ชื่อ:  001.PNG
ครั้ง: 522
ขนาด:  267.6 กิโลไบต์

"ศุภชัย"ชี้"เฟด"ลดคิวอีกระทบไทยน้อย ระบุส่งผลดีช่วยป้องกันฟองสบู่เอเชีย เผยหุ้น-บอนด์ กว่า 80% เป็นผลจากสภาพคล่อง แนะปรับสมดุลลดพึ่งพาจีน

ความกังวลจากการลดขนาดการใช้มาตรการเชิงผ่อนคลาย หรือ คิวอี สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเสถียรภาพค่าเงินของประเทศในเอเชีย ที่มีวิกฤติซ้อนขึ้นมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมเป็นจำนวนมาก


อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยนั้น นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กลับมองว่า ไทยไม่มีความจำเป็นต้องห่วงการลดคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชีย พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมากเกินไป จนทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงด้านฟองสบู่ในภาคต่างๆ ได้

"ผมคิดว่าถ้าเราจะห่วง ควรต้องเป็นห่วงในแง่ที่ว่า หากมีการใช้คิวอีต่อไปนานๆ อาจทำให้เกิดฟองสบู่แน่นอน เพราะช่วงที่ผ่านมาการขึ้นราคาของกระดาษทั้งหลาย ที่เป็นตัวพันธบัตรหรือในหุ้นเข้าใจว่า กว่า 80% มาจากเรื่องสภาพคล่อง ที่เหลืออีก 20% มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ ดังนั้นเราไม่ควรหวังพึ่งพาเงินเหล่านี้มากไป" นายศุภชัย กล่าว

ชี้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่ง

เขาเชื่อว่า การที่เฟดลดขนาดการใช้คิวอีลง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่คงไม่สร้างความเปราะบางทางพื้นฐานของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะโดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแล้วถือว่ามีความแข็งแกร่ง และถ้าดูความสามารถการแข่งขันของไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคการส่งออก จะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะซบเซา แต่การส่งออกไทยที่ไปยุโรปยังเติบโตได้

เศรษฐกิจไทยหากจะเปราะบางคงไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการแข่งขัน แต่อยู่ที่กฎระเบียบ หรือกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงในเรื่องการบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาลมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของวัตถุ

"ถ้าเขาเริ่มชะลอ และดึงเงินพวกนี้กลับไปบ้าง ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี แม้จะกระทบเราบ้าง มันเหมือนกับว่า เราเป็นคนอ้วน เป็นเบาหวาน ดังนั้นเราก็ต้องกินน้อยลง การกินน้อยลงอาจทำให้ผอมลงบ้าง หรือเดินช้าลงบ้าง แต่เราจะแข็งแรงขึ้น" นายศุภชัย กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาคเอเชียนั้น มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจของกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตที่สูงมาก และเป็นการเติบโตที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก เนื่องจากรัฐบาลเน้นการอุดหนุนที่ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการสร้างกำลังการผลิตที่มากเกินไป ทำให้ต้องพึ่งพาการค้าขายระหว่างประเทศกัน ซึ่งจะมีผลเสียในกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอ

แนะไทยควรลดการพึ่งพาจีน

นายศุภชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจีนเริ่มมองเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้บ้างแล้ว โดยจีนได้เริ่มลดการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศลง สะท้อนผ่านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงเหลือ 2% จากที่เดิมซึ่งเคยเกินดุลสูงถึง 9% ซึ่งการลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน เพราะเป็นกลุ่มลูกโซ่เดียวกัน คือ มีการผลิตสินค้าเข้าไปขายในจีนมาก

"สำหรับไทยแล้ว แม้จะยังค้าขายกับจีนต่อไปได้ แต่ต้องคิดให้ดีว่า การพึ่งพาเศรษฐกิจใดมากเกินไป ก็ควรต้องทำให้มีความสมดุลมากขึ้น ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้มีความสมดุลที่ดีพอสมควร แต่อันดับต่อไปเราต้องขยายห่วงลูกโซ่อันนี้มาเป็นของเราเองที่มากขึ้น โดยเราต้องพยายามทำการวิจัยและพัฒนา หรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ตลอดจนการทำให้เกิดความสะดวกในการค้าชายแดน การขนส่งที่มากขึ้นด้วย" นายศุภชัย กล่าว

เขายังกล่าวถึง ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลด้วยว่า ภาระหนี้ที่ 45% ของจีดีพีนั้น ถือว่าไม่สูง เพียงแต่แนวโน้มมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ที่สำคัญต้องดูว่าเรามีหนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระพร้อมกันในเวลาเดียวหรือไม่ เพราะตรงนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทได้

เตือนรัฐเลิกกระตุ้นด้วยหนี้


นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐนั้น เขาเห็นว่า รัฐบาลควรลงทุนในสิ่งที่ภาคเอกชนเอาไปทำงานต่อได้ เช่น การลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี หรือลงทุนด้วยการอุดหนุนการฝึกแรงงาน โดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งพวกนี้แม้จะใช้เวลาบ้าง 1-2 ปี แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ

"การลงทุนที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต ทำให้เกิดการลงทุนต่อ และทำให้มีการศึกษาที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งพวกนี้ไม่ได้เป็นปัญหา แม้จะทำให้ระดับหนี้ต่อรายได้ประชาชาติขึ้นไปถึง 50-60% ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นหนี้ที่ยั่งยืน ซึ่งหนี้พวกนี้เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการจ้างงาน" นายศุภชัย กล่าว

