วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อสังหาฯ-เช่าซื้อตีปีก
รับดอกเบี้ยลง0.25%
‘โต้ง’ย้ำไม่ปลื้ม เหตุลดน้อยและช้า

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มแบงก์เช่าซื้อ ยิ้มรับดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โบรกฯชูหุ้นแบ็กล็อกสูง SIRI-PS เด่นสุดในกลุ่ม ส่วนกลุ่มธนาคาร TCAP-TISCO และ KK รับเต็ม “กิตติรัตน์” มอง กนง.ลดดอกเบี้ยน้อยเกินไป ประคองเศรษฐกิจระยะสั้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเมื่อวานนี้ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ถือว่าน้อยเกินไป และช้าเกินไป แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นไปอีกในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังจะประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์วานนี้ (30 พ.ค. 56) ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ลง 0.25% จาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.50% หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนต.ค. 55
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อาจเห็นการพลิกตัวกลับมาเป็นบวกของหุ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากกฎเกณฑ์ทุกอย่างออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในแง่ของการลงทุนต้องกลับมาดูเรื่องผลประกอบการของแต่ละบริษัท ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้การโอนทำได้ง่ายขึ้น การปฏิเสธสินเชื่อน้อยลง ดังนั้น แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นที่มียอดขายรอโอน (Backlog) ที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่โดดเด่นจะเป็นบริษัทที่มีแบ็กล็อก ได้แก่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ให้ราคาเป้าหมาย 5.30 บาท และบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS ให้ราคา 34.50 บาท โดยทั้ง 2 บริษัทมียอดขายรอโอนรวมกันเกือบ 1 แสนล้านบาท
รองลงมาคือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI ให้ราคา 24 บาท  และบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ให้ราคา 10.81 บาท ซึ่งมีแบ็กล็อกสูงรวม 5-6 หมื่นล้านบาท อีกทั้งแนวโน้มในการสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/56 และในไตรมาส 4/56
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS เปิดเผยว่า กรณีที่ กนง.มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากระดับ 2.75% ต่อปี เหลือ 2.50% ต่อปี มองว่าจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 2% ทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านลดลง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงเป็นการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ บรรเทาภาระต้นทุน และเป็นการชะลอการปรับราคาขายบ้าน อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า 
ด้านนายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยของกนง. ในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของปี มองว่ายังไม่มีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์มากนัก เนื่องจากอัตราที่ลดลงมายังน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ยังต้องรอดูว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับลดตามไปด้วยหรือไม่
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า การที่กนง.ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยไม่มีผลกระทบเชิงบวกหรือลบในแง่ของผลการดำเนินงาน แต่มีผลต่อสเปรดที่ลดลงเท่านั้น เชื่อว่าธนาคารจะมีวิธีหารายได้เพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียม
ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับฐานลงมาพอสมควรจึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์เก็บไว้ ซึ่งหุ้นกลุ่มแบงก์ใหญ่ที่ยังแนะนำ คือ BBL ให้ราคาเป้าหมาย 260 บาทต่อหุ้น และ KTB ให้ราคาเป้าหมาย 28.50 บาทต่อหุ้น ส่วนหุ้นกลุ่มขนาดกลาง คือ KK ให้ราคาเป้าหมาย 74.50 บาทต่อหุ้น และ TCAP ให้ราคาเป้าหมาย 55 บาทต่อหุ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้หุ้นในกลุ่มธนาคารมีบวกเพียง 2 ตัว คือ TCAP ขึ้นมา  1.25 บาท ปิดที่ 47.75 บาท และ TISCO บวก 0.25 บาท ปิดที่ 52.75 บาท ขณะที่หุ้น KK ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่า แบงก์ด้านเช่าซื้อจะได้รับประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่คาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามามากขึ้น จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ซึ่งจะรู้ผลภายใน 1-2 วันนี้ หลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.50% หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนต.ค. 55
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า การที่ กนง.ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเพียงการตอบสนองต่อการที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/56 ชะลอตัวลง เนื่องจากการส่งออกเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายหลังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก แต่การปรับลดในระดับ 0.25% ยังไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคให้ปรับฟื้นตัวขึ้นได้
นอกจากนั้น เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้คงไม่กระทบเงินออมมากนัก เพราะลดลงในอัตราไม่มาก
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า กนง.ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ถือว่าไม่มาก และไม่ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
ในส่วนของผู้กู้ก็จะทำให้มีเงินมาจ่ายเงินต้นมากขึ้น ซึ่งอัตราที่ลดลง 0.25% ขณะนี้ถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม และคงมีบ้างที่จะช่วยสกัดเงินทุนไหลเข้ามา เพราะส่วนต่างแคบลง เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ที่ 0.25% แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศขณะนี้ลดลงมาเหลือ 2.50% ที่สำคัญต่างชาติยังได้ส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่
ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคาร หรือ Inter bank นั้นสามารถลดได้ทันที และเมื่อลดลงก็จะส่งผลต่อการทำกำไรระยะสั้นของแบงก์ด้วย สำหรับมุมมองของลูกหนี้ถือว่าจะมีศักยภาพในการชำระหนี้ดีขึ้น แม้ว่าปัจจุบันดีอยู่แล้วสังเกตได้จากยอดเอ็นพีแอลในปัจจุบันลดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น