ชื่อ:  001.PNG
ครั้ง: 138
ขนาด:  577.0 กิโลไบต์


หลังจากซุ่มเงียบอยู่นาน ในที่สุด ค่ายสหพัฒน์ของกลุ่มโชควัฒนา เริ่มเปิดฉากร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน 108” ประเดิมสาขาแรกหน้าบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และขยายตามมาติดๆ อีก 2 สาขา ลาดพร้าว 101 และร่มเกล้า 21 โดยเร่งทยอยงัดหมัดเด็ดต่อสู้กับเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกที่กำลังกินรวบทุกช่องทางการจำหน่าย ตั้งแต่ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซูเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์สโตร์ไปจนถึงศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่


ขณะเดียวกันตลาดคอนวีเนียนสโตร์ถือเป็นเซกเมนต์ที่มีอัตราเติบโตสูงสุด 10-15% ต่อปี จากมูลค่าตลาดค้าปลีกรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท และหากเทียบอัตราส่วนประชากรต่อร้านกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น 2,800 คนต่อร้าน ไต้หวันและเกาหลี 2,500 คนต่อร้าน ขณะที่ไทยเฉลี่ย 6,800 คนต่อวัน เกิดการช่วงชิงโอกาสการเติบโตไม่ต่างจากญี่ปุ่นที่ผุดร้านสะดวกซื้อในทุกตรอกซอกซอย โดยเฉพาะในปี 2556 คาดว่าจะมีการเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่ในไทยไม่ต่ำกว่า 1,000 สาขา เพิ่มจากปีก่อนๆ ที่ขยายปีละ 700-800 สาขา

การพลิกสถานการณ์ในช่วงจังหวะที่ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์กำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ จากเดิมต้องการสร้าง “108 ช็อป” เป็นมินิเอาท์เล็ตกระจายสินค้าในเครือและดึงชุมชน ผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยหรือเอสเอ็มอี เพื่อสร้างพลังต่อรองกับกลุ่มซูเปอร์สโตร์ต่างชาติที่สยายปีกทั่วทุกมุมเมืองในช่วงที่ผ่านมา

แต่เมื่อโมเดลธุรกิจของ “108 ช็อป” ไม่ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางการแข่งขันอันหนักหน่วงของสองยักษ์ค้าปลีก ทั้งร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และแฟมิลี่มาร์ทของเครือเซ็นทรัล เฉพาะแค่จำนวนสาขา ซึ่งเซเว่น-อีเลฟเว่นตั้งเป้าปูพรมทั่วประเทศไทย 10,000 แห่งภายในปี 2561 ส่วนแฟมิลี่มาร์ทประกาศผุดสาขารูปแบบใหม่ 3,000 แห่ง เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 2 ภายในปี 2560

หาก “108 ช็อป” ไม่มีการยกเครื่องใหญ่ย่อมหมายถึงการทยอยปิดสาขาและเลิกกิจการ แม้พยายามปรับโมเดลหลายรอบ อัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายและปรับหน้าร้านใหญ่ขึ้นก็ตาม จนกระทั่งมีการเจรจาดีลร่วมทุนกับกลุ่มลอว์สัน ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ทั้งการต่อ ยอดสินค้าและโนว์ฮาว เปลี่ยน “108 ช็อป” จากร้านค้าชุมชนแบบไทยๆ เป็นคอนวีเนียนสโตร์แบรนด์ดังระดับโลก “ลอว์สัน 108” เพิ่มจุดแข็งและจุดขายใหม่ในทันที

ร้านลอว์สันภายใต้การบริหารงานของบริษัท ลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น จากผลประกอบการเมื่อปี 2555 (1 มีนาคม 2554-29 กุมภาพันธ์ 2555) มียอดขายรวม 1.82 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 7.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 1.68 ล้านล้านเยน หรือราว 6.72 แสนล้านบาท อัตราการเติบโต 8.5% ล่าสุดมีสาขารวม 10,800 แห่งในญี่ปุ่น รองจากเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่มีสาขาเกือบ 15,000 แห่ง

ทั้งนี้ รูปแบบของร้านลอว์สันมีให้เลือกถึง 3 รูปแบบ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน (Lawson), ร้านลอว์สัน สโตร์ 100 (Lawson Store 100) ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อพร้อมจำหน่ายอาหารสด และร้านเนเชอรัล ลอว์สัน (Natural Lawson) ร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม

แหล่งข่าวจากบริษัท สหลอว์สัน จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนปรับ “ร้าน 108 ช็อป” เดิมทั้ง 600 สาขา ให้เป็น “ลอว์สัน 108” รวมทั้งเปิดสาขาในทำเลใหม่ ระยะแรกเน้นเขตชุมชนทั่วกรุงเทพฯ โดยต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ 2 คูหา ไม่ใช่ร้านขนาดเล็กแบบเดิมและตั้งเป้าพัฒนาระบบ ทั้งรูปแบบสาขา การบริหารสินค้า จุดขาย จุดแข็ง กลุ่มลูกค้า และโนว์ฮาวต่างๆ เพื่อขายแฟรนไชส์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเบอร์ 2 ในตลาดคอนวีเนียนสโตร์

สำหรับโมเดลต้นแบบ “ลอว์สัน 108” สาขาแรกใช้รูปแบบร้านสะดวกซื้อลอว์สันในญี่ปุ่น ทั้งการออกแบบและโทนสีฟ้าขาว ไม่เหลือเค้าเดิมสีส้ม

