วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

บิ๊กBBLการันตีBTS ซื้อเพิ่ม68.94ล้านหุ้น คีรี’ ควักเงินส่วนตัวซื้อเพิ่ม 367.5 ล้านบาท ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 04 กันยายน 2556

บิ๊กBBLการันตีBTS
ซื้อเพิ่ม68.94ล้านหุ้น
คีรี’ ควักเงินส่วนตัวซื้อเพิ่ม 367.5 ล้านบาท

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 04 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 17 คน 


บิ๊ก BBL การันตีพื้นฐาน BTS มองพื้นฐานดี ราคาถูก พร้อมถือหุ้นเพิ่ม มั่นใจลงทุนเพื่ออนาคต  ผู้บริหารย้ำพื้นฐานดีราคาน่าลงทุน “คีรี” ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 50 ล้านหุ้น ควักเงินส่วนตัวอีก 367.5 ล้านบาท ดันยอดรวมตั้งแต่ 28 พ.ค.-28 ส.ค.56 ถือหุ้นเพิ่มอีก 357.64 ล้านหุ้น

แหล่งข่าวจากผู้บริหารระดับสูง ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL  กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด  (มหาชน) หรือ BTS เพิ่มจากเดิมที่ถืออยู่ 476.52ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.18%  เพิ่มเป็น 545.46 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.73% หรือเพิ่มขึ้น 68.94 ล้านหุ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่เป็นการถือเพิ่มเพื่อลงทุนในอนาคต ประกอบกับเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี น่าลงทุน  และเป็นโอกาสเหมาะที่ราคาหุ้นถูกจึงเข้าเก็บเพิ่มเติม
“หุ้น BTS เป็นหุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน แต่ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นร่วงลงมา ทำให้ราคาถูก และถือเป็นจังหวะที่จะเข้าไปถือลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากดูตัวเลขสัดส่วนการถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2556 ที่ผ่านมา” แหล่งข่าว กล่าว 
ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ BTS ซึ่งรองจากนายคีรี กาญจนพาสน์ ที่ถือหุ้นใหญ่จำนวน 3,860,833,152  หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนการถือครอง 33.50%
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) พบว่า นายคีรี  กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ  BTS ได้เข้าซื้อหุ้น BTS เพิ่มอีกจำนวน 50 ล้านหุ้น  หรือ 367.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ทำให้ยอดรวมการซื้อหุ้นของนายคีรีในปีนี้นับตั้งแต่วันที่ 28พฤษภาคม 2556 จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 357,645,200 หุ้น
ด้านบล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส คาดว่า BTS จะได้รับงานบริหารเดินรถ 4 สาย สีเขียว 2 สาย รถไฟฟ้าขนาดเบา (LRT) และสีชมพู ต้องการใช้เงินทุนเพิ่ม 116.8 พันล้านบาท เป็นส่วนทุน 46.7 พันล้านบาท ที่เหลือใช้เงินกู้      
หากหักกระแสเงินสดด้วยเงินปันผล 5 ปีข้างหน้า บริษัทคาดจะยังขาดอีก 4.17 หมื่นล้านบาท วอร์แรนต์จะเติมเต็มในส่วนนี้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนก็จะไม่สูงเกินไป นำเงินไปคืนหนี้ EPS ลดลงไม่มาก  ส่วนราคาใช้สิทธิ์ที่สูงถึง 12 บาท บริษัทมองว่าราคาหุ้นในอนาคตจะสะท้อนข่าวดีเรื่องได้งานบริหารเดินรถราคาหุ้นจะมากกว่า 12 บาท ทำให้วอร์แรนต์กลับมามีภาวะกำไรเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้การที่ BTS เป็นผู้นำธุรกิจบริหารเดินรถในไทย จากระยะทางรถไฟฟ้าที่บริหารอยู่ 36.3 กม. (รวมส่วนขยายไปถึงบางหว้า) หากได้อีก 4 เส้นทาง รวมเป็นระยะทาง 115.1 กม. เป็น 3 เท่าตัวจากปัจจุบัน ทางด้านรายได้เป็น 6 เท่าตัวจากปัจจุบัน คือ 10 พันล้านบาท เทียบกับปัจจุบันที่ 1.5 พันล้านบาท      
