วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กฎเหล็กคุมเทกโอเวอร์ ชงครม.เกิน2พันล.ติดล็อก-บิ๊กดีลระทึก


 กฎเหล็กคุมเทกโอเวอร์ ชงครม.เกิน2พันล.ติดล็อก-บิ๊กดีลระทึก

พาณิชย์ชง ครม.อนุมัติ "เกณฑ์ควบรวมกิจการ" ตั้งเงื่อนไขธุรกิจที่มีมาร์เก็ตแชร์ 30% ยอดขาย 2,000 ล้านบาทขึ้นไป ซื้อหุ้นกว่า 25% ต้องขออนุญาตคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เอกชนชี้คุมเข้มเกินเหตุ สกัดกั้นการขยายธุรกิจ-ควบรวมกิจการ ด้านบริษัทที่ปรึกษากฎหมายขอความชัดเจนในการพิจารณาเกณฑ์ จับตากฎใหม่กระทบดีลซีพี ออลล์ ซื้อแม็คโคร

ท่ามกลางการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ ครม.ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ 12 คน แทนชุดเดิมที่ครบวาระ รวมกับกรรมการโดยตำแหน่งเดิมอีก
4 คน ประกอบด้วยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง และกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ล่าสุด คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์การรวมธุรกิจขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยมีนายนิมิต วงศ์จริยกุล เป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้กำหนดเกณฑ์ "การรวมธุรกิจ" ภายใต้มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นการล้อมคอกการรวมธุรกิจอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามหลังกรณีของ บมจ.ซีพี ออลล์ เข้าซื้อกิจการของ บมจ.สยามแม็คโคร มูลค่า 1.89 แสนล้านบาท ที่ยังไม่มีการตรวจสอบว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าหรือไม่

สำหรับเกณฑ์ควบรวมธุรกิจใหม่พิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือดูจากจำนวน "หุ้น" และ "ส่วนแบ่งตลาด" โดยกำหนดว่า 1) ผู้ประกอบการธุรกิจก่อนหรือหลังรวมธุรกิจมีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และมียอดเงินขาย/รายได้ในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปในสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง กับ 2) การเข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในคราวเดียวกันหรือหลายคราว กรณีบริษัทมหาชนตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ส่วนกรณีบริษัทจำกัดตั้งแต่ 50% ขึ้นไป

และทั้ง 2 รายการข้างต้นรวมกันทั้งสินค้าและบริการมีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ 2,000 ล้านบาท/ปีขึ้นไป ผู้ที่ประสงค์จะรวมธุรกิจหรือควบรวมธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าภายใต้มาตรา 37 ก่อนจะรวมธุรกิจกันได้

หากไม่ยื่นขออนุญาตจะมีโทษตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่กระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ โดยเกณฑ์ควบรวมธุรกิจใหม่นี้เตรียมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและเสนอ ครม.เพื่อประกาศใช้ต่อไป

ปรับเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด

แหล่งข่าวในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การพิจารณาออกเกณฑ์การควบรวมธุรกิจ หรือเกณฑ์การรวมธุรกิจ ถือเป็นสิ่งจำเป็นกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย และให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ปัจจุบันมีการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ทั้งกรณีของโรงพยาบาล ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง และรายล่าสุดระหว่าง CPALL กับ MAKRO

"การออกเกณฑ์ควบรวมธุรกิจครั้งนี้ คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาจากกรณีของซีพี ออลล์-แม็คโคร แต่หารือตั้งแต่

ปี 2542 แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจุดประสงค์ไม่ใช่ห้ามรวมธุรกิจ เพียงแต่เป็นการกำหนดเงื่อนไขธุรกิจขนาดใดที่รวมกันแล้วจะต้องแจ้งขออนุญาต หากรวมแล้วการแข่งขันไม่ลดลง แต่ทำให้ประสิทธิภาพของธุรกิจดีขึ้น หรือช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจ หรือทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ก็ควบรวมได้ โดยกฎหมายนี้จะดูครอบคลุมทั้งธุรกิจสินค้าและบริการ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจ แต่หากขอแล้วไม่อนุญาต ก็ไม่สามารถควบรวมกิจการกันได้" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากการพิจารณาเกณฑ์ควบรวมธุรกิจแล้ว คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ เป็นไปตามผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ โดยเสนอให้เกณฑ์อำนาจเหนือตลาดใหม่ ด้วยการกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ตั้งแต่ 30%-50% ขึ้นไป จากเดิมที่จะดูว่า ผู้ประกอบการมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) มากกว่า 50% ของตลาดรวม และมียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท หรือผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นรวมกัน 3 รายมีมาร์เก็ตแชร์เกิน 75% ของตลาดรวมให้ถือว่าเป็น "ผู้มีอำนาจเหนือตลาด" ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มในการกำกับดูแล ป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดในการผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน และให้สอดคล้องกับเกณฑ์ควบรวมธุรกิจด้วย

