วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ใครแพ้ ใครชนะ คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 05 กันยายน 2556

ใครแพ้ ใครชนะ

คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 05 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

คอมเมนต์จาก.ส.พ.นิวยอร์ก ไทม์ วิเคราะห์ความเปลี่ยนไปของประชาธิปัตย์จากพรรคที่ประกาศตน “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” มาเป็นขับเคลื่อนการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา มาลงตัวอยู่ที่บทสรุปว่า ประชาธิปัตย์ต้องการที่จะหวนคืนสู่อำนาจ
เพราะแก่นแกนบทสรุปเช่นนี้กระมัง เกมในสภาของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเน้นไปที่การตีรวน ถ่วงเวลา และเมื่อแพ้มติในสภา ก็เอาเรื่องไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็มักจะได้ “ตัวช่วย” ทำนองนี้อยู่ไม่น้อย
ส่วนเกมนอกสภาก็ชิมลางไปแล้วจากการนำมวลชนเดินไปส่ง ส.ส.เข้าสภา แต่มวลชนที่เข้าร่วมขบวนก็มีน้อยมากจนน่าตกใจ ในที่สุดแล้วก็ต้องบอกให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมัน
แต่เกมประท้วงม็อบสวนยางในภาคใต้ อันเป็นถิ่นฐานอิทธิพลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงขั้นปิดถนนประท้วงกันหลายจังหวัด...
ใครจะปฏิเสธได้เต็มคำว่าประชาธิปัตย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ก่อนการชุมนุมก็มีการวางแผนกับแกนนำม็อบประท้วง ณ ร้านกาแฟในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดการชุมนุมแล้ว ก็มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มากหน้าหลายตาขึ้นไปบนเวทีไฮด์ปาร์ค
การประท้วงโดยการปิดถนน ตัดขาดเส้นทางสู่ภาคใต้ ได้ก่อความเสียหายมากต่อเศรษฐกิจประเทศและภาคใต้เอง ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนที่ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ
ก็ประท้วงปิดถนนกันที่ภาคใต้แห่งเดียว และที่ จ.ระยอง ซึ่งมีแกนนำ ส.ส.และอบจ.ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ชักนำเท่านั้น
ชาวสวนยางในภาคอื่นทั้งอีสาน เหนือ และภาคกลาง ยอมรับมาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตของรัฐบาล
ส่วนภาคใต้ยืนกราน ราคายางแผ่นดิบต้องกิโลละ 120 บาทสถานเดียวเท่านั้น
อันที่จริง ต้นทุนราคายางแผ่นดิบที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรศึกษาไว้เมื่อปี 2555 ต้นทุนการผลิตซึ่งนับรวมราคาค่าจ้างกรีดยางแล้ว ก็ยังอยู่ในระดับราคาแค่ 64 บาทเท่านั้น
นี่ยังไม่นับรวม การปลูกยางเริ่มต้นที่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์การสงเคราะห์สวนยาง การโค่นต้นยางที่มีอายุแก่ รวมทั้งการขายไม้ยางที่โค่นลงด้วย
ราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 56 ก็ขยับปรับราคาขึ้นมาเป็น 78 บาทแล้ว อาจจะไม่ถือว่าปรับราคาสูงนัก แต่ก็ขยับราคาขึ้นมาพอควรจากตอนเริ่มต้นการประท้วงที่ราคายังอยู่แค่ 70 บาท
ความจริงผมไม่อยากจะพูดท้าวความหลัง แต่ในเมื่อเหตุการณ์บานปลายเลวร้ายมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ขอทวนความหลังกันสักนิดว่า ราคายางก่อนปี 2540 อันเป็นช่วงก่อนการเมืองผลัดใบมาเป็นพรรคไทยรักไทย
ราคายางแผ่นดิบภาคใต้ ไม่เคยเกินก.ก.ละ 20 บาทเลย
พรรคประชาธิปัตย์ครองพื้นที่ ส.ส.ภาคใต้มานาน บางครั้งบางช่วงก็เข้ามาเป็นรัฐบาลทั้งในฐานะรัฐบาลผสมและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง กลับไม่มีปัญญาจะผลักดันราคายางให้สูงเกิน 20 บาท
ไอ้ที่มาคุยกันว่า สมัยตนราคายาง 100 กว่าบาทนี่มันยุคหลังจุดเปลี่ยนผ่านในปี 2540 ที่มีการจัดการหลายอย่างทั้งความตกลงเจรจาในภาคีผู้ผลิตยาง และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปทั้งนั้น
ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีงามเลยที่พรรคการเมืองจะฉวยจังหวะปั่นม็อบบนความทุกข์ยากของประชาชน เพื่อการกลับคืนสู่อำนาจกันเช่นนี้
สมัยตัวเองมีอำนาจ ก็ไม่เคยฝากผลงานดีเด่อะไรไว้ ถนัดแต่การโค่นล้มทำลาย ชัยชนะในการจัดม็อบปิดถนนน่ะหรือคือความพึงพอใจ
              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น