วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

เกณฑ์ที่ ก.ล.ต.ควรทบทวน คอลัมน์ วันพุธที่ 04 กันยายน 2556

เกณฑ์ที่ ก.ล.ต.ควรทบทวน

คอลัมน์ วันพุธที่ 04 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 10 คน 


“หลุดจอง” เรียบร้อยโรงเรียนตลาดหลักทรัพย์ไปอีกตัวแล้วล่ะครับ หุ้น CSS หรือคอมมิวนิเคชั่น   แอนด์  ซิสเต็ม โซลูชั่น หุ้นน้องใหม่ล่าสุดที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai
พื้นฐานไม่ใช่บริษัทขี้เหร่อะไร เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานมาจากการขายสายไฟฟ้า ต่อมาพัฒนาเป็นงานติดตั้งระบบ และขยายไลน์เข้าสู่งานด้านธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคตดีวันดีคืนด้วย
นับเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สิ้นสุดยุคกระแส “หุ้นจองฟีเวอร์” ไปแล้ว
อะไรเป็นสาเหตุทำให้ “หุ้นจอง” หมดเสน่ห์ ที่นี่ข่าวหุ้นธุรกิจ ก็ได้ตอกย้ำมาแล้วหลายครั้งนะครับว่า  เกิดจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ฯ หรือก.ล.ต. เปิดเกณฑ์มาร์เก็ตแคป ที่ยินยอมให้หลักทรัพย์ใหม่ที่มีมูลค่าตลาดเกิน 5 พันล้านบาท เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนได้
โดยไม่ยึดถือเกณฑ์ผลกำไรติดต่อกันตามเกณฑ์ที่ปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิม
ฉะนั้น บริษัทที่ผลดำเนินงานขาดทุน แต่มีมาร์เก็ตแคปที่นับจากราคาไอพีโอถึงหรือเกินกว่า 5,000 ล้านบาท จึงสามารถเข้ามาลอยนวลในตลาดได้
จุดประสงค์ที่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์นี้นัยว่า ต้องการจะเพิ่มปริมาณหลักทรัพย์ในตลาด แต่ก็ลืมคิดถึงผลข้างเคียงอีกด้านหนึ่งว่า บริษัทเหล่านี้ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ อนาคตธุรกิจจะเลวร้ายหรือดีขึ้นจริงตามหนังสือชี้ชวน ก็ยังไม่มีใครรู้
การจะอ้างว่า การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ภายใต้กลไกตลาดเสรีและความสมัครใจ ก็ดูจะเป็นเหตุผลที่ปัดสวะมากเกินไป
พอหุ้นที่ได้รับการยกเว้นเกณฑ์ผลกำไร เข้ามาทำสถิติหลุดจองในวันแรกหลายตัวเข้า ศรัทธาของตลาดก็เสื่อมจากหุ้นประเภทนี้ และพลอยลามไปถึง “หุ้นจอง” ที่มีผลประกอบการดีก่อนเข้าตลาดไปด้วย
ผมขอร้อง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ขอให้ทบทวนเกณฑ์เข้าตลาดข้อนี้อีกสักครั้งเถิดครับ
ไม่เช่นนั้น ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ จะกลายเป็นผู้สกัดดาวรุ่ง คือ ทำลายหุ้นเข้าใหม่เสียเองตั้งแต่ต้นมือ การจะให้ราคากลับไปยืนที่เก่าอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย เพราะศรัทธาสูญสิ้นไปเสียแล้ว
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ขอเสนอให้ทบทวนก็คือ เกณฑ์ซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีโบรกเกอร์ หรือที่เรียกว่า “พร็อพ เทรด” ซึ่งนักลงทุนใหญ่ขนานนามให้เป็น “ปอบ เทรด” ไปแล้ว
“พร็อพ เทรด” หรือ “ปอบ เทรด” นี่แหละครับ ยังเป็นที่มาของฉายา “แก๊ง 4 โมง” ที่มีปรากฏการณ์ภาวะตลาดหุ้นสดใสอยู่ดีๆ แต่จู่ๆ มีกองทัพปีศาจจากที่ไหนไม่รู้ โผล่ออกมาทุบหุ้นตอนท้ายปลายตลาด ทำให้ภาวะการซื้อขายจากดีเป็นร้ายกลายเป็นหนังคนละม้วนอยู่เนืองๆ
จุดประสงค์ในการเปิดเกณฑ์ “ปอบ เทรด” นัยว่า เพื่อเป็นการยื่นหมูยื่นแมวกับอนาคตที่จะมีการเปิดเสรีคอมมิสชั่น ให้โบรกเกอร์หารายได้เสริมจากรายได้คอมมิสชั่นที่จะหดหายลง
แต่ผลข้างเคียงที่ไม่ได้นึกถึงกันก็คือ เป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโบรกเกอร์กับนักลงทุนรายย่อย
การซื้อขายในบัญชีโบรกเกอร์ ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่น ฉะนั้น เวลาโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น เพียงหุ้นที่ซื้อไว้มีกำไรแค่ช่อง-สองช่อง ก็สามารถจะเทขายทิ้งโดยมีกำไรติดปลายนวมไปได้อยู่แล้ว
การเปิดความไม่เท่าเทียมกันไว้เช่นนี้ ยังเปิดโอกาสให้บัญชีซื้อขายโบรกเกอร์ เข้าสนับสนุนหุ้นซี้ซั้วที่มีการปั่นราคากัน เพราะตัวเองไม่ต้องมีภาระค่าคอมมิสชั่น นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอินไซด์กับกลุ่มนักเล่นหุ้นปั่นว่าจะเข้าออกกันราคาไหน เท่ากับเกณฑ์ของทางการนั่นแหละเปิดโอกาสส่งเสริมและยุยง “หุ้นปั่น” ไปในตัว
ผมอยากให้ปิดโอกาสช่องการซื้อขายแบบ “ปอบ เทรด” เช่นนี้เสียทีครับ ถ้าเลิกไม่ได้ก็ควรจะให้ “คุณปอบ” มายืนเท่าเทียมกับนักลงทุนทั่วไป โดยให้ส่งคำสั่งซื้อขายไปที่โบรกเกอร์อื่น และก็ต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นในอัตราเดียวกับนักลงทุนทั่วไป
เพื่อไม่ให้ “ปอบ” อาละวาด เป็นแก๊ง 4 โมงเย็นทุบหุ้นเช่นทุกวันนี้
เสนอมายัง ก.ล.ต.ด้วยความเคารพรักให้ทบทวนปัญหาที่บั่นทอนตลาด 2 ข้อนี้โดยเร่งดวน จักเป็นพระคุณอย่างสูง       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น