วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

AOTหวั่นขาดทุนค่าเงิน คุยไจก้าลดเวลาใช้หนี้ ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2556

AOTหวั่นขาดทุนค่าเงิน
คุยไจก้าลดเวลาใช้หนี้

ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 8 คน 

AOT ลุยเจรจา JICA ขอลดเวลาชำระหนี้จาก 25 ปี เหลือ 10 ปี เพราะเหลือมูลหนี้แค่ 2,000 ล้านบาท หวั่นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนทำพิษ แม้ JICA คิดดอกเบี้ยต่ำ ขณะปีนี้คาดผู้โดยสารโต 10% สูงกว่าที่คาด เหตุสนามบินภูเก็ตดีต่อเนื่อง

                นางสุภาภรณ์  บุรพกุศลศรี  รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานแผนงานและการเงิน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ขณะนี้ AOT กำลังแก้ปัญหาภาระหนี้ก้อนใหญ่สุดที่กู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) เพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งยังเหลืออยู่อีก 7,000-9,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท  หลังจาก AOT ดำเนินการปรับสกุลหนี้เงินกู้ (สว็อป) จากเยนเป็นบาทไปแล้ว 10,000 ล้านบาทในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ด้วยการเจรจากับ JICA เพื่อขอลดระยะเวลาการชำระหนี้จาก 25 ปี เหลือ 10 ปี ขณะที่ก่อนหน้านี้ AOT เคยเจรจาขอใช้คืนหนี้ที่เหลืออยู่ทั้งหมดแล้ว แต่ JICA ไม่ยินยอม
                ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดการภาระหนี้สินให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยการเจรจาขอลดเวลาชำระหนี้เช่นกัน แต่เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องดูแลรัฐ วิสาหกิจหลายหน่วยงาน AOT จึงดำเนินการเจรจาเองด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะได้ข้อยุติ เพราะ JICA จะทำแผนการทำงานเป็นรายปี
                “ยอมรับว่าการเจรจาเป็นไปได้ยากมาก เพราะดูท่าทาง JICA คงไม่ยอมง่ายๆ ซึ่งเราเคยคุยกับ JICA สำนักงานประเทศไทย เขาบอกว่าต้องรอให้สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นพิจารณาก่อน  มูลหนี้ที่กู้ JICA เป็นหนี้ก้อนใหญ่สุดของเรา ตอนนี้เหลือไม่เยอะ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยก็ไม่แพงประมาณ 0.75-0.90 บาท แต่สิ่งที่เรากลัวคือเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้เราขาดทุนได้ เราจึงจำเป็นต้องจัดการให้เรียบร้อย ก่อนหน้านี้เคยเจรจาขอใช้คืนทั้งหมด 2,000 ล้านบาท แต่ JICA ไม่ยอม เราเลยขอว่าช่วยลดระยะเวลาให้เราเหลือ 10 ปีได้หรือไม่ ถ้าเขายอมเราจะดูโอกาสเพื่อทำสว็อปหนี้อีกครั้ง” นางสุภาภรณ์  กล่าว 
                นางสุภาภรณ์  กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มการดำเนินงานช่วงไตรมาส 4/2556 (ก.ค.-ก.ย.) ว่า อัตราเที่ยวบินและผู้โดยสารอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ช่วงไตรมาส 4 ของ AOT จะยังไม่เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ซึ่งปกติจะเริ่มที่เดือนตุลาคม-มกราคม เนื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงวันหยุดยาว ล่าสุดหยุดวันแม่แห่งชาติ ผู้โดยสารอยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน จากปกติ 30,000-40,000 คนต่อวัน จึงคาดว่าปีนี้ผู้โดยสารจะเติบโตถึง 10% จากที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต 7-8%
                “ช่วงไตรมาส 4 เที่ยวบิน ผู้โดยสารไม่ตกเลย เพิ่มมากกว่าที่คาดด้วย โดยเฉพาะภูเก็ตที่เต็มตลอด ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเพราะจีนกับญี่ปุ่นกำลังมีปัญหากัน นักท่องเที่ยวชาวจีนจึงหันมาเที่ยวไทยมากขึ้นโดยเฉพาะภูเก็ตและเชียงใหม่ ส่วนดอนเมืองก็จะทำยอดเยอะเวลามีวันหยุดยาว ปีนี้จึงคาดว่าผู้โดยสารน่าจะเติบโตถึง 10%” นางสุภาภรณ์  กล่าว
ด้านนายพงศ์ศักติฐ์  เสมสันต์  รองประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ AOT  เปิดเผยว่า  การประชุมบอร์ดวันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะเสนอผลการประกวดราคาโดยวิธีพิเศษงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารชั่วคราวที่ท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 145 ล้านบาท และจะลงนามกับผู้รับงานในวันเดียวกัน เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จทันรับฤดูท่องเที่ยว โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 3 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 10 ล้านคนต่อปี 
                ทั้งนี้ ปัญหาความแออัดที่ท่าอากาศยานภูเก็ต ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการ คือ กรณีที่บริษัททัวร์รีบนำลูกทัวร์มาส่งทิ้งไว้ที่ท่าอากาศยานฯ ก่อนเวลาเดินทางนานเกินไป เช่น เดินทางเวลา 01.00 น. แต่มาส่งตั้งแต่ 12.00 น. ซึ่งพอจะทราบเหตุผลที่บริษัททัวร์ทำเช่นนั้น แต่ไม่ขอแสดงความเห็น ดังนั้น จึงต้องมีการประสานกับบริษัททัวร์ เพื่อบริหารเวลาในการส่งลูกทัวร์ด้วย    
                นายพงศ์ศักติฐ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  จากการศึกษาปริมาณการจราจรทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตขึ้น 6.3% ต่อปี การเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศภายในภูมิภาคนี้จะเติบโต 6.5% ต่อปี  และในช่วง 20 ปีข้างหน้า สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการเพิ่มจำนวนอากาศยานใหม่อีก 12,820 ลำ คิดเป็นมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งจะทำให้จำนวนอากาศยานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเกือบ 3 เท่า จากปี 2555 อยู่ที่ 5,090 ลำ เป็น 14,750 ลำในปี 2575  ดังนั้น AOT จึงต้องเตรียมรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น