ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มราคายางและปาล์ม เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยด้านอุปทานโลก
ชื่อ:  AA94B93CDD0744BDBD3E4CACD4B03736.jpg
ครั้ง: 497
ขนาด:  125.8 กิโลไบต์
พัฒนาการทางเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ส่งสัญญาณการขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี และดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ปรับลดลงอีกในเดือนเมษายน 2556 ผิดจากความคาดหมายของตลาดที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งอิทธิพลจากปัจจัยดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันในตลาดโลกแล้ว ยังมีส่วนต่อการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญของไทย ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตร 2 รายการดังกล่าว ยังเผชิญแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยด้านอุปทานอันเนื่องมาจากปริมาณสต็อกทั้งในและต่างประเทศที่มีระดับสูงอีกด้วย
ชื่อ:  B9793F6BBB154A9AA3DA453B249006AB.jpg
ครั้ง: 507
ขนาด:  42.4 กิโลไบต์

ปริมาณสต็อกทั้งในและต่างประเทศที่มีระดับสูง กดดันราคายางและปาล์มในประเทศ

ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 มีราคาเฉลี่ย ม.ค. - เม.ย. 56 78.7 บาท/กิโลกรัม ลดลง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักชะลอคำสั่งซื้อ เนื่องจากสต็อกยางจีนอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 122,137 ตัน (5 พ.ค. 56) จากที่ปริมาณสต็อกเคยมีระดับต่ำเพียงกว่า 2 หมื่นตันในเดือน พ.ย. 55 แม้ความต้องการใช้ยางจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ แต่ปริมาณสต็อกยางโลกถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2556-2557 ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น (อ้างอิงจาก International Rubber Study Group: IRSG) ประกอบกับราคาชี้นำที่ตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนผลปาล์มทะลาย (คุณภาพน้ำมัน 17%) ราคา ณ วันที่ 8 พ.ค. 56 อยู่ที่ 3.20 บาท/ กิโลกรัม ลดลง 24% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และน้ำมันปาล์มดิบ ราคา ณ วันที่ 8 พ.ค. 56 อยู่ที่ 22 บาท/กิโลกรัม ลดลง 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2556 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ส่วนผลผลิตและสต็อกของผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น และราคาอ้างอิงในตลาดมาเลเซียที่ลดลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจกระทบความต้องการของผู้นำเข้าหลักอย่างอินเดียและจีน รวมทั้งจากการแข่งขันในมาตรการด้านภาษีเพื่อระบายสต็อกและแย่งส่วนแบ่งตลาดระหว่างสองผู้ผลิตและส่งออกหลัก

ความเป็นไปได้ที่ราคายางจะฟื้นตัว อาจมีมากกว่าปาล์มที่ราคาถูกกำหนดโดยผู้ผลิตและส่งออกหลักอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ปัจจัยด้านอุปทานจากปริมาณสต็อกทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีระดับสูง คงจะยังเป็นตัวแปรหลักที่กดดันราคายางพารา ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบของไทยในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม หากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนสะท้อนภาพการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นจนนำมาสู่ความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นและมีผลในการลดปริมาณสต็อกยางจีนลง กอปรกับราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ดิ่งลง เมื่อผนวกกับการขยายเวลามาตรการจำกัดการส่งออกและการโค่นต้นยางภายใต้ความร่วมมือของ 3 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) และแนวทางที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกไปญี่ปุ่นและการลงทุนในอุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น ก็ทำให้คาดว่าราคายางพารามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนั้น ในอนาคต ข้อเสนอที่จะให้ทางการพิจารณานำยางพาราไปใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการจัดตั้งรับเบอร์ซิตี้ระหว่างมาเลเซียและไทย ถ้ามีความชัดเจนมากขึ้น ก็คงจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนราคายางได้เช่นกัน

สำหรับปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบนั้น ในระยะสั้น มาตรการของทางการไทยในการรับซื้อปาล์มที่เหลืออยู่อีก 5 หมื่นตัน และการสนับสนุนการใช้ปาล์มในการผลิตพลังงานทดแทนของไทย (บี 5 และบี 7) คงจะช่วยพยุงราคาปาล์มไม่ให้ตกต่ำลงอย่างรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในระยะถัดๆ ไป ความเป็นไปได้ที่ราคาจะฟื้นตัว คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ 2 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกหลักอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นหลัก ขณะเดียวกัน แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร มิใช่อาหาร และพลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล) จะยังมีอยู่ในระดับสูง แต่หากราคาปาล์มปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตที่มีความยืดหยุ่นก็อาจพิจารณาใช้พืชอื่นเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตไบโอดีเซลทดแทนได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว น้ำมันจากไขสัตว์ รวมถึงสบู่ดำ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่เร่งขึ้นมาก ความต้องการนำพืชพลังงานไปใช้ทำไบโอดีเซลก็อาจจะมีไม่มากตามไปด้วยเช่นกัน

เป็นที่สังเกตว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราและน้ำมันปาล์มดิบเป็นอันดับที่ 1 และ 3 ของโลก ตามลำดับ แต่การกำหนดราคายังต้องอิงกับความต้องการของผู้นำเข้า และ/หรือนโยบายของคู่แข่งด้วย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลราคาในประเทศอย่างยั่งยืน จึงควรต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน โดยนอกจากแผนการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรสำคัญ และการเตรียมยกร่างกฎหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมทั้งสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของทั้งยางพาราและปาล์ม รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ


ที่มา POSTTODAY ONLINE