วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผู้ว่าเฟดฯใหม่ คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 01 สิงหาคม 2556

ผู้ว่าเฟดฯใหม่

คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 01 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 14 คน 

เป็นที่รู้กันดีว่า เบนจามิน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าการเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ หรือ เฟดฯ ที่นั่งเก้าอี้มา 2 สมัยจะครบ 8 ปีในต้นปีหน้า จะไม่ได้นั่งเก้าอี้อีกต่อไป เพราะบารัค โอบามา ต้องการเปลี่ยนคนนั่งใหม่ ด้วยเหตุผลที่ฟังดูง่ายว่า เขานั่งมานานเกินคาดแล้ว
หลายเดือนหลังจากการควานหาผู้ว่าเฟดฯคนใหม่แบบสุ่มกันให้ควั่ก เพื่อทำความคุ้นเคย ก็ดูเหมือนว่า ตัวเลือกสุดท้าย 2 คนที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยมากที่สุดในฐานะตัวเก็ง ประกอบด้วยชาย 1 และหญิง 1 ที่มีฝีมือทัดเทียมกันทั้งคู่
คนแรก ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐในยุคบิล คลินตันสมัยสอง ที่เคยเป็นนั่งเป็นอธิการบดีของฮาร์วาร์ดอยู่ 4 ปี มีบารมีเหลือเฟือ แถมยังสังกัดเดโมแครตอีกด้วย
คนที่สอง เจเน็ท เยลเล็น นักเศรษฐศาสตร์การเงินอเมริกันเชื้อสายยิวจากนิวยอร์ก เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์การเงินและแรงงาน ยาวนานในฮาร์วาร์ด สลับ LSE ในลอนดอน เคยทำงานในฐานะกรรมการเฟดฯหนึ่งสมัย แล้วมานั่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของบิล คลินตันสมัยแรก นาน 2 ปี ก่อนจะเปิดทางให้ โรเบิร์ต รูบิน เข้ามานั่งแทน  แล้วกลับมานั่งเก้าอี้เป็นกรรมการของเฟดฯจากซานฟรานซิสโก 2 สมัย ก่อนถูกแต่งตั้ง เป็นรองประธานเฟดฯเมื่อ 3 ปีก่อน
ในเชิงบารมีและชื่อเสียงแล้ว ซัมเมอร์สกินขาด เพราะเคยฝากผลงานเอาไว้มากมาย ทั้งดีและไม่ดี แต่ในความเป็นไปได้ยามนี้แล้ว ถือว่า คนหลังมีโอกาสมากกว่า เพราะมีเสียงเชียร์จากคนแวดล้อมที่ทรงอิทธิพลทั้งในพรรคและในแวดวงนักการเงินมากหน้า อย่างน้อยที่สุด ก็มีศัตรูน้อยกว่าคนแรก
หากเป็นอย่างหลังจริง เจเน็ท เยลเล็น จะเป็นผู้ว่าเฟดฯที่เป็นสตรีคนแรก ซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับสังคมอเมริกัน เพราะก่อนหน้านี้ สตรีที่เด่นดังก็เคยสร้างชื่อลือลั่นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แมดเดอลีน อัลไบร์ท หรือ คอนโดลีซซา ไรซ์หรือ ฮิลลารี คลินตันในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศต่างยุคกัน นอกจากนั้น อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. (SEC) ของสหรัฐที่ชื่อ แมรี่ ชาร์ปิโร่ ก็ได้ชื่อว่าเป็นเลขาหน่วยงานดังกล่าวที่โดดเด่นที่สุดมาแล้ว
ซัมเมอร์สมีประวัติการทำงานยาวเหยียด เริ่มตั้งแต่สมัยเรแกน มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางเรแกน
โนมิกส์ โดยเฉพาะการลดภาษีซื้อขายหุ้น และภาษีต่างเพื่อกระตุ้นธุรกรรม ก่อนจะหันไปรับงานใหญ่ในทีมงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของธนาคารโลกยาวนาน