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การควบรวมธุรกิจดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจมากขึ้น โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดส่วนแบ่งตลาด 30% และมูลค่ายอดขายหรือรายได้ตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปนั้น "น้อยเกินไป" ส่งผลให้การควบรวมธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าหมดทุกธุรกิจ จนกลายเป็นการควบคุมธุรกิจไม่ใช่การกำกับดูแลธุรกิจในประเทศ

เบเคอร์ฯชี้เกณฑ์เหวี่ยงแห

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี จำกัด บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดังให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี แต่มีคำถามว่า การกำหนดบริษัทที่มีรายได้ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปหรือส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 30% นั้น "มาจากบรรทัดฐานอะไรที่นำมาใช้กำหนดเกณฑ์ดังกล่าว"

หากจะมีการประกาศเกณฑ์การควบรวมธุรกิจควรจะเลือกธุรกิจบางประเภทที่ต้องการควบคุมดูแล หรือ ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยโดยตรง ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของแต่ละประเภทธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เหวี่ยงแหและใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด

และในกรณีของธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ประกาศเกณฑ์ดังกล่าว เพราะมีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงอยู่แล้ว อย่างธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ธุรกิจประกันภัยก็มีสำนักงาน คปภ. และธุรกิจหลักทรัพย์ ก็มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอยู่

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพียงพอที่จะรองรับการทำงานดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน รวมถึงฐานข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการตัดสินใจ เพราะการพิจารณาดีลการควบรวมธุรกิจแต่ละกรณีจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจและไม่กระทบต่อประโยชน์อันควรได้ของผู้บริโภคโดยรวม

"หากมีการบังคับใช้เกณฑ์ควบรวมธุรกิจดังกล่าว ต้องมีกลไกชัดเจนในการพิจารณาและต้องมีข้อกำหนดชัดเจนว่า จะให้คำตอบผู้ประกอบการภายในกี่วัน (มาตรา 37 ไม่ได้กำหนดไว้ โดยใช้คำว่า จะพิจารณาโดยไม่ชักช้า ?) เพราะการควบรวมกิจการเรื่องสปีดเป็นเรื่องสำคัญ ผมเกรงว่าจะกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินการของการควบรวมธุรกิจในอนาคต" นายกิติพงศ์กล่าว

ขณะที่นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ หัวหน้าสายวาณิชธนกิจ กลุ่มลูกค้าบรรษัท บล.ทิสโก้ กล่าวว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้ามีกรอบกำหนดไว้มาก่อนหน้านี้แล้ว หากกระทรวงพาณิชย์ออกเกณฑ์ที่มีความชัดเจนก็จะทำให้ธุรกิจที่ต้องการควบรวมกิจการเห็นภาพและเข้าใจประเด็นรายละเอียดกฎหมายมากขึ้น ว่าในเรื่องใดทำได้หรือเรื่องใดทำไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักธุรกิจที่ต้องมีการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการควบรวมกิจการหลังออกประกาศนั้นยังต้องรอติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะออกมาอย่างไร

ด้านนางศรัณยา กระแสเศียร กรรมการบริหาร บริษัท เซจ แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูลก่อนหน้านี้จะมีการกำหนดตัวเลขรายได้และส่วนแบ่งตลาดที่สูงกว่านี้ ดังนั้นจากข้อมูลล่าสุดที่ปรากฏออกมาถือว่า มีเป้าหมายจะเข้ามาควบคุมการควบรวมธุรกิจในกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดกลางเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีผลเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องมีการรายงานและต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า "ไม่ได้ใช้อำนาจธุรกิจขนาดใหญ่ทำลายธุรกิจรายเล็ก"




Cr.ประชาชาติ
 Attached I

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น