วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ดร.เพี้ยน คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556

ดร.เพี้ยน

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 6 คน 


ความเพี้ยนของนักวิจัยในสถาบันใหญ่โตอย่าง ทีดีอาร์ไอในปัจจุบัน เป็นที่เลื่องลือมานาน แต่ล่าสุด 2 ดร.จอมเพี้ยนที่ชอบออกสื่อสอดรับแนวคิดกันอย่าง เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ กำลังชวนให้สงสัยเหลือเกินว่า ทีดีอาร์ไอนั้น อยู่ภายใต้การครอบงำของคนสติปัญญาต่ำมาตรฐานกว่าชื่อเสียงองค์กรแล้วหรืออย่างไร
เดือนเด่น จ้อออกโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กับผู้ดำเนินรายการวิพากษ์กรณีซิมมือถือรุ่นเก่าของคลื่น 1800 หรือ 900 จะดับเมื่อหมดอายุสัมปทาน ว่า บางค่ายจะทำให้ลูกค้านับล้านๆ คนเดือดร้อนเพราะกติกา กสทช.ไม่รัดกุมพอ จนกระทั่งถูก กสทช.ทนไม่ไหวฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท
โดยข้อเท็จจริง ความผิดพลาดสำหรับกรณีซิมดับนั้น เป็นประเด็นหลักคือ การสื่อสารที่ล้มเหลวระหว่างลูกค้ากับบริษัทโอเปอเรเตอร์ ไม่ได้รุนแรง และไม่ใช่ได้เจตนาทุจริตของธุรกิจหรือ กสทช. เพราะหากเกิดกรณีดังกล่าวจริง บริษัทก็ย่อมเสียหายพร้อมกับลูกค้าโดยปริยาย ไม่ใช่ระบบหรือการออกแบบ หรือเงื่อนไขไม่ดี ตามที่พวกจินตนาการล้นสร้างภาพ 
สมเกียรติ ออกโรงล่าสุด ในการปาฐกถาที่แบงก์ชาติว่า ปัจจุบันประเทศไทยนั้นถูกขับเคลื่อนจากรูปแบบของทุนนิยมโดยรัฐบาล และทุนนิยมเส้นสาย ซึ่งทุนนิยมในรูปแบบดังกล่าวนั้นทำให้ไทยไม่สามารถก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กดดันให้การลงทุนด้านการพัฒนาสินค้านั้นต่ำลงไปด้วย และจำกัดการเติบโตของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงในอนาคต
เท่านั้นยังไม่พอ ยังเพิ่มเติมความเห็นต่อไปเรื่อยเจื้อยอีกว่า มีความเป็นห่วงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมสภาในขณะนี้ เพราะในโครงการลงทุน 75% เป็นโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่ตอบโจทย์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แต่เป็นโครงการที่เน้นผู้มีรายได้สูง
พูดอย่างนี้ในเวลาเหมาะเจาะจนดูออกว่า สมเกียรติตั้งใจใช้คราบนักวิชาการที่เล่นการเมือง วางระเบิดเวลาให้พรรคฝ่ายค้านรับลูกนำไปขยายความต่อในสภาฯ เสมือนเตี๊ยมเอาไว้แล้วอย่างสมคบคิด
วาทะกรรมของสมเกียรติ นอกจากไม่ได้มีอะไรใหม่แล้ว ยังเป็นจินตนาการมากกว่าภูมิปัญญา เพราะคำนิยามอย่าง ทุนนิยมโดยรัฐ ทุนนิยมเส้นสาย ระบบโลจิสติกส์ ไม่สมกับเป็นนักวิชาการแม้แต่น้อย
ทุนนิยมโดยรัฐ เป็นคำนิยามระบอบเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบเข้ายึดกุมปัจจัยการผลิตและกลไกทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายชาตินิยมขวาจัด ซึ่งเคยเกิดขึ้นในชาติอย่างเยอรมนีหรืออิตาลีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อาร์เจนตินาในยุคเปรอง รัสเซียยุคก่อนซาร์และยุคหลังคอมมิวนิสต์  อียิปต์ในยุคทหารครองเมืองจนถึงปัจจุบัน  ลิเบียในยุคกัดดาฟี หรือสิงคโปร์ตั้งแต่ได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะอยู่คนละขั้วกับสังคมนิยมแบบโซเวียต แต่ก็ด้วยเนื้อหาคล้ายคลึงกัน
