เปรียบ “อินเตอร์ไฮด์”เป็น“ก้อนหิน” ชาตินี้!! คงไม่มีใครรู้จัก "ทุกซอกทุกมุม" ดีไปกว่าเรา !! ประโยคไฮไลท์ของแม่ทัพใหญ่ “องอาจ ดำรงสกุลวงษ์"
ชื่อ:  ดาวน์โหลด (2).jpg
ครั้ง: 502
ขนาด:  5.3 กิโลไบต์

“เจ้าของเดินตรวจโรงงานทุกวัน” ครั้งหนึ่งกูรูผู้ท่องยุทธจักรหุ้น “เสี่ยปู่” สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล เคยเอ่ยชื่นชมความงามหุ้น อินเตอร์ไฮด์ (IHL) ของ “องอาจ ดำรงสกุลวงษ์” ไม่ขาดปาก อดีตเซียนหุ้นรายนี้เคยครองหุ้น IHL มากถึง 10,163,000 หุ้น คิดเป็น 3.39% (ณ วันที่ 24 ส.ค.53) ก่อนจะทยอยลดสัดส่วนลงเหลือ 4,921,400 หุ้น คิดเป็น 1.64% (ณ วันที่ 30 ส.ค.54) ปัจจุบันไม่มีชื่อ “เสี่ยปู่” ติด 13 อันดับแรกของผู้ถือหุ้น IHL แล้ว

ทว่า “เสน่ห์” “อินเตอร์ไฮด์” ยัง “เตะตา” เซียนหุ้นรายใหญ่อีกพรึ่บ!!

เมื่อก่อน "อดีตเพื่อนเลิฟ" ของ "ฉาย บุนนาค" อย่าง “ซัน” รัตนพล วงศ์นภาจันทร์ หุ้นใหญ่ "พีเออี (ประเทศไทย)" (PAE) 11.15% ลูกชายคนกลาง จากจำนวนพี่น้อง 3 คน (แซน-ซัน-ซูน) ของ “เยาวเรศ ชินวัตร” เคยเกี่ยวก้อย “โฉมพิศ บุนนาค” มารดาของ “ฉาย" มาโฉบชม “ความสวย” ในช่วงปี 2550 โดย “ซัน” ถือหุ้น IHL ประมาณ 3.5% ขณะที่ “โฉมพิศ” ถือ 0.71%

“กำไรสุทธิ” สร้าง “จุดสุงสุด” 272 ล้านบาท ในปี 2553 เคยเป็น “แรงดึงดูด” ให้ “ฉาย บุนนาค” และ “เพื่อนสนิท” “อภิเทพ ธรรมเกษม” เข้ามาเก็บหุ้น IHL 6.14% และ 3.34% ตามลำดับ “วราณี เสรีวิวัฒนา” ภรรยา “รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” ครั้งหนึ่งก็เคยแวะเวียนมาถือหุ้น 0.54% (24 ส.ค.53)

“แผ่นดินไหว-สึนามิ ประเทศญี่ปุ่น” ต้นปี 54 “น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ” ปลายปี 54 ส่งผลให้ “กำไรสุทธิ” IHL ดิ่งเหวเหลือ 148 ล้านบาท หลัง “คลื่นสงบ” ในปี 2555 “เคน” โสรัตน์ วณิชวรากิจ นักธุรกิจและนักลงทุนรายใหญ่ ก็ปฏิบัติการณ์เก็บหุ้นเข้าเป๋าทันที ปัจจุบันเขากอดหุ้นอยู่อันดับ 3 จำนวน 7.91% (15 มี.ค.56) รองจาก “ชุติมา บุษยโภคะ” ภรรยาสุดเลิฟของ “องอาจ ดำรงสกุลวงษ์” หุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง 38.90%

“10 ล้านหุ้น “เคน” โทรมาขอซื้อหุ้น IHL” เจ้าของ “อินเตอร์ไฮด์” “องอาจ ดำรงสกุลวงษ์” ควงแขน “ชุติมา บุษยโภคะ” เปิดบทสนทนา

"แว่บแรก!! ที่ได้ยิน ผมบอกคุณเคนว่า ขายให้ไม่ได้หรอก แต่พอเห็นเขามีความต้องตั้งใจจริงจึงตัดสินใจตัดขายไป 8 ล้านหุ้น คิดเป็น 2% มูลค่า 64 ล้านบาท ถ้าอยากได้อีกไปเก็บเองในกระดาน ยอมรับแรกๆงงๆ ตานี่เป็นใคร จู่ๆก็โทรมาขอนัดเจอ พอเขาแนะนำตัวเองว่าเป็นนักลงทุนสนใจหุ้น IHL จริงๆ ฟังไปมาชักใจอ่อน (หัวเราะ)" องอาจ เล่า และว่า