ที่ธนาคารโลกนี้เองที่ซัมเมอร์ส เหวี่ยงข้างไปเป็นเดโมแครต ให้ความสนใจกับปัญหาเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการเติบโตอย่างสมดุล มากกว่ากำไรสูงสุดและการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนไปเข้าตาของอัล กอร์ รองประธานาธิบดีของคลินตัน จึงได้ถูกเชิญไปร่วมงานเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจเข้าขากับเยลเล็นพักใหญ่ ก่อนจะแยกทางเมื่อเยลเล็นออกไปเป็นอาจารย์ และเตรียมตัวรับงานกับเฟดฯที่ซานฟรานซิสโก โดยซัมเมอร์สขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยคลังในยุคโรเบิร์ต รูบิน แล้ว เมื่อรูบินเลิกก็ขึ้นเป็นรมว.คลังแทน
ในช่วงของซัมเมอร์สเป็นรมว.คลังนี้เอง เขาได้ชื่อว่าเป็นพวก “เหยี่ยว” ที่หันไปยึดมั่นกับกรอบ “เป้าหมายเงินเฟ้อ” ในนโยบายการเงิน เที่ยวบังคับให้ชาติกำลังพัฒนาที่มีปัญหาเศรษฐกิจอย่างไทยและอื่นๆ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งใช้นโยบายการคลังอย่างสมดุล (ลดการขาดดุลงบประมาณแม้ในยามที่เศรษฐกิจพังพินาศ) และนโยบายการเงินแบบยึดกรองเป้าหมายเงินเฟ้อเคร่งครัด
ที่ร้ายไปกว่านั้น เขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังขับเคลื่อนกฎหมายผ่อนคลายธุรกิจสถาบันการเงิน ด้วยกฎหมายที่เรียกว่า Glasss-Stegal Act ซึ่งอนุญาตให้สถาบันการเงินควบรวมธุรกิจกันได้เป็นองค์กรขนาดใหญ่แบบโมเดลเยอรมันเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้ดี อันกลายมาเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตซับไพร์ม และการล่มสลายของวาณิชธนกิจชื่อดังจำนวนมาก
ส่วนเยลเล็นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์สาย “พิราบ” มายาวนาน จากงานวิจัยและการสอนของเธอเน้นเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดสำคัญกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการเป็นผู้ชำนัญการในกฎของโอคุน (Okun’s Law) ซึ่งว่าด้วยสหสัมพันธ์ระหว่างการจ้างงานกับจีดีพีที่สอดรับกัน  ซึ่งทำให้เธอเป็นเสียงข้างน้อยที่ทรงพลังในคณะกรรมการ FOMC ของเฟดฯมาตลอด
จุดอ่อนของซัมเมอร์สในเรื่องกฎหมาย Glasss-Stegal Act และบทบาทการเป็น “สายเหยี่ยว” ในนโยบายการเงินของเขา (กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ สำคัญกว่าการจ้างงานสูงสุด) ซึ่งเอาใจทุนในวอลล์สตรีทมากกว่าทุนในภาคการผลิต ทำให้นักการเมืองและกลุ่มธุรกิจในภาคการผลิตในอเมริกามองเห็นว่า ไม่ควรสนับสนุนให้ซัมเมอร์สเข้าเป็นผู้ว่าเฟดฯ
ในขณะที่จุดเด่นที่เยลเล็นเน้นการจ้างงาน การกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนในการแข่งขัน  ก็สอดรับกับปมประเด็นปวดหัวที่แก้ไม่ตกของโอบามามานานหลายปี เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การแก้ปัญหาว่างงานของเบอร์นันเก้  ทำได้เพียงแค่ 0.1% เท่านั้น
คะแนนนิยมในตอนนี้ มุ่งไปทางเยลเล็นมากขึ้น มีคนเขียนถึงเธอในสื่อบ่อยกว่าเดิมมาก จนเชื่อได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างกระแสเพื่อให้คนรู้จักตัวตนที่แท้จริงก่อนจะเข้ารับตำแหน่งอันแนบเนียน
หากไม่มีอะไรผิดคาดหมาย ผู้ว่าเฟดฯคนถัดไปจะเป็นเจเน็ท เยลเล็น แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น