วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ขึ้นดอกเบี้ย คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2556

ขึ้นดอกเบี้ย

คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 11 คน 

คนที่คิดอย่าง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ว่า เบน "เฮลิคอปเตอร์" เบอร์นันเก้ ผู้ว่าเฟดฯ หมดบารมีแล้ว นับแต่ทำให้เกิดความมั่วซั่วจากการส่งสัญญาณกลับไปกลับมาให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ที่ถูกพวกเขาจับเป็นตัวประกันอยู่นานหลายเดือนแล้ว ไม่ได้มีคนเดียวแต่มีมากมายทั่วโลก
ข้อเรียกร้องว่า เบอร์นันเก้ ควรจะลาออกหรือไม่ อาจจะเป็นประเด็นว่าด้วยความสามารถและบารมีของผู้บริหารสูงสุดของธนาคารกลางโดยทั่วไป แต่ประเด็นที่สำคัญสำหรับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธนาคารกลาง และดูเหมือนว่าจะน่าติดตามมากกว่าอยู่ที่ว่า ชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ ควรรับมือกับความไม่แน่นอนของเฟดได้อย่างไรถึงจะรอดปลอดภัยจากความเสี่ยงของทุนไหลออกในกรณีที่QE จะถูกลดหรือเลิกการใช้ลงในอนาคต
คำตอบยังไม่มีความชัดเจน และผู้บริหารของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลก ก็ยังรักษาฟอร์มเก็บตัวเงียบ (เพราะยังคิดไม่ออก และยังไม่ได้คิด) ไม่แสดงความเห็น
ที่อินเดีย นักคิดจากไอเอ็มเอฟ ที่ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้กลายเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของอินเดีย (RBI) รคุราม ราชัน ไม่ต้องรอหาคำตอบจากผู้ว่าการธนาคารกลางอื่นๆ เขาตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยยืนยันว่า นี่คือทางออกที่ดีสุดในการรับมือกับการไหลออกของทุน
การตัดสินใจของรคุราม ราชัน ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่พิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง
การปรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นชุดความคิดแบบ "ปริวิตกครอบงำ" (พารานอยด์) ของนักการเงินแบบฮาร์ดคอร์ของไอเอ็มเอฟมากกว่า แต่ประวัติและภูมิหลังของรคุราม ราชันนั้น ไม่ธรรมดา จนกระทั่งทำให้คนต้องคิดทบทวนใหม่ หรือมีอะไรอยู่เบื้องหลังการคิดดังกล่าว
ก่อนปี ค.ศ. 2005 รคุราม ราชันเป็นแค่นักวิจัยแนวคิดประหลาดทางนโยบายการเงินที่ไอเอ็มเอฟ และอาจารย์สอนหนังสือเศรษฐศาสตร์การเงินที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่บังเอิญเขียนหนังสือด้วยสายตามองโลกในแง่ร้าย วิพากษ์นโยบายของอลัน กรีนสแปนซึ่งใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำนานเกินไปเสียยับเยิน
คำวิจารณ์ดังกล่าวปรากฏในหนังสือเล่ม Fault Lines ที่เขาเขียนขึ้น ระบุว่า การคงดอกเบี้ยต่ำนานเกิน เปิดช่องให้นวัตกรรมตราสารอนุพันธ์เช่น credit default swaps (ตราสารค้ำประกันการเบี้ยวหนี้หุ้นกู้) ที่ยุ่งยากเกินตรวจสอบ ที่สร้างความหลงผิดว่า สถาบันการเงินจะไม่มีทางล้มไปได้
ในตอนนั้น ไม่มีใครมองว่าลึกล้ำแต่มองว่าพิลึกและขี้ขลาด ถึงขนาด ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส รัฐมนตรีคลังอเมริกันในตอนนั้นวิจารณ์ว่า ราชันเป็นพวก "ลัดไดท์" (นักต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นสมอง) จนกระทั่งวิกฤตซับไพรม์เกิดขึ้นรุนแรงจนเป็นวิกฤตระดับโลก คำทำนายของรคุราม ราชัน ได้รับการยกย่องอย่างมาก เพราะถูกทั้งหมด
เดือนที่แล้ว ราชัน ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอินเดียให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง เพื่อมาช่วยแบกภาระหนักอึ้งในการสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับรัฐบาล หลังจากที่ค่าเงินรูปีร่วงแรงเกิน 13% ในรอบ 6 เดือน เพราะรัฐบาลอินเดียล้มเหลวในการแก้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบเรื้อรัง และเงินเฟ้อ
ภารกิจดังกล่าว ผสมโรงเข้ากับความหวั่นกลัวกับสัญญาณทางเทคนิคที่มั่วซั่ว ทำให้ราชันนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียว่า ทางเลือกในการป้องกันเงินไหลออกที่จะทำให้เศรษฐกิจอินเดียที่เปราะบางอยู่แล้วพังพินาศ อยู่ที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ตลาดภายในคุ้นเคยกับภาระการมีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยไม่ต้องหวั่นวิตกในเวลาที่ทุนเก็งกำไรทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนไหลออกเมื่อมีการลดมาตรการ QE ลงไป
เหตุผลของเขาคือ ไม่ว่าจะอย่างไร มาตรการ QE ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่ใช้ควบคู่กับมาตรการทางการคลังขยายเพดานหนี้ภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องถึงขีดจำกัด และลดลง เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ
การเพิ่มปริมาณเงินด้วย QE (ดัดแปลงทดแทนคำเก่า (open market operation) ซึ่งทำให้ราคาพันธบัตร ราคาหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินอยู่ในภาวะขาขึ้นเกินจองทั่วโลก เป็นแค่มายาภาพ และเมื่อทำงานไม่ได้ผล ก็จะต้องหยุดลงก่อนหายนะ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากฟันด์โฟลว์ของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกทวีคูณขึ้น
การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการไหลออกของทุน จึงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยยังเร้าใจ การไหลออกของทุนเก็งกำไรเพื่อกลับไปยังสหรัฐฯก็จะไม่รุนแรงจนค่าเงินถล่มทลายอีกระลอก แล้วอีกด้านหนึ่งก็ยังช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เข้าขั้นรุนแรง
ทางเลือกของผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย รคุราม ราชันดังกล่าวนี้ ไม่มีใครรู้ว่า จะได้ผลเป็นรูปธรรมในการบรรเทาผลกระทบจากทุนเก็งกำไรไหลออกหรือไม่ เพราะด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยเช่นกัน หากไม่ได้ผล เพราะนักคิดทางทฤษฎีที่มีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือจำนวนมาก เมื่อมาบริหารนโยบายในทางปฏิบัติ อาจจะมีอาการ "ปลาตายน้ำตื้น" ได้ไม่ยาก เพราะเท้าไม่ติดดินเนื่องจากไร้ประสบการณ์จริงที่มากเพียงพอ
แนวคิดของผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย ดูเหมือนจะย่ำรอยเดียวกันกับผู้ว่าการและกนง. ของแบงก์ชาติไทยไม่น้อย แล้วก็คงจะไม่แปลกประหลาด หากว่า กนง.กำลังคิดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในการประชุมคราวต่อไปในอนาคตอันใกล้ โดยใช้เหตุผลเดียวกับธนาคารกลางอินเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น