วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

TRUE อนาคตของยักษ์ผอม รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556


TRUE อนาคตของยักษ์ผอม

รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

สำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิตอลรายใหญ่ของไทย ผลประกอบการที่ขาดทุนทุกปี ไม่ใช่ปัญหา เพราะหลายคนมีความเชื่อมั่นว่า อนาคตของบริษัทนี้จะสดใสรุ่งโรจน์อย่างแน่นอน

ความคาดหวังที่ค่อนข้างสูงนี้ ยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อผู้บริหารของบริษัทได้ระบุว่า มีแผนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หลังข้อพิพาทกรรมสิทธิ์ในเสากับ CAT คลี่คลาย ซึ่งหากตั้งสำเร็จ จะทำให้ปัญหาการเงินที่หนักอกของผู้บริหารมายาวนานผ่อนคลายลงไป และ ดันผลประกอบการพลิกเป็นกำไรได้

ข้อเด่นของกองทุนพื้นฐานอยู่ที่ จะทำให้รายได้ค่าเช่าหายไป แต่ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงจากการชำระหนี้ ในขณะที่อนาคตค่าเสื่อมราคาส่วนใหญ่จะหายไปจากการขายสินทรัพย์ซึ่งประกอบด้วยจากเสารับส่งเครือข่ายสัญญาณ หรือ เซลไซท์ ทั้งสิ้น ราว 13,000  ต้น เข้ากองทุนฯ ซึ่งดีกว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวและต้นทุนการเงินเป็นภาระทำให้ไม่มีกำไร แต่ในระยะยาวแล้วอาจส่งผลต่อ EBITDA อาจจะลดลงจากเดิม
 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติขายทรัพย์สิน และให้เช่าทรัพย์สินในอนาคตบางรายการ เพื่อจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาท  ได้แก่ ทรัพย์สินที่จะจำหน่ายเข้ากองทุน  คือ 1.เสาโทรคมนาคม 13,000 เสา  2.โครงข่ายใยแก้วนำแสง อุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณ 45,000 คอร์กิโลเมตร และ 9,000 ลิงค์ 3.โครงข่ายบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต
นอกจากนั้น ยังมีส่วนทรัพย์สินที่จะขายสิทธิรายได้ ได้แก่ สิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ที่เกิดจากการให้เช่าอุปกรณ์ 3G HSPA จำนวน 13,500 สถานีฐาน ส่วนสิทธิให้เช่าทรัพย์สิน ได้แก่ เสาโทรคมนาคม ไม่เกิน 100 เสา
ขั้นตอนต่อไปคือ ขออนุมัติจัดตั้งกองทุนฯ กับ ก.ล.ต. โดยมีบริษัท เจวีเอส ที่ปรึกษาการเงิน จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งหากได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง บริษัทมีแผนที่จะจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนประมาณ 33.33% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีมูลค่าเท่าใด เพราะยังต้องผ่านกระบวนการเสนอขายสุดท้ายของหน่วยลงทุนของกองทุน ที่จะกำหนดโดยวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหน่วยลงทุนของนักลงทุนสถาบัน (bookbuilding) และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาวะของตลาดในขณะนั้นและจำนวนเงินกู้ที่กองทุนจัดหา
 การตั้งกองทุนฯถือเป็นข่าวดี 2 ชั้น เพราะในทางปฏิบัติ การตั้งกองทุนจะทำได้เมื่อ ประเด็นพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมของ TrueMove กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่ยืดเยื้อมานาน จากการที่ฝ่ายหลัง เรียกร้องกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมจำนวน 4,500 ต้นตามเงื่อนไขสัมปทานเดิม และเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวดีโผล่มา นั่นคือ อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งยกฟ้อง เปิดช่องให้ CAT และ TRUE สามารถใช้ประโยชน์ทำธุรกิจร่วมกันในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกัน เป็นทางออกที่ดีทั้งสองฝ่าย

แต่แล้วข่าวดีก็กลายเป็นฝันร้าย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา TRUE  ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับการเลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นออกไปจากวันที่ 12 ก.ย.2556 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทพบว่าการเข้าทำธุรกรรมกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีเวลาเพียง พอที่จะทำการศึกษาเพื่อให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทเกี่ยวกับธุรกรรม การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์อันเนื่องมาจากการเข้าทำธุรกรรมกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจึงเห็นควรให้เลื่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/56 ออกไปก่อน ทั้งนี้ ภายในเดือนก.ย.56 บริษัทจะทำการกำหนดวันที่จะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/56 ครั้งใหม่

เหตุผลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหากรรมสิทธิ์ในเสาโครงข่ายสัญญาณ อีก 4.5 พันต้นนั้น  ยังมีปัญหาเพราะ กสท ยังมีโอกาสยื่นฟ้องอีกครั้งหลังหมดสัมปทาน และก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติตั้งกองทุนทุกชนิด ยังคงให้น้ำหนักประเด็นความชัดเจนในกรรมสิทธิ์ของเสาโทรคมนาคม ส่งผลให้คาดว่าแผนการจัดตั้งกองทุนมีแนวโน้มเลื่อนออกไป  อย่างน้อยหลังหมดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. และจนกว่าจะได้ความชัดเจนในกรรมสิทธิ์ของเสาโทรคมนาคม
ผลพวงที่ตามมาคือ นักลงทุนต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัทอีกครั้ง
แม้นักวิเคราะห์จะประเมินว่าตัวเลขการขาดทุนในครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะลดลงไปได้มากก็ตาม แต่ก็ยังคงขาดทุนต่อไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทได้ง่ายมาก เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2556 เหลืออยู่เพียงแค่ 9.95 พันล้านบาทเท่านั้น เทียบกับหนี้สิน 1.98 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ค่า D/E ของบริษัทมากถึง 19 เท่าเลยทีเดียว

สถานการณ์ดังกล่าว ตรงกันข้ามกับคำให้สัมภาษณ์ต้นปีนี้โดยผู้บริหารของบริษัท นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ที่มีความมั่นใจว่า ปี 2556 จะกลับมาทำกำไรด้วยการดำเนินงานที่แท้จริง เพราะ TRUE ได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจไปแล้ว มีแต่จะกลับมาเป็นวัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ จะมีความสำเร็จจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะถึงจุดคุ้มทุน ส่วนทรูออนไลน์ และทรูวิชั่นส์ ที่สร้างกำไรให้บริษัททุกปีจะเติบโตมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสปรับฐานะดีมากขึ้น

ผลของข่าวร้าย ก็คาดเดาไม่ยาก เพราะรายการเทขายด้วยความผิดหวัง ก็ส่งผลต่อราคาค่อนข้างรุนแรง เพราะประจวบเหมาะกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นกำลังถูกต่างชาติขายหนักเพื่อถอนการลงทุนออกไปพอดี  แต่ผลพวงจากการออกกองทุนไม่ได้เช่นนี้ จะกลายเป็นแรงกดดันให้เกิดคำถามว่า TRUE ราคาเท่าไร ถึงไม่แพง ติดอยู่ที่ริมฝีปากของนักลงทุนไปอีกยาวนานทีเดียว

