หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ผ่านมา5ปี ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายในการปฏิวัติระบบการเงินโลกเพื่อให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงมากกว่าเดิม

บทความนี้จึงขอตรวจสอบว่า ณ วันนี้ได้มีความก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว


ชื่อ:  เงินเฟ้อ.jpg
ครั้ง: 193
ขนาด:  72.9 กิโลไบต์



ก่อนอื่นย้อนกลับไปถึงสาเหตุวิกฤตเที่ยวที่แล้ว สาเหตุหลักเกิดจาก ตราสารทางการเงิน อาทิเช่น ซีดีโอ ที่นำหลักประกันซึ่งมีคุณภาพเสียแต่กลับได้การจัดอันดับ AAA มาใช้เป็นส่วนประกอบ โดยผู้ที่ออกตราสารเหล่านี้ต่างก็เป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่หากว่าล้มลงไป ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมพังพินาศไปด้วย


จึงได้มีการออกกฎเกณฑ์ในการป้องกันความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ที่ได้ยินบ่อยๆ ได้แก่ บาเซิล 3 และ กฎหมายดอดด์แฟรงค์ของสหรัฐ ซึ่งสามารถสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้


หนึ่ง กฎเกณฑ์ทางการเงินได้มีการปรับปรุงใหม่จากทั้งในสหรัฐ ยุโรป และ องค์กรระหว่างประเทศ โดยที่เห็นค่อนข้างชัด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนของบาเซิล 3 ให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ


สอง ได้มีการปฏิวัติกฎเกณฑ์ โดยมุ่งเน้นไปที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยกฎเกณฑ์เหล่านี้เสมือนเป็นตัวเสริมของการดำรงเงินกองทุนตามกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง ภายใต้หลักการที่ว่า ยิ่งสถาบันการเงินยิ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก กฎเกณฑ์ต่อสถาบันการเงินเหล่านี้ก็ยิ่งต้องเข้มงวดนั้น ได้มีการตราเป็นกฎหมายใน มาตรา 165 ของกฎหมายดอดด์แฟรงค์ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถบังคับให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐ 8 แห่งต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติม สำหรับกฎหมายอื่นๆ ในมาตรา 165 ได้แก่ ลิมิตของความเสี่ยงคู่ค้า ลิมิตความเสี่ยงด้านเครดิต การทดสอบภาวะวิกฤติ การดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงสภาพคล่องระยะสั้น โดยสถาบันการเงินขนาดใหญ่จะถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจมาก ก็จะยิ่งต้องใช้กฎที่เข้มข้นขึ้น


นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าว ยังได้ให้อำนาจกับหน่วยงานค้ำประกันเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corporation) ในการค่อยๆ ทยอยขายทอดตลาดสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยให้ความเสียหายดังกล่าวไปตกอยู่กับผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่มีปัญหา รวมถึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหาร เพื่อมิให้เกิดความแตกตื่นต่อผู้ฝากเงิน


สาม ได้มีการส่งเสริมตลาดการเงินให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยหมวดที่ 7 และ 8 ของกฎหมายดอดด์แฟรงค์ ได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อให้ตลาดอนุพันธ์ทางการเงินมีความปลอดภัยกว่าในอดีต ด้วยการบังคับให้มีการเคลียร์ริ่งสัญญาซื้อขายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยผ่านองค์กรที่เป็นส่วนกลาง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการวางมาร์จิ้นอย่างเพียงพอต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกรณีสัญญาดังกล่าวมิได้ทำผ่านส่วน กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการวางระบบอย่างรัดกุมสำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐทั้ง 8 แห่ง


อย่างไรก็ดี ยังมีช่องว่างอยู่อีกสำหรับกฎเกณฑ์ทางการเงินใหม่ ที่กำลังรอการปรับปรุง ดังนี้


เริ่มจากช่องว่างแรก แม้ว่าตราสารทางการเงินเป็นพิษ อย่าง ตราสารซีดีโอ จะได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่ายังมีจุดอ่อนของตราสารทางการเงินหลงเหลืออยู่ภายใต้ชื่อ securities financing transactions (SFTs) จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมสัญญาซื้อคืน (repo) หรือตราสารอื่นๆ ที่ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน ก็สามารถเกิดความเสี่ยงได้ในอนาคต เมื่อมีการขายสินทรัพย์ดังกล่าวมากๆ ในยามที่เกิดวิกฤต จากการที่นักลงทุนในตลาดที่แข่งขันกันขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปเนื่องจากกลัวขาดทุน จนราคาของสินทรัพย์ลดลงจนไม่คุ้มกับมูลค่าของตราสารดังกล่าว


