วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความเน่าเฟะธนาคารอเมริกัน คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556

ความเน่าเฟะธนาคารอเมริกัน

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

มีตัวเลขเชิงสถิติที่น่าสนใจ ที่บอกให้รู้ว่า ปัญหาธรรมาภิบาลที่พวกตะวันตกเคยใช้กับธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนานั้น เป็นแค่คำพูดสวยหรูที่มีเจตนาเหยียดหยามแฝงอยู่อย่างชัดเจน
                นับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 5 ปีก่อน จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีข้อมูลเปิดเผยล่าสุดว่า ธนาคารพาณิชย์ และวาณิชธนกิจระดับหัวแถว 6 แห่งของสหรัฐประกอบด้วย JPMORGAN CHASE & CO, BANK OF AMERICA, CITIGROUP INC., WELLS FARGO & COMPANY, GOLDMAN SACHS และ MORGAN STANLEY (เจ้าของดัชนี MSCI) จ่ายเงินค่าประนีประนอมยอมความ หรือค่าปรับไปแล้วรวมกัน 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการกระทำความผิดกฎกติกาสารพัดที่ถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่หรือลูกค้า
                ข้อเท็จจริงดังกล่าว ถูกเปิดโปงเพิ่มเติมอีกว่า วงเงินที่จ่ายไปมหาศาลดังกล่าวเป็นคดีเพียงประมาณ 40% ของคดีทั้งหมดที่ถูกกล่าวหา หรือสถาบันการเงินทั้ง 6 ตกเป็นจำเลย ดังนั้น หากคำนวณดูจากความยุ่งยากของคดีที่เหลือหรือคั่งค้าง เชื่อได้เลยว่า มูลค่าที่จะต้องจ่ายชำระค่าคดีความต่างๆ อาจจะเพิ่มทวีมากกว่า 2 เท่าของที่จ่ายไปแล้วดังที่ปรากฏ
                อย่างน้อยที่สุด อัยการหรือเจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐหลายรัฐก็ยังมีการระบุเพิ่มเติมอีกว่า จะมีเรื่องอีกจำนวนมากที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมากล่าวหาสถาบันการเงินหรืออดีตผู้บริหารของสถาบันการเงินเหล่านี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต นับหมื่นคดีเลยทีเดียว
ตัวเลขดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากการสังเคราะห์งบการเงินของสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่งที่กลับมาทำกำไรได้งดงาม จากการอุ้มชูของมาตรการ QE ทั้งหลายของเฟด ไม่รวมถึงสถาบันการเงินทั้งหลายที่งบถูกผู้ตรวจสอบบัญชีตั้งคำถาม หรือยังคงมีขาดทุนปรากฏให้เห็น หรือกำไรไม่แน่ไม่นอน
                เงินจำนวนดังกล่าว มีมูลค่าสูงกว่าเงินปันผลที่ธนาคารเหล่านี้จ่ายไปให้กับผู้ถือหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเสียอีก โดยที่ยังไม่รวมถึงคดีความที่ยังคาราคาซังไม่ถึงที่สุดตามกระบวนการอีกจำนวนมากมายกว่าที่ยุติไปแล้ว
                คำถามก็คือว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับความผิดจำนวนมหาศาลดังกล่าว สะท้อนธรรมาภิบาลของธนาคารและวาณิชธนกิจเหล่านี้ ซึ่งว่าไปแล้วยังมีเกรดสูงในเรตติ้งของ S&P  หรือ Moody’s ว่าต่ำเพียงไหน
                ยิ่งไปกว่านั้น หากเทียบกับปัญหาทั้งระบบของสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนที่ออกตราสารหนี้มาขายในท้องตลาด ซึ่งมีอีกนับหมื่นรายในสหรัฐ ก็จะยิ่งเข้าใจดีว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการแก้ความบกพร่องที่ต้อง “ล้างชำระ” กันอย่างขนานใหญ่ในระบบการเงินและองค์กรธุรกิจของอเมริกันทั่วประเทศนั้นมหาศาลเพียงใด
                แล้วก็ไม่ควรแปลกใจว่าเหตุใด มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ที่มีมาตั้งแต่ 1-4 จะได้ผลค่อนข้างต่ำ และเป็นที่มาของข้อถกเถียงว่า การยกเลิกหรือลดหย่อนมาตรการดังกล่าวที่กองทุน ETFs ทั้งหลายพากันหวาดผวาแล้วถอนเงินกลับจากตลาดเอเชียชนิดขายไม่ยั้งมันรุนแรงเพียงใด
                5 ปีผ่านไป คดีความที่เกิดจากข้อกล่าวหาว่า ชักชวนลูกค้าให้หลงผิดในการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารอนุพันธ์ ความผิดในการบิดเบือนอัตราดอกเบี้ยเลือกปฏิบัติ และปั่นราคาหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอนุพันธ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ยังคงกองเป็นปึกๆ รอการรื้อฟื้นคดีขึ้นสู่ศาลโดยเจ้าหน้าที่และลูกค้าของสถาบันการเงินทั่วสหรัฐ
สถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า ได้สำรองเงินสำหรับจ่ายค่าคดีความครึ่งหลังของปีนี้อีกจำนวนหนึ่ง เช่น Citigroup สำรองไว้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ส่วน JPMorgan เตรียมสำรองไว้อีก 6.8 พันล้านดอลลาร์ Bank of America สำรองไว้อีก 2.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นต้น
                 ปรากฏการณ์เช่นนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า ธรรมาภิบาลที่พวกชาติตะวันตกเคยอ้างว่าเหนือกว่าชาติกำลังพัฒนาในตลาดเมื่อตอนวิกฤตต้มยำกุ้งในไทย และชาติอื่นๆ อย่างแพร่ระบาดเมื่อ 15 ปีก่อนโน้น เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ เพราะกระบวนการตรวจสอบ กำกับดูแล และพฤติกรรมทางการเงินทั้งหลาย เข้าข่ายทำชั่วชนิด “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” ทั้งสิ้น
                ความเสียหายของชาติกำลังพัฒนาที่กระทำโดยสถาบันการเงิน กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ไปโดยปริยายเมื่อเทียบกับกระบวนการ และมูลค่าของความผิดที่กระทำโดยสถาบันการเงินอเมริกันทั้งระบบ และกลายเป็นคำอธิบายได้ชัดเจนว่าเหตุใดมาตรการ QE  จึงยังคงมีความสำคัญต่อพวกเขาอยู่ต่อไป
                แล้วก็ยิ่งเข้าใจนัยของความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีกเมื่อมีนักวิเคราะห์ หรือสื่อจำนวนไม่น้อยพยายามกล่าวหาว่า การหยิบยกเรื่องข้อกล่าวหาทางด้านคดีความขึ้นมากล่าวหาสถาบันการเงินเหล่านี้ เป็นการกลั่นแกล้งราคาหุ้นที่กำลังวิ่งฉิวอย่างแข็งแกร่งในดัชนีดาวโจนส์
                ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในระหว่างการช่วยเหลือทั้งหลายที่รัฐบาลอเมริกัน และเฟดได้กระทำเพื่อความอยู่รอดเต็มที่นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการและพฤติกรรมที่โปร่งใสขึ้นกี่มากน้อย ซึ่งเป็นคำถามตามมาถึงความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการเงินอเมริกันในปัจจุบันอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น