วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

HMPRO เบ่งเติบโตเพื่อขายแพง รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556


HMPRO เบ่งเติบโตเพื่อขายแพง

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556
ผู้เข้าชม : 10 คน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารของบริษัทค้าอุปกรณ์แต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์แบบโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ของเมืองไทยอย่างบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เปิดทางว่าพร้อมจะขายกิจการให้รายอื่น หากได้รับราคาที่เหมาะสม ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับวงการอย่างมาก
นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ  QH ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ HMPRO  เปิดเผยว่า บริษัท และ กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) กำลังเจรจาขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน HMPRO  ให้กับพันธมิตรต่างชาติ ที่ยังไม่เปิดเผยชื่อ แต่ทั้งนี้มีผู้ที่สนใจหลายรายเข้ามาเจรจาซื้อจำนวนมาก บริษัทกำลังพิจารณาว่า ถ้าผู้สนใจรายใดให้ราคาที่ดี บริษัทก็พร้อมที่จะขายหุ้นออกไป 
เงื่อนไขของการขายดังกล่าว กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ต้องการเห็นการเติบโตของมาร์เก็ตแคป HMPRO เป็นหลักแสนล้านบาท จากปัจจุบันที่ระดับ 8.8 หมื่นล้านบาท มีรายได้ประมาณปีละ 4 หมื่นล้านบาท
การขายหุ้นดังกล่าว กลุ่มแลนด์ฯ ระบุว่า หากได้ราคาซื้อที่มากกว่า 18 บาทต่อหุ้น ก็พร้อมจะเจรจา ซึ่งดูเหมือนว่า จะค่อนข้างเกินจริงไปสักนิด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาบุ๊คแวลูที่มีอยู่
แค่เพียง 1.37 บาทต่อหุ้นเท่านั้นเอง
การขายหุ้นของ HMPRO หากสำเร็จ คาดว่าจะทำให้กลุ่มแลนด์ฯได้รับเงินรวมมากกว่า 6 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งจะกลายเป็นกำไรพิเศษจากการที่ทั้ง QH และ LH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ HMPRO  (ดังปรากฏในตาราง)
           
รายชื่อผู้ถือหุ้นในเครือ LH
จำนวนหุ้น
สัดส่วนถือครอง %
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ LH
2,128,220,590


30.21
ควอลิตี้ เฮ้าส์ QH
1,392,951,862


19.77

แม้ว่าการเจรจาขายกิจการของ HMPRO จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะบรรลุผลสำเร็จหรือไม่ แต่ ผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท ก็ไม่ได้หยุดยั้งที่จะเดินหน้ารุกเพื่อสร้างความเติบใหญ่ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพราะรู้ดีว่า หากบริษัทยังคงเดินหน้ารุกในธุรกิจโมเดิร์นเทรดได้มากเท่าใด มูลค่าของกิจการย่อมเพิ่มสูงขึ้นเพียงนั้น
ล่าสุด คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ได้ประกาศแผนการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 3-5 พันล้านบาทในไตรมาสสามนี้ โดยหวังว่า จะเพิ่มโอกาสให้บริษัทมีเงินสดเข้ามาจากการขายโครงการหัวหิน มาร์เก็ต วิลเลจ เข้ากองทุน ส่งผลให้ HMPRO บันทึกกำไรพิเศษราว 1-2.1 พันล้านบาท นอกเหนือจากการประเมินผลที่คาดว่ากำไรสุทธิปี 2556 จะเติบโต 20.9% เทียบปีก่อน ซึ่งกำไรดังกล่าวยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ 
ผลพวงของการตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้ HMPRO มีเงินสดและสามารถขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในระยะต่อไปเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันในธุรกิจที่นับวันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการรุกเข้าไปขยายตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากปีนี้ ยอดขายน่าจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนที่มียอดขาย 3.69 หมื่นล้านบาท หลังจากยอดขายในครึ่งปีแรกโตแล้ว 18% ส่วนครึ่งปีหลังเชื่อว่ายอดขายเติบโตตามเป้า เพราะมีการเร่งจัดแคมเปญฉลองครบรอบ 17 ปี ช่วงไตรมาสที่สาม ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายได้กว่า 3 พันล้านบาท และยังมีงานโฮมโปร เอ็กซ์โป ในเดือน พ.ย. ที่จะกระตุ้นยอดขายด้วย 
การเติบโตของ HMPRO ซึ่งจะได้รับการหนุนส่งจากการตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้แผนการตั้งสาขาในครึ่งหลังของปี ซึ่งคาดว่าเปิดสาขาใหม่อีก 5-6 สาขาซึ่งมีอนาคตเติบโตอีกยาวไกลที่ ถนนพุทธมณฑลสาย 5, สระบุรี,  เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, เชียงราย และอีก 1 สาขาในภาคเหนือซึ่งยังไม่สรุป จะทำให้สิ้นปีนี้มีทั้งหมด 64 สาขา (ไม่นับรวมสาขาเมกาโฮม) ซึ่งเกินแผนที่ตั้งไว้
กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ กองทุนแบบถือกรรมสิทธิ์ ถือสิทธิ์เช่า และแบบผสมผสาน ถือได้ว่าเป็นการสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในปีนี้ บริษัทต่างๆ ได้รุกทำการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะเป็นปีสุดท้ายแล้วที่ ก.ล.ต.จะอนุญาตให้เปิดกองในรูปแบบนี้ เนื่องจากต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบใหม่ คือ REITS แทน เพราะจะได้รับประโยชน์ในด้านภาษีเข้ารัฐมากขึ้น  (ดูตารางประกอบกองทุนอสังหาริมทรัพย์ยอดนิยมในตลาดหุ้นไทย)
ในกรณีของ HMPRO การจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการเปิดเกมรุกเพื่อเสริมสภาพคล่องโดยใช้วิศวกรรมการเงินเพื่อเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างมีพลัง เพราะบริษัทมีความจำเป็นต้องเติบใหญ่เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันที่เริ่มมีเข้ามาในตลาดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา HMPRO ได้กระทำผ่านกลยุทธ์ธุรกิจที่เรียกว่า ยุทธการ 2 แนวรบเพื่อแย่งชิงธุรกิจ 6 หมื่นล้าน (จากมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดของวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ 130,000 บาท)
ปัจจุบัน สงครามการตลาดค้าปลีกอุปกรณ์แต่งบ้านในยามที่ชุมชนเมืองทั่วประเทศกำลังขยายตัว  และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นขาขึ้น ที่ทำให้รายใหญ่อย่างกลุ่มเซนทรัล และ ปูนซิเมนต์ไทย เข้ามาท้าทาย ในขณะที่ยักษ์เล็กจากต่างจังหวัดในภาคอีสานอย่าง อุบลวัสดุ ก็ชักธงรบปูพื้นที่สำคัญในภาคอีสานเต็มรูป ทำให้ HMPRO จำต้องหาทางเปิดเกมรุกเพื่อชิงพื้นที่ ก่อนที่จะถูกปิดล้อม

