กนง.หั่นดอกเบี้ย0.25%รับมือศก.ชะลอ "กิตติรัตน์"บอกยังน้อยและช้าเกินไป แต่มาช้ายังดีกว่าไม่มา งัดกฎกระทรวงคุมค่าเงิน "ประสาร"ไม่คิด"ลาออก"
ชื่อ:  news_img_508315_1.jpg
ครั้ง: 231
ขนาด:  26.6 กิโลไบต์

ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มคลี่คลายลง หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 4 เดือน ทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้เวลา 2 วันในการประชุม ก่อนตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามตลาดคาดการณ์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าหากเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับปัจจุบัน ความตึงเครียดในการพูดคุยเรื่องนี้ก็จะลดลง เพราะเรื่องนี้จะคุยกันด้วยความกดดันอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ดังนั้นจึงสื่อสารไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าให้มาช่วยกันทำงานให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความเหมาะสมจะได้ไม่มีความกดดันในเรื่องค่าเงินบาท

วานนี้ (29 พ.ค.) ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ปิดตลาดที่ 30.19/21 อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน โดยนักบริหารเงินกล่าวว่าไม่เกี่ยวกับมติกนง. แต่เคลื่อนไหวตามค่าเงินภูมิภาค จากความกังวลสหรัฐฯจะถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว โดยมีแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตร

นายกิตติรัตน์ เห็นว่า กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากเดิม 2.75% เหลือ 2.5% นั้น ถือว่าน้อยเกินไปและเป็นการปรับลดที่ช้าเกินไป แต่ก็ยอมรับการตัดสินใจของ กนง.

"เรื่องปรับลดดอกเบี้ยต้องบอกว่ามาช้าดีกว่าไม่มา"นายกิตติรัตน์ กล่าว

กฎกระทรวงดูแลค่าเงิน มีผลบังคับใช้
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานกันมาก่อนหน้านี้ ทั้งการออกมาตรการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การออกประกาศกระทรวงการคลังให้อำนาจธปท.ในการออกเครื่องมือในการควบคุมเงินทุนไหลเข้าได้ตามความเหมาะสม ซึ่งมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวานนี้ (29 พ.ค.)

"เรื่องนี้ตลาดการเงินก็รับรู้ได้ว่าหน่วยงานหลักที่ดูแลเศรษฐกิจของประเทศไม่ต้องการเห็นเงินทุนไหลเข้าที่มาเก็งกำไร จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป ซึ่งเมื่อตลาดมีการรับรู้ในเรื่องนี้ ก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าลดลง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ถือว่ามีช่องว่างในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไทยที่ยังแตกต่างกับประเทศอื่นๆ อยู่ ซึ่งอาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาแสวงหาส่วนต่างจากดอกเบี้ยที่ต่างกันได้"
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงการคลัง จะทำให้ ธปท.มีเครื่องมือดูแลค่าเงินบาท เช่น การกำหนดการเก็บค่าธรรมเนียม การกำหนดเพดานการนำเงินเข้ามาลงทุน และการกำหนดวัตถุประสงค์การนำเงินมาลงทุน ซึ่งแต่เดิมกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้ เมื่อมีการแก้กฎหมายแล้ว หากมีความจำเป็น ธปท.ก็จะประกาศใช้ได้ตามความจำเป็น

"ประเทศไทยให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุน ซึ่งก็ต้องอธิบายว่าจะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่นักลงทุนจะนำเงินทุนออก เพราะเป็นวิธีที่จะสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งเป็นวิธีที่เราจะไม่ใช้"

กนง.ถก2วันหั่นดอกเบี้ย 0.25%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 28-29 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.5% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

การประชุม กนง. ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ กนง. ประชุมสองวันติดต่อกัน โดยการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน นับจากการประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2555

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องจัดประชุมถึงสองวัน เพราะว่านายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะประธานคณะกรรมการ กนง. เห็นว่า การประชุมครั้งนี้มีข้อมูลที่ต้องพิจารณากันมาก ดังนั้น เพื่อให้คณะกรรมการได้ใช้เวลาเต็มที่ในการพิจารณาและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน จึงได้จัดให้มีการประชุมสองวัน

เหตุเศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอ
ส่วนสาเหตุที่ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพราะเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2556 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

"ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ในประเทศ อาจกระทบต่อแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะถ้ามีความล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การส่งออกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวชะลอลง” นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น กนง. มองว่า ยังฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่กลุ่มยูโรยังคงอ่อนแอแต่ความเสี่ยงลดลงบ้าง เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัวต่ำคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยอาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนจากการส่งออกและการบริโภคที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ภาวะการเงินโลกยังมีความผันผวนสูง ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคและต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

"ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังมีอยู่ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.5% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งจากนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินรวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์"นายไพบูลย์ กล่าว

ชี้หนี้ครัวเรือน-สินเชื่อเอกชน'เสี่ยง'

อย่างไรก็ตาม หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้ กนง. ยอมรับว่ายังมีความเป็นห่วงเรื่องสินเชื่อภาคครัวเรือน และการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนโดยรวม ซึ่ง กนง. ได้ขอให้ติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด

"การดำเนินนโยบายการเงิน ต้องชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์หลายด้านประกอบกัน ทั้งด้านการเติบโตเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านราคา รวมไปถึงเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งได้แก่ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งการพิจารณาต้องดูว่าปัจจัยเสี่ยงด้านไหนต้องใช้นโยบายอะไร โดย กนง. ได้ชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่า การลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพียงพอกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้ความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือนยังมีบ้าง ซึ่งก็ต้องติดตามใกล้ชิด"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เชื่อว่าไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไทย เพราะว่าถ้าดูช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าดอกเบี้ยไทยค่อนข้างนิ่งมานาน และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น มักจะเป็นไปตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นหลัก

เอกชนรับได้แม้ผิดคาด หวังลดลงอีก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยถือว่าผิดจากที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ และ กนง.คงพิจารณาแล้วว่าเพียงพอที่จะดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ กนง.ทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในการประชุมครั้งต่อไป และ ส.อ.ท.จะติดตามดูว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีกหรือไม่

"การลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการทำงานร่วมกันของภาครัฐที่จะประสานนโยบายการเงินและการคลังเพื่อดูแลภาวะเศรษฐกิจ"
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูล ภายหลังที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วันจากนี้ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.25% ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อที่ว่า อัตราดอกเบี้ยมีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นการตอบสนองระยะสั้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาไม่คึกคักอย่างที่คิดไว้ จะเห็นได้ว่ามีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ มาเป็นเวลานานหรือใกล้ 0% แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ในการสร้างการเติบโตอยู่ดี

"หากอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก และเป็นเวลานาน จะเป็นผลทางความเสี่ยงในระยะยาว"

นายโฆสิต มองว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทย คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักธุรกิจต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

"ประสาร" ชี้ 0.25% เหมาะสมแล้ว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "เจาะข่าวเด่น" ของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ถือเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย กนง. ได้หารือเรื่องนี้ร่วมกันอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานข้อมูลเศรษฐกิจที่มีอยู่

นายประสาร กล่าวว่า ไม่มีกรรมการท่านใดที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยลงมามากกว่า 0.25% เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยลดมากไปอาจเกิดความเสี่ยงในอีกด้านหนึ่งได้ และตลาดเงินอาจตีความหมายผิดเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของไทย

"ถ้าไปลดเยอะแยะตอนนี้ ด้วยข้อมูลที่เรามีแบบนี้ ไปสู่ตลาดการเงินที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะ อาจจะมีการตีความผิดไปว่า เราเห็นอะไรที่มันเลวร้ายจนเกินไปหรือเปล่า ถึงต้องลดดอกเบี้ยเยอะขนาดนั้น" นายประสาร กล่าว
ชี้ลดดอกเบี้ย 1% ทำไม่ได้

ส่วนข้อเสนอของรัฐบาลที่อยากให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% เขากล่าวว่า กนง. คงไม่สามารถลดได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอีกด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นแทนที่จะส่งผลดีกับประเทศก็อาจจะส่งผลเสียหายไปเลย

"ถ้าลดขนาดนั้นหุ้นก็คงกระฉูด อสังหาฯ ก็คงออกด้านข้าง มันจะเกิดสัญญาณการเบี่ยงเบนการจัดสรรทรัพยากรทางด้านเงินทุนได้ เพราะคนที่มีเงินออมก็คงไม่อยากออม เอาเงินไปลงทุนด้านอื่นหมด และคนก็จะมีการกู้ยืมกันมากขึ้น จากดอกเบี้ยที่ต่ำ นำไปสู่ปัญหาในท้ายที่สุด" นายประสาร กล่าว

นายประสาร ยกตัวอย่างสหรัฐเองก็เคยเกิดปัญหาในลักษณะนี้มาก่อน จากการใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เศรษฐกิจเขาเกิดภาวะฟองสบู่ จนนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจอย่างที่แก้กันไม่ตกในขณะนี้ ญี่ปุ่นเองก็เคยเกิดภาวะนี้เช่นกัน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ฟองสบู่แตก พอฟองสบู่เขาแตก เศรษฐกิจเขาก็มีปัญหาเรื่อยมา โดยเวลาผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังแก้ไม่ตกในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืน ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ยันขัดแย้งทางเทคนิค-ไม่คิดลาออก

ส่วนความขัดแย้งกับรัฐบาลนั้น นายประสารกล่าวว่า ความจริงแล้วส่วนใหญ่มีความเห็นที่ตรงกันมากกว่า เพียงแต่ที่เห็นตรงกันไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไร แต่ในทางเทคนิคอาจมีบางช่วงบางจังหวะที่เห็นไม่ตรงกันบ้าง เช่น เห็นว่าลดดอกเบี้ยช้าไปนิด น้อยไปหน่อย ก็เป็นปัญหาทางเทคนิคเท่านั้น ซึ่งพวกนี้หารือร่วมกันได้

ส่วนคำถามที่ว่าห่วงจะโดนปลดหรือไม่ นายประสาร กล่าวว่า "ก็มีข่าวคราว ส่วนใหญ่จะวางน้ำหนักไปที่เรื่องการทำหน้าที่ ก็เพียงแต่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และอันไหนที่ร่วมมือกับรัฐบาลได้ ก็จะร่วมมือเต็มที่"

สำหรับความคิดว่าจะลาออกหรือไม่นั้น นายประสาร ยืนยันว่า "ไม่เคยคิด ซึ่งความจริงแล้วตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. มีวาระที่ต้องออกตามปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดลาออกเพราะเรื่องนี้คงไม่ใช่ เพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ มีเหตุผลในการทำ"


ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์