ขยายธุรกิจด้วย Cash Flow ไม่จำเป็นไม่เพิ่งแบงก์ เหตุนี้แหละมั้ง “มาสเตอร์ แอด” ของ “ตั้ม-นพดล ตัณศลารักษ์” ถึงขึ้นแท่น “ขวัญใจ” วีไอ
ชื่อ:  00.jpg
ครั้ง: 916
ขนาด:  11.4 กิโลไบต์
เดินธุรกิจด้วย “กระแสเงินสด-ไม่กู้เงินแบงก์”

วิสัยทัศน์เหล่านี้ ถือเป็น “แรงดึงดูด” เงินลงทุนของนักลงทุน Value Investment หรือ VI ให้แห่มาชุมนุมอยู่ใน “มาสเตอร์ แอด” (MACO) ผู้ผลิตโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร (The Leader in OHM Solution Provider) ของ “ตระกูลตัณศลารักษ์” และ “มณีรัตนะพร” บริษัทที่กำลังจะย้ายจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ภายในเดือนก.ย.2556

ไล่มาตั้งแต่ “ขาว-ณภัทร ปัญจคุณาธร” คณะกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ถือหุ้น MACO 2,085,000 หุ้น คิดเป็น 1.19% “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” ถือหุ้น 1,529,000 หุ้น คิดเป็น 0.87% “พีรนาถ โชควัฒนา เซียนหุ้นรายใหญ่วัย 50 ปี หลานชายคนโตของ "ห้างเทียม-สายพิณ โชควัฒนา" ถือหุ้น 1,257,904 หุ้น คิดเป็น 0.72% และ “กานต์-ณัฐชาต คำศิริตระกูล” ถือหุ้น 1,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.57%

นอกจากนั้นยังมี “บริษัท หลานปู่ จำกัด” ถือหุ้น MACO จำนวน 1,347,400 หุ้น คิดเป็น 0.77% ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนของ “ตระกูลโชควัฒนา” รวมถึง “บริษัท พีรธร จำกัด” ถือหุ้น 1,059,600 หุ้น คิดเป็น 0.61%(สัดส่วนการถือหุ้น ณ วันที่ 22 มี.ค.2556) โดยพอร์ตลงทุนทั้ง 2 บริษัท “พรีนาถ โชควัฒนา” รับหน้าที่ดูแล

“เราโชคดีที่มีนักลงทุนวีไอเข้ามาถือหุ้น MACO เขาเหล่านี้มีไอเดียในการทำธุรกิจที่ดี ทุกครั้งที่เขามาประชุมผู้ถือหุ้นหรือมาเยี่ยมชมกิจการ นักลงทุนมักมีคำถามหรือคำแนะนำในเรื่องที่เราคาดไม่ถึง” “ตั้ม-นพดล ตัณศลารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “มาสเตอร์ แอด” (ตระกูลตัณศลารักษ์ ถือหุ้น MACO 35,246,999 หุ้น คิดเป็น 20.14%)” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek”

“ชายวัย 53 ปี” ย้อนชีวิตวัยเรียนให้ฟังว่าเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2522 ก่อนจะมาจบปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ University of South Western Louisiana, USA. ในปี 2528 และปี 2531 ก่อนตัดสินใจเรียนปริญญาโทอีกใบ สาขาบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์กรรมศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ถอยกลับไป 25 ปี ธุรกิจให้บริการและรับจ้างผลิตสื่อป้ายโฆษณาและบันเทิงภายนอกที่อยู่อาศัยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หลังจบปริญญาโทใบแรกมีโอกาสทำงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่ง ทำไม่นานก็ย้ายไปทำตำแหน่งวิศวกรใน “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” (กทพ.) ระหว่างนั้นเกิด “แรงบันดาลใจ” บางอย่าง

วันหนึ่งออกไปตรวจงานเชิงราก โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานพระราม 9) เหลือบตาไปเห็นป้ายบิลบอร์ด ตอนนั้นไม่รู้ว่าโฆษณาแบบนี้เขาเรียกว่าอะไร เพราะยังไม่ค่อยบูมเท่าไร กลับบ้านไปสอบถามภรรยา คิดว่าเขาต้องรู้แน่ๆ ด้วยความที่เธอเรียนคณะนิเทศศาสตร์มาก เพื่อนในวงการเยอะ ฉะนั้นรู้ชัวร์..

