วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ศาลทับซ้อน? คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556

ศาลทับซ้อน?

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 2 ประเด็นซ้อน ที่ต้องเตือนว่าตุลาการต้องระวังให้ดี เพราะเสี่ยงที่จะถูกวิจารณ์ว่า “ทับซ้อน”
นั่นคือรับวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68 หรือไม่ กับรับวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นหลัง สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 168 บัญญัติว่า
“รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามวรรคแปด หากหน่วยงานนั้นเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอ ให้สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง”

ซึ่งผู้ร้องอ้างว่า คณะกรรมาธิการตัดงบโดยไม่เชิญศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และ ป.ป.ช.มาหารือ
บทบัญญัตินี้ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และไม่มีที่ไหนในโลก ขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย ที่อำนาจตุลาการข้ามห้วยมาเรียกร้องงบประมาณได้

จะเกี่ยวกันหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่สาธารณชนย่อมสังเกตเห็นว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีรองประธานมาจากศาลถึง 3 คนคือ จรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งต่อมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วิชา มหาคุณ ซึ่งต่อมาเป็น ป.ป.ช. อัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งเดิมอยู่ศาลยุติธรรม
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 8 คน ก็มาจากศาลยุติธรรม 4 คน อีก 2 คนมาจากศาลปกครองสูงสุดแต่ก่อนหน้านั้นก็เป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม มีเพียงเฉลิมพล เอกอุรุ กับสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่ไม่ใช่สายศาล
ถ้าท่านวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณขัดรัฐธรรมนูญเพราะกรรมาธิการไม่ได้จัดงบประมาณให้หน่วยงานต้นสังกัดเดิมของท่านอย่าง “เพียงพอ” ก็ต้องอธิบายต่อสาธารณชนให้ดีนะครับ ว่ามีเหตุผลอย่างไร
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง ก็เสี่ยงที่จะ “ทับซ้อน” ถึง 2 ชั้น ชั้นแรกคือตุลาการ 3 ท่านได้แก่ จรัญ ภักดีธนากุล, นุรักษ์ มาประณีต, สุพจน์ ไข่มุกด์ อยู่ในคณะกรรมาธิการที่ยกร่างรัฐธรรมนูญมากับมือ
โดยธรรมชาติมนุษย์ ผลงานของเราย่อมถือว่าเราทำดีที่สุด ถ้ามีใครมาแก้ เราก็ไม่พอใจ ใช่ไหมครับ
การยกร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้งที่ผ่านมาจึงห้าม สสร.หรือกรรมาธิการ ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงข้อครหา หนึ่ง ร่างเพื่อตัวเอง สอง จะใช้อำนาจหน้าที่ปกป้องผลงานตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ห้าม
“ทับซ้อน” ที่สองคือ รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างขึ้นหลังเกิดรัฐประหารที่ตุลาการข้ามรั้วออกมาร่วมใช้อำนาจกับทหาร เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม (ท่านจรัญอีกละ) เป็น สสร. เป็น สนช. เป็นตุลาการยุบพรรค
รัฐธรรมนูญแก้ไขที่มาวุฒิสมาชิกและองค์กรอิสระ ให้วุฒิสมาชิกมาจากการสรรหากึ่งหนึ่ง ให้องค์กรอิสระมาจากการสรรหาแล้วผ่านการรับรองโดยวุฒิสมาชิก ซึ่งการสรรหามีลักษณะเรือล่มในหนอง เพราะกรรมการสรรหาวนไปวนมาก็ไม่พ้นคนจากสถาบันตุลาการ
อำนาจสรรหาอยู่ในมือตุลาการ ตอนนี้กำลังจะหลุดลอยไปกึ่งหนึ่ง เพราะวุฒิสมาชิกจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ส่งผลย้อนไปยังการสรรหาองค์กรอิสระ ที่ไม่มี สว.ลากตั้งมา “ปั๊มตรา” ให้อีกแล้ว
ถามว่าสถาบันตุลาการพึงพอใจหรือไม่ แล้วเราก็มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนมาจากสถาบันตุลาการ

ถ้าไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ ท่านจะวินิจฉัยโดยใช้เหตุผลอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น