วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

SMT ช่องว่างความฝันกับความจริง รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 08 สิงหาคม 2556

SMT ช่องว่างความฝันกับความจริง

รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 08 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 100 คน 


แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัท สตาร์ส ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT จะยังไม่ประกาศออกมา แต่นักวิเคราะห์ ก็ยอมรับกันออกมาแล้วว่า บริษัทจะขาดทุนประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งหักล้างคำประกาศหรือแผนธุรกิจของบริษัทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ว่า ปีนี้จะเป็นปีของการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในฐานะที่เคยเป็นบริษัทดาวรุ่งของวงการอีเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย ที่ราคาหุ้นเคยวิ่งขึ้นไปถึง 25 บาท ก่อนจะลดลงมาใต้ 10 บาทยาวนาน
คำพูดของผู้บริหารบริษัทที่เคยบอกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นไตรมาสที่มีตัวเลขต่ำสุด แล้ว และ ไตรมาสสองจะกำไรเพิ่มขึ้น เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้
การประเมินสถานการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ระบุว่า SMT จะขาดทุนจากการดำเนินงานปกติลดลงเป็น 84 ล้านบาทจากกำไร 111 ล้านบาทในไตรมาสแรก เนื่องการใช้กำลังการผลิตยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุนที่ 55% แถมพ่วงด้วยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายทางการเงินคาดทรงตัวจาก 1Q56 ที่ 9 ล้านบาท ไม่มีเงินประกันจากน้ำท่วม ทำให้ประเมินตัวเลขขาดทุนสุทธิ 2Q56 ที่ 104 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการประเมินอีกว่า การฟื้นตัวของ SMT ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้สวยงาม จะเลื่อนออกไปอีก 3 ปีเลยทีเดียว โดย คาดว่าสิ้นปี 2556 จะขาดทุนปกติ 251 ล้านบาท (ไม่นับขาดทุนพิเศษหรืออื่นๆ) ขณะที่ประมาณการและมุมมองเชิงบวกจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป โดยธุรกิจ IC เป็นหลัก ปัจจุบันมีลูกค้าผู้ผลิต Smart devices รายใหญ่ของโลกทั้งในสหรัฐ, เกาหลีใต้ และจีน จะเข้ามาเป็นลูกค้าในอนาคต
ความขรุขระทางชะตากรรมของ SMT ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ทำให้คาดเดาได้ยากสำหรับธุรกิจชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ หลังจากที่บริษัทนี้ เคยทำกำไรมหาศาลในช่วงก่อนปี 2554 จนกลายเป็นหุ้นดาวรุ่งที่ราคาพุ่งขึ้นยาวนานสวนภาวะตลาดที่ผันผวน
ในปี 2554 คือ ปีที่ผกผันอย่างแท้จริงของ SMT ที่นักลงทุนจำนวนมากจดจำหุ้นของบริษัทได้อย่างขึ้นใจ หลังจากที่ถูกผลพวงของน้ำท่วมและผลประกอบการกดดันให้ต่ำลงไปถึง 5 บาทเศษ
หลังจากน้ำท่วมผ่านไป ราคาหุ้นของ SMT พยายามกลับมาที่ระดับจุดสูงสุดในรอบ 2 ปีใหม่อีกครั้งเหนือ 12 บาท พร้อมกับแผนธุรกิจและข่าวดีที่ผู้บริหารระบุเอาไว้ว่าจะสามารถพลิกผันกลับมาทำกำไรสวยงาม สามารถล้างขาดทุนสะสมเพื่อกลับมาจ่ายปันผลรอบใหม่ในช่วงตลาดและเศรษฐกิจไทยยังเป็นขาขึ้น
นักลงทุนเชื่อใจกันว่า แผนธุรกิจที่ผู้บริหารแถลงนั้น แม้จะยังไม่มีคำตอบชัดเจน ก็น่าจะสามารถบอกเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นได้ตามสมควรว่า บาดแผลจากครั้งน้ำท่วมใหญ่ที่เคยทำให้บริษัทซวนเซนั้น หายสนิทแล้ว พร้อมจะกลับมาเปิดเกมรุกต่อไปด้วยห้วงเวลาของการเริ่มทะยานขึ้นรอบใหม่ทางด้านรายได้และกำไร
ตัวเลขเงินชดเชยจากประกันภัยน้ำท่วมซึ่งจ่ายเป็นเงินบาท ทำให้คาดหมายกันว่ากำไรปกติและกำไรพิเศษที่บันทึกเอาไว้ จะเป็นปีแห่งการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ครั้งใหม่ของ SMT  เพราะบริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเคยเป็นยอดตัวเลขรายได้ที่ทำไว้เมื่อสิ้นปี 2553 จากการปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจครั้งสำคัญด้วยการมุ่งเน้นการผลิตสินค้าแผงวงจรไฟฟ้ารวม (Integrated Circuit : IC) เป็นหลัก 60% และเสริมด้วยธุรกิจชิ้นส่วน MMA (Microelectronics Module Assembly) 40%
