“เล่นหุ้นห้ามใจร้อน ข้อมูลไม่ปึ่กอย่าซ่าช้อน” วิถีแห่งหุ้นแนวนี้ “ชลิตา สมบุญเรืองศรี” เจ้าของลายเส้นการ์ตูน Mao investor
ชื่อ:  news_img_508582_1.jpg
ครั้ง: 1064
ขนาด:  45.5 กิโลไบต์

“เจ็บหนัก” เพราะรัก VI!!

ก่อน “จุ๊บ” ชลิตา สมบุญเรืองศรี บล็อกเกอร์คนดังแห่งเว็บไซด์ maoinvestor.com เจ้าของชื่อล็อกอิน “ไม้ไต่คู้” ณ ห้องสินธร เว็บไซด์ PANTIP จะ “โด่งดัง” จากโพสต์การ์ตูนเรื่อง “สารคดีชีวิตสัตว์โลก แมลงเม่า Malaeng- Mao investor” ที่จรดปากกาวาดเอง

ครั้งหนึ่ง “ชะตากรรม” ของเธอ เคยตกอยู่ในห้วง “ช้ำใน จุกอก พูดไม่ออก”

“ใจร้อน ไร้ความรู้ ลอกหุ้นคนดัง” คือ วิถีลงทุน “ตลาดหุ้น” ในช่วงแรกเริ่มของ “เม่าน้อยไร้เดียงสา” “จุ๊บ” ปฏิบัติการณ์เผยแพร่ “ความช้ำใจ” ให้โลกซาบซึ้ง ชนิดไม่เก็บตังค์สักบาท ด้วยการนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวการ์ตูน เธอโพสต์ลงห้องสินธรเพียงไม่กี่ตอน เรื่องก็ขึ้นแท่น “กระทู้แนะนำ” ก่อนจะมีสำนักพิมพ์ติดต่อขอรวมเล่ม

“เล่นหุ้นกับพี่เม่า” พ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกในชีวิต "จุ๊บ" เน้นบอกเล่าชีวิตการลงทุนของตัวเธอ แฟนหนุ่มและคนรอบข้างล้วนๆ ถูกตีพิมพ์มาแล้วถึง 6 ครั้ง มียอดขายเป็นหมื่นเล่ม (17,700 เล่ม) จากยอดพิมพ์ทั้งหมด 21,000 เล่ม ภายในเดือนส.ค.นี้ เล่ม 2 พร้อมตีพิมพ์ “เงินทองของหายาก” น้องใหม่ล่าสุด ซึ่งจัดพิมพ์โดย “เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทน เมนท์”

ความ “ฮอตฮิต” ของ “เม่าน้อย” ยังถูกการันตี ด้วยยอด “กดไลท์” 46,668 ไลท์ ผ่านเพจบน Facebook ในชื่อว่า Mao-Investor ครั้งหนึ่งเคยมี “บุรุษนิรนาม” โทรมาโอ้อวดสรรพคุณ หวังใช้ชื่อ Mao-Investor หาประโยชน์เข้าเป๋าตัวเอง “เรามีคอนเน็คชั่นมากมาย รู้จักคนดังเรื่องหุ้นเพียบ หากคุณยกหน้าเพจให้รับรองรุ่ง” บนสนทนายังไม่ทันยุติ เธอรีบปฎิเสธก่อนยืดเยื้อ

โครงการยูดีไลท์ ย่านจตุจักร จุดนัดพบที่ “จุ๊บ” ชลิตา สมบุญเรืองศรี ที่มาพร้อม “แฟนหนุ่ม” “ตาร์”จักรรินทร์ พงศ์ศรีรัตน์ นัดเล่าความหลังเรื่องหุ้นๆกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” พอร์ตของเราสองคนแยกกัน เริ่มลงทุนในระยะเวลาใกล้เคียงกันราวๆ 3 ปีก่อน วีถีลงทุนไม่ค่อยเหมือนกัน “จุ๊บ” “ใจร้อน ไม่ไหวจะรอ” ส่วน “พี่ตาร์” “ใจเย็น มีเป้าหมาย” ซื้อหุ้นตัวเดียวกัน แต่พี่ตาร์ได้กำไร ส่วนเราซิ “นอนปวดใจ” (หัวเราะ) “สาวจุ๊บ” วัย 28 ปี เปิดบทสนทนา

ตอนเด็กๆจุ๊บใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่และน้องชายในจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนครอบครัวจะย้ายมาค้าขายแถวถนนจันทน์ หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ก็ตัดสินใจเลือกสอบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วศ.87)

ทันทีที่เรียนจบ ก็เดินเข้าสู่เส้นทาง “มุนษย์เงินเดือน” ด้วยการทำงานในบริษัท ไอทีวัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ทำได้ 2 ปีกว่า ก็ย้ายมาทำงานในบริษัท A-TOS ทุกวันนี้ก็ยังนั่งทำงานที่นี่ 
เชื่อมั้ย 2 ปีกว่าที่ทำงานใน “ไอทีวัน” จุ๊บมีเงินเก็บเกือบ 3 แสน!!