ลักษณะของทุนนิยมโดยรัฐโดยทั่วไป  รัฐจะออกกฎหมายเพื่อให้องค์กรของรัฐเข้ามามีบทบาทด้านการลงทุน ควบคุมกลไกการผลิต การตลาด การจ้างงาน และการเงินอย่างเข้มข้น โดยที่ภาคเอกชนเป็นเบี้ยล่างของรัฐตลอดเวลา
ในกรณีของไทย เคยมีความพยายามจะใช้ทุนนิยมโดยรัฐแค่ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์คือ ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  แต่ก็ทำไม่ได้นานเพราะองค์กรรัฐไร้ประสิทธิภาพเกินไป  ความพยายามเหมารวมว่า การที่รัฐไทยเข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจผ่านโครงการรัฐ และงบประมาณต่างๆ เป็นทุนนิยมโดยรัฐ ถือว่าเป็นข้อสรุปที่ตื้นเขิน และน่าเวทนาอย่างยิ่ง
ข้อสรุปอย่างนี้ ไม่ต่างจากพวกฝ่ายซ้ายที่มองว่าการลงทุนมากมายของต่างชาติในประเทศ เป็นการครอบงำของจักรวรรดินิยมนั่นแหละ
ส่วนทุนนิยมเส้นสาย หรือ crony capitalism เป็นคำที่ฮิตติดปากนักวิชาการและสื่อตะวันตกในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ลามไปทั่วโลก ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง แม้ชาติที่เจริญที่สุดอย่างสหรัฐที่อ้างว่ามีความโปร่งใสมากที่สุด ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องอื้อฉาวมากมายในการใช้อิทธิพลรัฐและเส้นสายช่วยธุรกิจบางกลุ่ม ที่ชัดเจนก็กรณีมากมายหลังวิกฤตซับไพร์ม  ที่ชัดจนคนหนุ่มสาวทนไม่ไหวต้องออกมาสร้างกระแส Occupy Wall Street (OWS) อันโด่งดัง
ที่น่าสนใจคือ ประเทศหลายแห่งทั่วโลกที่ถูกระบุโดยองค์กรที่ชื่อว่า Transparency International ซึ่งนักวิชาการทั้งหลายชอบเอามาอ้างว่ามีทุนนิยมเส้นสาย เช่น จีน และรัสเซีย  กลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าชาติในยุโรปและสหรัฐที่อ้างว่าปราศจากทุนนิยมเส้นสาย ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
การรื้อฟื้นข้อกล่าวหาว่าไทยมีทุนนิยมเส้นสาย จึงเป็นแค่การใช้สำนวนลีลากล่าวหาเกี่ยวกับ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” โดยอาศัยคราบไคลของนักวิชาการที่ไม่ต่างจากลาที่ใช้เสื้อคุลมสิงโตคลุมร่างหลอกชาวบ้านชาวช่องธรรมดาเท่านั้นเอง
ส่วนข้อกล่าวหาอันเลวร้ายว่า โครงการ 2 ล้านล้านบาทนั้น 75% เป็นโครงการที่ให้บริการขนส่งมวลชนที่เน้นผู้มีรายได้สูง ไม่ได้ช่วยระบบโลจิสติกส์  หากไม่ใช่เพราะสมเกียรติไม่ได้อ่านข้อมูลของเอกสารแนบท้ายร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทอย่างถ่องแท้ ก็คงเพราะอคติครอบงำจนยอมบิดเบือนข้อมูลมากล่าวหากันทื่อๆ อย่างไม่ละอาย
โครงการรถไฟความเร็วสูง (ความจริงแล้วเป็นแค่ชื่อเพราะตามแบบที่ออกมานั้น เป็นแค่รถไฟความเร็วปานกลางระดับไม่เกิน 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ได้ถูกออกแบบเคียงคู่ไปกับระบบรถไฟรางคู่แบบเดิมของการรถไฟฯที่วิ่งอยู่ ซึ่งจะดัดแปลงเป็นขนส่งสินค้าชนิดไม่ต้องวิ่งสับรางแบบปัจจุบันอีกต่อไป ซึ่งทำให้ลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงไปมหาศาลทุกปี โดยประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ทั้งการเดินทางและโลจิสติกส์ที่ดีขึ้นชัดเจน
ลองได้ปัญญาเพี้ยนจนถึงขนาดนี้ คงไม่ใช่แค่ทำลายตัวเองให้สามานย์เท่านั้น หากยังทำลายองค์กรที่ตนเองสังกัดโดยปริยาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น