วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หาผู้ชนะ


Monday, 13 May 2013

หาผู้ชนะ

ถ้าจะถามผมว่าหลักการเลือกหุ้นที่สั้นที่สุดของผมคืออะไร  คำตอบของผมมีแค่ 3 คำ  “หาผู้ชนะ”  ความหมายก็คือ  ในการที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น  สิ่งที่ผมพิจารณามากที่สุดก็คือ  ผมอยากได้บริษัทที่จะเป็นผู้ชนะในการขายผลิตภัณฑ์เหนือคู่แข่งทั้งหมด  ยิ่งชนะมากก็ยิ่งดี  พูดง่าย ๆ  คนเลือกผลิตภัณฑ์ของเรามากกว่าคู่แข่งมาก  หรือคนเลือกที่จะเข้าร้านของเรามากกว่าร้านคู่แข่งมาก  ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการของเราด้วยความเต็มใจเนื่องจากสินค้าของเราดีกว่าและมีคุณค่ามากกว่าสำหรับเงินแต่ละบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง   ผมต้องการลงทุนในบริษัทที่กำลังชนะ  บริษัทที่ชนะแล้วและจะชนะต่อไปอีกนาน  พูดแบบวิชาการหน่อยก็คือ  ผมชอบบริษัทที่มีการตลาดดีเยี่ยมและเหนือกว่าคู่แข่งมาก  ผมชอบบริษัทที่คู่แข่งไม่มีทาง  “ตามติด”  บริษัทของเราด้วยเหตุผลอะไรก็ตามรวมถึงเหตุผลที่ว่า  “มันไม่คุ้มที่จะทำ” เนื่องจากยอดขายอาจจะไม่สูงพอ  ซึ่งทำให้บริษัทเราก็จะ “ทิ้งห่าง” เขาเพิ่มขึ้นไปอีก
           แน่นอนว่าผมคงไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องของการขายหรือการตลาด  ผมยังอยากเห็นการผลิตหรือการให้บริการที่ดีเยี่ยมของบริษัทที่ผมอยากลงทุน  ถ้าเป็นการผลิตหรือเป็นสินค้า  ผมก็อยากจะดูว่ามาตรฐานของสินค้าดีแค่ไหนหรืออร่อยแค่ไหนหรือสะอาดพอไหมหีบห่อสวยงามและแข็งแรงพอหรือเปล่า  ถ้าเป็นธุรกิจบริการโดยเฉพาะที่ผมสามารถใช้บริการได้ผมก็อยากจะเห็นบริการที่รวดเร็วถูกต้องและพนักงานมีสีหน้ายิ้มแย้มและเต็มใจให้บริการ  ผมคิดว่าถ้าการตลาดดีเยี่ยมแต่การผลิตหรือให้บริการไม่ดี  ในอนาคตความนิยมของลูกค้าก็จะค่อย ๆ ตกลงและคู่แข่งก็จะเข้ามาแทนที่บริษัทได้
          เรื่องของการเงินเองนั้น  ผมก็อยากจะเห็นบริษัทมีฐานะทางการเงินที่ดี  มีหนี้กู้ยืมน้อย ๆ หรือไม่มีเลย  ถ้าบริษัทมีเงินสดมากก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก  บริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่ดีนั้นผมคิดว่าจะสามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็สามารถฉวยโอกาสในการซื้อหรือขยายกิจการที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท
          กระบวนการในการหาผู้ชนะนั้นเราจะต้องเริ่มต้นด้วยการดูว่าอะไรเป็นปัจจัยในการแข่งขันหรือการต่อสู้ของบริษัทกับคู่แข่ง  ซึ่งทำให้เราต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าใครคือคู่แข่งของบริษัทจริง ๆ  เพราะบ่อยครั้งเราอาจจะคิดผิดหรือมองไม่ครบก็ได้  ตัวอย่างเช่น  ร้านเครือข่ายสะดวกซื้อสมัยใหม่นั้น  คู่แข่งนอกจากจะเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อด้วยกันแล้ว   มันยังรวมถึงร้านโชว์ห่วยที่มีอยู่นับแสน ๆ รายทั่วประเทศ  นอกจากนั้น  ก็ยังมีคู่แข่งแบบอ้อม ๆ  ที่เป็นร้านแบบ “มินิมาร์ท”  ที่อาจจะขายอาหารสดด้วย    เมื่อพบคู่แข่งชัดเจนแล้ว  สิ่งที่จะต้องมองก็คือ  อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ชนะในการต่อสู้แข่งขัน?
