่มเริ่มต้านจารีตมากขึ้น ประชาชน จะมีความเชื่อมโยงบทบาทตัวเองในหลากหลายกรอบที่ต้องตระหนักในหน้าที่หลายวงไปพร้อมกัน ทั้งการเป็นพลเมืองไทย พลเมืองของอาเซียน และพลเมืองของโลก

มีทั้งภัยและโอกาส เพราะประชาชนเริ่มต่อต้านจารีตมากขึ้น อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน มีโอกาสขัดแย้งกันสูง จึงต้องออกแบบบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของปัจเจกชนเหล่านี้อย่างสงบสุข ต้องมีโมเดลสร้างจิตสำนึกร่วมกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในพลวัตใหม่

เขาระบุว่า แบบอย่างของการสร้างโมเดล "ความเป็นพลเมือง" ที่เป็นรูปธรรม จากนโยบายชัดเจนของลีกวนยู ต้องการสร้างพลเมืองในสิงคโปร์ ให้เป็น “พลเมืองโลก “ จึงมุ่งมั่นพัฒนาคนสิงคโปร์ให้ทำงานได้ทุกที่ในโลก ไปพร้อมกับการพัฒนาหมู่เกาะให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ และการท่องเที่ยว แม้แต่ มหาธีร์ ในมาเลเซียก็ตื่นตัวเตรียมคนไว้ให้พร้อมแข่งขันในโลกสมัยใหม่

นั่นคือ ต้นแบบ 3 พลวัตการเปลี่ยนแปลงในบริบทใหม่ ที่ภาครัฐต้องถอดยุทธศาสตร์หาโมเดลรับมือขนานใหญ่ ให้เชื่อมโยงกัน สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ขจัดปัญหาสะสมจากยุคก่อนที่เน้นการพัฒนากระจุกตัว จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยกทางความคิด จนเป็นปัญหาเรื้อรัง รุมเร้าภายใน
----------------------------------------------------

"ร่วมกันคิด" โมเดลสู่ชาติมั่งคั่ง


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) นำเสนอโมเดลแห่งการพัฒนาพร้อมรับมือกับโจทย์ภัยคุกคามรอบด้าน สู่ความเป็นชาติมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่บทบาทการพัฒนาที่ไม่พึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เน้นการรวมกลุ่มในหลายเขตเศรษฐกิจ ที่มาเชื่อมโยงกับไทย (Collaboration ) ใช้จุดยุทธศาสตร์ตรงกึ่งกลางการเชื่อมโลก เป็นแต้มต่อให้กับประเทศ

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบ "สั่งการ" เพียงคนเดียวได้เองอีกต่อไป ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์ภาคธุรกิจ และภาคสังคม จึงจะเป็นรัฐที่สำเร็จในเชิงนโยบาย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะกล้าเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้นำ สั่งการเป็น "ร่วมกันคิด" ได้กับภาคประชาสังคมได้หรือไม่

ส่วนโมเดลการปรับเปลี่ยนกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขนานใหญ่ 3 ส่วน ประกอบด้วย ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ รวมไปถึงยกระดับทรัพยากรบุคคล หรือ “ทุนมนุษย์” เป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างคุณภาพคน เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ

"เปลี่ยน Mindset จากทำมากได้น้อย สู่ ทำน้อยได้มาก”

เริ่มจากภาคเกษตร เป็นหัวใจพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แม้ไทยจะเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรมาก แต่ชาวนา 4.15 ล้านครัวเรือน หรือ 70% ของครัวเรือนในภาคเกษตรยังมีรายได้ไม่แน่นอน จึงต้องยกระดับรายได้พวกเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำการบริหารจัดการเกษตรสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการผลิต แปรรูปและกระจายสินค้าจนถึงส่งออก

ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิต ต้องยกระดับไปหากลุ่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีขั้นสูง และมีนวัตกรรม (Pollution-Prone Industries )ไปสู่ Green Growth Industries (อุตสาหกรรมสีเขียว) ในขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก อย่างพลังงานและพลังงานทดแทน โลจิสติกส์ การเงิน ประกันภัย มาเสริมการดำเนินการของอุตสาหกรรมต่างๆ

ขณะที่การแข่งขันต่อไปในอนาคต จะสู้กันด้วยนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ จึงต้องเน้นทักษะแรงงาน และทุน มาควบคู่กับการแข่งขันที่จะต้องเชื่อมโยงกับ Corporate University (บรรษัทผลิตคน) รูปแบบพัฒนาบุคลากรทักษะจำเพาะของตัวเอง แทนพึ่งพาภายนอก

มากันที่การปรับโครงสร้างภาคบริการซึ่งเป็นฟันเฟืองใหญ่ ตั้งแต่ธนาคาร สถาบันการเงิน คมนาคมและการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานอยู่ในหมวดธุรกิจบริการถึง 40% แต่กลับเป็นสาขาที่อ่อนแอที่สุด แรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาเพียงระดับมัธยม ภาคบริการเหล่านี้ไม่มีการพัฒนาขีดความสามารถแข่งขัน เพราะส่วนใหญ่โตมาแบบผูกขาด เด่นชัดที่สุดคือภาคบริการของรัฐวิสาหกิจ

ฟันเฟืองที่จะเคลื่อนการเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจรวมประเทศ จะต้องยกระดับพัฒนาการบริการ 4 ด้านให้แกร่ง คือ กลุ่มบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Service Infrastructure) สนับสนุนภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ,กลุ่มบริการที่ไปเสริมสร้างและต่อยอดมูลค่าอุตสาหกรรม (Enablers) อาทิ Creative Industry เกี่ยวข้องกับการออกแบบ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดจำหน่าย กระจายสินค้าและการตลาด,กลุ่มบริการธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพประเภทขายความเป็นไทย High Touch Business (Experiences) อาทิ สปา การท่องเที่ยว เสริมความงามและบันเทิง และบริการด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ที่ดี (Social Related Services)



Tags : สุวิทย์ เมษินทรีย์ • พลวัตร • เศรษฐกิจ
Attached Images

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น