วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

ธรรมาภิบาน คอลัมน์ วันอังคารที่ 10 กันยายน 2556

ธรรมาภิบาน

คอลัมน์ วันอังคารที่ 10 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

ตำนานมากกว่า 120 ปีของเจพี มอร์แกน วาณิชธนกิจชื่อดัง ลือลั่นเขียนเป็นหนังสืออย่างย่นย่อได้มากกว่า 600 หน้า แต่วันนี้ ตำนานใหม่ของเจพี แมร์แกน เชส ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารครบวงจรที่ใหญ่สุดของสหรัฐ กลับกลายเป็นคำถามเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ถึงพฤติกรรมที่บรรดาผู้นำโลกเคยใช้กับชาติกำลังพัฒนาในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งว่าเป็น “ทุนนิยมพรรคพวก” (crony capitalism)
                ในอดีต เจพี มอร์แกน จำกัดตัวเองกับธุรกรรมทางด้านวาณิชธนกิจเป็นหลัก ไม่ต้องมีสาขาก็ยิ่งใหญ่ยาวนาน แต่วิกฤตซับไพรม์เมื่อ 5 ปีเศษมานี้ ทำให้เข้าไปโอบอุ้มสถาบันการเงินด้วยกันที่ซวนเซ 2 แห่งคือ แบร์ สเติร์นส์ และเชส แมนฮัตตัน ตามคำร้องขอของเฟดและทางการสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การเข้าไปช่วยและเสียสละ แต่เป็นปฏิบัติการ “หมูไป ไก่มา” ที่ไม่มีใครรู้นอกจากคนกลุ่มเล็กๆ
                วันนี้ เรื่องราวฉาวโฉ่ของเจพี มอร์แกน เชส กำลังกลายเป็นมะเร็งร้ายที่ทำลายภาพลักษณ์ที่เคยปกปิดเอาไว้ยาวนานออกมาล่อนจ้อนมากขึ้น และสาวไส้กันสนุกสนานพร้อมกับคำถามถึงอนาคตในการปฏิรูปการบริหารจัดการสถาบันการเงินของอเมริกายุคหลังวิกฤตครั้งใหญ่ว่า ดำเนินไปได้มากน้อยแค่ไหน นอกเหนือจากความง่อนแง่นของ “เสาหลัก” ยาวนานของธนาคารเอกชนสหรัฐ
                ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการค้นพบเรื่องใหญ่ว่า เจพี มอร์แกน ทำธุรกิจในจีนและฮ่องกงอย่างน่าสงสัย ด้วยการว่าจ้างพนักงานที่ไม่สมควรรับเข้าทำงาน หรือขาดคุณสมบัติเข้ามาในสำนักงานหลายสิบคน ซึ่งปูมหลังของทุกคน ล้วนแล้วแต่เป็น “เด็กเส้น” ที่มีสายสัมพันธ์กับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลปักกิ่ง และฮ่องกงทั้งสิ้น
                ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบอีกว่า มีการเชื่อมโยงเข้ากับการเปิดบัญชีของลูกค้ากองทุนเก็งกำไร หรือไพรเวทฟันด์รายใหญ่ๆ ที่เป็นเป้าหมายลูกค้าของเจพี มอร์แกน เชส ต้องแย่งตัวเอามาแข่งขันคู่แข่งรายอื่นๆ
                พฤติกรรมการจ้างงานดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนในเอเชีย ที่ระบบ “แนะนำตัว” และ “เส้นสาย” เป็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกันอย่างมิดชิด แต่สำหรับกฎหมายของอเมริกันแล้ว นี่คือ การละเมิดกฎหมายว่าด้วยการให้สินบน ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่นอกเหนือกฎหมายธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสาระธรรมาภิบาลของหน่วยงานกำกับตรวจสอบ SEC ของสหรัฐที่เข้มงวดอย่างมาก
                บทลงโทษสำหรับการกระทำความคิดดังกล่าว มี 2 นัยคือ นัยแรกว่าด้วยการกระทำที่ต้องแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับและดำเนินการปรับปรุง กับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งอย่างหลังจะทำให้ผู้บริหารของบริษัทต้องโทษคดีอาญาไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้น อาจจะไม่สามารถรับตำแหน่งบริหารบริษัทในตลาดหุ้นที่ไหนๆ ได้อีก
                ในกรณีของเจพี มอร์แกน เชส ยังไม่ชัดเจนว่าเข้าข่ายไหน  เพราะยังมีการดำเนินการแค่พบข้อมูลที่ต้องสงสัย และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ แต่เรื่องที่ถูกเปิดเผยออกมา รวมทั้งการเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงของกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลกลางสหรัฐ ก็กลับยิ่งชี้ให้เห็นความเลวร้ายมากขึ้น เรื่องข้อมูลที่หลุดออกมาสู่สาธารณะ พบว่าไม่ใช่แค่ในจีนหรือฮ่องกง หากกระทำโดยทั่วไปที่ตรวจพบความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ
                โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดสาขาของเจพี มอร์แกน เชส ในเอเชียทุกประเทศ (ซึ่งจากข้อมูลที่ไม่เปิดเผย เชื่อว่าน่าจะอนุมานได้ว่ารวมทั้งในไทยด้วย แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยัน) ซึ่งเครือข่ายโยงใยอย่างนี้ ชวนให้ถูกสอบสวนเส้นทางการเงินเพื่อค้นหารากฐานที่มาตามกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินและการก่อการร้าย
                ด้านหนึ่งของพฤติกรรมของเจพี มอร์แกน เชส ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน พฤติกรรมในการทำธุรกิจของธนาคาร ล้วนหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ในขณะที่เทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น
                ข้อมูลดังกล่าวตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่เมื่อ 2 ปีมานี้ เจพี มอร์แกน เชส ได้ระบุในเอกสารแถลงข่าวใหญ่โตว่า ธนาคารได้ติดตั้งระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูงมากในการประมวลผลเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้า ย่นย่อการแก้ปัญหายากจากหลายชั่วโมงเป็นแค่ 1 นาทีเท่านั้น
                ความผิดพลาดจากกรณีของการจ้างงานแบบให้สินบนลูกค้าขาใหญ่ของเจ พี มอร์แกน เชสนี้ ทำให้หลายคนอดย้อนมองถึงจุดอ่อนของธนาคารแห่งนี้ที่ถูกเปิดโปงไปแล้วในหลายเรื่องในช่วง 2 ปีมานี้เช่นกัน นับตั้งแต่การขาดทุนจากการค้าหลักทรัพย์จำนวนมหาศาลในลอนดอน โดยเทรดเดอร์ พร็อพเทรด คนเดียว ที่ทำให้ตัวเลขขาดทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ ที่เรียกว่าคดี London Whale

