วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

BECLยิ้มชนะคดีกพท. ศาลสั่งจ่าย1.7พันล้าน


BECLยิ้มชนะคดีกพท.
ศาลสั่งจ่าย1.7พันล้าน

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 09 พฤษภาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

BECL เฮ! ศาลปกครองกลางสั่งกทพ.จ่ายค่าชดเชยรายได้กว่า 1.7 พันล้านบาทให้บริษัทย่อยคือ NECL ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฟากผู้บริหาร BECL แย้มยังไม่สามารถบุ๊คค่าชดเชยเข้าบัญชีได้ เพราะต้องรอให้คดีสิ้นสุดก่อน

                นางพเยาว์ มริตตนะพร  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL  เปิดเผยว่า  บริษัทได้รับแจ้งจากบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้พิจารณายกคำร้องของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองกลางพิจารณาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551  ซึ่งชี้ขาดให้ กทพ.ชำระเงินชดเชยรายได้ของทางพิเศษอุดรรัถยา (สายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ที่ลดลงจากประมาณการตามสัญญา ให้แก่บริษัทย่อย เนื่องจากมีการอนุญาตให้ก่อสร้างเส้นทางที่มีลักษณะแข่งขันกับสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด
                ดังนั้น กทพ.ต้องชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการแก่บริษัทย่อยสำหรับปี 2542 จำนวน 730.80 ล้านบาท และปี 2543 จำนวน 1,059.20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ซึ่ง กทพ.สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวของศาลปกครองกลางได้ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2556
                นางสุทธิดา สุขะนินทร์  รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ BECL เปิดเผยว่า กรณีพิพาทดังกล่าวเกิดจากมีการอนุญาตให้ก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ในบริเวณใกล้เคียงกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด เสมือนเป็นเส้นทางทับซ้อนจึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของ NECL  โดยเรื่องนี้มีการซักถามอยู่ตลอดในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ดังนั้น เมื่อคดีมีความคืบหน้า BECL จึงต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรับทราบ แต่ BECL ยังไม่สามารถบันทึกค่าชดเชยดังกล่าวเข้าสู่บัญชีได้ เพราะต้องรอให้คดีความเสร็จสิ้นก่อน โดย BECL ชนะคดี ดังนั้น ขณะนี้ก็ต้องรอดูท่าทีจาก กทพ.ว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่
                ด้านพล.ต.อ.วิเชียร  พจน์โพธิ์ศรี  ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เปิดเผยว่า โดยหลักการแล้ว กทพ.ต้องยื่นอุทธรณ์แน่นอน แต่ต้องมีการปรึกษาอัยการและหารือในที่ประชุมบอร์ดวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ก่อน พร้อมยืนยันว่า กทพ.จะไม่นำข้อพิพาทเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไขต่อรองในการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน เพราะเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกันและจะไม่เป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากยังไม่สามารถระบุได้ว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายใดจะชนะคดี
                สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าผ่านทางรอบล่าสุด ซึ่งจะเริ่มเก็บอัตราใหม่วันที่ 1 กันยายน 2556 จะมีการหารือในที่ประชุมบอร์ดวันที่ 17 พฤษภาคมนี้เช่นกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนนำไปเจรจาต่อรองกับเอกชน จากนั้นจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และประกาศอัตราค่าผ่านทางใหม่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น