วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

BMCL ฟางเส้นสุดท้ายทางการเงิน รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556


BMCL ฟางเส้นสุดท้ายทางการเงิน

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556
ผู้เข้าชม : 8 คน

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวดีจากคณะรัฐมนตรีที่ส่งผลกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL นั่นคือ การเห็นชอบตามข้อเสนอให้บริษัทได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วงอีก เฉพาะค่าจัดหาระบบและตัวรถส่งผลยอดวงเงินปรับลดลงมาเหลือสุทธิ 8.26 หมื่นล้านบาท ลดลงจากข้อเสนอเดิมของบริษัท ยอดเดิม 9.37 หมื่นล้านบาทภายในเวลาที่ BMCL จะได้รับคือ 40 เดือนข้างหน้า ถือเป็นข่าวดีอย่างชัดเจน แต่ในข่าวดีก็มีข่าวร้ายปะปนอยู่ด้วย
ข่าวร้าย ได้แก่ การที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น จะเลือกกำหนดการเดินรถออกไปอีกจากกำหนดเดิม จากแผนเดิมคือปลายปี 2558  จะต้องเลื่อนไปเป็นต้นปี 2560 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า แต่ทางรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งรับผิดชอบโครงการดังกล่าว กำลังเจรจาต่อรองเพิ่มเติมเพื่อให้ BMCL ทำการเร่งรัดงานเพื่อให้เปิดบริการได้ช่วงต้นปี 2559 ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำได้หรือไม่
ข่าวดีปนข่าวร้ายดังกล่าว ด้านที่เป็นข่าวดีทำให้ BMCL ได้รับโอกาสมองเห็นอนาคตว่าจะสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวต่อเนื่องไปอีกนานนับสิบปี แต่ข่าวร้ายก็คือ ในระยะเฉพาะหน้านั้น ฐานะการเงินของบริษัทที่กำลังอยู่ในขั้นเลวร้ายอย่างมาก จากการขาดทุนต่อเนื่องจะทำอย่างไร เนื่องจากรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงิน และสร้างกำไรจะยังไม่เกิดขึ้นในอีก 4 ปีเลยทีเดียว
ปัญหาข่าวร้ายในระยะสั้นนี้ ส่งผลต่อราคาหุ้นและความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างมากทีเดียว เพราะเท่ากับว่า ทางเลือกของบริษัทในการแก้ปัญหาทางการเงิน เหลือน้อยลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากผ่านไตรมาสสองของปีนี้ไปแล้ว ฐานะการเงินของ BMCL ถือได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติเลยทีเดียว เมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือแค่ระดับ 531 ล้านบาทเท่านั้น
หากลงลึกในรายละเอียดของงบไตรมาสสองจะเห็นได้ว่า แม้ BMCL จะมีกำไรจากการดำเนินงาน มี EBITDA หรือกำไรก่อนหักภาษีและต้นทุนการเงินอยู่พอสมควร แต่รายจ่ายที่เป็นต้นทุนทางการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยจ่ายนั้น ส่งผลให้บริษัทขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เป็นแรงกดดันมายาวนานหลายปีแล้วจนเป็นปกติ
การขาดทุนต่อเนื่องทุกไตรมาส ทำให้สภาพคล่องของบริษัทค่อนข้างเลวร้ายทีเดียว
สภาพของฐานะทางการเงินที่มีลักษณะ สภาพคล่องแย่ขั้นเลวร้าย หนี้ระยะสั้นต่ำ แต่หนี้สินระยะยาวสูง สินทรัพย์มีสภาพคล่องต่ำ แม้สัมปทานยังมีค่าสูง ต้นทุนการเงินแต่ละไตรมาสสาหัสถ่วงกำไรรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสแรก ต้นทุนการเงินอยู่ที่ 292 ล้านบาท แต่ไตรมาสองปาเข้าไป 589 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนครึ่งปีปาเข้าไปมากกว่า 800 ล้านบาท ยากจะทำกำไรได้