ยังมีเรื่องการถูกปรับเพราะ ซีไอโอ (ผู้อำนวยการด้านข้อมูลข่าวสาร) ซ่อนเร้นข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไรของเทรดเดอร์ในตลาดเก็งกำไรสำคัญของศูนย์กลางการเงินโลก จนขาดทุนมหาศาล

แถมยังมีเรื่องปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการออกบทวิจัยเกี่ยวกับหุ้นไอพีโอที่ธนาคารและธุรกิจในเครือเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์ ในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศ จนถูกปรับไปถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในสหรัฐถูกห้ามทำธุรกรรมใหม่นานหลายเดือน

นอกจากนั้น ยังมีกรณีเก่า เรื่องของการหลอกขายตราสารอนุพันธ์ในระหว่างเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ ให้กับอนุพันธ์ทางการเงินของ for Jefferson County แห่งรัฐอลาบามา ซึ่งข้อกล่าวหามีทั้งจ่ายสินบนเพื่อได้งาน ฟอกเงิน และหนีภาษี จนยอมเสียค่าปรับ 722 ล้านดอลลาร์
                เรื่องฉาวที่ถูกเปิดขึ้นมานี้ เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เจพี มอร์แกน เชส กระทำขึ้นมา ยังมีคดีค้างคาอีกมาก แต่ธนาคารแห่งนี้ ก็ยังทำกำไรได้มากเพียงพอที่จะจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความหมาย 2 นัยคือ 1) กำไรจากการฉ้อฉลผิดธรรมาภิบาลมากจนเกินคุ้มความเสี่ยงจะทำ 2) ค่าปรับน้อยเกินไปกับความผิด
                ไม่ว่าจะเป็นความหมายไหน ก็ล้วนบอกถึงความสกปรกโสโครกเบื้องหลังความร่ำรวยของธนาคารแห่งนี้ ที่ถือว่าเป็นธรรมาภิบาน ไม่ใช่ธรรมาภิบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น