“จุดเริ่มต้น” ซื้อหุ้น เกิดขึ้นในปี 2554 ครั้งหนึ่งเพื่อนสนิทที่เพิ่งเป็น “เม่าน้อยหน้าใหม่” ยื่นหนังสือ Rich Dad Poor Dad (พ่อรวยสอนลูก) ของ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” “แกต้องอ่านให้จบภายในวันเดียว!!” คุณเพื่อนบังคับ ตอนนั้นเกิดคำถามในใจ “ทำไมละ?” แต่ก็ไม่ได้ถามกลับไป สงสัยเป็น “กลลวง” เพื่อนรู้ว่าเราไม่ชอบอ่านหนังสือ (หัวเราะ) หนังสือ “ตีแตก” ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ก็มีโอกาสได้อ่าน
พลิกหนังสือ 2 เล่มจบ รู้สึก เออ!! ตลาดหุ้นไม่แย่อย่างที่คิด เมื่อก่อนพ่อกับแม่เคยห้าม “อย่าไปเล่นหุ้น การพนันชัดๆ”

หลังจากนั้น “ทัศนคติ” เกี่ยวกับเรื่องหุ้นๆเริ่มเปลี่ยนไป จุ๊บตัดสินใจไปเปิดพอร์ตวงเงิน 2 แสนบาท แต่ใส่เงินเล่นหุ้นเริ่มแรกเพียง 15,000 บาท กับเพื่อนสนิทที่เป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ในบล.โนมูระ พัฒนสิน เมื่อก่อนเพื่อนกล่อมให้เล่นหุ้นแทบทุกวัน แต่ใจแข็ง!!

หุ้นตัวแรกของพอร์ต!! คือ หุ้น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ทำไมต้องตัวนี้?? ในหนังสือ “ตีแตก” สอนว่า คุณควรเลือกหุ้นที่เป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม ตอนนั้นเราคิดว่า โทรศัพท์มือถือใช้กันทุกวัน ADVANC ก็เป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจนี้ ทำให้ตัดสินใจซื้อไม่ยาก แต่เก็บไม่เยอะ น่าจะได้มาช่วง 91 บาท สอยมาได้ 10 วัน มีข่าวฟ้องร้อง ราคาหล่นซะงั้นเหลือแค่ 70 บาท คุณพระ!!

“เศร้ามาก” ช่วงนั้นอารมณ์นี้เลย ในหัววนเวียนคิด หนังสือ “ตีแตก” บอกว่า “หุ้นจะเติบโตไปพร้อมเรา” ไหนละ ไหนละ!! (หัวเราะ) ตอนนั้นพี่ตาร์สอนให้รู้จัก “ซื้อถัวเฉลี่ย” ช่วงนั้นเลยรู้สึกดีขึ้นมานิดๆ “ต้นทุนไม่สูงละ” แต่สุดท้ายราคาลงต่อเนื่อง ทำให้ราคาลงมาต่ำกว่าราคาถัวเฉลี่ยอีก ยิ่งต่ำยิ่งไม่ยอมปล่อย ผ่านมา 2-3 เดือน เมื่อ “ข่าวซา” ราคาดีดกลับเรารีบขายเลย ช่วงนั้นยังไม่รู้จักวิธี “ตัดขายขาดทุน” (Stop Loss)

หุ้นตัวแรกก็ขาดทุนซะแล้ว!! แต่เรา “ไม่เข็ด” เริ่มแรกคนทำกิจการส่วนใหญ่ “เจ๊ง” เยอะแยะ (พูดปลอบใจตัวเอง)

คราวนี้ข้ามฟากมาเก็บหุ้นน้ำมัน “ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม” (PTTEP) เพื่อนที่เป็นมาร์เก็ตติ้ง “เชียร์” เขาบอก “อนาคตไกล กราฟสวย ราคาเป้าหมาย 178 บาท” ตอนนั้นไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจสิ่งที่เพื่อนพยายามพูด แถมซ่าไม่ถามกลับอีกต่างหาก