สภาพอันเลวร้ายเช่นนี้ บังคับให้ภายในสิ้นปีนี้ ฝ่ายบริหารของบริษัทจะต้องดำเนินการอะไรสักอย่างโดยเฉพาะวิศวกรรมการเงินเพื่อทำให้พ้นจากการที่บริษัทจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในเรื่องนี้ นักลงทุนจำนวนมากก็คงต้องฝากความหวังไปที่ผู้บริหารสูงสุด ซึ่งเป็นนักการเงินมืออาชีพในธุรกิจธนาคารมาก่อนอย่างนายชัยวัฒน์  อุทัยวรรณ์ ผู้เคยอยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูธนาคารนครหลวงไทยในอดีตมาโชกโชน ซึ่งเข้ามารับงานร้อนนี้ตั้งแต่ปลายปี 2554 เป็นต้นมา
ภารกิจหลักของนายชัยวัฒน์ คือ  ทำให้ฐานะทางการเงินของ BMCL ให้สามารถล้างขาดทุนสะสมให้หมดภายใน 3 ปีนับจากปี 2555-2557 แล้วพลิกฟื้น BMCL กลับมาให้มีกำไร
ภารกิจดังกล่าว ว่าไปแล้วยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แบบตำนานของซิสซีฟัสของกรีกโบราณหลายเท่า
กลยุทธ์ที่นายชัยวัฒน์ได้วางเอาไว้ มีอยู่ 2 ทางหลัก คือ 1) เพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้มาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มรายได้จากธุรกิจเชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 18 แห่ง  และแสวงหารายได้ใหม่จากรถขนส่งมวลชนที่จะมีขึ้นในอนาคต 2) หาทางลดต้นทุนการเงินให้กับบริษัทในการปรับลดโครงสร้างหนี้
อย่างแรก ดูเหมือนจะเป็นงานด้านที่จำเป็นยิ่ง  ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการลงมือกระทำไปแล้วชัดเจน นั่นคือ การปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้กับรถไฟฟ้าใต้ดิน ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนกรุงเทพฯ สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 240,000 คนต่อวันในปี 2555 จากเดิมเฉลี่ยที่ 200,000 คนต่อวัน พ่วงกับการหารายได้จากส่วนอื่นๆ เข้าเพิ่มเติม เช่น รายได้เชิงพาณิชย์จากการใช้พื้นที่ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีทั้งหมด 18 สถานี
สำหรับความหวังในอนาคตที่บรรลุไปแล้วหนึ่งขั้น คือ การได้รับสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ระยะทาง 23 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายที่จะสามารถเชื่อมเข้าและดึงคนมาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินให้เพิ่มมากขึ้น 10-15%  ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้มีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะรายได้เชิงพาณิชย์ จากจำนวนเฉลี่ยประมาณ  240,000 คน ที่จะเข้ามาใช้บริการในวันทำการในอนาคต
ในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้นั้น BMCL ก็ได้กระทำมาแล้ว 2 ครั้ง โดยล่าสุดปลายปี 2555 เจ้าหนี้อนุญาตให้ BMCL ชำระดอกเบี้ยบางส่วน โดยที่เหลือให้ตั้งค้างชำระไว้เป็นหนี้สิน ทำให้ในแง่กระแสเงินสดดีขึ้น แถมกลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก คือ ช.การช่าง ยังได้สนับสนุนให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย  หรือ sponsor loan หลายครั้ง มูลค่ากว่า 3.9 พันล้านบาท ซึ่งในทางการเงิน หากสามารถตีมูลค่า sponsor loan เป็นส่วนของทุนแล้ว อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือ D/E ที่ดูมากถึง 25 เท่า เหลือเพียงแค่ 2.6 เท่าเท่านั้น
การดำเนินการดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการมีตัวเลขขาดทุนน้อยลง และจะเห็นสัญญาณบวกบางอย่างขึ้นมา เช่น สัดส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA เมื่อสิ้นงวดบัญชีปี 2555 มีตัวเลขเป็นบวกชัดเจน แม้จะยังไม่ดีทั้งหมด แต่ก็พอมองเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์
