วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ความเสี่ยงจากทุนเก็งกำไร คอลัมน์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2556

ความเสี่ยงจากทุนเก็งกำไร

คอลัมน์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 13 คน 

ไม่มีผู้บริหารธนาคารกลางของประเทศไหนในโลกนี้ ยอมรับว่าตนเองไร้ความสามารถในการรับมือกับปัญหาทุนเก็งกำไร หรือเงินร้อน ที่ไหลเข้ามากเกิน และไหลออกมากเกิน  เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอรับมือกับการไหลเวียนของทุนเก็งกำไร โดยจะไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ค่าเงิน และการส่งออกของประเทศ
ในทางปฏิบัติ ประโยคอันสวยงามนั้น ไม่เคยบรรลุเป้าหมายแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะในประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณและประสบการณ์ของทุนเก็งกำไร
ต้นปีนี้ ทุนเก็งกำไรไหลเข้ามาทั้งในตลาดตราสารหนี้และหุ้นไทยจนกระทั่งเงินบาทแข็ง หุ้นวิ่งกระฉูดไม่สมเหตุผล และการส่งออกเสียหายยับเยิน ท่ามกลางเสียงยืนยันจากประสาร ไตรรัตน์วรกุล และพวกในแบงก์ชาติว่า ไม่มีปัญหา ยังรับมือไหว และไม่ผิดปกติ อย่างซ้ำซากจำเจ
หลังจากนั้น พอเบน เบอร์นันเก้ ออกมาพูดคำเดียวว่า อาจจะมีการพิจารณาลดมาตรการ QE บรรดาทุนเก็งกำไรทั้งหลาย ก็พากันถอนตัวออกไป ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จนถึงเดือนกรกฎาคม  ส่งผลให้เงินบาทอ่อนยวบ หุ้นตกระเนระนาด ในขณะที่การส่งออกดูกระเตื้องขึ้น
แล้วพอเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทุนเก็งกำไรต่างชาติก็ทำท่าไหลกลับเข้ามาเพราะมาตรการ QE มีท่าทีไม่ชัดเจน แม้จะไม่มากเหมือนเดิม แต่ก็ส่งผลเหมือนเดิมคือ หุ้นวิ่งขึ้นแรงบางวัน ลงแรงบางวัน ทำให้นักวิเคราะห์หุ้นที่ทำตัวเป็นศาสดาพยากรณ์จอมปลอม (ทั้งที่ลอกกากความคิดฝรั่งมากันทั้งนั้น) ทายผิดทายถูกกันเสมอๆ
ทั้งหมดนี้ ยืนยันชัดเจนว่า กระบวนการบริหารจัดการและรับมือกับการไหลเข้าและออกมากเกินของทุนเก็งกำไร โดยผู้กำกับนโยบายการเงินไทยนั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้เชื่อมั่นได้เลยว่า จะสร้าง “ตาข่ายนิรภัยทางเศรษฐกิจ” (economic safety net) เพื่อรับมือและป้องกันการโจมตีของทุนเก็งกำไรทั้งขาเข้าและขาออกได้ ทั้งที่ว่าไปแล้ว ภูมิปัญญาของมนุษย์ในการป้องกันหรือแก้ไขความเสี่ยงจากทุนเก็งกำไรของโลกใบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือหายากแต่อย่างใด
ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ การไหลเวียนของทุนที่เข้าไปลงทุนโดยตรง (FDI) ในธุรกิจหลากรูปแบบ และการลงทุนเก็งกำไร เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานกันแยกไม่ออก ดังนั้น การควบคุมหรือจำกัดการไหลเวียนของทุนโดยกติกาของรัฐประชาชาติใดๆ ย่อมต้องมีความยืดหยุ่นทั้งด้วยกติกาภายในรัฐ และกติกาสากลของข้อตกลงร่วมมือระหว่างประเทศ
โดยทั่วไปแล้ว การไหลเข้า-ออกของทุน เปรียบเสมือนดาบสองคม มีทั้งข้อดีและเสียปนกัน กติกาเกี่ยวกับการไหลเวียนของทุนจึงคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการต่อไปนี้คือ
