วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศาสนจักร กับ โลกาภิวัตน์ คอลัมน์ วันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2556


ศาสนจักร กับ โลกาภิวัตน์

คอลัมน์ วันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 3 คน 


พระสงฆ์ไทยทุศีลในจังหวัดศรีสะเกษที่ต้องข้อหาปาราชิก และตามมาด้วยข้อหาทางอาญาหลายกระทง ในสัปดาห์นี้ กับนักบวชคาธอลิคอิตาเลียนที่ทำงานให้กับธนาคารวาติกัน(IOR) ทำการลักลอบขนเงินมาเฟียขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของวาติกันออกจากสวิสไปอิตาลีจำนวนมากถึง 17 ล้านปอนด์ หรือ 26ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปลายเดือนมิถุนายน สะท้อนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในยุคโลกาภิวัตน์อย่างมาก
ประเด็นท้าทายที่สุดคือ หากคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรืออ้อมของศาสนจักร (หมายถึงองค์กรจัดตั้งของศาสนา) ได้สมรู้ร่วมคิด หรือตกเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการฟอกเงิน หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยกลุ่มอาชญากรรมจัดตั้งอันซับซ้อนและแนบเนียน ศาสนจักรควรมีท่าที และปรับตัวอย่างไร เพื่อมิให้ศาสนามัวหมองจนกระทั่งเสื่อมศรัทธาในระยะยาว 
สำหรับบางคนแล้ว อาจจะคิดปัดสวะง่ายๆ อย่างตัดตอนว่า ใครทำความผิดกฎหมายก็ว่ากันไปเป็นรายบุคคล เพราะไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรและปรัชญาหรือธรรมะของศาสนา แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในอดีตได้ยืนยันว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลที่เลวร้ายต่อศาสนาที่เกิดขึ้นจากวงในของศาสนจักรเองนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศาสนาเองถึงคราวเสื่อม และหากไม่สามารถปฏิรูปองค์กรขึ้นมาใหม่ที่ดีกว่าและสอดคล้องกับสภาวะสังคมโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะหมายถึงความล่มสลายของศาสนาได้
ในอดีต พระพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองอย่างมากในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช และราชวงศ์คุปตะ ได้พบกับความเสื่อมคลายด้วยเหตุหลายประการ ทั้งจากการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ การคุกคามของศาสนาฮินดู และอิสลาม รวมทั้งการรุกรานของพวกฮั่นขาว แต่ตัวการสำคัญที่ไม่สามารถปฏิเสธคือ การที่นักบวชพุทธมหายานในคริสต์ศตวรรษที่ 12 (เมื่อราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันออกสิ้นสุดลงไป) ได้หันมายอมรับลัทธิตันตระเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติอันลามกอุจาดในพิธีกรรมลับที่เรียกว่าเมถุนธรรม ซึ่งอธิบายว่าการร่วมเพศคือหนทางเข้าถึงตันตระและธรรมะขั้นสูง
ตันตระทำให้พุทธศาสนาสูญสลายไปจากแผ่นดินใหญ่อินเดียยาวนาหลายศตวรรษ เพิ่งจะกลับมาฟื้นฟูจากภายนอกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เอง
คริสต์ศาสนาก็เช่นกัน สำนักวาติกันโดยสันตะปาปาลีโอที่ 20 ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้สร้างพระราชวังหรูหราจนเกือบไม่มีกษัตริย์องค์ใดยุคนั้นสู้ได้ ทำการขายใบฎีกาไถ่บาปเพื่อหาเงินเข้าพระคลัง เริ่มต้นจากขายโดยตรงผ่านเครือข่ายโบสถ์คาธอลิก แล้วระบาดไปขายทางอ้อมยังสาขาธนาคารทั้งหลายซึ่งรับเป็นเอเยนต์รับชำระล้างบาปโดยไม่ต้องซื้อใบฎีกาที่โรม จนกระทั่งมาร์ติน ลูเธอร์ นักบวชเยอรมันทนไม่ได้ ลงมือเขียน "ญัตติ 95 ข้อ แห่งวิทเทนแบร์ก” กลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาที่เปลี่ยนโฉมยุโรปต่อมา
ไม่เพียงเท่านั้น ศาสนาจักรคาธอลิกในยุโรป ยังถือสิทธิอ้าง กฎหมายศาสนจักร (Canon law) ซึ่งใช้ปกครองภายในองค์การคาธอลิกตั้งเป็นกฎหมายแข่งกับกฏหมายแห่งรัฐ (State Law) ของกษัตริย์ โดยระบุว่า พื้นที่ของศาสนจักรนั้น เป็นเขตปลอดกฎหมายแห่งรัฐ ห้ามกล้ำกรายหรือรุกล้ำเข้ามา
ผลลัพธ์คือในโบสถ์คาธอลิกในยุโรปยุคกลางเป็นที่ส้องสุมและลี้ภัยของโจรและขโมยกันอย่างเปิดเผย ภายใต้การคุ้มครองของนักบวชทุศีลที่สมรู้ร่วมคิด ซึ่งยังผลให้เกิดความร้าวฉานระหว่างกษัตริย์และศาสนจักรอย่างรุนแรง
ปรากฏการณ์ร้ายแรงที่สุดคือ การที่ทหารของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ของอังกฤษ รุมฆ่าสังฆราชาทอมัส เบ็กเก็ต ในโบสถ์แห่งเมืองแคนเธอเบอรี่ในค.ศ. 1170  เพราะความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐและกฎหมายศาสนาจักรดังกล่าว
สถานการณ์เช่นนี้กำลังหวนกลับมาเกิดขึ้นครั้งใหม่ในปัจจุบัน เมื่อกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินที่เข้มงวดถูกนำมาใช้บังคับเข้มข้นมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ชาติต่างๆ จำต้องยอมรับกติกาว่าด้วยการต่อต้านการฟอกเงินและก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง (ดังเช่นการล่มสลายของธนาคารไพรเวทแบงกิ้งในสวิตเซอร์แลนด์ต่อเนื่อง) ยังผลให้องค์กรที่เหมาะสำหรับผู้กระทำความผิดในการฟอกเงินและก่อการร้ายทั้งหลาย หาทางใช้ประโยชน์จากองค์กรศาสนาจักรที่มีกติกาหลบหนีการควบคุมจากกฎหมายรัฐได้มากที่สุดอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ที่อิตาลี การจับกุมนักบวชคาธอลิกอิตาเลียนที่ลักลอบขนเงิน ยังผลให้ธนาคารวาติกัน (IOR )ที่ลึกลับมายาวนานถูกกระแสบังคับให้หันมายอมรับถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปขนานใหญ่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และฟื้นฟูศรัทธาของศาสนิกชนคาธอลิกกลับคืนมา
ในกรณีของไทย ศาสนจักรพุทธศาสนาก็คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องยอมรับว่า กฎกติกาของศาสนจักรบางอย่างที่ย่อหย่อนหรือไม่สอดคล้องกับพลวัตของสังคม ซึ่งอาจจะเปิดช่องให้กลุ่มผิดกฎหมายทั้งหลายสามารถหลบหนีหรือใช้เป็นแหล่งกระทำความผิดในการฟอกเงิน (ดังกรณีของพระทุศีลที่ศรีสะเกษ) จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความเจ็บปวดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีทางเลือกได้น้อยที่จะปฏิเสธไม่ทำ
จารีตเก่าแก่ที่ถือว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์อีกต่อไปก็ได้ เพราะมันหมายถึงความเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาที่จะเกิดขึ้นในอัตราเร่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น