ในช่วงไตรมาสแรก มีคำถามพอสมควรว่า บริษัทส่งออกชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์อย่าง SMT จะได้รับผลประกบจากเงินบาทแข็งค่ามากน้อยแค่ไหน ก็มีคำตอบจากผู้บริหาร นายพลศักดิ์ เลิศพุฒิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ว่า เงินบาทที่แข็งค่า เป็นผลบวกต่อบริษัทเพราะบริษัทได้สั่งซื้อเครื่องจักรไว้ตั้งแต่กลางปี 55 ซึ่งต้องจ่ายเป็นเงินดอลลาร์มูลค่ารวม 1,200 ล้านบาท โดยกลางปี 55 เจรจาซื้อเครื่องจักร ณ เวลานั้น ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 30.8 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่วันนี้บาทแข็งค่ามาที่ 29.9 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาใกล้ๆ 1 บาท หรือคิดเป็น 3-4% ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินดอลลาร์ในปีนี้ ประกอบกับปีนี้บริษัทจะต้องได้รับเงินประกันชดเชยน้ำท่วมซึ่งจ่ายเป็นเงินบาทเข้ามา
นอกจากนั้น การที่บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มในส่วนของสินค้าแผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC) เพิ่มขึ้น โดยปีนี้บริษัทจะปรับสัดส่วนรายได้เป็นสินค้าไอทีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไอซี แพ็กเกจจิ้ง เพิ่มเป็น 65% และสินค้าชิ้นส่วน MMA เหลือ 35% จากปี 55 สัดส่วนที่ 35:65 % ก็จะทำให้สามารถก้าวข้ามปัญหาได้ดียิ่งขึ้นไปอีก หลังจากที่ลูกค้าฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ของโลกจะมอบออเดอร์ให้บริษัทผลิตสินค้ามากขึ้นและในรูปแบบที่ครบวงจรมากขึ้น และคาดว่าผลลัพธ์ดังกล่าวจะเริ่มเห็นชัดเจนเต็มที่ภายในปี 56
 ความมั่นใจเต็มเปี่ยมจากผู้บริหาร ว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสม 103 ล้านบาทหมดปีนี้ จ่อบุ๊คกำไรส่วนเกินเงินเคลมประกันกว่า 700 ล้านบาทในไตรมาส 1 และ 2 กลับปรากฏผลตรงกันข้าม ในไตรมาสสองที่กลับมาขาดทุนระลอกใหม่ เท่ากับว่า สิ่งที่ผู้บริหารกล่าวมาก่อนหน้านี้ เกิดจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ที่ดีเกินจริง ในขณะที่เห็นได้ชัดว่า มีข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้กับบริษัทคือ
1)ธุรกิจเก่าที่เคยกระทำมายังมีปัญหาคงค้างให้สะสาง  
2) ความผันผวนของธุรกิจรุนแรงมากขึ้นจนยากจะประเมินได้ถูกต้อง
3) บริษัทยังคงคาดหวังเพื่อรอธุรกิจใหม่ที่เริ่มลงทุนสร้างรายได้เติบโตในอนาคต และ หวังจะสปินออฟ หรือแตกธุรกิจใหม่เข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนตามช่องทางที่เปิดให้
กรณีหลังสุดนี้ หากเป็นจริงก็น่าจะช่วยได้ไม่น้อย แต่ข้อเท็จจริงที่ทราบกันก็คือ บริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่สำหรับรองรับอนาคตคือ SSRFID ซึ่งจับมือร่วมทุนกับ Sinfonia (บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่น) ด้วยวงเงินลงทุน 100 ล้านบาท เพื่อทำการผลิต  RFID Tag ฉลากอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (RFID Tags) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก แม้จะมีศักยภาพในอนาคต แต่ยังไม่มีรายได้ในทันที
ในทางการตลาด ความต้องการใช้งาน RFID Tags ในตลาดโลกมีมากกว่า มากกว่า 1,000 ล้านชิ้นต่อปี โดยปัจจุบันบริษัท SS RFID มีสายการผลิต RFID 2 สาย ผลิตได้เดือนละ 9 ล้านชิ้น ทั้งปีผลิตได้ประมาณ 100 ล้านชิ้น ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีสายการผลิตเพิ่มเป็น 5 สาย ก็จะทำให้ผลิตได้ปีละ 500 ล้านชิ้น ซึ่งจะทำให้ SMT เป็นผู้ผลิต RFID ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในราคาต่อหน่วยที่ต่ำที่สุดเพียงรายเดียวในประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริงคือ การสร้างรายได้จริงจะต้องใช้เวลานานถึง 2 – 3 ไตรมาส จึงจะเริ่มเห็นรายได้ที่ชัดเจน ซึ่งคากว่ากว่าจะถึงจุดคุ้มทุนราวไตรมาสสามของปี 2557 3Q57 แล้วหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการนำ SSRFID จดทะเบียนในตลาด MAI ภายใน 3ปี
ตัวเลขผลประกอบการที่แท้จริง ซึ่งสวนทางกับคำให้สัมภาษณ์หรื ชี้แจงของผู้บริหารดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลให้นักลงทุนผิดหวังในการเข้าซื้อหุ้นเท่านั้น แต่ความเชื่อมั่นในคำพูดของผู้บริหารในอนาคตก็จะลดลงโดยปริยาย ไม่สามารถชี้นำอนาคตได้ชัดเจนอีกต่อไป ถือเป็นวิกฤตศรัทธาที่ไม่ควรประมาท เพราะส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นได้ง่ายมาก
สถานการณ์เช่นนี้ ไม่น่าประหลาดใจที่ราคาหุ้นของ SMTในปีนี้จะกลายเป็นหุ้นดาวร่วงไปอีกยาวนานพอสมควร เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ที่ทำให้พลิกกลับมามีกำไรสวยงามเกินระดับปกติ ซึ่งหากทำได้ ก็จะเปลี่ยนไปอีกเช่นเดิม กลับมาเป็นหุ้นดาวรุ่งรอบใหม่ได้             
เพียงแต่ตอนนี้ ความฝันว่าราคาหุ้นจะกลับไปจุดสูงสุดระลอกใหม่ ก็คงเป็นไปได้แค่ความฝันอันยาวนานเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น