คิดเพียงว่า “เพื่อนเป็นมาร์เก็ตติ้งต้องมีความรู้มากกว่าเรา” แต่ดันลืมนึกไปว่า “ไอ้เพื่อนเนี่ย อายุงานก็เท่าๆกับเรา” จำไม่ผิดซื้อมา 170 บาท ไม่นานราคาเหลือ 160 กว่าบาท คราวนี้ไม่ยอมซื้อถัวเฉลี่ย ถือไว้สักพัก พอราคาดีดขึ้นก็รีบทิ้ง 

เธอ เล่าต่อด้วยอาการเมามันส์ว่า ซื้อหุ้น 2 ตัว ไม่ได้กำไรสักบาท คราวนี้เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เน้น “ลอกหุ้น” ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” (หัวเราะ) บุรุษที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เมืองไทย (เม่ามือใหม่ หลายคนก็ทำแบบนี้)

ตัวแรกเลือกจิ้ม หุ้น ซีพี ออลล์ (CPALL) เห็น “ด็อกเตอร์” ถือหุ้นตัวนี้แล้วเกิด “แรงบันดาลใจ” ตัดสินใจเคาะตาม ในราคา 43 บาท แต่ลืมคิดว่า (อีกละ) อาจารย์มีต้นทุนเท่าไร มารู้อีกที “ต้นทุนท่านแค่ 10 บาท” ลมจับ (หัวเราะ) ได้ยินแล้วรู้สึกใจเสีย

สุดท้ายถือหุ้น CPALL ไม่นาน ราคาหล่นเหลือ 36 บาท พอดีดกลับมายืนเหนือจุดเดิมนิดหน่อยรีบขายทันที เคยกลับมานั่งคิดทบทวน “หากใจเย็นสักนิด อดทนสักหน่อยป่านนี้รวยละ” เพราะครั้งหนึ่งราคา CPALL เคยทะยานถึง 70-80 บาท (อยากจะบ้า) 
หลังตัดใจขายหุ้น CPALL ก็โยกเงินมาซื้อหุ้น เจ มาร์ท (JMART) ตามอาจารย์เหมือนเคย แต่ตัวนี้ “เจ็บใจสุดๆ” (หน้าตาอินมากๆ) ซื้อมา 2.98 บาท ขายไป 3.02 บาท ตอนโน้นดีใจสุดๆ คิดใจใน “ข้าเก่งโครต” เพราะเป็นหุ้นตัวแรกที่ได้ “กำไร” ตอนนี้เป็นไงละ ราคาพุ่งมา 20 กว่าบาทแล้วพี่น้อง

ซื้อตามผู้ใหญ่เริ่มสนุก!! คราวนี้เดินตามหลังอีก ไปซื้อหุ้น ไอที ซิตี้ (IT) ราคา 8.3 บาท เชื่อมั้ย!!ราคานิ่งระดับนี้ตลอดกาล (หัวเราะ) ตอนแรกกะถือรอรับเงินปันผล 8-10% แต่พอคุณเพื่อนโทรมาเยาะเย้ยบ่อยๆ
“ฉันขายได้กำไรแล้ว แกยังถือรอปันผลอีกเหรอ?”

เมื่อใจเริ่มไม่นิ่งผสมกับ “ผีพนันเข้าสิง” ทำให้ตัดสินใจขายเท่าทุน ปล่อยปุ๊บราคาวิ่งปั๊บเอาซิ (ลากเสียงยาว) หุ้น เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS) เราก็ซื้อตามอาจารย์แนะได้กำไรมานิดหน่อย

หุ้น โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL หุ้นตัวนี้ “ VI เชียร์” แต่ตอน VI ออกไม่บอกเม่าน้อยสักคำ (ฮ่า ฮ่า) ซื้อปุ๊บขาดทุนปั๊บ จำไม่ผิดสอยช่วง 20 กว่าบาท จากนั้นไม่นานก็ซื้อหุ้น เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) ตัวนี้ซื้อตามคำแนะนำเว็บบอร์ด THAIVI.COM ตามเคย (หนีไม่พ้น) ทุนประมาณ 10 บาท ขึ้นไป 12-13 บาท ไม่ยอมขาย (ซ่าป่ะละ) มาตัดขาดทุนทีเดียวตอน 6-7 บาท