          โดยทั่วไปแล้ว  สิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ชัยชนะนั้นก็คือตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้มากกว่าหรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมากกว่า  แต่ในภาวะปัจจุบันที่การผลิตก้าวหน้าขึ้นไปมากการมีสินค้าที่เด่นกว่าคู่แข่งจริง ๆ ก็ทำได้ยาก  ปัจจัยที่สำคัญกว่าก็อาจจะเป็นเรื่องของการสร้างภาพพจน์ให้คนรู้สึกว่าอยากใช้หรือบริโภคสินค้าผ่านการโฆษณาอาจจะมีความสำคัญมากกว่า   นอกจากเรื่องของภาพพจน์แล้ว  การจัดจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน  สินค้าที่มีช่องทางการขายมากกว่าหรือมีพื้นที่ในชั้นวางของของห้างร้านมากกว่าก็จะได้เปรียบและเป็นปัจจัยในการแข่งขันที่สำคัญ  ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกและลงความเห็นว่าใครจะเป็นผู้ชนะและใครจะเป็นผู้แพ้
          ในด้านของบริษัทหรือธุรกิจการบริการเองนั้น  ปัจจัยในการแข่งขันก็อาจจะแตกต่างออกไปจากธุรกิจของสินค้า   โดยหลักการก็คือ  บริษัทที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้ดีที่สุดก็จะได้เปรียบและมีโอกาสเป็นผู้ชนะสูงกว่า  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเป็นธุรกิจขายความสะดวกในการซื้อสินค้าเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ซึ่งมักจะรวมถึงอาหารหรือน้ำดื่ม  บริษัทที่สามารถให้บริการได้ครบถ้วนและอยู่ใกล้กับลูกค้ามากที่สุดก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน  หรือในกรณีของการขายสินค้าราคาถูก  บริษัทหรือร้านที่สามารถเสนอสินค้าที่มีราคาถูกและอยู่ไม่ไกลเกินไปก็จะมีโอกาสเป็นผู้ชนะ เป็นต้น
           ธุรกิจแต่ละอย่างอาจจะมีปัจจัยในการแข่งขันไม่เหมือนกัน  หน้าที่ของเราก็คือ กำหนดให้ได้ว่าปัจจัยนั้นคืออะไร  เสร็จแล้วก็ดูว่าบริษัทที่กำลังแข่งขันกันอยู่นั้นใครมีทรัพยากรมากที่สุดและเขาได้ใช้ทรัพยากรนั้นในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน  กฎของการแข่งขันก็คือ ใครมีทรัพยากรมากกว่าและทุ่มเข้าไปในจุดที่เป็น  “สนามรบ”  อย่างถูกต้องมีโอกาสที่จะชนะสูงกว่า   เราเองต้องคอยสังเกตประสิทธิผลของปัจจัยต่าง ๆ  ที่ถูกนำมาใช้   ถ้าเราเองเป็นคนใช้บริการอยู่ด้วยเป็นประจำเราก็อาจจะมีข้อมูลนี้  ถ้าเรารู้สึกพอใจมากกับสินค้าหรือบริการและก็เห็นถึงการตอบรับของลูกค้ารายอื่น ๆ  จำนวนมาก  แบบนี้ก็อาจจะเป็นตัวบอกว่าในที่สุดบริษัทนี้ก็น่าจะเป็นผู้ชนะ   ว่าที่จริงถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ   จนชำนาญ  ถึงวันหนึ่งเราก็จะสามารถบอกได้จาก  “ความรู้สึก” ว่า  บริษัทไหนหรือสินค้าไหนจะเป็นผู้ชนะ
