วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

CPALL กลยุทธ์รีไฟแนนซ์ รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556

CPALL กลยุทธ์รีไฟแนนซ์

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 135 คน 


บทวิเคราะห์ล่าสุดของนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ UBS ที่ทำการปรับลดราคาเป้าหมายในปี 2557 ของราคาหุ้นบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL อย่างรุนแรง ถือเป็นข้อมูลล่าสุด แต่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะเป็นแค่เพียงการพูดในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าพูดเท่านั้นเอง
โดยข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หลังจากที่ CPALL ได้ตัดสินใจเลือกหนทางระดมทุนมาแก้ปัญหาต้นทุนการเงินในกรณีของการเข้าซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนด้วยกันในตลาดหุ้นไทย บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เมื่อกลางปีนี้เป็นต้นมา โดยทำการออกตราสารหนี้มูลค่ามากถึง 9 หมื่นล้านบาท (ซึ่งยังต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับผลตอบแทน หรืออายุของกองทุน) ก็เป็นที่น่าสนใจถึงกลยุทธ์ในการเลือกดังกล่าว
ก่อนหน้าที่จะมีการออกตราสารหนี้ขายแก่นักลงทุนนั้น CPALL ได้เข้าซื้อกิจการ MAKRO จากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ SHV Holdings ของเนเธอร์แลนด์ ในราคาแพงลิ่วหุ้นละ 787 บาท พร้อมกับภาระต้นทุนการเงินที่เป็นเงินต้นประมาณถึง 1.8 แสนล้านบาทก็คือ การจัดการรับมือกับภาระทางการเงินที่จะเกิดขึ้นตามมา
คำตอบที่เรามักจะได้ยินจนคุ้นหูจากผู้บริหารหลายคนของ CPALL คือ ไม่เพิ่มทุน-ไม่งดจ่ายปันผล–มีทางออกทำให้หนี้ลดในอนาคตได้
ทั้ง 3 คำตอบข้างต้นมีความเชื่อมโยงกันโดยตรง และเป็นวิศวกรรมการเงินที่ซับซ้อนมากทีเดียว เพราะการเติบโตทางลัดด้วยการมีต้นทุนสูงจากการซื้อขายกิจการครั้งนี้ แม้จะมีผลดีในเชิงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ แต่ก็มีภาระการเงินที่หนักหนาพอสมควรพ่วงติดมาด้วยให้ต้องเป็นภาระแก้ไข
จุดที่เป็นปัญหาสำคัญคือ 1) ต้นทุนการซื้อกิจการที่มีราคาสูงคือ หุ้นละ 787 บาทรวมค่าซื้อหุ้นผ่านการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ และค่าความนิยม (Good will) ของ MAKRO ที่มีการตีราคาเป็นมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ เป็นภาระหนี้ที่ทำค่า ดี/อีของ CPALL สูงลิ่วตามระบบบัญชี

ต้นทุนทางการเงินของการที่ CPALL เข้าซื้อกิจการจาก MAKRO
รายการ
มูลค่า(ล้านบาท)
ต้นทุนค่าหุ้นซื้อ MAKRO
1.8 แสน (กู้เงิน1.65 แสน)
ต้นทุนทางบัญชีค่าความนิยม
1.27 แสน

