วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

กองทุนไทย-ฝรั่งกวาดของถูก รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 24 กันยายน 2556

กองทุนไทย-ฝรั่งกวาดของถูก

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 24 กันยายน 2556 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

        นับตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนหุ้นไอพีโอ ที่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด 18 บริษัท แบ่งเป็นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) 9 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 9 บริษัท คิดเป็นเม็ดเงินการระดมทุนสูงถึง 103,287 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา ไอพีโอ จำนวน 225,039 ล้านบาท
        ปีนี้ถือเป็นปีทองปีหนึ่งของหุ้นไอพีโอ โดยเฉพาะเมื่อดูราคาหุ้นที่เปิดซื้อขายวันแรก ส่วนใหญ่จะเปิดเหนือจองทั้งนั้น มีเพียง 2 บริษัท จาก 18 บริษัท เท่านั้นที่ต่ำจองวันแรก คือ หุ้น บริษัท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CSS กับ หุ้น บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE
        อย่างไรก็ตาม การยืนระยะเหนือจองของหุ้นไอพีโอ ภายหลังจากวันแรกแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความแข็งแกร่ง ทางด้านพื้นฐาน และความเชื่อมั่นที่มีต่อนักลงทุนที่พร้อมจะลงเงินเพื่อถือหุ้นลงทุนกับบริษัทเหล่านี้ นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านพื้นฐาน และโครงสร้างธุรกิจของแต่ละบริษัทน้องใหม่ไอพีโอ ที่ส่วนใหญ่มักจะถูกนักวิเคราะห์ หรือผู้ลงทุน นำมาเปรียบเทียบกับหุ้นที่มีธุรกิจเดียวกัน แต่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นก่อนหน้านี้แล้วเสียเป็นส่วนใหญ่
          การเปรียบเทียบระหว่างหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ กับหุ้นที่มีอยู่แล้วในตลาด ถือเป็นตัวเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน ระหว่างของเดิมที่มีอยู่ในตลาดหุ้น กับของใหม่ที่เพิ่งเข้ามา การคัดกรองหุ้นผ่านข้อมูลเบื้องต้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผ่านแบบนำเสนอข้อมูล (ไฟลิ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดอย่างเคร่งครัด ถือเป็นการป้องกันความเสี่ยง และป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นการลงทุนในหุ้นที่มีจดทะเบียนอยู่ในตลาดฯนานแล้ว  กับหุ้นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามา
-ภาวะแย่กดน้องใหม่หลุด IPO
        หากย้อนกลับไปดูรายละเอียด จะพบว่า หุ้นที่เพิ่งจะเข้าไอพีโอมาในปีนี้ ที่ราคาหุ้นเหนือจองวันแรก แต่กลับหลุดจองในเวลาต่อมา เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย แต่มีกลุ่มนักลงทุนบางกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุนหุ้นที่ต่ำจอง หรือหลุดจองเหล่านี้ โดยเฉพาะเข้ามาในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
        ช่วงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยทำจุดต่ำสุดของรอบนี้อยู่ที่ระดับ 1,260 จุด ส่งผลให้หุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ของปีนี้ ส่วนใหญ่จะหลุดจองกันเป็นทิวแถว การหลุดจองไอพีโอ หรือราคาหุ้นต่ำกว่าจองไอพีโอ ทำให้นักลงทุนรายย่อยในประเทศเสียขวัญเทขายหุ้นกันแบบหนีตาย โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐาน หรือแนวโน้มธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
         ในทางกลับกันนักลงทุนสถาบันในและต่างประเทศ กลับมองประเด็นดังกล่าวเป็นโอกาสของการลงทุนที่จะได้ซื้อดี ราคาถูก เนื่องจาก การกำหนดราคาไอพีโอส่วนใหญ่ จะมีส่วนลด หรือดิสเคานท์ อย่างน้อยๆ 30% เพื่อเป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจจองซื้อหุ้นไอพีโอ และยิ่งราคาหุ้นต่ำจองกว่าราคาดิสเคานท์ยิ่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เป็นแรงจูงใจให้กองทุนขนเงินเข้ามาลงทุนหุ้นตัวนั้นมากขึ้น
