สหรัฐ จ้องขยี้ส่งออกกุ้งไทยอีกระลอกเตรียมงัด CVD เพิ่มอีก 5 ข้อกล่าวหา พร้อมเล่นเกมยื้อเลื่อนประกาศผลพิจารณาออกไปไม่มีกำหนด เผย TUF-เอเชี่ยน ซีฟู้ดฯ สั่งนำเข้ากุ้งอินเดียเพียบ ทดแทนวัตถุดิบกุ้งไทยเจอวิกฤต EMS สหรัฐเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) กับสินค้ากุ้งสดแช่เย็น แช่แข็งไทยมาเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 ว่า หน่วยงานรัฐบาลไทย และอีก 5 ประเทศ คือ เอกวาดอร์ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ใช้มาตรการอุดหนุนสินค้ากุ้ง ส่งผลกระทบต่อกุ้งที่ผลิตในสหรัฐ โดยไทยถูก 11 ข้อกล่าวหา
ชื่อ:  13682438511368243970m.jpg
ครั้ง: 476
ขนาด:  80.3 กิโลไบต์

แหล่งข่าวจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า การประกาศผลการไต่สวนซีวีดีน่าจะเลื่อนออกไปจากวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ เพราะสหรัฐได้ส่งแบบสอบถามเพิ่มเติมให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับการสุ่มตรวจให้ กรอกแบบสอบถามประกอบการพิจารณาอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่ไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งมีข่าวว่า Coalition of Gulf Shrimp (COGSI) ผู้เรียกร้องให้ฟ้องซีวีดี จะมีการเสนอประเด็นฟ้องร้องใหม่อีก 4-5 ประเด็น ขยายผลจากเดิมที่ฟ้อง 11 ข้อกล่าวหา เช่น การให้การสนับสนุนลูกกุ้ง เป็นต้น แต่ทั้งนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐจะรับฟ้องประเด็นดังกล่าวหรือไม่

"การตอบ แบบสอบถามหยุมหยิมมาก ไม่สมเหตุสมผล และให้เวลาตอบน้อยมาก เพียง 1 สัปดาห์ บางรายตอบกลับไปกลับมา 4 ครั้งแล้ว เช่น การสนับสนุนการลงทุนโดยบีโอไอ มีการถามย้อนถึงขั้นตอนการซื้อเครื่องจักรตั้งแต่12 ปีมาแล้วว่าทำอย่างไร และข้อกล่าวหาใหม่ ๆ เช่น การอุดหนุนเรื่องลูกกุ้ง หากรับฟ้องเพิ่มก็ต้องตอบแบบสอบถามเพิ่มอีก"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ส่งออกกุ้งแช่เย็น แช่แข็งไม่ค่อยดีนัก คาดว่าทั้งปีนี้ปริมาณการส่งออกจะลดลงอย่างต่ำ 30-40% จากปีปกติ เพราะการแก้ไขปัญหาเรื่องภาวะตายด่วน (อีเอ็มเอส) ยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และคลี่คลายเมื่อไหร่ ทั้งยังเกิดภาวะอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้

ผู้ส่ง ออกชะลอการรับออร์เดอร์ใหม่ ส่วนคนที่รับออร์เดอร์ไว้ก่อนหน้านี้ก็พยายามหาทางออกด้วยการนำเข้ากุ้งจาก อินเดีย เช่น ไทยยูเนียน โฟร์เซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ และบริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบตามระเบียบของกรมประมงก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการใช้สารปฏิชีวนะ (แอนตี้ไบโอติก) หากพบว่ากุ้งอินเดียปลอดภัย เชื่อว่าจะมีการนำเข้ามากขึ้น 
สำหรับ 11 ประเด็นข้อกล่าวหาที่ฟ้องครั้งแรก ประกอบด้วย 1.กรมการค้าภายในควบคุมราคาอาหารกุ้ง คิดเป็นอัตราการอุดหนุน 2-12.75% เป็นมาตรการใหม่ 2.การสนับสนุนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ยังไม่แน่ชัด 3.กรมประมง และกรมการค้าภายใน GOT (Government of Thailand) มีโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง ในอัตราที่การอุดหนุนคิดเป็น 2.58-2.65% 4.กรมประมง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bang) และธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอโครงการให้สินเชื่อเงินเพื่อ สนับสนุนอุตสาหกรรมกุ้ง คิดเป็นอัตราการอุดหนุน 0.13-1.30% 5.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ EXIM เสนอโครงการรีไฟแนนซ์ให้กับธนาคารพาณิชย์ 6.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ EXIM เสนอโครงการให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่อง จักรกล

7.BOI เสนอมาตรการจูงใจทางภาษี (Tax Incentive) และยกเว้นภาษีนำเข้า และผลประโยชน์อื่น ๆ ภายใต้กฎหมายสนับสนุนการลงทุน 8.การนิคมอุตสาหกรรม เสนอมาตรการจูงใจในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 9.EXIM เสนอโครงการสินเชื่อส่งเสริมการส่งออก 10.กรมศุลกากร สนับสนุนชดเชยการคืนภาษีให้กับผู้ส่งออก (มุมน้ำเงิน) ซึ่งคิดเป็นอัตราการสนับสนุน 0.01-3.86% 11.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนมาตรการจูงใจทางด้านการส่งออก อัตราอุดหนุน 0.1-0.14% ทั้งหมดนี้ ไทยเห็นว่าบางข้อกล่าวหาที่สหรัฐยกมาอ้าง เช่น เรื่องการปล่อยกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเรื่องเก่า ส่วนเรื่องการสร้างเสถียรภาพราคาเป็นมาตรการระยะสั้นที่ดำเนินการจบไปแล้ว ส่วนมาตรการสนับสนุนการลงทุน เป็นการให้สิทธิประโยชน์โดยทั่วไป ไม่เจาะจงเฉพาะอุตสาหกรรมกุ้ง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์