หน้าที่ของฝ่ายการเงินของ CPALL จึงอยู่ที่การเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงิน  โดยการเลี่ยงหนทางที่จะต้องเพิ่มทุน เพราะเหตุว่า จะส่งผลต่อราคาหุ้นและมูลค่าของผู้ถือหุ้นอย่างยิ่ง เนื่องจาก CPALL เพิ่งจะทำการเพิ่มทุนในปี 2555 ที่ผ่านมาถึง 100% นั่นเอง โดยเพิ่มทุนจากเดิม 4,493.15 ล้านบาท เป็น 8,983.10 ล้านบาท  หากจะทำการเพิ่มทุนอีกครั้ง ก็จะไม่เป็นผลดี เพราะนักลงทุนจะเกิดความเสื่อมศรัทธาในการถือครองหุ้นของบริษัทอย่างรุนแรง
ข้อมูลที่ผู้บริหารพยายามสื่อสารถึงผู้ถือหุ้นและสาธารณะที่ผ่านมาในช่วงแรก มักจะพูดถึงทางเลือก 3 ทางด้วยกันในการเลี่ยงเพิ่มทุน คือ 1) ออกหุ้นกู้ 2) ให้ MKRO หรือ CPALL ตั้งกอง REITs มูลค่า 1-3 หมื่นล้านบาท 3) ประเมินทรัพย์สินของ CPALL และ MAKRO ใหม่
ทั้ง 3 ทางเลือก หากประมวลกลยุทธ์ทางการเงินแล้ว จะเหลือเพียงแค่ 2 ทางเท่านั้น คือ การแก้ปัญหาสภาพคล่องและลดต้นทุนการก่อหนี้ด้วยการระดมทุนที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย กับการระดมทุนด้วยต้นทุนที่มีดอกเบี้ย
ในเรื่องการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้นั้น ที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกของ CPALL เป็นธุรกิจที่มีเงินสดค่อนข้างมาก ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้เลย  ดังนั้น อาจมีการออกหุ้นกู้ซึ่งเป็นตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อมาจ่ายลดต้นทุนเงินกู้ระยะสั้น 165,000 ล้านบาท ก็เป็นการเปลี่ยนสภาพหนี้ให้บริษัทมีสภาพคล่อง แต่ต้องแลกกันต้นทุนการเงินที่มีภาระประมาณปีละกว่า 8 พันล้านบาท (คิดจากอัตราดอกเบี้ย 5%) แต่หนี้จากหุ้นกู้นี้ จะไม่ได้ทำให้สภาพหนี้ลดลง ดังนั้น ทางเลือกในการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
การก่อตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขในการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารและสถาบันการเงิน โดยมีระยะเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอัตรา LIBOR บวกด้วยอัตราผลตอบแทนส่วนต่าง (Margin) เพื่อชดเชยค่าความเสี่ยง (Credit Spread) โดยไม่มีผลกระทบต่อนโยบายจ่ายเงินปันผลวงเงินรวมไม่เกิน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ(หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท) โดยวงเงินใช้จริงขึ้นอยู่กับการตอบรับคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้น MAKRO ด้วย
การออกกองทุนดังกล่าว เกิดจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในรูปอาคาร-ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 17,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของมูลค่าหนี้ ทั้งหมดแต่กองทุนดังกล่าวอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หากว่า มีการประเมินราคาทรัพย์สินดังกล่าวเสียใหม่เพื่อสะท้อนราคาตลาดเมืองมีการออกกองทุนดังกล่าวจริง ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์หนี้ดีขึ้น
นอกจากนั้น การที่  MAKRO มีสินทรัพย์จำบัง ที่ยังไม่ได้นำมาคำนวณมูลค่า (Hidden asset) อาทิ ที่ดิน ระบบ IT และเครื่องหมายทางการค้า (Branding) รวมถึงอำนาจต่อรองจากการใช้ประโยชน์ของพลังผนึกทางธุรกิจของทั้ง CPALL และ MAKRO ร่วมกัน (เชิงบวก รวมถึงโอกาสให้ CPALL สามารถขยายธุรกิจต่างประเทศผ่านสาขา ของ MAKRO ได้ก็จะส่งผลให้อำนาจในการชำระหนี้ในอนาคตของ CPALL เพิ่มขึ้น)
แล้วในที่สุด หลังจากใช้เวลาชั่งใจระยะหนึ่งแล้ว ทางเลือกแรกสุด กลายเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด การรีไฟแนนซ์ด้วยการออกหุ้นกู้มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท  เงื่อนไขของหุ้นกู้ดังกล่าว (ดูรายละเอียดในตะรางประกอบ) จะเห็นได้ว่า เป็นการแปลงหนี้ระยะสั้นที่กู้เงินจากสถาบันการเงินมาจ่ายให้กับ SVH ในการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้กลายเป็นหนี้ระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง และภาระหนี้ของ CPALL ที่เกิดจาก เพราะบริษัทได้แปลงสภาพจากบริษัทที่ ”รวยเงินสด” เป็นบริษัทที่”รวยหนี้”ไปเสียแล้วจากยุทธศาสตร์การสร้างกิจการทางลัดผ่าน M&A
การเคลื่อนย้ายหนี้จากระยะสั้น ที่มีต้นทุนการเงินสูง ไปสู่หนี้ระยะยาวที่มีต้นทุนการเงิน และระยะเวลาชำระคืนยาวนานกว่า ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเฉพาะหน้าไปได้ระยะหนึ่ง ถือเป็นการซื้อเวลายืดหนี้ ตามหลักวิศวกรรมการเงินเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นการลดภาระหนี้แต่อย่างใด
โดยข้อเท็จจริง CPALL ได้เกิดต้นทุนจากหลายทาง ทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินกู้จากสถาบันการเงินและธนาคารต่างๆรวม 5,773 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 185,000 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 32.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีระยะคืนชำระเงินกู้ 12 เดือน ซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้น เพื่อเข้าทำการซื้อหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม จากSVH และ การทำเทนเดอร์  MAKRO  ซึ่งมีความเสี่ยงทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยนและสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ความจำเป็นในการแปลงหนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องกระทำ เพื่อลดความเสี่ยงทั้งสองด้าน
ความท้าทายของการตัดสินใจดังกล่าวก็คือว่า จะกระทบต่อฐานะของการดำเนินงานในอนาคตของบรง CPALL มากน้อยเพียงใด  เพราะโจทย์ที่ยังคงเป็นปริศนาทางการเงินคือปัญหาเรื่องต้นทุนทางการเงิน