ตั้งแต่ต้นปี 2556 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นของ BMCL ในตลาด (ดูกราฟราคาหุ้นประกอบ) ได้รับการคาดหมายในเชิงบวกจากนักวิเคราะห์หลายสำนัก ทำให้ราคาวิ่งขึ้นมาค่อนข้างรุนแรง และมีการซื้อขายคึกคักจนกระทั่งบางช่วงเวลา เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่า 2 ข่าวดี คือ 1) มีการพิจารณาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอามาซื้อโครงการไปจาก BMCL จากการได้สัญญารับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะทำให้มีรายได้มากขึ้น กลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเพิ่มทุนใหม่
ความคาดหวังของนักลงทุนในทางบวก ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปัจจุบันยังมีตัวเลขขาดทุนต่อไป และหากยังขาดทุนต่อเนื่องทุกไตรมาส มีโอกาสที่ส่วนของผู้ถือหุ้นอาจติดลบได้ จากต้นทุนการเงินที่เป็นภาระถ่วงให้กำไรสุทธิติดลบต่อเนื่อง
ภาระต้นทุนการเงินที่แบกเอาไว้มากเกินกำลัง ทำให้เกิดตัวเลขขาดทุนสุทธิปรากฏอยู่ แม้สภาพคล่องยังสามารถพึ่งพาบริษัทคือ ช.การช่างได้พอสมควร แต่การที่ตัวเลขสัดส่วนทางการเงินที่ย่ำแย่ลง ยังคงส่อเค้าสถานการณ์บีบรัดรุนแรงมากขึ้น เพราะค่า D/E ที่รวม sponsor loan มารวมเป็นทุนด้วยแล้ว ยังเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า
นอกจากนั้น ยังมีรายงานของ BMCL เองที่ระบุว่า ในการเพิ่มทุนเมื่อปี 2549 ตอนที่เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ได้เงินมาทั้งหมด 4,644 ล้านบาท ปรากฏว่า เงินดังกล่าวถูกใช้ไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทจึงไม่มีเงินคงเหลือจากการเพิ่มทุนต่อไป
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ชวนให้เกิดคำถามเชิงลบเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทมากขึ้น เพราะ BMCL มีโจทย์ที่ยังแก้ไม่ตก 2 เรื่องพร้อมกันคือ
เรื่องแรก เรื่องของการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมาซื้อทรัพย์สินและสิทธิไปดำเนินการต่อ ทำให้ลดภาระของ BMCL ก็ยังต้องถือว่าไม่มีความชัดเจน เพราะนายชัยวัฒน์ก็ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ นอกจากนั้น BMCL เองก็ไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจาก รฟม.ถือหุ้นในสัดส่วนไม่ครบตามนิยามของรัฐวิสาหกิจ
นักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์บางสำนัก ระบุว่า การตั้งกองทุนดังกล่าวมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจาก BMCL ยังมีหนี้สินรวมอยู่ถึง 1.7 หมื่นล้านบาท หากออกกองทุนได้จริงเงินที่ได้ก็นำมาชำระหนี้ก้อนใหญ่ แล้วเหลือเงินสดแค่เล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่โครงการเองก็มีมาร์จิ้นต่ำ ทำให้กำหนดผลตอบแทนต่อผู้ถือหน่วยลงทุนได้ยาก
เรื่องต่อไป คือ รายได้จากโครงการรับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ต้องการระยะเวลาในการบันทึกเพื่อสร้างรายได้ตอบแทนกลับมา ซึ่งอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ที่บีบรัดเข้ามาทุกขณะ
ทางเลือกที่เหลืออยู่จากนี้ไปของ BMCL สำหรับการไม่ยอมให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จึงเหลือเพียงไม่มากนัก  คือ เพิ่มทุน หรือ ปรับโครงสร้างหนี้ อันเป็นโจทย์ที่ท้าทายข้อจำกัดในเรื่องเวลาของ BMCL ในปีนี้
........

งบ 5 ปีย้อนหลัง BMCL

.......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น