"เบอร์นันเก้"แถลงเขย่าตลาดหุ้นโลก ประเมินธนาคารกลางสหรัฐ เตรียมพักมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐ
ชื่อ:  images (3).jpg
ครั้ง: 1184
ขนาด:  4.8 กิโลไบต์

นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีประเด็นดังนี้

นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดกำลังช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้น แต่เฟดจะชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวก็ต่อเมื่อเฟดได้เห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงหนุนมากกว่านี้

นอกจากนี้ นายเบอร์นันเก้ยังกล่าวว่า เฟดอาจตัดสินใจปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตรา 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งในอีกไม่กี่ครั้งข้างหน้า ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะรักษาแรงผลักดันได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน เฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. โดยรายงานการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เฟดยังคงตั้งเงื่อนไขไว้สูงในการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รายงานการประชุมเฟด เปิดเผยว่า "ผู้เข้าร่วมการประชุมหลายคนระบุว่า ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงาน, ความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นต่อแนวโน้มในอนาคต หรือความเสี่ยงในช่วงขาลงที่เบาบางลงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่เฟดจะชะลออัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้"

คำแถลงของนายเบอร์นันเก้ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เฟดไม่มีความต้องการที่จะชะลอมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้รอบ 3 ในเร็วๆ นี้ โดยกล่าวย้ำถึงต้นทุนที่ระดับสูงในส่วนของอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราการว่างงานในสหรัฐอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดในระยะนี้

นายเบอร์นันเก้ กล่าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรส ว่า "นโยบายการเงินกำลังส่งผลบวกเป็นอย่างมาก" ซึ่งเห็นได้จากปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งในส่วนของรถยนต์และที่อยู่อาศัย และความมั่งคั่งภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

"นโยบายการเงินได้ช่วยสกัดแรงกดดัน ด้านเงินฝืดที่เริ่มก่อตัวขึ้น และช่วยสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ดิ่งลงไปอีก ขณะอยู่ใต้เป้าหมายระยะยาวที่ 2 %"

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินมุ่งความสนใจไปยังความเป็นไปได้ ที่เฟดจะชะลอมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ในช่วงต่อไปในปีนี้ โดยดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดวานนี้ร่วงลง 0.83% ส่วนดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินดีดตัวขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี และตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเผชิญกับแรงเทขายอย่างรุนแรง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือ 2% และแตะระดับ 2.044% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. เป็นต้นมา

ปัจจุบันนี้ เฟดเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในอัตรา 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในอัตรา 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกดดันต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำ และกระตุ้นการลงทุน, การจ้างงาน และ การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ รอบ 3 (QE3) นับตั้งแต่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับใกล้ 0% ในเดือนธ.ค. 2008

นายดักลาส บอร์ธวิค กรรมการผู้จัดการบริษัท แชปเดอเลน ฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ กล่าวว่า "ผมเชื่อว่า ถึงแม้เฟดมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่เฟดก็ยังคงกังวลกับการยุติคิวอี และแรงหนุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคิวอี"

นายเบอร์นันเก้ ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดจับตามองอยู่ที่ระดับเพียง 1% ต่อปีเท่านั้นในเดือนมี.ค. หรืออยู่ในระดับเพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาพลังงานปรับตัวลง แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงในวงกว้างเช่นกัน 

นายเบอร์นันเก้ ยังกล่าวว่า เฟดพร้อมที่จะปรับขึ้นหรือปรับลดอัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้อยแถลงนี้ตรงกับแถลงการณ์ของเฟดหลังการประชุมวันที่ 1 พ.ค.

"ถ้าหากเราพบว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรามีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เมื่อนั้นเราก็อาจจะปรับลดอัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้ลงในการประชุมอีกไม่กี่ครั้งข้างหน้า"
นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า "ถ้าหากเราทำเช่นนั้น สิ่งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราตั้งเป้าหมายโดยอัตโนมัติในการยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้อย่างสมบูรณ์ เพราะเราจะมองไปยังอนาคตในช่วงหลังจากนั้น เพื่อดูว่าเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และเราอาจจะปรับขึ้นหรือปรับลดอัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้ก็ได้ในอนาคต"

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ที่ 2.5% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบรายปี โดยปรับขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาส 4/2012 ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ 7.5 % ในเดือนเม.ย. หลังจากเคยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 10% ในเดือนต.ค. 2009 อย่างไรก็ดี นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า อัตราการว่างงานยังคง "อยู่สูงกว่าระดับปกติในระยะยาวเป็นอย่างมาก"

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะไร้ทิศทางในระยะนี้ โดยตัวเลขการจ้างงานใหม่, ยอดค้าปลีก และตัวเลขภาคที่อยู่อาศัยต่างก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แต่ผลผลิตภาคโรงงานหดตัวลง


นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า อุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงวิกฤติหนี้ยุโรป ได้บรรเทาเบาบางลงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การคุมเข้มงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐ ได้กลายเป็นปัจจัยที่ถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจลงในระดับที่รุนแรงเกินกว่าที่เฟดจะสามารถชดเชยได้ทั้งหมด

นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า เฟดตระหนักดีว่าการทำให้นโยบายการเงินอยู่ในภาวะผ่อนคลายมากเกินไปเป็นเวลานานเกินไป อาจจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ได้ แต่เฟดเชื่อว่า ราคาสินทรัพย์สำคัญในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

นายเบอร์นันเก้ ยังได้กล่าวเตือนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาที่เร็วเกินไป

"การคุมเข้มนโยบายการเงินก่อนเวลาอันควร อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นชั่วคราว แต่ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงขนาดใหญ่ในการทำให้เศรษฐกิจชะลอการฟื้นตัว หรือยุติการฟื้นตัว และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อดิ่งลงต่อไป"

นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า หลังจากเฟดเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในช่วงที่ผ่านมา เฟดก็อาจจะงดเว้น จากการขาย MBS เมื่อถึงเวลาที่เฟดต้องคุมเข้มนโยบายการเงินในอนาคต โดยเขากล่าวว่า

"โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า เฟดสามารถยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องขาย MBS"

ต่อคำถามที่ว่า เฟดจะชะลออัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้ก่อนวันที่ 2 ก.ย. ซึ่งเป็นวันหยุดเนื่องในวันแรงงานของสหรัฐหรือไม่ นายเบอร์นันเก้ ตอบว่า "ผมไม่ทราบ"

ทางด้าน นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวย้ำว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลให้ช่วงนี้ยังคงเป็นเวลาที่เร็วเกินไปที่จะตัดสินใจได้ว่า เฟดจะชะลออัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้หรือไม่

นายดัดลีย์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางบลูมเบิร์ก ทีวีว่า "ผมคิดว่าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า คุณก็จะมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องที่ว่า 'เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่งมากพอที่จะเอาชนะแรงถ่วงทางการคลังได้หรือไม่'"

นายดัดลีย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการชะลอมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ "ถ้าหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อไป"

รายงานการประชุมเฟด ประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางคนแสดงความเต็มใจที่จะปรับลดการเข้าซื้อตราสารหนี้ ในการประชุมเฟดประจำวันที่ 18-19 มิ.ย. ถ้าหากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า "เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและอย่างแข็งแกร่งมากพอ" แต่ เจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นแตกต่างกันไปเกี่ยวกับวิธีการในการใช้วัด ความคืบหน้าทางเศรษฐกิจ และต่อความเป็นไปได้ในการบรรลุเงื่อนไขที่ตั้งไว้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์