ต้นทุนทางการเงินของการที่ CPALL เข้าซื้อกิจการจาก MAKRO
รายการ
มูลค่า (ล้านบาท)
ต้นทุนค่าหุ้นซื้อ MAKRO
1.8 แสน (กู้เงิน 1.65 แสน)
ต้นทุนทางบัญชีค่าความนิยม
1.27 แสน

โดยข้อเท็จจริงทางการเงินการซื้อกิจการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ทำให้อัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุน(ROCE) ของ CPALLลดลง และส่งผลต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น( EPS) ที่จะปรับตัวลดลงอีก 13% ในปี2556 และเพิ่มอีก 17% ในปี2557  โดยมีสาเหตุมาจากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่แพงขึ้นไม่สามารถชดเชยกับกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อกิจการของ MAKRO
นอกจากนี้ CPALLมีแผนการขยายสาขา MAKROอย่างน้อยปีละ 7 สาขา ซึ่งจะทำให้ROCE ลดลงจากระดับสูงสุด 49% เหลือ 41% แม้ว่าหลังจากที่คาดการณ์ว่า อัตรากำไรขั้นต้น(GM) ดีขึ้นแล้ว  เหตุผลที่ทำให้ROCE ลดลงคือ ร้านเล็กลง ต้นทุนในการลงทุนสูงขึ้น และสัดส่วนของร้านใหม่เพิ่มขึ้น
ปัญหาของการออกตราสารหนี้ ซึ่งก็คือรู้แบบหนึ่งของการก่อหนี้ระยะยาวอยู่ที่ว่า มีผลทำให้ CPALL เปลี่ยนจากสถานะมีเงินสดสุทธิเป็นมีหนี้สุทธิ โดย EBITDA อยู่ที่ 6.7 เท่า (ปลายปี 2556) และค่าดอกเบี้ยสูงขึ้น การเข้าถือสิทธิ์ไดลูท ผลตอบแทน เนื่องจากมีการประเมินมูลค่ามากเกินไป (48 เท่าของพีอีปี 2556 เทียบกับ P/Eเฉลี่ย 30 เท่าของภาคค้าปลีกในช่วงที่มีการเข้าถือสิทธิ์) ทำให้ประโยชน์จาการซื้อกิจการเข้ามามีน้อยเมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป โดยวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มในระยะยาวของแมคโครและคาดว่าROCEของแมคโครจะลดลงเพราะแผนการขยายธุรกิจอย่างรุนแรง
เงินกู้จำนวนมหาศาล แม้จะไม่ได้รุนแรงในช่วงแรก แต่การก่อหนี้ที่มากเกินไปหมายถึงว่า โครงสร้างทุนของCPALLได้เกิดการ เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และความเสี่ยงมากขึ้นโดยปริยาย
สำหรับค่าความนิยม (good will) สูงถึง 171,000 ล้านบาทที่บริษัทจะบันทึกลงในงบดุลนั้น ตามหลักการทางบัญชีจะ ไม่มีการนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายโดยทันที ซึ่งจะไม่กระทบกับการจ่ายเงินปันผล เพราะยังไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย แต่ต้องมีการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยมรวมอยู่(ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ เรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์ด้วย
แม้ผู้บริหาร และนักวิเคราะห์จะมีมุมมองที่ต่างกันในปัญหาดังกล่าว แต่อย่างน้อยที่สุดก็ชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจเลือกเอาการก่อหนี้ระยะยาวมาแทนที่หนี้ระยะสั้นด้วยการออกตราสารหนี้นั้น ก็ถือว่า ทำให้สภาพคล่องในระยะสั้นของ CPALL โล่งออกไปได้นานหลายปีทีเดียว ส่วนที่เหลือจากนี้ไป ก็คงต้องขึ้นกับความสามารถของผู้บริหารในการทำให้พลังผนึกทางธุรกิจระหว่างCPALL และ MAKRO ที่มุ่งหวังไว้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ เพื่อจะมีผลตอบแทนมาเพียงพอจนคุ้มค่ากับต้นทุนในการซื้อกิจการในราคาแพง
ที่ผ่านมา CPALL มีจุดแกร่งในการบริหารด้านบุคลากรที่ยอดเยี่ยม มีอยู่เดิมมีส่วนสำคัญช่วยให้การขยายสาขา และจะมีต่อไปในกรณีของ  MAKRO ที่ในอนาคต ตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้ได้ 7-11 สาขาต่อปี (จาก 3-4 สาขาในปัจจุบัน) ซึ่งจะช่วยทำให้เร่งทำกำไรต่อปีมากกว่าปัจจุบันที่ค่อนข้างต่ำพียงแค่ปีละ  3 พันล้านบาทเศษเท่านั้น
โจทย์ดังกล่าว แม้จะท้าทายอย่างมาก แต่นี่ก็ไม่ใช่ประสบการณ์แรกของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ในการใช้วิศวกรรมการเงินผ่านวิกฤตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น