คู่แข่งขันในธุรกิจโมเดิร์นเทรดของ HMPRO
ค่าย
แบรนด์เนม
ปูนซิเมนต์ไทย
บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL
เซนทรัล(บริษัท ซีอาร์ซี เพาเวอร์ รีเทล จำกัด)
ไทวัสดุ
กลุ่มอุบลวัสดุ
ดูโฮม (DoHome)

ในปีนี้ HMPRO มีแผนการผุดโปรเจ็กต์ใหม่ล่าสุด เมกาโฮม เพื่อชิงเค้กวัสดุก่อสร้าง  เพื่อรักษาการเป็นผู้นำการตลาด หลังจากที่มีประสบการณ์เปิดศูนย์ “โฮมโปร เมกาบางนา” มีรูปแบบที่ทันสมัยพร้อมบริการ Free Delivery และ Home Service ครอบคลุมถึง 3D Design โดยเมื่อเดือนกันยายนในปี2555 ด้วยงบกว่า 570 ล้านบาท ประสบความสำเร็จมาแล้ว ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
จากแผนที่ผู้บริหารของ HMPRO เปิดเผยล่าสุด ด้วยงบลงทุนประมาณรวมของทั้งบริษัท 10,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนเพื่อเปิดตัวแบรนด์ เมกา โฮม โดยตั้งบริษัทลูกชื่อ เมกา โฮม เซ็นเตอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโปรเจ็กต์เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งผู้รับเหมา เจ้าของโครงการและกลุ่มช่าง และร้านค้าย่อยในรูปแบบค้าปลีกและค้าส่ง โดยจะใช้สินค้าร่วมกับโฮมโปร และมีสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซ่อมแซมปรับปรุง สวน เครื่องมือช่าง เซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน และของเล่น
การเปิดเกมรุกชิงพื้นที่ด้วยโมเดิร์นเทรดเช่นนี้ ท้าทายความสามารถของเจ้าตลาดเดิมอย่าง  HMPRO โดยตรงอย่างเปิดเผย ซึ่งทำให้แผนการขยายสาขาปกติของ HMPRO อีก 10 สาขาในปีนี้ ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการแข่งขันใหม่ๆ ที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น
การเสริมสภาพคล่องด้วยการตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว นอกเหนือจากจะทำให้ช่วยเร่งการเติบโตของสาขาให้เร่งรุดรวดเร็วกว่าเดิมในปีต่อไปแล้ว จะยังผลทำให้มูลค่าของ HMPRO ในการเจรจาต่อรองกับผู้ที่สนใจเข้าซื้อกิจการมีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว
ถือเป็นยุทธศาสตร์ใช้การผสมผสานการตลาดเข้ากับวิศวกรรมการเงิน เบ่งการเติบโตก่อนขายกิจการในราคาแพงตามเป้าหมายอย่างบูรณาการที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น