ส่วนสินค้า “ซึ่งถือเป็นโจทย์” ข้อใหญ่ ที่อยู่ระหว่างทดลองตลาด เพื่อค้นหาสิ่งโดนใจกลุ่มลูกค้าคนไทยมากที่สุด และสร้างความแตกต่าง ขณะนี้เริ่มจากการวางจำหน่ายสินค้าในเครือสหพัฒน์ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้เกือบทุกแบรนด์ ซึ่งเป็นจุดขายเก่าของ “108 ช็อป” เช่น แบรนด์ “ซื่อสัตย์” แบรนด์ 108 และชูจุดขายใหม่ในเรื่องอาหารพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่นที่ปรุงสดทันที เช่น ทาโกยากิ โอเด้ง ราคาเริ่มต้นที่ 8-25 บาท อุด้งเริ่มต้นที่ 40-60 บาท อาหารทอด เช่น ไก่ทอด และข้าวปั้น (โอนิงิริ) ซึ่งทำสดทุก 1-2 ชั่วโมง เบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นแบรนด์ “Lawson” และเพรทเซล

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งต้องถือว่าลอว์สัน 108 ยังต้องใช้เวลาหาความลงตัว เนื่องจากทั้งเซเว่น-อีเลฟเว่น และแฟมิลี่มาร์ท เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยนานหลายสิบปี เรียนรู้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและการใช้แคมเปญโปรโมชั่นดึงดูดใจ โดยเฉพาะเซเว่น-อีเลฟเว่นพยายามสร้างร้านสะดวกซื้อที่มีสินค้าและบริการครบถ้วน มีทั้งร้านขายยา “เอ็กซ์ต้า” ร้านหนังสือ “บุ๊คสมาย” มุมเบเกอรี่และกาแฟ “คัดสรร” มุมอาหารพร้อมทาน “อีซี่โก” มุมสินค้า “เซเว่นแค็ตตาล็อก” ที่มีสินค้าหลากหลาย ทั้งเครื่องสำอาง เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็ก บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส บริการบัตรสมาชิกสะสมแต้ม “แวลู่คาร์ด” และมีแคมเปญโปรโมชั่นเปลี่ยนทุก 2-3 เดือน รายการแลกซื้อสินค้าพรีเมียมแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งสร้างกระแสได้ทุกครั้ง

ขณะที่ “แฟมิลี่มาร์ท” หลังจาก “เซ็นทรัล” เข้าบริหารกิจการอย่างเต็มตัว ประกาศกลยุทธ์ “นิว แฟมิลี่มาร์ท” เพิ่มรายการสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมทานจำนวนกว่า 200 เมนู รูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ที่มีจำหน่ายเฉพาะร้านแฟมิลี่มาร์ท ได้แก่ อาหารพร้อมทานแบรนด์ “Quick Serve” ของพรานทะเล เมนูไฮไลต์ เช่น ยากิโซบะหมู, ข้าวปลาแซลมอนย่างซีอิ๊ว, ข้าวปลาซาบะย่างซีอิ๊ว, ข้าวแกงกะหรี่หมูญี่ปุ่น ข้าวผัดกระเทียมหมูซีอิ๊วญี่ปุ่น เบนโตะชุดต่างๆ


นอกจากนี้ มี “Kitty Collection” ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย โดยเน้นกลุ่มสแน็ก เช่น Lolly Pop, Chewy Jelly และ Kitty Thai Snack

ในอนาคต กลุ่มเซ็นทรัลจะเชื่อมโยงบริการเข้ากับเครือข่ายค้าปลีกที่มีอยู่ การใช้บัตรเดอะวันคาร์ด และพัฒนาร้านรูปแบบใหม่ “สโตร์คลัสเตอร์” เหมือนในต่างประเทศ มีบริการตามไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า เช่น ร้านแฟมิลี่มาร์ทในญี่ปุ่นจะมีร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ ในไต้หวันจะเปิดร่วมกับฟาสต์ฟู้ดซับเวย์ หรือมีร้านซึทาญ่าให้บริการในร้านด้วย

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหพัฒน์มีจุดแข็งในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ สามารถนำเสนอสินค้าได้อย่างครอบคลุมในราคาผู้ผลิต รวมถึงบริษัท ซันร้อยแปด ในเครือสหกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้บริหารร้าน “108 ช็อป” เดิม ปัจจุบันดำเนินธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เครื่องดื่มทั้งแบบถ้วย กระป๋อง ขวด ทั้งร้อนและเย็น ขนมขบเคี้ยว เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่ม Computer accessories เป็นเจ้าของระบบโลจิสติกส์ เป็นคลังสินค้าให้ร้านสะดวกซื้อเชนต่างๆ มีระบบจัดซื้อ เก็บรักษา บรรจุและจัดส่งสินค้ากว่า 2,000 รายการ ไปยังร้านสะดวกซื้อกว่า 1,000 แห่ง


ถือเป็น “หมัดเด็ด” ที่สามารถหยิบขึ้นมาถล่มยักษ์ค้าปลีกได้อีกหลายยก



Related Stories

สหพัฒน์เปิดเกมรุก ดัน “ค้าปลีก” ยกแผง