นั่งคิดแล้วรู้สึก “อนาถตัวเองจริงๆ” เห็นคนใน VI มีข้อมูลน่าเชื่อถือ ก็ซื้อตามเขา ด้วยความเป็น “เม่าน้อย” ก็มักใจง่ายแบบนี้ละ

1 ปีแรกของการลงทุน ถือหุ้นมาประมาณ 10 ตัว บทเรียนที่ได้รับเต็มๆ คือ หากคิดจะลงทุน คุณต้อง “ใจนิ่ง ห้ามใจร้อน” แม้จะลอกหุ้นชาวบ้านมาดีแล้วก็ตาม (ยิ้ม) ก่อนจะขายหุ้นจงนึกเสมอว่า วันแรกที่ตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะอะไร ห้ามขายด้วยเหตุผลอื่นเด็ดขาด หากพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน ที่สำคัญ “เงินต้องเย็น”

หุ้นตัวไหนที่ทำให้ “เจ็บหนัก” ที่สุด?? “เม่าจุ๊บ” สวนทันที หุ้น บ้านปู (BANPU) น้องปูนี่ซื้อถัวเฉลี่ย 2 รอบเลย ซื้อมาตอนราคาสูงมาก 700 กว่าบาท ราคาขึ้นไม่ยอมขาย ถือคติเป็น VI “ห้ามขาย” (นางย้ำ) พอลงซื้อถัวเฉลี่ยตอนราคา 600 บาท (ใจกล้ามาก) ก่อนจะซื้อถัวเฉลี่ยอีกรอบ 400 บาท 
หุ้นตัวนี้ตั้งใจไม่ขายมันเป็น “หุ้นตำนาน” กะจะเก็บไว้ให้ลูกดู แกจะได้รู้ว่าวันหนึ่งพ่อกับแม่เคยซื้อหุ้น บ้านปู ราคาสูงลิ่วขนาดนี้ (ยิ้ม) ซื้อหุ้นน้องปู เพราะมีกูรู VI บอกว่าหุ้นจะขึ้นไปแตะระดับ 1,000 บาท นึกแล้วโกรธ!!

ตลอด 3 ปีของการลงทุน หากหุ้นน้องปู ไม่ทำให้เจ็บแสบ พอร์ตลงทุนมูลค่าแค่หลักแสนบาทของจุ๊บจะเป็น “สีเขียว” ทันที

ถามถึงวิธีเลือกหุ้น?? เธอ ตอบว่า อันดับแรกต้องดูว่าหุ้นตัวนี้มีข่าวอะไรน่าสนใจหรือไม่ เพราะต่อให้หุ้นพื้นฐานดี แต่ไม่มีสตอรี่มันก็จะดีแบบเงียบของมันแบบนี้ หากพบหุ้นที่ดีจงรีบเจาะงบการเงิน ส่วนใหญ่เน้นดู “กำไรสุทธิ” ย้อนหลัง 3 ปี ถ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี “ความน่าสนใจ” มาเยือนละ ยิ่งให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย 2% หุ้นตัวนี้ยิ่ง “สวย”
ช่วงหลังเราสองคนมักชวนกันไปสำรวจสินค้าและสาขาแบบประชิดติดตัว ทำแบบที่เหล่ากูรูมืออาชีพเขาทำกัน (ยิ้ม) เท่าที่ไปดู หุ้น โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ณ เวลานี้ เลิศสุดนะ

เมื่อทำการบ้านเสร็จและเลือกหุ้นได้แล้ว ช่วงแรกของปฏิบัติการณ์ช้อนหุ้นจุ๊บจะเลือกสอยเข้าพอร์ตก่อน 30% ถ้าโอเคเล่นไม้สองต่อ 30% หากแนวโน้มราคาขึ้นเรื่อยๆคว้าอีก 30% จากนั้นจะถอยมานั่งเฝ้าดูราคา สุดท้ายหากพบว่ากำไรซื้อต่อ แต่ถ้าขาดทุน 5% จะกลับมาดูว่า “คิดอะไรผิดรึเปล่า”