"แม้เขาจะถือหุ้นอันดับ 3 แต่ไม่กลัวหรอก โอกาสเดียวที่จะทำให้เคนถือหุ้นมากกว่าตระกูล “ดำรงสกุลวงษ์” คือ ผมต้องขายหุ้นให้เขา ที่ผ่านมาไม่เคยคิดจะขายหุ้นให้ใคร ตอนนี้กลุ่มของผมถือหุ้น IHL ประมาณ 60% อนาคตก็ไม่คิดขาย!!"


ทำไมหุ้น IHL ถึงเป็นที่ต้องตาของเหล่าวีไอ? “เฮียองอาจ” ยอมรับว่า ทุกปีจะมีเซียนวีไอ มาเยี่ยมชมกิจการ เรียกว่าเจาะลึกธุรกิจน่าจะถูกกว่า (หัวเราะ) เขาเหล่านั้นจะเดินดูโรงงานทุกซอกทุกมุม อย่างเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็กอดคอกันมา 30 กว่าคน มาดูโรงงานแห่งที่ 7 ที่เพิ่งสร้างเสร็จสดๆร้อนๆ จนต้องยกหน้าที่หัวหน้าทัวร์โรงงานให้ “ภรรยา” และลูกสาวคนโต “ชิพ”วรรณวิสา ดำรงสกุลวงษ์” เป็นคนพาชมกิจการ

“ผลประกอบการโตตลอด จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง แถมธุรกิจยังเดินหน้าไม่หยุดยั้ง” เหตุผลเหล่านี้น่าจะเป็น “แรงดึงดูด” นักลงทุน เมื่อเหล่า VI เห็นความงามที่ซ่อนอยู่ก็ไม่แปลกที่เขาจะอยากได้หุ้น

เบาะหนังรถยนต์ เบาะเฟอร์นิเจอร์ หนังรองเท้า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อนาคตสดใสมาก ยิ่งเบาะหนังรถยนต์ไม่ต้องห่วงเลย เราเพิ่งได้งานผลิตเบาะโมเดลใหม่ๆเพียบ ส่วนเบาะเฟอร์นิเจอร์ และหนังรองเท้า ยังไปได้สวย ออเดอร์มีเข้ามาต่อเนื่อง "องอาจ" ฟุ้ง

“เจ้าของกิจการ” ยังย้อนถึงเหตุผลที่ตัดใจขายหุ้น IHL ผ่านกระดานบิ๊กล็อตให้ “โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป” (MODERN) 16 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.57% ว่า ขายให้เพราะคิดว่าอนาคตทั้ง 2 บริษัทจะได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ “WIN-WIN”
MODERN เขามีวัตถุดิบหนังคุณภาพสูงสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์อยู่ในมือเยอะ ขณะที่ IHL มีแผนจะขยายฐานการผลิตไปสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ หลังจับมือเป็นเพื่อนกัน เราจะร่วมกันพัฒนาสินค้า เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไป "ผมมั่นใจ!!"


ถึงคิว “ชุติมา บุษยโภคะ” ในฐานะกรรมการ พูดแทรกขึ้นว่า จริงๆ ไม่อยากขายหุ้น IHL ให้ MODERN แต่บังเอิญเกรงใจ “พี่ชาย” ทักษะ บุษยโภคะ ประธานกรรมการบริหาร MODERN จริงๆเขาอยากได้ตั้ง 20-30 ล้านหุ้น โหย!!เราให้ไม่ได้จริงๆ เชื่อมั้ย!!ตอนนี้เขายังอยากได้หุ้นเราเพิ่มอีกเลย แต่คงไม่มีให้แล้วละ (ยิ้ม)

ถามถึงอนาคต IHL ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) “แม่ทัพใหญ่” เล่าว่า รายได้ต้องเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ตัวเลขนี้เราทำงานแบบสบายๆไม่ต้องกดดันตัวเอง

เราเหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆออกดอกออกผล ไม่คิดเร่งผลผลิต ด้วยการฉีดยา อยากโตแบบมีคุณภาพ
เงินลงทุน 50-60 ล้านบาท เราคงทยอยใช้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เน้นขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ อยากไปตั้ง