           ผมเองตั้งแต่กลายเป็นนักลงทุนแบบ VI  ที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้ชนะและเป็นบริษัทที่  ยิ่งใหญ่แนวซุปเปอร์สต็อกนั้น  ผมก็ได้สร้างนิสัยส่วนตัวที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  และหุ้น  ผมมักจะต้องวิเคราะห์ถึงการแข่งขันหรือ  “สงคราม”  ผมจะดูว่าในแต่ละเรื่องใครกำลัง “แข่งขัน” หรือ  “รบ”  กับใคร  ปัจจัยอะไรเป็นตัวที่จะชี้ขาดว่าใครจะชนะ  และที่สำคัญ  ทรัพยากรของใครมีมากกว่าและเขาใช้มันถูกต้องหรือไม่  เสร็จแล้วผมก็  “ลงความเห็น”  ว่าใครน่าจะชนะ  ทั้งหมดนี้  ผมต้องศึกษาประวัติศาสตร์ในแต่ละเรื่องด้วยว่า  ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในที่อื่น  โดยเฉพาะในต่างประเทศมันเป็นอย่างไร   เพราะประวัติศาสตร์นั้นมันมีพลังสูงมาก  มันบอกว่าแนวโน้มในอนาคตของบ้านเราจะเป็นอย่างไร
          นิสัยการ “หาผู้ชนะ”  ของผมนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  ผมรู้สึกสนุกกับการทำนายว่า  ใครจะชนะ?  ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องธุรกิจหรือหุ้น  ผมดูทุกอย่างตั้งแต่การเมืองว่าพรรคไหนหรือกลุ่มไหนจะชนะ   เรื่องของสถานศึกษาว่าโรงเรียนไหนหรือมหาวิทยาลัยไหนจะโดดเด่นขึ้นและแห่งไหนจะตกต่ำลง  บางทีก็มองไปถึงเรื่องของประเทศต่าง ๆ  ในโลกว่าประเทศไหนจะรุ่งเรืองประเทศไหนจะค่อย ๆ  ดับลง    ไล่ไปจนถึงว่าดาราคนไหนของไทยจะดังมากกว่าคนอื่นและดังในด้านไหนเช่น เป็น  ดาราที่โดดเด่นในด้านของการเป็น ดาราเซ็กซี่หรือเป็นแบบไทย ๆ  หรือเป็นแบบน่ารักแบบวัยรุ่น  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ถ้าจะถามว่ามีประโยชน์อะไรกับการลงทุนโดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหุ้นโดยตรง  คำตอบของผมก็คือ  หลาย ๆ  เรื่องคงไม่เกี่ยวแต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดเพราะมันเป็นนิสัยที่ติดตัวไปแล้ว   อย่างไรก็ตาม  หลาย ๆ  เรื่องก็อาจจะเกี่ยวข้องในระดับภาพใหญ่ของการลงทุน   เช่น  ความก้าวหน้าของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต?  นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดเพราะมันกระทบกับบริษัทที่เราลงทุนในระยะยาว  เช่นเดียวกับเรื่องของการเมืองการปกครองที่ก็สำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศและบริษัทที่เราลงทุนเช่นเดียวกัน
           เขียนจนเกือบถึงบรรทัดสุดท้ายแล้วก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ ชาร์ลี มังเกอร์ หุ้นส่วนสำคัญของบัฟเฟตต์ที่พูดว่า  ความรู้ในการลงทุนนั้นมาจากหลากหลายวิชา  เราต้องเอามาสอดประสานกันเพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ  ที่จะนำไปสู่การลงทุนที่ดี  ผมเองคิดว่า  นี่คงเป็นสิ่งที่ชาร์ลีแนะนำ 
Posted by nivate at 2:02 P

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น