-          ต้องไม่เข้มงวดมากเกินจนจำกัดปริมาณทุนจากภายนอกไม่กล้าไหลเข้า จนสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทุนในการพัฒนาสร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจ
-          ต้องกำจัดจุดอ่อนของโครงสร้างภายในทางเศรษฐกิจ กฎหมาย หรือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทำทุนไม่ไหลเวียนโดยสะดวก หรือไม่ก็มีปัญหาให้ทุนมองเห็นสัญญาณอันตราย จนไหลออกมากกว่าไหลเข้า
-          กระบวนการส่งสัญญาณของรัฐผ่านดัชนีต่างๆ ต่อตลาดเงิน และตลาดทุน จะต้องมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้น่าเชื่อถือทัดเทียมกับดัชนีของสถาบันระดับโลกจากตะวันตก (เช่น  MSCI) ทั้งบวกและลบ
ประสบการณ์ในอดีตของชาติกำลังพัฒนา นับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เกิดข้อสรุปทั่วไปที่ผิดๆ ว่า เมื่อทุนไหลออกจากชาติไหน แสดงว่ามีปัญหาล้มเหลวในการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันใช้การไม่ได้ในกรณีของการที่ทุนไหลเข้าและไหลออกที่รุนแรง ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับฐานะเศรษฐกิจในประเทศ
ความล้มเหลวจะหาทางรับมือร่วมกันในการสร้างเกราะกำบัง และไร้ความสามารถหาประโยชน์ในทุกสถานการณ์จากการไหลเข้าและไหลออกของทุนเก็งกำไร (เช่น การปฏิเสธข้อเสนอตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ sovereign wealth funds – SWF ด้วยเหตุผลไร้สาระสารพัด)  คือกุญแจหลักของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงจากปัจจัยภายนอกอันไม่พึงปรารถนา หรือ unrelated externalities
ความล้มเหลวดังกล่าว ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องทางการเงิน การลงทุน และการค้า ถือเป็นด้านมืดของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งผู้ที่กุมอำนาจเหนือสุดในเกมนี้คือ กองทุนเก็งกำไร หรือเฮดจ์ฟันด์
กรอบคิดของการสร้างเตาข่ายนิรภัยซึ่งมีผู้เสนอที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ยอมรับกันในยามนี้กำหนดไว้หยาบๆ ดังนี้คือ
-          การสร้างกลไกที่ยืดหยุ่นสำหรับใช้ประโยชน์จากการไหลเข้า-ออกของทุนเก็งกำไร ให้อยู่ในระดับที่แบกรับได้
-          กลไกภาษีทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการไหลเข้าออกที่รวดเร็วและมีปริมาณเกินควบคุม
-          สร้างกลไกที่มีประสิทธิผลในการคัดกรองพฤติกรรมของทุนเก็งกำไร ที่แยกแยะออกจากทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงในธุรกิจ และกำหนดกติกาที่แตกต่างกันอย่างสร้างสรรค์
-          สร้างกระบวนการกำกับดูแลภายในอย่างบูรณาการเพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในการไหลเข้าและไหลออกจำนวนมหาศาลของทุนเก็งกำไร
กรอบคิดดังกล่าว เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น เพราะรายละเอียดในรูปธรรมของการรับมือ ยังต้องการมาตรการที่จับต้องได้หลายอย่างผสมผสานกัน
คุณูปการของการที่เฟด ระบุถึงการลดมาตรการ QE จึงเท่ากับการสร้างเงื่อนไขให้ผู้บริหารนโยบายการเงินและการคลังชาติต่างๆ รู้ว่า การสร้างตาข่ายนิรภัยทางการเงินนั้น เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่บททดลองเสนอทางทฤษฎีจากหอคอยงาช้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น