        ช่วงที่ผ่านมาเราจึงเห็นนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น ที่มีโชว์ชื่อภายหลังการปิดสมุดทะเบียนครั้งแรกหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น  ตรงจุดนี้ถือเป็นมุมมองทางด้านการลงทุนที่มีความแตกต่างกันระหว่างนักลงทุนสถาบัน กับนักลงทุนรายย่อย
-บัวหลวงเพิ่มพอร์ตถือ CHG
         สำหรับตัวอย่างหุ้นไอพีโอที่มีชื่อกองทุนที่เข้ามาถือหุ้นหลังจากไอพีโอ อาทิ หุ้น โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHGที่ถือเป็นน้องใหม่ไอพีโอ ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นปีนี้ จุดสนใจคือการเข้ามาถือหุ้นของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด  โดยเฉพาะเมื่อดูสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตกองทุนบัวหลวง หลายกองทุนเข้ามาถือหุ้น CHGจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือหุ้นอยู่ 14,504,600 หุ้น หรือคิดเป็น  1.32%  ,กองทุนเปิด บัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลถือหุ้นอยู่  10,129,800 หุ้น หรือคิดเป็น 0.92% และกองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 ถือหุ้นอยู่  9,243,400 หุ้น หรือคิดเป็น 0.84%
        โดยก่อนหน้านี้ กองทุนของบัวหลวง ได้สิทธิจองซื้อหุ้น CHG ตอนไอพีโอด้วย ประมาณ 2.2 ล้านหุ้น ไม่มาก แต่ปัจจุบันถือเพิ่มเป็นทั้งหมด 33,877,800 หุ้น หรือคิดเป็นจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น 31,677,800 หุ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะถือในกองทุนระยะยาวเป็นส่วนใหญ่
        นอกจากนี้ยังมีรายชื่อของกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (EQ-TH) ถือหุ้นอยู่ 8.4 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.76% เมื่อเทียบกับช่วงก่อหน้านี้ที่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นไอพีโอ จำนวน 7 ล้านหุ้น เท่ากับว่า กบข. ได้ขยายสัดส่วนการถือหุ้นCHGเพิ่มขึ้นอีก 1.4 ล้านหุ้น  ซึ่งหุ้น CHG เป็นหุ้นไม่กี่บริษัทที่กองทุนของ กบข.จะถือลงทุนยาว แม้จะหลังจากเข้าเทรดนานหลายเดือนก็ตาม
         “ส่วนใหญ่กองทุนของ กบข.จะได้สิทธิจองหุ้นไอพีโอหลายบริษัท เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการคัดเลือกหุ้นเพื่อการลงทุน จะมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ที่จะถือยาว หากไม่ดีจริง คงไม่ถือนาน โดยเฉพาะหุ้น CHG ที่เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม  ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังถือหุ้นอยู่ และถือเพิ่มด้วย”
-กรุงศรีฯ-ไทยประกันชีวิตถือMC
         สำหรับหุ้น บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC ก็เป็นหนึ่งในหุ้นไอพีโอที่มีกองทุนในประเทศสนใจหลายราย อาทิ   กองทุนเปิด กรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล ถือหุ้นอยู่ 10,109,200 หุ้น หรือคิดเป็น 1.26%,  บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ 5.8 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.73% และกองทุนเปิด กรุงศรีหุ้นปันผล ถือหุ้นอยู่ 5,595,200 หุ้น หรือคิดเป็น  0.70 %
        ที่ผ่านมาผู้บริหารได้เดินทางไปโรดโชว์ข้อมูลให้กับนักลงทุนสถาบันจากญี่ปุ่น และมีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ ประเทศสหรัฐอเมริกาใน 6 เมืองใหญ่อาทิเช่นนิวยอร์ก   ชิคาโก แอลเอ  และซานฟราซิสโก รวมถึงที่อื่นๆ อีก หากได้รับการตอบรับที่ดีก็เชื่อว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นด้วย
-มหาเศรษฐีโลกเตรียมซื้อ NOK