“จุดเริ่มต้น” ของการร่วมก่อตั้ง “มาสเตอร์ แอด” อยู่ตรงนี้แหละ!!

“นพดล” เล่าว่า ร่วมสร้างบริษัทแห่งนี้กับเพื่อน 2 คน นั่น คือ “พิเชษฐ มณีรัตนะพร” กรรมการบริษัท ปัจจุบันถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 22,295,000 หุ้น คิดเป็น 12.74% และ “ธวัช มีประเสริญสกุล” คนนี้ไม่ได้ถือหุ้น แต่นั่งเป็นกรรมการบริษัท เราเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 600,000 บาท ตอนนี้ทุนจดทะเบียนทะยานเป็น 300.89 ล้านบาท สิ้นปี 2555 บริษัทมี “กำไรสุทธิ” 139 ล้านบาท และไตรมาส 1/2556 มีกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท

กว่าบริษัทจะเดินมาได้ขนาดนี้ ยอมรับเคยผ่าน “ความไม่ราบรื่น” มาก่อน หากให้ย้อนกลับไปทำธุรกิจเมื่อ 25 ปีก่อน บอกตรงไม่เอาแล้ว!! สมัยก่อนอุปสรรคเยอะมาก ปัญหาที่หนักอกเหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” คือ “การบริหารกระเงินสด” (Cash Flow) รวมถึงนโยบายหลักที่เหล่ากรรมการตกลงร่วมกันว่า “จะไม่นำทรัพย์สินไปค้ำประกันกับธนาคาร” 

สองเรื่องนี้ทำให้เราทำงานยากขึ้น เพราะแบงก์เขาจะปล่อยวงเงินให้น้อยมาก สุดท้ายบริษัทผ่านทุกวิกฤติมาได้ด้วยดี เราเติบโตเรื่อยๆ ด้วยกลยุทธ์ “กระแสเงินสด” เงินเหลือเราเก็บไปลงทุนเพิ่มเติม การมีเงินลงทุนจำกัด ทำให้เราระมัดระวังไม่คิดการณ์ใหญ่ หรือเกินตัวมากไป “ตัวเล็กคิดใหญ่” เราอาจเจอทั้งเรื่องบวกและลบ..

ถามถึงแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) “ประธานกรรมการบริหาร” แจกแจงว่า “เชี่ยวชาญทำแต่เรื่องถนัด” กลยุทธ์นี้จะทำให้บริษัทเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% หากพูดถึงธุรกิจโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร เชื่อมากว่า ต้องมี “มาสเตอร์ แอด” ติดอันดับ 1 เมื่อเป็นเช่นนั้นหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เราย่อมเป็นบริษัทที่ดีกว่าทุกประเทศในแถบอาเซียน 
“มาสเตอร์ แอด” เดินธุรกิจด้วย 3 ขาใหญ่ ขาแรก คือ “MACO Space” อาทิ ป้ายโฆษณากลางแจ้ง (Billboard) สื่อบริเวณถนน (Street Furniture) สื่อบริเวณสถานีขนส่งและยานพาหนะ (Transit) งานเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทสูงถึง 80-85%

ขาที่สอง คือ “Non MACO Space” ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลัก อาทิ สื่อที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า (Made To Order), การจัดกิจกรรมทางการตลาด (Event) ธุรกิจนี้จะสร้างรายได้ประมาณ 15-20% ขาสุดท้าย คือ “การสร้างเน็ตเวิร์ค” งานชิ้นนี้ทุกคนจะเริ่มเห็นเป็นรูปร่างปลายปี 2556

เราได้จัดทำโครงการภายใต้ชื่อ “ไทยแลนด์เน็ตเวิร์ค” โดยบริษัทจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมป้ายโฆษณาทุกที่ในเมืองไทยมาอยู่ในเวปไซด์ เหมือนเวปไซด์ www.agoda.com ทุกวันนี้มีป้ายโฆษณา 100 ป้าย แต่ลูกค้าใช้เพียง 70-75% เท่านั้น ที่เหลืออีก 25-30% เราอยากมีส่วนช่วยตรงนั้น