“สำนักงาน” และ “โรงตัดหนัง” ในต่างประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและหาพันธมิตรร่วมทุน เราคงไม่สามารถเข้าไปทำเองคนเดียวได้ 100% “ประเทศอินเดีย” นักลงทุนอาจเห็นเราเข้าไปลงทุนเป็นแห่งแรก เพราะตลาดใหญ่ ประชากรเยอะ

เขา เล่าต่อว่า ภายในปี 2556 การลงทุนในแผนกเย็บเบาะผ้าจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยจะลงทุนเครื่องจักรเป็นหลัก ใช้เงินไม่มาก ตั้งแต่น้ำท่วมกรุงเทพครั้งก่อน ลูกค้าเริ่มเห็นฝีมือของเรา ตอนนี้สัดส่วนรายได้จากเบาะผ้ายังมีไม่มากแค่ 5% เท่านั้น

“หลายคนสงสัย เอ็งจะทำเบาะผ้าทำไม บอกตรงๆทำเอามันส์ เอาโล่ (หัวเราะ) เราทำตามที่ลูกค้าร้องขอ เขาอยากได้อะไรเราทำให้หมด”

“ถ้ายอดขายรถยนต์ปี 2556 เสมอตัวจากปีก่อน ได้เท่านี้ก็ “เก่ง” แล้ว แต่ถ้าบวก 5-10% จะยอดเยี่ยมมาก ปีนี้ภาครัฐไม่มีโครงการรถคันที่สอง มีแต่โครงการรถคันแรก (หัวเราะ) ผมไหว้พระไหว้เจ้าทุกวัน ขออยากให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือน 1-2 ปีก่อนอีกเลย”

“สองสามี-ภรรยา” ถือโอกาสพูดถึง 3 ทายาทว่า ลูกสาวคนโตวัย 27 ปี “ชิพ” วรรณวิสา ดำรงสกุลวงษ์ เขาเรียนจบปริญญาตรี Asian Univeristy คณะเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาโท: EX-MBA @ Nation University ส่วนลูกชายคนกลาง “คริส” วศิน ดำรงสกุลวงษ์ อายุ 21 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ Penn State University America คณะเศรษฐศาสตร์ และลูกชายคนเล็ก “จิ๊ป” วริทธิ์ ดำรงสกุลวงษ์ อายุ 16 ปี เรียนอยู่ Thai-Chinese International School
ตอนนี้น้อง “น้องชิพ” เข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวแล้วในฝ่ายจัดซื้อ วันๆ เขาก็จะเจอความวุ่นวายในการทำงาน เพราะว่าทุกอย่างที่จะซื้อต้องผ่านเขาทั้งหมด ถามว่าเขาสนุกกับการทำงานมั้ย? ก็คงตอบแทนไม่ได้ต้องลองถามเจ้าตัวเอาเอง

"ในสายตาผมลูกสาวคนโต ทำงานใช้ได้ “ระดับหนึ่ง” เรายังต้องสอนต้องบอก เพราะว่าในสายตาเรา ลูกก็ยังเป็นเด็กตลอดเวลา แต่ในสายตาคนข้างนอก ส่วนใหญ่จะบอกว่าเขาทำงานดีนะ (หน้าตาปลื้ม)"
“ภรรยา” เสริมว่า เวลาทำงานลูกต้องทำเหมือนพนักงานคนอื่นๆ กลับบ้านมาค่อยเป็นพ่อ-แม่ลูกกันเหมือนเดิม (หัวเราะ) เขาต้องทำงานตามหน้าที่ ถ้าทำผิดก็ว่าไปตามนั้น เราจะเรียกเขามาบอกว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ “ชิพ” เป็นจะบริหารจัดการแบบคนรุ่นใหม่ ในบางเรื่องเราก็ต้องฟังเขาบ้าง (ใจกว้างสุดๆ)

“คุณพ่อลูกสาม” ตบท้ายว่า เราไม่เคย “บังคับ” ลูกๆว่าจะต้องกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว เราจะให้เขาคิดเอง
“ถึงจุดหนึ่งลูกๆ ต้องขึ้นมายืนแทนที่ผม” 

"ผมและภรรยา ทำธุรกิจรวมกันมา ตั้งแต่มีหินเพียงก้อนเดียว ทำมาเรื่อยๆ จนรู้จักทุกซอกทุกมุมของหินก้อนนั้น เมื่อผลัดใบมาถึงรุ่นลูก เขามีทุกอย่างหมดแล้ว จะหวังให้เขามารู้จักทุกซอกทุกมุมของหินก้อนนั้น ก็คงลำบาก เรื่องนี้เราเข้าใจ”

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์