โดยธุรกิจแล้ว แม้ว่า TRUE จะมีจุดเด่นที่มีความหลากหลายครบถ้วน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มธุรกิจด้วยกัน 3 กลุ่มคือ
กลุ่มทรูโมบายล์ ซึ่งประกอบด้วย ทรูมูฟ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสาม และเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มในด้านจำนวนสมาชิก และรายได้ ทรูมูฟ เอช ผู้ให้บริการขายต่อบริการ 3G+ ของ กสท โทรคมนาคม (กสท) ด้วยเทคโนโลยี HSPA บนคลื่นความถี่ 850MHz และฮัทช์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครือข่าย CDMA
ทรูออนไลน์ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ทรูวิชั่นส์ ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทั่วประเทศ ทรูมันนี่ บริการธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ และบริการดิจิตอลคอนเทนต์ต่างๆ อาทิ บริการเกมออนไลน์ การดาวน์โหลดคอนเทนต์ และบริการเว็บพอร์ทัลภายใต้ทรูไลฟ์
ทั้งสามกลุ่มธุรกิจนี้  มีการบริหารจัดการภายใต้คอนเซ็ปต์หลักคือ ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ที่ผสมผสานผลิตภัณฑ์บริการ และโครงข่าย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรที่ตอบสนองตรงใจทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ต้องพึ่งพากลยุทธ์ด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว
ที่ผ่านมา การตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้า และทำตลาดแบบไลฟ์สไตล์ตามนโยบายคอนเวอร์เจนซ์ ด้วยการออกแคมเปญสารพัดต่อเนื่อง เพื่อสร้างลูกค้าใหม่สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้บริการนอนวอยซ์เติบโตอย่างมาก และตลาดต่างจังหวัดก็แสดงศักยภาพว่ายังมีโอกาสโตอีกมาก โดยไม่เน้นกลยุทธ์ราคา สะท้อนให้เห็นแนวทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ได้สร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ตรงกันข้าม ทำให้มีตัวเลขขาดทุนจากการประกอบการต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วน ROE และอัตราส่วนกำไรสุทธิ ที่ลดลงสวนทางกับรายได้
โอกาสของ TRUE หลังการได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 3 จี ถือเป็นการปลดปล่อยครั้งสำคัญ เพราะทำให้โอกาสในการแข่งขันของ TRUE  ซึ่งเคยเป็น “ผู้มาทีหลัง” ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในธุรกิจโทรคมนาคมไม่เสียเปรียบคู่แข่งขันรายอื่นในธุรกิจโทรคมนาคมอีกต่อไป และเป็นโอกาสทางการเงินควบคู่ไปด้วย เพราะคาดว่าช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2556 การให้บริการโทรศัพท์มือถือจะถึงจุดคุ้มทุน เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้า 3 จี จำนวน 5 ล้านเลขหมาย ที่สานต่อด้วยกลยุทธ์ธุรกิจ คอนเวอร์เจนซ์
ความมั่นใจว่าอนาคตจะเข้าสู่ช่วงทะยานขึ้น ทำให้ TRUE วาดแผนการลงทุนใหม่รับภาวะเสือติดปีก ในปี 2556 ด้วยงบประมาณลงทุนทั้งกลุ่มไว้ที่ 2.65 หมื่นล้านบาท ที่มาจากเงินกู้ และกระแสเงินสดของบริษัท แบ่งเป็นการลงทุนธุรกิจทรูออนไลน์ 1 หมื่นล้านบาท กลุ่มธุรกิจทรูโมบายล์  1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นใช้วางโครงข่าย 3 จี บนคลื่น 2.1 GHz ให้ครอบคลุมได้ 50% ภายใน 2 ปีตามเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด และทรูวิชั่นส์ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบลงทุนรวมในปีนี้
นอกจากนั้นในปี 2556 นี้ ยังมีรายได้ใหม่จากบริการข้อมูล (data) ที่จะมีการเติบโตมากถึง 70% จากปีนี้ ส่งผลให้รายได้ของกลุ่ม TRUE ในปี 56 คาดจะเติบโตราว 10% จากปีนี้ที่อัตราเติบโตใกล้ 10% เช่นกัน
การรุกทางธุรกิจเหล่านี้ ต้องการทุนมหาศาล แต่โอกาสที่จะทำกำไรมากมาย ก็ใช่ว่าจะง่ายดาย เพราะในธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มของ TRUE นั้น ก็มีคู่แข่งที่ชัดเจนปรากฏให้เห็นเป็นขวากหนามต่อไป ( ดังจะเห็นได้จากตารางประกอบ) ในทุกกลุ่มที่ล้วนแล้วแต่แข็งแกร่งทั้งสิ้น

คู่แข่งทางธุรกิจของTRUE ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มบริการ
คู่แข่งขันสำคัญ
โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มทรูโมบายล์
ADVANC และ DTAC
บริการอินเตอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต กลุ่มทรูออนไลน์
ค่าย JAS ทำธุรกิจควบคู่ไปกับค่าย ADVANC
บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทั่วประเทศทรูวิชั่นส์
บริการธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ทรูมันนี่ และบริการดิจิตอลคอนเทนต์
CTH 
GRAMMY
RS และค่ายโทรศัพท์มือถืออื่นๆ


แนวรบทั้ง 3 ด้านของบริษัทโดยมีคู่แข่งขันที่ไม่ด้อยกว่ากันเท่าใดล้อมกรอบอยู่ โดยไม่ได้นัดหมาย เป็นคำถามที่ท้าทายผู้บริหารบริษัท และนักลงทุนอย่างมาก แม้ผู้บริหารของ TRUE จะยังมองโลกในแง่ดีว่า มีโอกาสกลับมาทำกำไรได้ แต่ความมั่นใจในตัวเอง กับข้อเท็จจริงของการแข่งขัน ก็อาจสวนทางกันได้ หรือไม่ไปด้วยกันเสมอ
เงื่อนไขที่สำคัญ ไม่ใช่อยู่เพียงแค่ว่า ผู้บริหารของบริษัทจะสามารถผสมผสานประสิทธิภาพของธุรกิจให้กับยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์อย่างต่อเนื่องมากน้อยเพียงใดเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การขจัดความเสี่ยงเรื่องหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นที่นับวันจะร่อยหรอเพราะการขาดทุนต่อเนื่องด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา TRUE มีตัวเลขผลประกอบการขาดทุนและหนี้สะสมเพิ่มพูนสูงตลอด แต่ราคาหุ้นในมือของนักลงทุนก็ไม่เคยหวั่นไหวไปกับสถานการณ์ แต่จากนี้ไป สถานการณ์ทางการเงินที่บีบรัด อาจจะไม่เป็นไปตามเดิมอีกต่อไป หากผู้บริหารไม่สามารถแก้โจทย์ที่ท้าทายมากทีเดียวว่า  TRUE จะก้าวพ้นสภาพ ยักษ์ผอมได้หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น