ซีพีแรมรุกอาหารพร้อมทานเต็มสูบ ปั้น"ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด"สูตรเฉพาะวัยนำร่องผู้สูงอายุ


ซี พีแรมเปิดแนวรบ "ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด" อาหารของคนแต่ละวัย เตรียมประเดิมอายุสูตรเฉพาะผู้สูงวัยรับโอกาสประชากรสูงวัยเพิ่ม คาดเปิดตัวอีก 2 ปีข้างหน้า ต่อยอดฟู้ดเซอร์วิส หน่วยขายอาหารตามจุดต่าง ๆ เดินเกมรักษาตลาดส่งออกต่างประเทศ เน้นสร้างพันธมิตรหลังค่าบาทพ่นพิษกระทบยอดส่งออก

นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาอาหาร "ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด" หรืออาหารสูตรเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละวัย ปัจจุบันพบว่าความต้องการอาหารของผู้บริโภคในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ดังนั้นบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างการวางแผนงาน คาดว่าจะเริ่มทดลองตลาดในกลุ่มอาหารของผู้สูงวัยก่อน เนื่องจากประชากรผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นจนเริ่มใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าอัตราการเกิด คาดว่าภายใน 2 ปีพร้อมที่จะออกวางจำหน่าย

นอกจากนี้ยังเตรียมต่อยอดตามแผน ยุทธศาสตร์ คือการต่อยอดธุรกิจใหม่ เช่น ฟู้ดเซอร์วิส โดยเตรียมหน่วยรถเพื่อขายอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งงานกีฬา งานกาชาด เป็นต้น

นอกจากนี้ นโยบายของบริษัทยังมุ่งให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบขนส่ง ทั้งนี้ พบว่าต้นทุนการส่งออกของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการด้านการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีผลต่อต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยซีพีแรมจะเน้นการสร้างโรงงานให้ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดการสูญเสีย

อย่าง ไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด เป็นบริษัท ซีพีแรม จำกัด เพื่อให้สามารถสร้างแบรนด์ในต่างประเทศได้ ปัจจุบันส่งออกไปในหลายประเทศ โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรป รองลงมาคือ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงมีแผนที่จะขยายตลาดในอีกหลายประเทศ

นาย วิเศษกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ผลจากการแข็งตัวของค่าเงินบาทส่งผลต่อรายได้ส่งออก สิ่งที่ทำได้คือการวิจัยและพัฒนาสินค้าร่วมกับพันธมิตรในแต่ละประเทศ เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ เน้นเจาะผู้บริโภคกลุ่มไฮเอนด์ เพื่อประคองตลาดและรักษาพันธมิตรในแต่ละประเทศไว้ เนื่องจากมองว่าถ้าวันหนึ่งตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความต้องการของตลาดก็จะโหมเข้ามาหาซีพีแรมทันที

"อุตสาหกรรมอาหารของ ไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่ามีศักยภาพและโอกาสที่ดี ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล โดยมองว่าการสร้างแบรนด์เป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่จะทำให้สินค้าไทยสามารถแข่ง ขันบนตลาดโลกได้ เพราะแบรนด์คือความเชื่อมั่น เชื่อใจที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้านั้น ๆ"

ขณะที่ตลาดอาหารพร้อมรับ ประทานในประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยน ครอบครัวเล็กขยายตัวขึ้น บวกกับความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์หลังจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ทำให้ผู้บริโภครู้จักอาหารพร้อมรับประทานดีขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550-2555 ตลาดมีการเติบโตเฉลี่ย 15%

สำหรับรายได้สิ้นปีนี้คาดว่า จะเติบโต 15% จากปีก่อนหรือมีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในแต่ละปีจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% วางเป้าว่าภายในปี 2560 จะมีรายได้ 2 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากส่งออก 20% จากปัจจุบันส่งออกอยู่ที่ 10%


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์