วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เหตุใดเงินบาทจึงแข็งมาก


เหตุใดเงินบาทจึงแข็งมาก

Posted by ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล on in ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล
ตั้งแต่ต้นปี 55 มาจนถึง เดือน เมษายน 56 เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรมาก จนยอดเงินลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ ได้เพิ่มขึ้นเกือบจะเท่าตัวทีเดียว จะให้เงินบาทอยู่เฉยๆ ได้อย่างไรเล่าครับ ในเมื่อเงินไหลเข้ามาในประเทศมากขนาดนี้ ก็ย่อมทำให้บาทแข็งขึ้นเป็นธรรมดา

ข้อมูลจาก Thai BMA ปรากฏว่า ล่าสุด ณ เดือน เมษายน 2556 มีนักลงทุนต่างชาติที่ถือพันธบัตรไทยอยู่เป็นยอดเงิน 862,080 ล้านบาท ที่น่าสนใจก็คือ การถือพันธบัตรโดยนักลงทุนต่างชาติ เมื่อต้นปี 2555 มียอดอยู่ เพียง 453,793 ล้านบาท ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2555 มาจนถึง เดือน เมษายน 2556 เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรมาก จนยอดเงินลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ ได้เพิ่มขึ้นเกือบจะเท่าตัวทีเดียว ย้ำ " เกือบจะเท่าตัว " จะให้เงินบาทอยู่เฉยๆ ได้อย่างไรเล่าครับ ในเมื่อเงินไหลเข้ามาในประเทศมากขนาดนี้ ก็ย่อมทำให้บาทแข็งขึ้นเป็นธรรมดา

ถามว่าเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรมากหรือไม่ วิธีดูว่ามากหรือน้อย ให้ดูตารางนี้ครับ คือต้องใช้วิธีเปรียบเทียบมูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ที่ซื้อในตลาดหุ้น กับมูลค่าที่ซื้อในตลาดพันธบัตร (ที่ต้องใช้ตัวเลขลักษณะนี้ เพราะสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาตินั้น ไม่สามารถคำนวนตัวเลขยอดคงค้างของเงินลงทุนได้สะดวกเท่ากับกรณีตลาด พันธบัตร)

ตารางนี้จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จะเห็นได้ว่า ในปี 2555 มูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้น เป็นจำนวนเงิน 76,300 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตร เป็นจำนวนเงิน 242,700 ล้านบาท ตลาดพันธบัตร สูงกว่าตลาดหุ้น กว่า 3 เท่าตัว

และในปี 2556 ตัวเลขสำหรับตลาดหุ้น ได้เปลี่ยนเป็นขายสุทธิไปแล้ว ตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุด ขายสุทธิ 16,000 ล้านบาท แต่สำหรับตลาดพันธบัตร ยังเป็นซื้อสุทธิต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุด ซื้อสุทธิอีก 129,500 ล้านบาท

จะไม่ให้บาทแข็งได้อย่างไรเล่าครับ เงินไหลเข้ามากินส่วนต่างดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรกันมากอย่างนี้

ในอนาคต ยิ่งประเทศญี่ปุ่นมีการพิมพ์เงินเยนเพิ่มขึ้นอีก เงินที่จะไหลเข้ามากินส่วนต่างดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรไทย อาจจะมีมากขึ้น ซึ่งหากมีมากขึ้น บาทก็จะยิ่งแข็งขึ้น มีคนเสนอให้กรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ลดดอกเบี้ย เพื่อจะชะลอเงินที่ไหลเข้ามากินส่วนต่างดอกเบี้ย ถามว่าจะได้ผลจริงหรือไม่

กนง มีอำนาจที่จะลดดอกเบี้ย ก็ได้เฉพาะดอกเบี้ยนโยบาย คือดอกเบี้ย 1 วัน ส่วนดอกเบี้ยอายุอื่นๆนั้น กนง ไม่สามารถบังคับได้ แต่เป็นไปตามกลไกตลาด เป็นอันว่า ถ้านักลงทุนต่างชาติเขา เอาเงินเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรเฉพาะอายุ 1 วัน การที่ กนง ลดดอกเบี้ย ก็จะช่วยชะลอเงินไหลเข้า จะช่วยชะลอบาทแข็งได้มากทีเดียวครับ

แต่ต้องขออภัยคนที่เสนอแนวคิดให้ กนง ลดดอกเบี้ย เพื่อวัตถุประสงค์ช่วยไม่ให้บาทแข็ง เพราะนักลงทุนต่างชาติ ที่นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรนั้น เขาไม่ได้ลงทุนอายุ 1 วันกันครับ

ตารางนี้จัดทำโดยเจ้า หน้าที่ของ Thai BMA จะเห็นได้ว่า ยอดเงินที่นักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตร ที่มีอยู่ตามตัวเลขล่าสุด 862,080 ล้านบาทนั้น เป็นการถือพันธบัตรอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ถึง 665,315 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77 ของยอดการถือพันธบัตรทุกอายุโดยนักลงทุนต่างชาติ มีการถือพันธบัตรที่อายุต่ำกว่า 1 ปี อยู่เพียง 196,765 ล้านบาท และผมก็คิดว่า ส่วนที่ถือพันธบัตรอายุต่ำกว่า 1 ปีนั้น ก็ไม่น่าจะมีนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนอายุสั้นๆ เพียง 1 วันอยู่เท่าใดนัก

ตัวเลขมันฟ้องครับ ว่าข้อเสนอใด เป็นข้อเสนอที่เหมาะสมหรือไม่…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น