หากขาดทุน 10% ตัดขายเลยไม่รอแล้ว ถือถติหุ้นดีๆไม่ลงเยอะแบบนี้ เจ็บจากแนว VI มาเยอะ เริ่มเปลี่ยนแนว (หนุ่มตาร์แซวแฟนสาว)
“เม่าจุ๊บ” บอกว่า ตอนนี้ครอบครองหุ้นเพียง 4-5 ตัว ขอไม่เปิดเผยรายชื่อ แต่เน้นกลุ่มค้าปลีก และหุ้นที่ค้าขายธุรกิจภายในประเทศ โดยหุ้น 3 ตัวแรก เน้นถือยาวตลอดกาล ส่วน 2 ตัวที่เหลือ ส่วนใหญ่มักกั้นไว้เป็นพื้นที่ของ “หุ้นหน้าใหม่” เน้นเล่นระยะสั้นประมาณ 1-2 เดือน

ขอนิยามการลงทุนของตัวเองเป็น “ลูกผสม” ระหว่างแนว VI และเก็งกำไรระยะสั้น “เม่าน้อย” อย่างเราๆคงเป็นนักลงทุน VI ได้ยาก เราไม่มีวงใน ไม่สามารถแกะงบการเงินได้ถึงแก่น ที่ผ่านมาเจ็บเพราะ VI มาเยอะเรื่องนี้ยอมรับ ไม่ใช่ว่าลงทุนระยะยาวไม่ดี แต่แนวทางนี้ไม่เหมาะกับ “คนใจร้อน” อย่างเรา ในเมื่อเรารู้ตัวดีว่าเป็นคนอย่างไร ก็ควรเลือกการลงทุนในเหมาะกับตัวเอง ทุกวันนี้จุ๊บจะใช้เงินซื้อหุ้นเพียง 20% ที่เหลือจะแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ซื้อที่ดินแถบภาคเหนือ

ไม่เคยฝันว่าอยากมีพอร์ตใหญ่โต ขอแค่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% ก็เพียงพอแล้ว

ที่ผ่านมาเรามีกลยุทธ์การลงทุนผิดพลาด นั่นคือ ไม่ยอมตัดขาดทุน ไม่งั้นป่านนี้พอร์ตเขียวสว่างไสวไปแล้ว (ฮ่า ฮ่า)

เล็งจะช้อนหุ้นกลุ่มไหนต่อไป?? “จุ๊บ-ตาร์” ประสานเสียงว่า กลุ่มพลังงานทางเลือก บอกตรง วลานี้น่าสนใจสุดๆ เข้าไปดูงบการเงินย้อนหลังเห็นบริษัทค่อยๆเติบโตเหมาะที่ถือลงทุนระยะยาว แต่ตอนนี้ดูเป็นระยะสั้นก่อน จุ๊บเพิ่งซื้อไป 20% ตั้งใจจะรอดูงบการเงินไตรมาส 2/56 หากออกมาสวยเหมือนช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 อาจทยอยเก็บให้ครบ 100%

นั่งเงียบมานาน “หนุ่มตาร์” จักรรินทร์ พงศ์ศรีรัตน์ วัย 35 ปี ในฐานะ “เทรนเนอร์” ส่วนตั๊วส่วนตัวของ “สาวจุ๊บ” แถมยังได้รับการแต่งตัวให้เป็น "อัศวิน" (เพื่อนร่วมแกงค์เม่าผู้ผ่านร้อนหนาวในตลาดหุ้นมามาก) หนึ่งในตัวละครของหนังสือ "เล่นหุ้นกับพี่เม่า" ขอฉายเส้นทางการลงทุนของตัวเองว่า จริงๆเป็นคนหาดใหญ่ แม้หน้าจะไม่ค่อยเหมือนเท่าไร

หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรม มหาวิทยา
ลัยธรรมศาสตร์ ก็ไปต่อปริญญาโท คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอนเรียนจบใหม่ๆทำงานที่เดียวกับคุณจุ๊บ แต่ตอนนี้เปลี่ยนสายย้ายมาอยู่วงการแบงก์แล้ว

เมื่อก่อนโดนปั่นหูตลอดว่า หุ้นคือการพนัน คนโดดตึกฆ่าตัวตายเต็มไปหมด “ทำไมเส้นทางแกเหมือนของฉ้านเลยว่ะ” จุ๊บตะโกนแซวแฟนหนุ่ม จุดเริ่มต้นย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน มีโอกาสไปนั่งฟังงานสัมมนาของ “ดร.นิเวศน์” งานเลิกความคิดเปลี่ยนทันที ผมไปกวาดหนังสือเกี่ยวกับเรื่องหุ้นๆมาอ่านเพียบ ชอบมากเรื่องหุ้นห่านทองคำ