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเป็นหนี้มากๆ นั้น เขากล่าวว่า เป็นวิธีที่ต้องระมัดระวัง เพราะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการกระตุ้นการบริโภคที่ถูกต้อง ควรต้องบริโภคจากรายได้ที่มากขึ้น ส่วนการกระตุ้นการบริโภคด้วยหนี้นั้น เคยเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐ

การลงทุนในโครงการ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญสุด คือ เมื่อได้โครงการที่ชัดเจนแล้วต้องลงมือทำเลย เพราะเรื่องนี้เงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ตรงที่โครงการซึ่งทำการศึกษาอยู่ในขณะนี้ไม่ชัดเจน

ชี้สหรัฐ-ยุโรปดีแค่ช่วงสั้น

นายศุภชัย ได้ขึ้นกล่าวในงานสัมมนาไทยแลนด์โฟกัส 2013 หัวข้อ "ผลกระทบของการปรับตัวสู่สมดุลของจีนที่มีต่อไทยและ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)" ว่า แม้หลายคนจะเชื่อสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและกลุ่มยุโรปจะเริ่มดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะอาจเป็นการดีขึ้นเพียงช่วงสั้น และกลับลงไปอีก ดังนั้นการที่เงินทุนไหลออกจากเอเชีย เพื่อกลับไปลงทุนในภูมิภาคเหล่านั้น โดยเฉพาะในสหรัฐน่าจะต้องคิดให้ดี

"จากที่ได้พูดคุยกับผู้ที่มีหน้าที่ประเมินเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) หรือหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็ยังเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจเอเชียยังคงเติบโตต่อไป มีความแข็งแกร่งมากกว่าภูมิภาคอื่นโดยเปรียบเทียบ" นายศุภชัย กล่าว

การที่เศรษฐกิจเอเชียเติบโตลดลง โดยเฉพาะจีนถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีภาวะวิกฤติทางการเงินการคลังในยุโรปหรือสหรัฐหรือไม่ เนื่องจากเอเชียจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภายในตัวเอง ทุกประเทศต้องผ่านการปรับเศรษฐกิจให้มีความสมดุลอยู่เสมอ แม้แต่ยุโรปและสหรัฐ รวมถึงญี่ปุ่นก็ผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว

คาดสิ้นปีบาทกลับมายืนที่ 31.50


นายจิมมี่ โค หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนและวิจัยของธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ กล่าวว่า การผ่อนคลายคิวอีของสหรัฐ จนเกิดภาวะเงินทุนไหลออก จนส่งผลต่อเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชีย เห็นจากการอ่อนค่าของเงินอินโดนีเซีย ค่าเงินมาเลเซีย รวมถึง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าเงินบาทไทยลดลง 10% ต่อดอลลาร์ จากเดือนเม.ย. จนถึงปัจจุบัน

ความผันผวนรุนแรงเกิดขึ้น เป็นผลกระทบจากกระบวนการ ในการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิม เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีมาตรการคิวอี โดยคาดจะเห็นค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 แต่เชื่อเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนจะกลับมา โดยสิ้นปีนี้จะเห็นอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพมากขึ้น และกลับมาอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน

ชี้ ศก.ไทยซบยาว 1 ปีข้างหน้า

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในงานสัมมนา "พลิกวิกฤติ สร้างโอกาส รับมือเศรษฐกิจไทยในอนาคต" ว่า ในเดือนก.ย. จะการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มทยอยลดทอนการเข้าซื้อตราสารทางการเงิน หรือการทำ คิวอี ทำให้เงินทุนไหลออกไปมาก ส่งผลต่อค่าเงิน และตลาดหุ้นผันผวน

นอกจากนี้ ยังมี 2 ปัจจัยใหม่ที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีสัญญาณ โดยเฉพาะ อินเดีย และ อินโดนีเซีย เงินอ่อนค่ามาก ส่วนเกาหลีเริ่มมีสัญญาภาวะฟองสบู่ หลังมีตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงมากและอีกปัจจัยใหม่วิกฤติการเมืองซีเรีย กดดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่หวังว่าเหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อยาวนาน

"เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่เมื่อมีมาเจอภาวะเงินทุนไหลออก เศรษฐกิจอินโดนีเซียและอินเดีย ปัญหานี้จะอยู่กับเราอีกอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้า แต่เศรษฐกิจปีนี้ยังโตได้ถึง 4% แต่หากมีเหตุการณ์รุนแรงในซีเรีย จะโตแย่ที่สุด คือ 3%"

กิมเอ็งชี้ไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี 2540

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้นักลงทุนมีความกังวลความไม่ชัดเจนของนโยบายคิวอี ส่งผลให้ทิศทางการลงทุนผันผวน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในแถบเอเชีย ซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดี แทนที่สหรัฐกับยุโรป แต่ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวในหลายประเทศ และอีกหนึ่งปัจจัยวิกฤติการเมืองซีเรีย อาจทำให้นักลงทุนมีความตื่นตระหนก แต่คาดว่าไม่ใช่ปัญหาระยะยาว

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนตอนนี้ ยังไม่น่ากังวลว่าจะซ้ำรอยเหมือนปี 2540 เพราะปัจจุบันหนี้สินต่อทุนของบริษัทส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะต่ำคือ 2:1 เท่า ขณะที่ช่วงปี 2540 บริษัทยักษ์ใหญ่มีหนี้สินต่อทุนสูงถึง 1:3 เท่า

"หากไตรมาส 4 รัฐบาลมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ จะยังขับเคลื่อนต่อไปได้ และฟันธงว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้งอย่างแน่นอน"


Tags : คิวอี • เฟด • ศุภชัย พานิชภักดิ์ • อังค์ถัด

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์