ช่องว่างที่ 2 มีหลายฝ่ายเห็นว่าลำพังการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้นอาจไม่สามารถแก้ปัญหา Too-big-to-fail ได้ หนทางที่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การทดสอบภาวะวิกฤติที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงการให้มีกระบวนการที่จะวางแผนในการจัดการกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ดังกล่าวเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างเป็นระบบ


คำถามสำคัญที่ติดตามมา คือ มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดเพียงพอจะจัดการระบบการเงินในอนาคตที่นับวันจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ได้ไหม จึงได้มีความพยายามในการคำนวณหามูลค่าการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจในการสนับสนุนแบบทางอ้อมต่อระบบการ เงิน ปรากฏว่า มีจุดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่ 3 ประการ


ประการแรก การระดมทุนระยะสั้นจากสถาบันการเงินรายใหญ่ (Short-term Wholesale Funding) ไม่ว่า จะเป็นแบงก์พาณิชย์ โบรกเกอร์ หรือ เฮดจ์ฟันด์ โดยสภาพของแหล่งเงินในลักษณะดังกล่าวจะขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวม หรือ Macroprudential มากกว่าสถานการณ์ของบริษัทหนึ่งๆ ซึ่งทำให้การระดมเงินในลักษณะนี้เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤต นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการช็อปปิ้งหรือเลือกกฎเกณฑ์ที่อ่อนกว่าในการปฏิบัติ (Regulatory Arbitrage)


อย่างไรก็ดี แม้จะรู้ถึงจุดอ่อน ทว่าการหากฎเกณฑ์ที่จะสามารถใช้ได้กับทุกภาคส่วนของสถาบันการเงินรายใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการกำหนดค่าต่างๆ ของตัวแปรทางการเงินที่จะใช้เป็นกฎเกณฑ์ใหม่ ทว่าการเปลี่ยนอัตราส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงการกำหนดอัตราส่วนที่ใช้วางมาร์จิ้นให้กับตราสารทางการเงินประเภท SFTs ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้จุดอ่อนดังกล่าว


ประการที่สอง ปัญหา Too-big-to Fail ในส่วนนี้ แม้กฎหมายทางการเงินในขณะนี้ สถาบันการเงินทุกแห่งจะใช้หลักการกำกับแบบเดียวกันหมด ทว่ากฎหมายดอดด์แฟรงค์ ในส่วนที่ 165 ได้ให้อำนาจต่อธนาคารกลางสหรัฐในการเพิ่มความเข้มงวดต่อสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่ โดย หนึ่ง มีการจัดการอย่างเป็นระบบเมื่อเกิดวิกฤต สอง เพิ่มเงินกองทุนในรูปแบบต่างๆ อาทิ หนี้ที่สามารถแปลงเป็นตราสารทุนยามเกิดวิกฤตได้ในทันที หรือ Bail-in Capital และ สาม ป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้น


ท้ายสุด อัตราส่วนหนี้ต่อทุน หรือ Leverage Ratio ต้องสามารถใช้ผสมผสานกับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการเลี่ยงกฎเกณฑ์โดยการเลือก ประเภทการปล่อยกู้เพื่อให้เพียงแค่ผ่านกฎเกณฑ์เท่านั้น และ อัตราส่วนที่ใช้วัดความเสี่ยงสภาพคล่อง ก็ยังต้องมีการพัฒนาต่ออีก


โดยสรุป ต้องบอกว่าการปฏิวัติระบบการเงินมาได้เกือบครึ่งทาง ซึ่งตอนนี้ปัญหาหลักคือ การนำหลักการต่างๆ ที่เขียนไว้ไปใช้ในทางปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าหลายประเทศได้เลื่อนการนำไปใช้จริงออกไปก่อน ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าวิกฤตครั้งหน้านั้น จะมาถึงก่อนที่ประเทศเหล่านี้จะนำกฎเกณฑ์ที่เขียนไว้ไปใช้จริงหรือไม่ครับ

หมายเหตุ หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “จิบกาแฟ ท่องเน็ต เล่นหุ้น...ก็รวยได้” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 มีวางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ

Tags : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มุมคิดมหภาค"