หาความรู้ไม่นาน ก็หอบเงินหลักหมื่นบาทไปเปิดพอร์ตที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง วิถีทางเดินของผมเกือบคล้ายๆคุณจุ๊บ แต่ผมใจเย็นกว่า อดทนกว่า (ยิ้ม) ที่สำคัญเป้าหมายการลงทุนของเราสองคนไม่เหมือนกัน “ผมตั้งใจจะถือหุ้นดีๆยาว 5-10 ปี”

“ผมซื้อหุ้น ADVANC ตัวแรกเหมือนคุณจุ๊บ ช่วงราคา 89 บาท ราคาลงผมไม่ขาย ผ่านไป 7-8 เดือน ราคาเด้งกลับรีบปล่อยออกตอน 95 บาท ตลอด 1 ปีแรกของการลงทุน ผมมีหุ้นเพียง 2-3 ตัว อาทิ หุ้น IT และหุ้น MCS ผลการลงทุนคือ “กำไร”

เมื่อก่อนเคยคิดอยากเล่นเส้นเทคนิค แต่มอนิเตอร์กราฟไม่ได้ตลอด ตอนนี้เลยกลายเป็นนักลงทุน “พันธุ์ผสม” ระหว่างกราฟกับพื้นฐาน แต่ช่วงนี้หยุดซื้อหุ้นมาสักระยะ เพราะราคาหุ้นหลายตัวแพงมาก แถมดัชนียังสูงลิ่ว กลัวว่าวันหนึ่งขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุดแล้วจะ “ทิ่มหัวลงแรง” ถ้าปล่อยของไม่ทัน “ตายแน่” รอราคาเสถียรภาพมากกว่านี้แล้วค่อยเข้าไปใหม่

“วันหนึ่งผมจะเป็นนักลงทุน VI ตัวจริง” คำมั่นสัญญาของ “หนุ่มตาร์"

3 ปีของการลงทุน พอร์ตส่วนตัวออก “สีเขียวลางๆ” ถ้าไม่เจอหุ้น MCS เล่นงาน พอร์ตจะเขียวกว่านี้อีก (หัวเราะ) ซื้อหุ้น MCS มาตอน 10 บาท ตอนนี้ราคา 5 บาท หุ้นร่วง เพราะเจอข่าวน้ำท่วมกรุงเทพ โชคดีนิดหนึ่งตรงที่เขายังจ่ายเงินปันผล แต่ล่าสุดเห็น ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายชั่วคราว) สงสัยพื้นฐานจะเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีอีกรอบ (เศร้าใจ)

ตอนนี้มีหุ้น 3-4 ตัว ล่าสุดเพิ่งปล่อยหุ้น ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ไปได้กำไรมากค่อนข้างเยอะ (ยิ้ม) ช่วงนี้สนใจซื้อหุ้น โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เพิ่มเติม หุ้น ซีพี ออลล์ (CPALL) ก็อยากได้ แต่ราคามาไกลไปละ จากนี้จะพยายามให้มีหุ้นพื้นฐานดีๆอยู่ในพอร์ต 70% อีก 30% เว้นพื้นที่ไว้สำหรับเก็งกำไร

“จุ๊บ-ตาร์” แสดงจุดยืนว่า เมื่อก่อนเรานิยมซื้อหุ้นตามคนดัง เชื่อคนโน้นคนนี้ เมื่อประสบการณ์สอนให้พบกับคำว่า “เจ็บ” เราสองคนจึงต้องเปลี่ยนแนว เราไม่ฟังมาร์เก็ตติ้งทุกเรื่อง ไม่ซื้อหุ้นตามกูรูตัวพ่อ ได้ยินอะไรมาต้องเช็คข้อมูลก่อนลงทุน ที่สำคัญใจต้องนิ่ง อย่าเอนเอียงไปตามข่าวลือ

ตลาดหุ้นไม่ได้ทำให้ทุกคน “ร่ำรวย” การลงทุนมี “มุมลบ” เพียงแต่ไม่มีใครถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือมาวางขาย บนแผงหนังสือมักมีแต่คนนำเสนอ "รวยด้วยหุ้น" เราสองคนถ่ายทอดเรื่องราวการลงทุนผ่านตัวการ์ตูน ก็หวังให้ “เม่าน้อย” ทุกคนเข้าใจง่าย และกรุณา “ตั้งสติก่อนสตาร์ท”


ที่มา BIZWEEKONLINE