6 เดือนหลังของปี 2556 แนวโน้มจะดีขึ้น เราคงจะเดินหน้าทำโปรเจคต่างๆ เน้นทำเรื่องแปลกๆใหม่ๆ ข้อดีของการเคยทำงานวิศวกร คือ บริหารความเสี่ยงขององค์กร อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการแข่งขันเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นเราต้องทำให้รากฐานแข็งแรงและมั่นคงให้มากที่สุด “หุ้นใหญ่ “มาสเตอร์ แอด” พูดปิดท้ายบทสนทนา

“อนุรักษ์นิยม" คือนิยามลงทุน

“ตั้ม-นพดล” เล่าเรื่องการลงทุนให้ฟังว่า ส่วนแรกเน้นลงทุนในตลาดหุ้น 20-25% มีทั้งแบบบริหารเอง และจ้างบริษัทจัดการกองทุนลงช่วยทุนดูแล ส่วนที่สอง คือ ลงทุนในหุ้นกู้ พันธบัตร และกองทุน 20-25% ส่วนที่สาม ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 20-25% ส่วนสุดท้าย ฝากเงินกับธนาคาร 20-25%

“Conservative” หรือ อนุรักษ์นิยม คือ นิยามการลงทุนของเขา โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ฉะนั้นต้องแบ่งพอร์ตออกในสัดส่วนเท่าๆกัน ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง จริงอยู่ว่า การลงทุนในหุ้นกู้มีผลตอบแทนเพียง 5-10% “ต่ำแต่ไม่เสี่ยง” กลยุทธ์นี้ ทำให้ผลมีผลตอบแทนเฉลี่ย 10-20% วันนี้พอร์ตลงทุนแค่ “หลักสิบล้านบาท” ปัจจุบันมีหุ้น 6-7 ตัว ช่วงไหนตลาดหุ้นร่วง “คุณจงหลับตาอย่าไปมองหุ้นตัวเองสัก 1-2 ปี” 

"ผมชอบลงทุนหุ้นพื้นฐาน ตามแบบฉบับของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เมืองไทย ปลื้มหนังสือ “ตีแตก” ถือเป็นไอเดียแห่งการลงทุน ที่ผ่านมักแลกเปลี่ยนข้อมูลดีๆกับ “มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ KEST เขาเป็นรุ่นน้องคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกครั้งที่เจอกัน เขาจะแนะนำสิ่งดีๆตลอด"

ถามถึง “กลยุทธ์การลงทุน” ก่อนควักเงินลงทุนจะเน้นดูประวัติบริษัทย้อนหลัง ดูผู้บริหารบริษัท ดูอนาคตมีทิศทางเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมดีหรือไม่ และดูค่า P/E ชอบหุ้นที่มีค่า P/E เฉลี่ย 10-20 เท่า ถ้าต้องเลือกหุ้น อันดับแรก ขอสอยหุ้น “หุ้นกลุ่มธนาคาร” แบงก์เปรียบเหมือน “เสือนอนกิน” เพราะมีความเสี่ยงต่ำ

“หุ้นกลุ่มสื่อสาร” ทุกคนต้องสื่อสารกันตลอดเวลา ที่สำคัญโครงข่ายมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ อนาคตจะไม่ได้มีแค่ 3 G แต่จะมี 4 G และ 5G โลกจะถูกย่อมาอยู่ในมือของเรา “หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์” ส่วนใหญ่จะเลือกบริษัทที่มีแลนด์แบงก์เยอะๆ “หุ้นกลุ่มอาหาร” ชีวิตประจำวันต้องกิน เหตุผลง่ายๆ
“อย่าซื้อหุ้นหากคุณไม่รู้ว่า เขาทำธุรกิจอะไร เปรียบเหมือนซื้อหวย มันเสี่ยงนะ” 


ที่มา BIZWEEKONLINE