โดยแบ่งเป็นสถานีสายสีเขียวเข้มใต้ พร้อมที่สุด คือ แบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. เพราะปัจจุบันเริ่มการก่อสร้างในส่วนโยธาแล้ว กำหนดการเปิดให้บริการปี 2560 สิ่งที่ต้องรอคือ พ.ร.บ.ร่วมทุนที่คาดว่าจะผ่านได้ประมาณเดือนต.ค.56 ดังนั้นจึงคาดว่าความคืบหน้าเรื่องการสรรหาผู้บริหารเดินรถจะเกิดขึ้นปลายปีนี้            
ส่วนอีก 3 เส้น จะทยอยตามมา ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป กำหนดการเปิดให้บริการปี 2560 คือ 1) สายสีเขียวเข้มเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กม.  2) รถไฟฟ้าขนาดเบา (LRT) บางนา-สุวรรณภูมิ 18.6 กม. และ 3) สายสีชมพู แคราย-มีนบุรีระยะทาง 36 กม. แต่ใน 3 เส้นที่เหลือนี้จะรวมงานก่อสร้างด้วย             
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความพร้อมทั้งทางด้านเทคนิคและการเงิน สำหรับสายสีเขียวทั้ง 2 เส้น มีความได้เปรียบในเรื่องความประหยัดจากการเชื่อมกับโครงข่ายเดิม ประหยัดได้ทั้งเงินลงทุน และการดำเนินการ มีประสบการณ์การเดินรถ อดีตก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายใน 35 เดือน ปัจจุบันมีสภาพคล่องเงินสดส่วนเกิน 33 พันล้านบาท และได้ประโยชน์จากการออกวอร์แรนต์ข้างต้น สำหรับ LRT และสีชมพูจะไม่เชื่อมโดยตรง แต่มีบางสถานีที่มีส่วนร่วมกันในอนาคต
สำหรับความได้เปรียบคู่แข่งในสายสีเขียว ประหยัดเวลาการเดินทางในส่วนเชื่อมต่อประมาณ 15 นาที ประหยัดต้นทุนการดำเนินงานประมาณ 10% และประหยัดต้นทุนการบำรุงรักษาประมาณ 5% ดังนั้นเวลายื่นประมูลจึงมีความได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งในตลาดมีน้อยราย คือ BMCL และ Airport Link         
ทั้งนี้ วอร์แรนต์มาช่วยเติมเต็ม หากได้งาน 4 โครงการ จะต้องการใช้เงินทุนเพิ่มทั้งหมด 116.8 พันล้านบาท เป็นส่วนทุน 4.67 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เงินกู้ 7.01 หมื่นล้านบาท นั่นคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเป็น 1.5 เท่า หากหักกระแสเงินสดที่บริษัทประมาณการไว้ที่ 4.5หมื่นล้านบาท ด้วยเงินปันผล 5 ปีข้างหน้าที่ 4 หมื่นล้านบาท จะมีเงินเหลือ 5 พันล้านบาท
ดังนั้นบริษัทคาดจะยังขาดอีก 4.17 หมื่นล้านบาท วอร์แรนต์จะเติมเต็มในส่วนนี้ จากจำนวนวอร์แรนต์ที่ออก 3,971.6 ล้านหน่วย ที่ราคาใช้สิทธิ์ 12 บาทจะระดมทุนได้ 4.77 หมื่นล้านบาท 
บริษัทคาดกำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้นได้ดี สมมุติฐาน คือ นำเงินบางส่วนสัก 50% ไปคืนหนี้ระหว่างทำโครงการ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเป็น 0.65 เท่า dilution effect จะทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้นลดลงไม่มาก คือ จากประมาณการงวดปี 2558-2559 เป็น 0.54 บาท เทียบกับเดิมที่ 0.63 บาท ลดลง 14% และปี 2559-2560 เป็น 0.70 บาท จากเดิมที่ 0.75 บาท ลดลง 7% เทียบกับประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2557-2558 ของเราที่ 0.27 บาท   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น