วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ต่างชาติหั่นเป้าจีดีพี ฟันธงกนง.ลดดอกเบี้ย

ต่างชาติหั่นเป้าจีดีพี ฟันธงกนง.ลดดอกเบี้ย

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี) ไตรมาสแรกปีนี้ หดตัวลง 2.2% เทียบไตรมาสก่อนหน้าหรือในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง อีกครั้ง ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 5.3%

จากสถานการณ์ข้างต้นทำให้มีสถาบันการเงินต่างชาติหลายแห่ง ทยอยกันออกแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครดิต สวิส วาณิชธนกิจชั้นนำจากยุโรป, เจพี มอร์แกน ธนาคารใหญ่ชั้นนำของสหรัฐ และโรยัล แบงก์ ออฟ สก๊อตแลนด์ หรือ อาร์บีเอส ธนาคารชั้นนำของรัฐบาลอังกฤษ โดยทุกค่ายเห็นตรงกันว่าต้องปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้

นอกจากนี้ ยังมองว่าตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% และอาจมากถึง 0.50%

เครดิตสวิสหั่นจีดีพีเหลือ5.2%

นายสันติธาร เสถียรไทย นักวิเคราะห์และวิจัยของเครดิต สวิส ระบุในรายงานทบทวนจีดีพีกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 2556 เหลือ 5.2% จากเดิมให้ก่อนหน้านี้ 5.9% เป็นผลจากการเติบโตของจีดีพีไตรมาสแรกอ่อนแอ มีภาพรวมการเติบโตอุปสงค์ในประเทศขยายตัวช้าลงมาก

นักวิเคราะห์เครดิต สวิส คาดว่าจีดีพีในไตรมาส 2 ปีนี้ จะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง และจีดีพีจะยังคงสดใสไปได้ดีช่วงครึ่งหลังปีนี้ เป็นผลจากการลงทุน ตอนนี้เขาคาดว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทย จะดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมกนง.กลางสัปดาห์นี้ และจะยังคงดอกเบี้ยในระดับนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่าการเติบโตของจีดีพีปานกลาง จะช่วยเปิดช่องให้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนองตอบต่อภาวะการแข็งค่าของเงินบาท

เจพีฯชี้จีดีพีต่ำเปิดชองลดดบ.

ด้านนายเบนจามิน ชาติล นักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน ธนาคารใหญ่ชั้นนำของสหรัฐ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้หดตัวอย่างมากและแย่กว่าที่คาดไว้ คือลดลง 8.4% เทียบไตรมาสต่อไตรมาส ทำให้การเติบโตของจีดีพีประเทศไตรมาสแรกอยู่ที่ 5.3%

"เรายังคงตีความจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นตัวชี้วัดว่าอุปสงค์กำลังชะลอตัว หลังเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างมากในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน สะท้อนผลกระทบจากมาตรการการคลังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจที่นำมาใช้ตั้งแต่ปีที่แล้วลดลง มากกว่าเป็นการตอกย้ำความอ่อนแอ และด้วยการขยายตัวไม่มากของจีดีพีในไตรมาส 1 ซึ่งต่ำกว่าแบงก์ชาติคาดการณ์ไว้ เราจึงคิดว่าแบงก์ชาติน่าจะทบทวนทางเลือกใช้นโยบายปรับลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับต่ำ"

ทีมงานของเจพี มอร์แกน ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อดึงดอกเบี้ยให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.75% ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปีนี้ และเศรษฐกิจยังคงยืดหยุ่นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทีมงานเจพี มอร์แกนไม่คิดว่าธปท.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเกินกว่าที่ทีมงานได้คาดไว้หรือปรับลงมากกว่า 2.5% ในปีนี้

อาร์บีเอสคาดลดมากถึง0.50%

ทีมเศรษฐศาสตร์ของโรยัล แบงก์ ออฟ สก๊อตแลนด์ หรือ อาร์บีเอส มองว่าการเติบโตน้อยลง เหลือ 5.3% ในไตรมาสแรกปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้อาร์บีเอสคาดการณ์การเติบโตดังกล่าวไว้สูงถึง 8.4% อาจทำให้การประชุมกนง.ครั้งหน้าสิ้นเดือนพ.ค.ปีนี้ พิจารณาปรับลดดอกเบี้ย แม้ว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของสินเชื่อ แต่จากการวิเคราะห์ของอาร์บีเอสบ่งชี้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงไม่กระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อ

"ขณะที่ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อยังสามารถบริการจัดการได้ และเรายังไม่เห็นการเติบโตฟื้นตัวภายใต้การนำของภาวะแวดล้อมในต่างประเทศ เราจึงคาดว่าสัปดาห์ที่มีประชุมกนง.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% และตัวเลขการเติบโตของจีดีพีแท้จริงในไตรมาสแรกปีนี้ ที่ระดับ 5.3% เมื่อเทียบปีต่อปี อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เราปรับลดคาดการณ์จีดีพีตลอดทั้งปีนี้ของไทยลงเหลือ 4.2% จากเดิมคาดไว้ก่อนหน้านี้ 5.0%"

ทีมเศรษฐศาสตร์ของอาร์บีเอส เชื่อว่ามาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดเสถียรภาพในภาคการเงิน (macro prudential measures) จะเป็นเครื่องมือดีกว่า ที่จะสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไร จนทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเร็วๆ นี้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ความเสี่ยงขาลงที่มีผลกระทบต่อการเติบโตจึงมีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกขณะนี้นำไปสู่การเติบโตอ่อนแอลง และนอกจากจะเพิ่มคาดการณ์ปรับลดดอกเบี้ยธปท.ในการประชุมกนง.ครั้งหน้าสิ้นเดือนพ.ค.ปีนี้ มากถึง 0.5% จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% ในปัจจุบัน ลงมาอยู่ที่ 2.25%

ขณะเดียวกันอาร์บีเอสยังปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทว่าจะอ่อนลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สิ้นปี 2556 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์

Tags : กนง. • ลดดอกเบี้ย • จีดีพี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น