         นอกจากนี้ ยังมีหุ้นบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ภายหลังจากโรดโชว์ที่งานไทยแลนด์ โฟกัส  มีกองทุน Capital Research กองทุนรวมขนาดใหญ่ของประเทศ ออสเตรเลีย เข้ามาถือหุ้นNOK ด้วย เนื่องจากมองเห็นศักยภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับราคาหุ้น NOK ช่วงที่ผ่านมา หลุดจองไอพีโอ โดยราคาต่ำสุดที่ระดับ 17.40 บาท เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา
         อีกทั้งนี้ยังมีกระแสข่าวรายงานอีกว่า  นายจิม โรเจอร์ส นักลงทุนระดับอภิมหาเศรษฐี เจ้าของฉายา "อินเดียน่าโจนส์แห่งวงการไฟแนนซ์" และผู้ประพันธ์หนังสือ Street Smarts: Adventures On The Road And In The Markets กำลังลงทุนในสายการบิน นกแอร์ ของไทย อีกด้วย
- กองทุนฝรั่งสนใจหุ้นM
          การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M นับตั้งแต่ทำจุดต่ำสุดที่ 40 บาท เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เกิดจากแรงซื้อเข้ามาของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ภายหลังจากที่บริษัทได้มีการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้าร่วมรับฟังข้อมูลช่วงที่มีงาน ไทยแลนด์ โฟกัส ที่จัดงานช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา
         “แรงซื้อหุ้น M รอบนี้เป็นแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติหลังจากที่สรุปข้อมูล ภายหลังจากการเข้าฟังผู้บริหารพรีเซนต์ ช่วงงานไทยแลนด์ โฟกัส ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่าน ประกอบกับราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าพื้นฐานความเป็นจริงของบริษัท ทำให้ราคากลับมายืนอยู่ในจุดที่เหมาะสม”แหล่งข่าวกล่าว
         หุ้น M เป็นหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มอาหาร เฉลี่ยอยู่ที่ 30 เท่า ขณะที่หุ้น M พีอีอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 25 เท่า ทำให้มีส่วนต่างที่สามารถเข้าลงทุนได้ แต่ต้องลงทุนระยะกลางขึ้นไป เนื่องจากดำเนินธุรกิจอาหาร
        สำหรับรายชื่อกองทุนขนาดใหญ่ที่เข้ารับฟังข้อมูลของ บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) มีดังนี้ กองทุน FIDELITY INVESTMENT ของสหรัฐ  ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนรวมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก  โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เฉพาะลงทุนในตลาดทุน มีมูลค่า 9.3 หมื่นล้านบาท ผ่าน CONTRAFUND โดยมีผู้จัดการกองทุนชื่อ WILL DANOFF  มีสาขาอยู่ 140 แห่งทั่วอเมริกา
        อย่างไรก็ตาม การเข้าถือหุ้นของนักลงทุนสถาบันใน-ต่างประเทศ ที่ราคาต่ำจองจากไอพีโอ ถือเป็นการสะท้อนมุมมองการลงทุนอย่างมีหลักการของแนวคิดการลงทุนของสถาบัน ซึ่งไม่ได้บอกว่าจะต้องถูกเสมอไป เพียงแต่ว่าหากยึดที่ราคาจองไอพีโอ เป็นราคามาตรฐานของการลงทุน การที่ราคาหุ้นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดในปีนี้ราคาต่ำจอง ก็ถือเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้สำหรับการลงทุนได้ หากหุ้นบริษัทนั้นมีพื้นฐานที่ดี และแนวโน้มการทำกำไรที่จะมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต
        การทำการบ้านโดยวิเคราะห์หุ้นไอพีโอที่มีพื้นฐานดี แนวโน้มอนาคตสดใส สามารถสร้างกำไรให้กับนักลงทุนได้ในช่วงภาวะตลาดตลาดผันผวน โดยฉวยจังหวะไล่เก็บของดีราคาถูกเข้าพอร์ต
          ในเมื่อราคาจองไอพีโอหุ้นทุกตัว ที่บรรดาผู้รับประกันการจัดจำหน่าย (อันเดอร์ไรเตอร์ หรือผู้กำหนดราคาต่างสร้างแรงจูงใจ โดยให้ส่วนลดของราคาหุ้นไอพีโอนั้นมีอยู่มากถึง 30% การที่หุ้นต่ำจองกว่าไอพีโอยิ่งทำให้มีส่วนลดเพิ่มขึ้นอีก ถือว่าราคายิ่งถูกกว่าเป็นไหนๆ การได้เปรียบเสียเปรียบ ในการจองหุ้นไอพีโอคงจะไม่มีอีก หากสามารถเปลี่ยนมุมมองการลงทุนให้เป็นเหมือนนักลงทุนสถาบันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น