วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

EGCO-GLOW ผ่านรอบแรก ประมูลไอพีพี

EGCO-GLOW
ผ่านรอบแรก
ประมูลไอพีพี

ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 6 คน 

"EGCO-GLOW" ผ่านเทคนิคประมูล IPP รอบแรก โดย EGCO ยื่น 2 ข้อเสนอ กำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ต่อข้อเสนอ ส่วน GLOW ยื่น 2 ข้อเสนอ 2,200 เมกะวัตต์ และ 1,100 เมกะวัตต์ ขณะที่ "กกพ." จะเรียกมาเปิดซองราคาต่อไป

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยว่า ผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค 6 ข้อเสนอ จากทั้งหมด 9 ข้อเสนอ ขณะที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW เป็นหนึ่งในผู้ยื่นประมูลที่ผ่านรอบแรกด้วย
นายนภดล มัณฑะจิตร หนึ่งใน กกพ. กล่าวว่า การประมูล IPP  รอบนี้ มีผู้ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค 6 ข้อเสนอ ซึ่งจะเรียกผู้ที่ผ่านมาเปิดซองราคาต่อไป ขณะที่เอกสารที่แจ้งผ่านเว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับการประมูล IPP ของ กกพ.ระบุว่า มีผู้ที่ผ่านการพิจารณารอบแรก 6 ข้อเสนอ จากที่มีผู้ยื่นมาทั้งสิ้น 9 ข้อเสนอ และจะเชิญตัวแทนมาร่วมเปิดซองราคาต่อไป
ด้านนายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ EGCO ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับสองของไทย กล่าวว่า บริษัทผ่านการประมูล ทางเทคนิคทั้ง 2 ข้อเสนอที่ยื่นไป ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ต่อข้อเสนอ โดยใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น
“หากได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในการประมูล IPP รอบนี้ คงจะดำเนินการเพียง 1,800 เมกะวัตต์ ตามเงื่อนไขการประมูล ขณะที่บริษัทยื่นข้อเสนอประมูล IPP ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ เพราะใช้พื้นที่ตั้งในพื้นที่เดิม ซึ่งตั้งโรงไฟฟ้าระยอง อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่โรงไฟฟ้าระยองจะหมดอายุสัญญาการจ่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเดือนธ.ค. 57 ส่วนโรงไฟฟ้า IPP ใหม่ ตามแผนจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2564-2569” 
โดยกกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ IPP รอบนี้ 5,400  เมกะวัตต์ (MW) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีผู้ซื้อซองประมูลจำนวน 89 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 9 ข้อเสนอ ซึ่งรวมถึง EGCO ที่ยื่น 2 ข้อเสนอ และกลุ่ม GLOW ยื่น 2 ข้อเสนอ
นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน GLOW กล่าวกับ "รอยเตอร์" ว่า กลุ่มโกลว์ผ่านการประมูลด้านเทคนิคทั้ง 2 ข้อเสนอที่ยื่นไป จำนวน 2,200 เมกะวัตต์  และ 1,100 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์น ซีบอร์ด (ระยอง) 
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าที่ยื่นซองประมูลอย่างเป็นทางการประกอบด้วย 1.บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ร่วมกับบริษัท มารูเบนี ยื่นประมูล 2 ซอง ในพื้นที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง 2.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ยื่นประมูล 2 ซอง พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจังหวัดระยอง
3.บริษัท กัลฟ์  เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (เครือกัลฟ์ เจพี) ร่วมกับบริษัท มิตซุย ยื่นประมูล 2 ซอง ในพื้นที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง 4.บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด หรือ NPS ร่วมกับบริษัท Datang จากประเทศจีน ยื่นประมูล 2 ซอง ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และ 5.บริษัทอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ร่วมกับบริษัทซูมิโตโม ยื่นประมูล 2 ซอง
โดยหลังจากนี้ กกพ.จะประเมินคุณสมบัติและความเหมาะสมด้านเทคนิค ภายในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2556 การประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเข้าสู่การพิจารณาเพื่อเจรจาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA ภายในเดือนมิถุนายน จากนั้นจะประเมินข้อเสนอด้านราคาและคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่มีสิทธิ์เจรจา เพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายในเดือนมิถุนายน พร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาภายในเดือนมิถุนายน เช่นกัน
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ครั้งนี้ มีกำลังผลิตติดตั้ง 5,400 เมกะวัตต์ เงื่อนไขกำหนดให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP (Power Development Plan) 2553-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยกำลังผลิตใหม่นี้จะเข้าสู่ระบบในช่วงระหว่างปี 2564-2569 มีอายุสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ารวม 25 ปี นับจากวันที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น